xs
xsm
sm
md
lg

ปลอมเพจราชการมาแรง-มิจฉาชีพลวงอ้างตามหนี้ที่ถูกโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มิจฉาชีพเพิ่มทักษะลวงเหยื่อปลอม Facebook ตำรวจ อ้างช่วยตามเงินที่ถูกหลอก ระบุเป็นค่าทนายความ ส่วนแนวทางหลอกลงทุนยังได้ผลดีปลอมใบอนุญาตค้าหุ้นสร้างความมั่นใจ แนะวิธีสังเกตเพจปลอม ถ้าโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กให้สงสัยไว้ก่อน ล่าสุดขายโฆษณาผ่านเพจกีฬาดัง Moto GP ฐานผู้ติดตาม 18 ล้านคน  เตือนอย่ารีบโอนเงิน ไม่ชัวร์ให้ถามคนรู้

นับวันบรรดามิจฉาชีพได้พัฒนาวิธีการหลอกล่อเหยื่อแนบเนียนได้มากกว่าเดิม จนแยกได้ยากว่าอันไหนของจริงอันไหนของปลอม แม้กระทั่งคนดังบางคนยังตกเป็นเหยื่อมาแล้ว หลังจากที่มิจฉาชีพรู้ข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่าง ทำให้หลายคนหลงตกเป็นเหยื่อ สูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก

Social Media กลายเป็นช่องทางที่เหล่ามิจฉาชีพพุ่งเป้ามาหาเหยื่อ ด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ด้วยปัจจุบันที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้ Socia Media กันมากและผูกบัญชีธนาคารไว้กับโทรศัพท์มือถือ Facebook จึงกลายเป็นช่องทางที่เหล่ามิจฉาชีพเลือกใช้ เพราะสามารถจ่ายเงินโฆษณาให้คนเห็นในวงกว้างได้

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงดีอีเอส ตำรวจไซเบอร์ หาทางปราบมิจฉาชีพเหล่านี้ โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการ Facebook ลบบัญชีหลอกลวงดังกล่าว แต่เพจหลอกลวงลักษณะนี้ยังมีออกมาเรื่อยๆ

จนมีการตั้งศูนย์ AOC 1441 หรือ Anti Online Scam Operation Center ให้บริการแก่ประชาชน ดำเนินการระงับ อายัดบัญชีได้ทันที รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยออนไลน์

1.ระงับ/อายัดบัญชีของคนร้าย ให้ผู้เสียหาย/ผู้ถูกหลอกลวงออนไลน์ทันที

2.ติดตามสถานนะ การแก้ไขปัญหาให้ผู้เสียหายทุกขั้นตอนได้ทันที

3.เร่งการคืนเงินให้ผู้เสียหาย

4.เพิ่มประสิทธิภาพการจับกุม ดำเนินคดีและการขยายผลคดี โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยงานบูรณาการข้อมูล และร่วมทำงานทันทีทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเมื่อได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย


หลอกลงทุนยังไปต่อ

หนึ่งในทีมรับเรื่องร้องเรียน AOC 1441 กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามายังคงเป็นความเสียหายจากการถูกหลอกลวงให้ร่วมลงทุน โดยมิจฉาชีพใช้ช่องทาง Facebook ปลอมเพจบริษัทใหญ่ๆ ชักชวนให้ลงทุนด้วยเงิน 1 พันบาทต้นๆ แลกกับผลตอบแทนราว 20-30% วิธีนี้ทำมาเป็นปีแล้ว หลังๆ เพิ่มความน่าสนใจด้วยการนำเอาภาพของผู้บริหารองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ คนดัง ดารามาใช้ประกอบเพื่อดึงดูดความสนใจ เริ่มตัดคลิปสั้นๆ มาประกอบ ซึ่งเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุน แต่มีคนเชื่อเป็นจำนวนมาก

