xs
xsm
sm
md
lg

แรงงาน 40% ของไทยจะตกงานเพราะ AI?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



IMF เตือนแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาเสี่ยงตกงานจากผลกระทบของ AI ถึง 40% ขณะที่ “ศ.ดร.สุชัชวีร์” เชื่อยังไม่ถึงขั้นนั้น เหตุหลายสาขาอาชีพยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคน ด้าน “รศ.ดร.คมสัน” ชี้งานที่เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูล ประเมิน และวิเคราะห์กระทบแน่ ระบุทนายยังใช้ AI พบ 21 อาชีพ ตำแหน่งงานหดหาย เพราะนายจ้างแห่ใช้ ChatGPT “อธิการบดีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง” เผยอัดหลักสูตร AI และ Cyber Security รับมือนวัตกรรมที่เปลี่ยนไป ดัน “สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล.” ปั้นเด็กจบ ม.3 สู่บุคลากรพรีเมียมภาคอุตสาหกรรม เงินเดือนสตาร์ทที่ 3 หมื่น



เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมากเมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาเตือนว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามาแทนที่แรงงานและทำให้แรงงานทั่วโลกตกงานเฉลี่ยถึง 40% โดยแรงงานในประเทศพัฒนาแล้วจะตกงาน 60% ขณะที่แรงงานในประเทศกำลังพัฒนาจะตกงาน 40% รวมถึงประเทศไทยด้วย

ประเด็นนี้ทำให้หลายฝ่ายต่างออกมาวิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่แรงงานไทยจะตกงานถึง 40% มีสาขาอาชีพใดบ้างที่เสี่ยงจะตกงาน และเราจะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร?

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกสภาวิศวกร
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกสภาวิศวกร ซึ่งเคยทำงานวิจัยด้าน AI ระบุว่า ไม่เชื่อว่า AI จะทำให้แรงงานในประเทศกำลังพัฒนาจะตกงานถึง 40% และไทยอาจจะเป็นหนึ่งในนั้น อย่างที่ IMF วิเคราะห์ เพราะหากดูจากอัตราการว่างงานของไทยในขณะนี้จะพบว่าต่ำมาก อีกทั้งยังมีการใช้แรงงานคนอย่างเข้มข้นในทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากไทยยังไม่สามารถผลิตหุ่นยนต์ได้เอง ยังต้องนำเข้ามาจากญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี และสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีราคาสูง อย่างไรก็ดี การนำเข้าหุ่นยนต์ดังกล่าวยังน้อยเพราะหุ่นยนต์เหล่านี้จะใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงซึ่งไทยยังมีอุตสาหกรรมในลักษณะนี้น้อยอยู่

“แต่ในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถผลิตในจีน เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยได้ โอกาสที่คนไทยจะตกงานเพราะ AI ก็จะเพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้ เช่น สามารถควบคุมการทำงานของ AI ป้อนข้อมูลลงในระบบดาต้าของ AI คือปัจจุบันตัว AI เองไม่สามารถป้อนข้อมูลที่ถูกต้องให้ตัวเองได้ มนุษย์ต้องเป็นคนเลือกข้อมูลให้ ซึ่งจริงๆ แล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา AI ไม่ได้พัฒนาอะไรมาก สิ่งที่มากขึ้นคือฐานข้อมูลที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ AI ฉลาดขึ้น” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (มจล.)
ด้าน รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (มจล.) กล่าวว่า กรณีที่ไอเอ็มเอฟออกมาเตือนว่า AI จะทำให้แรงงานในประเทศกำลังพัฒนาตกงานถึง 40% นั้น ส่วนตัวมองว่าประเทศที่กำลังพัฒนานั้นองค์ความรู้ของคนยังน้อย ขณะที่ AI มีโปรแกรมในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จึงสามารถนำข้อมูลในดาต้ามาประมวลผลได้เลย ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมามีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้แรงงานคน ส่งผลให้ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูล ประเมิน และวิเคราะห์ในด้านต่างๆ อาจจะจำเป็นน้อยลง ดังนั้น คนทำงานจึงจำเป็นต้องพัฒนาสกิลเกี่ยวกับการใช้และควบคุมการทำงานของ AI

รศ.ดร.คมสัน อธิบายเพิ่มเติมว่า AI เป็นสมองกลอัจฉริยะที่มีการรวบรวมและเรียนรู้ข้อมูลจากดาต้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการคิดวิเคราะห์และนำสถิติต่างๆ มาประมวลผล ปัจจุบันงานในทุกภาคส่วนมีการนำระบบ AI มาทำหน้าที่วิเคราะห์แทนที่แรงงานคน ดังนั้น AI จึงเข้าไปมีส่วนในทุกธุรกิจ มีการทำโปรแกรมต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลสถิติที่เกิดขึ้นมาใช้ในการวิเคราะห์ทิศทางและวางแผนงาน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์หุ้น การวางแผนการตลาด งานด้านกฎหมาย

