xs
xsm
sm
md
lg

“ธัมมชโย” คืนชีพ ศิษย์ธรรมกายพรึบคุมหน่วยงานพุทธฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาวัดพระธรรมกายคืนชีพ หลังคนเพื่อไทยคุมงานด้านศาสนาเบ็ดเสร็จ “พวงเพ็ชร” นั่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ
คุมสำนักพุทธฯ “เทียบจุฑา” นั่งประธานกรรมาธิการศาสนา ตั้งศิษย์ธรรมกายพรึบคุมงานพุทธฯ นักสังเกตการณ์เห็นกิจกรรมธรรมกายมากขึ้น รุกต่างประเทศทั้งบุโรพุทโธ อินโดฯ ปลายกุมภาพันธ์ 67 รุกเนปาล ธรรมยาตราแค่งานประจำปี


ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากที่พระธัมมชโย ถูกดำเนินคดีฐานเกี่ยวข้องกับการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จนถูกออกหมายจับช่วงปลายปี 2559 ต่อเนื่องจนมาถึงการใช้มาตรา 44 ของรัฐบาล คสช.กับวัดพระธรรมกาย ช่วงเข้าสู่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อหาพระธัมมชโย มาดำเนินคดี สุดท้ายไม่พบจนยกเลิกเมื่อ 11 เมษายน 2560 ภาพของวัดพระธรรมกายเสียหายไปมาก แต่ยังมีผู้ที่ยังศรัทธาวัดนี้อยู่อีกไม่น้อยเช่นกัน

ตามมาด้วยการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ในปี 2561 โครงสร้างหลายๆ ด้านของคณะสงฆ์จึงเปลี่ยนไปจากเดิม ตำแหน่งในมหาเถรสมาคมมีวาระ ไม่ใช่เป็นจนกว่าจะมรณภาพ ไม่ต่างไปจากสลายเกราะกำบังที่พระผู้ใหญ่เคยเมตตาต่อวัดพระธรรมกาย จากนั้นงานบุญแบบหวือหวาของธรรมกายค่อยๆ ปรับลดลง

แต่วัดพระธรรมกายก็ฝ่าฟันกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาได้จนถึงวันนี้ ที่มีกิจกรรมบุญอย่างต่อเนื่องจากถึงงานใหญ่ของวัดคือธรรมยาตราปีที่ 12


เพื่อไทยคุมงานศาสนา

ทำไมช่วงนี้ต้องหันมามองวัดพระธรรมกายอีกครั้ง คงต้องย้อนกลับไปในอดีตเพราะวัดพระธรรมกายมักรุ่งเรืองในยุคที่พรรคไทยรักไทยและเพื่อไทยเป็นรัฐบาลกับอดีต 2 นายกรัฐมนตรีจากตระกูลชินวัตร และการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 พรรคเพื่อไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จึงน่าจับตาว่าช่วงเวลานี้จะกลับเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของวัดพระธรรมกายอีกครั้งหนึ่งหรือไม่

ถ้ามองมิติทางการเมืองภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และทักษิณ ชินวัตร กลับเข้ามาเมืองไทย นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีกับวัดพระธรรมกายที่อดีตนายกฯ ทักษิณ และครอบครัวเคยไปทำบุญที่วัดแห่งนี้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ภายใต้รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ สายงานที่เกี่ยวข้องกับทางด้านศาสนาล้วนอยู่ในการกำกับดูแลของพรรคเพื่อไทย เริ่มกันที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด จากพรรคเพื่อไทย นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


ศิษย์ธรรมกายพรึบ

มีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เช่น ดร.ลีลาวดี วัชรโรบล นายนิยม เวชกามา ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ล้วนแล้วเป็นสายหนุนแนวทางของวัดพระธรรมกายมาโดยตลอด

ในชั้นของกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยยังคงเป็นประธานอีกสมัย ครั้งนี้ได้นางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี จากเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการ

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการที่ไม่มีค่าตอบแทนที่น่าสนใจอีก 2 รายชื่อ คือนายสัมพันธ์ เสริมชีพ เคยเป็นทนายความพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย อีกรายคือนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์ ที่มีบทบาทช่วยวัดพระธรรมกายเมื่อครั้งที่ถูกปิดล้อมจากมาตรา 44 ทั้ง 2 ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 25 ตุลาคม 2566

ที่จริงในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาภิวัฒน์ของนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ประธานกรรมาธิการศาสนาก็เป็นส.ส.เพื่อไทยที่ศรัทธาในวัดพระธรรมกาย ครั้งนั้นลูกศิษย์ธรรมกายจำนวนหนึ่งทำงานร่วมในชุดนี้ทั้งที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการต่างๆ จะเห็นได้ว่าหลังพ้นรัฐบาล คสช. ในยุครัฐบาลพลังประชารัฐไม่มีการแตะต้องวัดพระธรรมกาย

เป็นอันว่าคนที่เคยเคลื่อนไหวช่วยเหลือวัดพระธรรมกายในช่วงปี 2560 บางท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาทั้งในส่วนของ รมต.ประจำสำนักฯ หรือที่ปรึกษากรรมาธิการศาสนา เพื่อเป็นการตอบแทน


เพิ่มงานบุญใน-นอกประเทศ

นักสังเกตการณ์ด้านพุทธศาสนาอีกรายแจ้งว่า ช่วงหลังพระในวัดพระธรรมกายเปิดตัวมากขึ้น จากเดิมที่ถอยจากทุกจุดที่อาจเกิดปัญหา เช่น กรณีวัดสามพระยา ช่วงที่เกิดคดีความสายธรรมกายแทบจะมองไม่เห็นเจ้าคุณเอื้อน หรือพระพรหมดิลกเลย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการนิมนต์เจ้าคุณเอื้อน ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคมไปร่วมงานอยู่บ่อยครั้ง แต่พอคดีของเจ้าคุณเอื้อน สิ้นสุดลง มีการโปรดสถาปนาคืนสมณศักดิ์ หลังพ้นผิดคดีเงินทอนวัด เราจึงได้เห็นพระจากวัดพระธรรมกายมาร่วมแสดงความยินดี

ถ้าลองไล่ดูกิจกรรมของวัดพระธรรมกายในช่วงปี 2566 จะพบว่าไม่มีอะไรที่หวือหวามากนัก แต่ตัวกิจกรรมมีมากขึ้นกว่าเดิมทั้งในและต่างประเทศ เช่น กิจกรรมถามตอบปัญหาธรรมะตามโรงเรียนที่เริ่มมีมากขึ้น กิจกรรมผ่านเด็กดี V-Star และคอร์สอบรมธรรมะ

ช่วงเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางวัดพระธรรมกายจัดงานโครงการบรรพชาสามเณร 1 พันรูป ณ บุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่าง 6-28 ธันวาคม 2566 โดยจะมีการเดินธุดงค์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2566 นับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมตักบาตรพระ 1 พันรูป ครั้งที่ 7 จังหวัดพิษณุโลก เป็นหนึ่งในโครงการตักบาตรพระ 2 ล้านรูป 77 จังหวัด ทุกวัดทั่วไป ถวายเป็นพุทธบูชา รวมพลังส่งกำลังใจช่วยเหลือคณะสงฆ์ 323 วัด 4 จังหวัดชายแดนใต้ 24 ธันวาคม 2566 ณ ลานธรรม ธุดงสถานพิษณุโลก และเปิดให้ร่วมบุญตามจิตศรัทธาแยกเป็นกองบุญชุดเล็ก 1 พันบาทจนถึงกองบุญชุด VIP 1 หมื่นบาท

อีกงานหนึ่งเป็นพิธีตักบาตรพระภิกษุสามเณร 1 พันรูป ถวายเป็นพุทธบูชา ฉลองเมืองลำปาง 1,343 ปี วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2566 ณ สระเศรษฐีทะเลบุญ ศูนย์ปฏิบัติธรรมลำปาง