ขั้นตอนโฆษณาผ่าน Facebook เพื่อให้คนเห็นเป็นวงกว้าง ใครที่อยากได้ผลตอบแทนสูงๆ มักตกเป็นเหยื่อได้ง่าย การติดต่อผ่านการพูดคุยผ่านช่องทาง Messenger เมื่อทักทายกันแล้วจะชวนเหยื่อให้เข้าไปพูดคุยกันทาง Line เนื่องจากเป็นช่องทางการติดต่อที่คุยกันได้นาน เพราะไม่นานนักโฆษณาเชิญชวนลงทุนจะถูกร้องเรียนและถูกลบออกจาก Facebook แต่ถ้าชวนเหยื่อพูดคุยกันทาง Line แล้วจะมีเวลาหลอกเหยื่อได้อีกนาน

พวกเขาปลอมทุกอย่างที่เหยื่อสงสัย ขอดูหลักฐานอะไรมีให้หมด คนที่ไม่มีความรู้ด้านการลงทุน แค่เห็นใบอนุญาตปลอมก็เชื่อเปิดพอร์ตโอนเงินให้มิจฉาชีพแล้ว คนที่อยู่ในขั้นตอน Line ถ้านิ่งไป มิจฉาชีพจะโพสต์มาตามเรื่อยๆ บางครั้งถึงขั้นโทร.ทาง Line เพื่อเร่งการตัดสินใจ

มิจฉาชีพชอบอ้างบริษัทใหญ่ที่คนทั่วไปรู้จัก เพราะจะชวนคนได้ง่าย เช่น เครือเจริญโภคภํณฑ์ มีการนำรูปภาพเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มาแอบอ้าง จน Facebook ธนินท์ เจียรวนนท์-Dhanin Chearavanont ต้องโพสต์เตือนว่าเพจเหล่านั้นเป็นมิจฉาชีพ


ปลอมใบอนุญาต

ทีมข่าว MGR Online ได้พูดคุยกับมิจฉาชีพจากเพจที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ชักชวนให้ลงทุนผ่านขั้นตอนทาง Line มีการแสดงบัตรพนักงาน รูป ชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง เลขทะเบียนเป็นหลักฐาน ซึ่งปลอมทั้งหมด มีการเสนอการเปิดพอร์ตลงทุนเพียง 1,529 บาท รับปันผล 10-30% แถมรับทุนเพิ่มฟรี 599 บาท ถ้าเหยื่อนิ่งจะมีโพสต์เข้ามาทุกวันวันละหลายรอบ ส่วนใหญ่เป็นข้อความอัตโนมัตเร่งให้เปิดพอร์ต

ครั้งหนึ่งมิจฉาชีพโทร.ไลน์เข้ามาสอบถามว่าสนใจหรือไม่ กังวลเรื่องใด ลูกค้าถามว่าซีพี ออลล์ ทำธุรกิจอะไร ปลายสายตอบว่าทำธุรกิจด้านการลงทุนและไม่มีกิจการอื่น เมื่อถามต่อไปว่าธุรกิจนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ จากนั้นจึงมีการส่งเอกสารปลอมมาให้ดูทาง Line หนึ่งในนั้นเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ที่กระทรวงการคลังออกให้ ระบุว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ออกให้เมื่อ 14 ตุลาคม 2546 ลงนามโดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ถ้าไม่ใช่คนที่อยู่ในวงการลงทุนจะไม่ทราบเลยว่าข้อมูลที่มิจฉาชีพตอบกลับมานั้นถูกหรือผิด ซีพี ออลล์ คือ ร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่แทบทุกซอกทุกมุม หรือ 7-11 ประการต่อมาบริษัทซีพี ออลล์ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้ทำธุรกิจเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ จึงไม่มีใบอนุญาตตามที่มิจฉาชีพกล่าวอ้างมา

ใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ที่ปลอมแล้วส่งมาให้เหยื่อดู ระบุว่าลงนามโดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกให้เมื่อ 14 ตุลาคม 2546 แต่นายอภิศักดิ์ดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ระหว่าง 19 สิงหาคม 2558-10 กรกฎาคม 2562

นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่ของการถูกหลอกลวง เนื่องจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงจากหน่วยงานใดได้ หรือบางคนอาจมั่นใจในตัวเองจนเกินไป