ขณะที่ในทางการแพทย์ เมื่อ AI มีดาต้าข้อมูลในการวิเคราะห์โรคต่างๆ ทั้งจากระบบฐานข้อมูลเดิม ข้อมูลจากที่คนป้อนข้อมูลเข้าไปใหม่ ข้อมูลจากการเอกซเรย์ (การถ่ายภาพด้วยการใช้รังสีเอกซ์ มักใช้ในการตรวจโครงสร้างของกระดูก) หรือทำ MRI (การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มักใช้ในการตรวจเนื้อเยื่อและเส้นประสาท) AI จะนำไปประมวลผลและวินิจฉัยเบื้องต้นออกมา จากนั้นแพทย์จะนำข้อมูลจาก AI ไปวิเคราะห์ต่อว่าร่างกายมีอะไรผิดเพี้ยนไหม ทำให้กระบวนการรักษามีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

“ที่น่าสนใจคืองานด้านกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน AI เข้ามาช่วยงานของทนาย อัยการ โดย AI สามารถนำข้อกฎหมาย ตัวอย่างคดี แนวทางการพิจารณาคดีที่เคยตัดสินมาแล้วมาประมวลและบอกได้ว่าคดีลักษณะนี้จะออกมาในทิศทางใด เนื่องจาก AI มีหน่วยความจำที่ไม่จำกัด สามารถจัดหมวดหมู่และมีความอัจฉริยะในการดึงข้อมูลออกมาใช้ จึงสามารถวิเคราะห์สังเคราะห์และมีคำตอบที่แม่นยำออกมา บางทีทนายยังต้องเปิดตำราแต่ AI ดึงข้อมูลมาประมวลผลได้เลย” รศ.ดร.คมสัน ระบุ


ทั้งนี้ สิ่งที่น่าจับตาคือในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า ChatGPT ซึ่งเป็น AI Chatbot (แชตบอต) ที่มีหน้าที่ช่วยหาข้อมูล หาคำตอบ แก้ไขปัญหา รวมไปถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ อย่างมาก โดย ChatGPT เปรียบเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวที่สามารถเปลี่ยนเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย พร้อมทั้งสามารถสร้างเรื่องราวใหม่ๆ จากคีย์เวิร์ดและคำถาม ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรม สรุปข้อมูล แต่งเพลง เขียนกลอน คิดไอเดียใหม่ๆ ให้คำแนะนำ จัดทริปท่องเที่ยว และอื่นๆ อีกมาก โดยขึ้นอยู่คำถามว่าต้องการให้ ChatGPT ช่วยหาคำตอบเรื่องอะไร

จึงมีความเป็นไปได้ว่า ChatGPT จะส่งกระทบต่อการจ้างแรงงานในหลายสาขาอาชีพ แม้แต่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อันได้แก่ 1.ล่ามแปลภาษา 2.เจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร 3.เจ้าหน้าที่ถอดเทปหรือถอดสคริปต์ 4.ฝ่ายทรัพยากรบุคคล 5.เจ้าหน้าที่ธุรการ 6.นักบัญชี 7.นักการเงิน 8.นักวิจัยการตลาด 9.Copy Writer 10.นักข่าว 11.กราฟิกดีไซน์ 12.Content Creator 13.อินฟลูเอนเซอร์และนางแบบ 14.นักดนตรี 15.ครู อาจารย์ 16.นักกฎหมาย ทนายความ 17.นักวิทยาศาสตร์ 18.งานบริการลูกค้า 19.พนักงานบริษัททัวร์ 20.IT Support และ 21.โปรแกรมเมอร์

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.คมสัน มองว่า ในบางอาชีพ AI ยังไม่สามารถทำงานทดแทนได้ทั้งหมด แต่จะเป็นตัวช่วยให้งานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดขั้นตอนหลายอย่างลง โดย AI จะเอาข้อมูลสถิติต่างๆ มาวิเคราะห์สังเคราะห์และจัดรูปแบบ แต่การตัดสินใจบางอย่างยังต้องอาศัยคน เช่น แพทย์ ศิลปินซึ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์

“งานที่จะใช้คนน้อยลงคืองานที่นำองค์ความรู้มาประมวลผลเพราะ AI มีดาต้าหรือฐานข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์และวางแนวทางได้ คนสามารถนำข้อมูลที่ AI ทำมาใช้ประโยชน์ในขั้นตอนต่อไป ดังนั้นงานในส่วนที่ AI ทำแทนได้จะใช้คนน้อยลง คือแม้จะมีการลดจำนวนคนทำงานลง แต่ไม่ได้เลิกจ้างทั้งหมด” รศ.ดร.คมสัน กล่าว

สอดคล้องกับ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ซึ่งเห็นว่า แม้จะมี AI เข้ามาแต่มีหลายอาชีพที่ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคน โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้ความเป็นมนุษย์ในการทำงานหรือตัดสินใจ เช่น แพทย์ ครู ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปะและความสุนทรี ยกตัวอย่าง นักเรียนอาจะหาข้อมูลความรู้จากกูเกิล ซึ่งเป็น AI รูปแบบหนึ่งได้ แต่ไม่สามารถปรึกษาปัญหาชีวิต ปัญหาการเรียนกับกูเกิล ครูจึงยังมีความจำเป็นอยู่ ส่วนอาชีพที่อาจจะจำเป็นน้อยลงเพราะสามารถใช้ AI ทำแทนได้คืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลต่างๆ มาจัดเรียงและประมวลผล เช่น งาน Back office ต่างๆ คือยังมีบุคลากรอยู่แต่ใช้คนน้อยลง