งานสวดมนต์ข้ามปี วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ในวันเดียวกันมีพิธีฉลองสวดมนต์ธรรมจักรครบ 6 พันล้านจบ ที่วัดพระธรรมกาย
ส่วนในปี 2567 มีโครงการบรรพชา 1,250 รูป ณ แดนประสูติ สวนลุมพินี ประเทศเนปาล ระหว่าง 28 กุมภาพันธ์-21 มีนาคม 2567

ตัดพม่า-เสริมบาหลี-รุกเนปาล

เรื่องจัด Event ภาพอลังการตื่นตาตื่นใจต้องยกให้วัดพระธรรมกายที่เก่งในเรื่องนี้ 2 ปีที่ผ่านมามีการจัดงานที่บุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ถือว่ายิ่งใหญ่มาก ปี 2566 ก็จัดอีกเช่นกัน แม้ว่าจะอยู่ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ เป็นเพราะคนที่นั่นเปิดกว้างเรื่องศาสนา และธรรมกายก็มีศูนย์อยู่ที่บาหลี

เราอาจจะได้เห็นการโปรโมตกิจกรรมที่บาหลีเป็นหลัก จากเดิมที่ธรรมกายเคยพยายามรุกไปในพม่า แต่ติดปัญหาทั้งเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบและวัฒนธรรมของชาวพุทธพม่าเองมักจะเคารพและศรัทธาเฉพาะพระชาวพม่า เราจึงไม่ได้เห็นธรรมกายจัดพิธีตักบาตรในพม่าอีก

ตอนนี้ธรรมกายกำลังรุกไปจัดงานที่ประเทศเนปาล ที่เป็นดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้า และจะมีกิจกรรมธรรมยาตราในครั้งนี้ด้วย ตรงนี้ถือว่าเป็นการรุกของทางวัดพระธรรมกาย เพราะมีฐานคนไทยที่นิยมเดินทางไปแสวงบุญในพื้นที่เหล่านี้อยู่แล้ว และสำนักพุทธฯ มีโครงการศึกษาดูงานและสักการะสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งอยู่แล้ว


ทุ่งเบญจมาศ-สร้างจุดถ่ายรูป

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง เราได้เห็นวิธีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของวัดที่เนียนตาขึ้นกว่าเดิม เช่น กิจกรรมธรรมยาตราที่ต้องใช้ดอกไม้โปรยบนทางให้พระ โดยทางวัดเริ่มปลูกดอกไม้เหล่านี้เองโดยใช้พื้นที่ของวัดพร้อมตั้งชื่อว่า ทุ่งสวรรค์ ตะวันฉาย โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีเพจด้านท่องเที่ยวอย่าง Unseen Tour Thailand นำเอาภาพดอกไม้ที่ปลูกโดยวัดพระธรรมกายเพื่อใช้ร่วมพิธีธรรมยาตรานำมาโพสต์แนะนำ ซึ่งทางวัดเปิดให้เข้าไปถ่ายรูปได้

ไม่เพียงแค่ทุ่งสวรรค์ตะวันฉาย แถวคลองหลวงเท่านั้น ศูนย์ปฏิบัติธรรมของวัดพระธรรมกายที่เชียงใหม่ อย่างสวนพนาวัฒน์ ก็ปลูกดอกไม้เพื่อใช้ในงานธรรมยาตรา จนเพจ Unseen Tour Thailand นำไปโพสต์แนะนำเช่นกัน ทั้ง 2 สถานที่เปิดให้เข้าชมและถ่ายรูปได้ฟรี

นี่คือความเนียนของธรรมกาย ที่ดึงคนเข้าวัดได้ด้วยสวนดอกไม้ที่ปลูกไว้เพื่อใช้ในกิจกรรมธรรมยาตรา กลายเป็นทั้งการประชาสัมพันธ์วัด กิจกรรมธรรมยาตราที่อาจช่วยเพิ่มผู้ศรัทธาให้ทางวัดได้มากขึ้น จากเดิมที่ไม่รู้จักโดยมีสวนดอกไม้นี้เป็นสื่อ