ปลอมเพจราชการมาแรง

แหล่งข่าวใน AOC กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้รูปแบบการหลอกลวงที่เริ่มมีมากขึ้นคือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปลอมเพจหน่วยงานราชการ มิจฉาชีพจะปลอมเพจบน Facebook ของหน่วยงานราชการ อ้างว่าให้ความช่วยเหลือเรื่องคดีความที่ถูกหลอกลวงไป

มิจฉาชีพปลอมทั้งแบบเหมือนทั้งหมดและเกือบเหมือนทั้งหมด เพื่อหลอกว่าช่วยติดตามเงินของคนที่ถูกหลอกทางออนไลน์ โดยใช้คำว่ากู้คืนทางการเงินสำหรับเหยื่อที่ถูกฉ้อโกง ใช้ภาพของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามาสร้างความเชื่อมั่น

“จะเรียกว่าปลอมซ้อนปลอมก็ว่าได้ ขนาดเพจตำรวจยังโดนปลอมเลย อัยการก็โดนด้วยเช่นกัน มิจฉาชีพสร้างเพจทุกอย่างเกือบเหมือนต้นฉบับ ลอกโพสต์เพจต้นฉบับมาลงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลายเพจมีคนเข้าไปติดตามกว่า 4.5 หมื่นราย และยังมีเพจสำรองเตรียมไว้อีก”

แม้กระทั่งข้อความเตือนภัยเรื่องมิจฉาชีพ (ของจริง) พวกมิจฉาชีพก็นำเอาไปลงเพื่อสร้างให้ดูว่าเป็นเพจจริง

ก่อนหน้านี้มีการปลอมเพจหน่วยงานรัฐ เช่น 1.เพจ #ศูนย์ดำรงธรรมภาครัฐ 2.เพจศูนย์ร้องทุกข์คนไทย 3.เพจศูนย์ช่วยเหลือประชาชน 4 เพจศูนย์ดำรงธรรมเคลื่อนที่ 5.ศูนย์เพจดำรงธรรมจังหวัดต่างๆ

มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการคัดลอกข้อความรูปภาพของหน่วยงานรัฐจริงมาใช้เตือนภัยประชาชนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แสร้งหวังดีประสงค์ร้ายต่อผู้เสียหาย


วิธีการหลอก

วิธีการหลอกเหยื่อไม่ต่างกัน คือใช้การซื้อโฆษณาบน Facebook เพื่อให้เข้าถึงเหยื่อในวงกว้าง เมื่อเหยื่อหลงเข้าไปพูดคุยใน Messenger เริ่มจากสอบถามว่ามีเรื่องใดให้ช่วยเหลือ ถูกหลอกลวงหรือถูกโกงเรื่องใด มูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ ไปจนถึงขอหลักฐานทางคดีที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นมิจฉาชีพจะให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์เพื่อไปติดต่อกับทนายความปลอม ที่อ้างว่าสามารถช่วยเหลือและติดตามหรือกู้คืนทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปกลับคืนมาได้ และให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์เพื่อไปแจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอม ยศ พ.ต.อ. อ้างว่าเป็นหัวหน้าทีม IT เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี

โดยแจ้งว่าหากอยากได้เงินคืนต้องมีการโอนเงินเพื่อเป็นค่าดำเนินการต่างๆ และค่าทนายมาให้ก่อนถึงจะได้รับความช่วยเหลือ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้วจะถูกตัดขาดการติดต่อ มิจฉาชีพอาจจะนำข้อมูลที่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ล่าสุด พบว่ามิจฉาชีพที่ปลอมเพจทางรายการ ได้หันไปโฆษณาตามพจกีฬาใหญ่ๆ เช่น เพจ MOTO GP เพจการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก ที่มีผู้ติดตามถึง 18 ล้านคน ขณะที่การโฆษณาบน Facebook ยังมีให้เห็นเช่นกัน

ข้อสังเกตหลอกลงทุน

แหล่งข่าวด้านการลงทุนที่ตรวจสอบเหล่ามิจฉาชีพ ให้ข้อสังเกตว่า ถ้ามาในรูปชักชวนลงทุน ชูผลตอบแทนสูง จะเน้นที่ตัวเลขของผลตอบแทน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วทำไม่ได้จริง มีการเพิ่มโบนัสเงินลงทุนให้ เช่น ลงทุน 1,000 เพิ่มโบนัสให้ 500 เป็นต้น นี่คือหลักการเดียวกับเว็บพนัน