ขณะที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าสถาบันการศึกษาของไทยจำเป็นต้องจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นการสร้างบุคลากรที่มีทักษะความรู้ด้านปัญหาประดิษฐ์ หรือ AI มากยิ่งขึ้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ ชี้ว่า เนื่องจากเทคโนโลยีและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบการศึกษาให้เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจการทำงานของ AI ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ประถม เพื่อให้เด็กสามารถนำ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงปรับระบบการศึกษาจากการท่องจำมาเป็นการวิเคราะห์ เนื่องจากปัจจุบันเราสามารถใช้ AI ในการสืบค้นข้อมูลได้ การจดจำจึงมีความจำเป็นน้อยลง เช่น วิชาประวัติศาสตร์อาจจะไม่ต้องจำว่าการสู้รบครั้งนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ.ใด แต่ให้เด็กวิเคราะห์ว่าทำไมหลังการสู้รบจึงเกิดเหตุการณ์ หนึ่ง สอง สาม สี่ ขึ้น

ด้าน รศ.ดร.คมสัน ระบุว่า ในส่วนของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังนั้นมีการเรียนการสอนที่สอดรับกับนวัตกรรมที่ก้าวไปข้างหน้า ทั้งในส่วนโปรแกรมการสอนที่เกี่ยวกับ AI และ Cyber Security (ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์) ซึ่งเป็นพื้นฐานที่นักศึกษาที่เข้ามาเรียนที่พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังทุกคนต้องเรียนเพื่อป้องกันการแฮกข้อมูล และศึกษาทิศทางของ Cyber Security ในอนาคต อีกทั้งต้องรู้จักวิธีการในการสืบค้นข้อมูลโดยใช้ ChatGPT ที่สำคัญหลักสูตรส่วนใหญ่ของพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังต้องเรียนวิชาที่เกี่ยวกับ AI ด้วย ยกตัวอย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีสาขาที่เกี่ยวกับโอไอที คอมพิวเตอร์ โบโบติกส์และ AI ซอฟต์แวร์ เอนจิเนียร์ เกษตรอัจฉริยะ คณะไอที คณะวิทวิยาศาสตร์ คณะนาโนเทคโนโลยี

นอกจากหลักสูตรในระดับปริญญาตรีแล้ว ปัจจุบันพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังยังได้ร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น เปิด “สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN - KMITL) หรือสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล.” ซึ่งเป็นสถาบันที่จะสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านนวัตกรรม ซึ่งเรียกว่า“ นวัตกร” โดยจะรับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้ามาเรียนเกี่ยวกับทักษะด้านนวัตกรรม รวมถึง AI เป็นเวลา 5 ปี เป็นหลักสูตรอนุปริญญา ซึ่งได้รับความนิยมสูงมาก เมื่อจบการศึกษาแล้วหากไม่อยากเรียนต่อในระดับปริญญาตรีก็สามารถทำงานได้และได้ค่าตอบแทนสูง

“เด็กเหล่านี้จะเรียนภาคปฏิบัติตั้งแต่ปีแรกเลย ปี 1 ของ Kosen ซึ่งเท่ากับ ม.4 จะได้ทำแล็บ ได้ปฏิบัติเต็มที่ มีทีมงานโปรเฟสเซอร์ญี่ปุ่นและอาจารย์ของพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังเข้าไปสอนเอง สอนโดยด็อกเตอร์ทั้งหมด ซึ่งนักเรียนที่มาสอบเข้า Kosen นี่เก่งมากนะ บางคนสอบเข้าเตรียมอุดมได้แต่ไม่ไป เลือกมาสอบเข้า Kosen พอจบ Kosen ซึ่งเป็นระดับอนุปริญญาแล้วจะมาต่อปริญญาตรีที่พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังก็ได้ ใช้เวลาแค่ปีเดียว เพราะเด็กที่จบ Kosen ถูกอัดความรู้ด้านเอนจีเนียร์มาแน่นมาก ซึ่งลักษณะการเรียนที่เน้นทักษะแบบนี้ถูกนำใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือจบ Kosen แล้วจะทำงานเลยก็ได้ ตอนนี้มีภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในเมืองไทยจองตัวเด็กที่จบ Kosen เข้ามากันเยอะมาก ต้องเข้าคิวนะ โดยให้เงินเดือนสูงกว่าเด็กที่จบปริญญาตรีอีก สตาร์ทที่เดือนละ 30,000 บาท เด็กพวกนี้จะเก่งคณิตศาสตร์ และมีทักษะด้านการปฏิบัติจึงเป็นบุคลากรระดับพรีเมียมที่เข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรม” รศ.ดร.คมสัน กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น