ส่วนกิจกรรมเดินสายพบสื่อยังคงทำเช่นเดิมที่ทำมาโดยตลอด นำโดยพระมหานพพร วัดพระธรรมกาย จนได้รับฉายาว่ามือประสานสื่อมวลชน


ธรรมยาตรา-งานประจำปี

หากจะเรียกว่าเป็นงานประจำปีของวัดพระธรรมกายก็ว่าได้ สำหรับโครงการธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺสโร) พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 12 วันที่ 2-31 มกราคม พ.ศ.2567

กิจกรรมในปีนี้ไม่แตกต่างไปจากครั้งก่อน คือเป็นการทำกิจกรรมภายในอนุสรณ์สถาน “เส้นทางพระผู้ปราบมาร” คือ เส้นทางซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวประวัติของ “พระมงคลเพทมุนี (สด จนฺทสโร)” หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันสถาปนาขึ้น 7 แห่ง ดังนี้

1.มหาวิหารบ้านเกิดพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) สถานที่เกิดด้วยรูปกายเนื้อ ตั้งอยู่บนแผ่นดินรูปดอกบัว : อนุสรณ์สถานมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (โลตัสแลนด์) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

2.อนุสรณ์สถานคลองบางนางแท่น สถานที่ตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต ตั้งอยู่ริมคลองบางนางแท่น : อนุสรณ์สถานคลองบางนางแท่น อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

3.พระอุโบสถวัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง) สถานที่เกิดใหม่ในเพศสมณะ ตั้งอยู่วัดสองพี่น้อง : วัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

4.อนุสรณ์สถานวัดโบสถ์บน สถานที่เกิดใหม่ด้วยกายธรรม ตั้งอยู่วัดโบสถ์บน : วัดโบสถ์บน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

5.อนุสรณ์สถานบางปลา สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก ตั้งอยู่บนแผ่นดินตรงข้ามวัดบางปลา : อนุสรณ์สถานบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

6.วัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ตั้งอยู่วัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

7.มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) สถานที่ขยายวิชชาธรรมกาย ตั้งอยู่วัดพระธรรมกาย ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

รวมถึงวัด โรงเรียน ชุมชน ในเส้นทางและพื้นที่วงรอบของอนุสรณ์สถานทั้ง 7 แห่ง

ทั้งนี้ เพจกัลยาณมิตรของวัดพระธรรมกายได้โพสต์ข้อความว่า ธรรมยาตราคืออะไร? เมื่อ 8 มกราคม 2559 ว่า คำว่า ธรรมยาตรา นี้ ไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก แต่เป็นคำที่มาจากการนำคำว่า "ธรรม" และ "ยาตรา" มาประกอบกัน คำว่า ธรรม นั้น ในคัมภีร์พุทธศาสนา

ฉะนั้น เมื่อรวมธรรม+ยาตรา เป็นธรรมยาตรา แล้วจึงแปลว่า การดำเนินไปด้วยธรรม หรือ การออกไปด้วยธรรม ซึ่งมีความหมายว่า การดำเนินออกไปจากทุกข์ทางกายและทางใจด้วยธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า

แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้ายว่า จะเห็นได้ว่าหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป พล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางมือ ได้พรรคเพื่อเป็นเข้ามาเป็นรัฐบาล ดูเหมือนกิจกรรมบุญของวัดพระธรรมกายเริ่มมีชีวิตชีวามากขึ้น นอกจากนี้ พระในวัดเริ่มออกงานต่างๆ มากขึ้น ต่างจากเดิมที่ค่อนข้างปิดตัว

จากนี้คงต้องรอดูว่าทางวัดพระธรรมกายจะมีกิจกรรมบุญที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกหรือไม่ หรืออาจมีข่าวดีเรื่องพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น