แนะนำให้ดูว่าถ้ามีคำว่าได้รับการสนับสนุนใต้ชื่อเพจ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเข้าข่ายมิจฉาชีพ ดูว่ามีคนติดตามมากน้อยเพียงใด ถ้าน้อยสงสัยไว้ก่อน ตรวจสอบด้วยว่าเพจเพิ่งตั้งหรือไม่ จำนวนการโพสต์น้อยไปหรือไม่ (แต่มีบางเพจที่มีการโพสต์เยอะ) ดูเรื่องการกด like ดูเรื่องข้อความมีการถามตอบน่าเชื่อถือหรือไม่ จะมีบางคอมเมนต์ที่บอกกลายๆ ว่าเป็นมิจฉาชีพ ถ้าเป็นไปได้ลองค้นหาเพจที่ชื่อใกล้เคียง ซึ่งอาจเป็นเพจจริง

บริษัทด้านการลงทุนจริงๆ เขาจะไม่ใช้วิธีการโฆษณาเพื่อหาลูกค้าในลักษณะนี้ ไม่มีการการันตีผลตอบแทน ถ้าสงสัยอย่ารีบร้อนลงทุน ถามเพื่อน คนรู้จักที่ไว้ใจได้ หรือโทร.สอบถามตามหน่วยงานด้านการลงทุนจริงๆ ก่อน

มิจฉาชีพเล่นกับความโลภของคน ชูผลตอบแทนที่สูง การโฆษณาแบบปูพรม ย่อมมีโอกาสที่จะหาเหยื่อได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เพิ่งผ่านพ้นจากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจจึงฟื้นตัวไม่ดีนัก หุ้นกู้ของบางบริษัทมีปัญหาในการผิดนัดชำระหนี้ หลายคนตกงาน รายได้ลดลง ดอกเบี้ยและผลตอบแทนในตลาดเงินยังไม่ขยับมากนัก จึงพยายามหาช่องทางในการสร้างผลตอบแทน


ข้อสังเกตเพจปลอม

กรณีสร้างเพจปลอมเป็นหน่วยงานราชการหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นของหน่วยงานรัฐ อ้างว่ารับเรื่องร้องเรียนจากกรณีที่ถูกหลอกลวงต่างๆ โดยเปิดให้เหยื่อติดต่อและป้อนข้อมูลเข้าไป

จุดสังเกตเพจปลอมเหล่านี้จะใช้วิธีการจ่ายเงินโฆษณาผ่าน Facebook เพื่อให้เข้าถึงคนในวงกว้างเช่นกัน เพจเหล่านี้จะดึงข้อมูลเพจจริงหรือเพจต้นแบบมาเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่มักเป็นเพจที่สร้างขึ้นมาใหม่ มีการโพสต์ไม่มากนัก จำนวนคนติดตามเพจไม่มากนัก แต่มีบางเพจที่มีติดตามหลักหลายหมื่นก็มี

ลองสังเกตดูในส่วนแสดงความคิดเห็น จะมีบางคอมเมนต์ที่บอกกลายๆ ว่าเป็นมิจฉาชีพ

ทั้งนี้ เพจของตำรวจไซเบอร์ (จริง) และหน่วยงานในสังกัดไม่มีนโยบายให้ประชาชนติดต่อกับทนายความหรือให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เพื่อทำการติดตามทรัพย์สินที่ถูกหลอกลวงไปกลับคืนได้

หากพบ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเพจเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ให้ติดต่อไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานนั้น เพื่อสอบถามและแจ้งให้ทำการตรวจสอบทันที หากมีการให้โอนเงินไปยังหน่วยงานที่แอบอ้างก่อนที่จะได้รับบริการใดๆ ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน

อีกช่องทางหนึ่งที่ควรระวังคือเรื่องการแจ้งความออนไลน์มีช่องทางเดียวเท่านั้น คือ www.thaipoliceonline.com และไม่มีนโยบายรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทาง facebook หรือ Line ขอพี่น้องประชาชนโปรดอย่างหลงเชื่อ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น