เซียนพระชี้ตลาดพระปี 2566 ซบเซา ‘สมาน คลองสาม’ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระฯ แจงนักเล่นพระปล่อยเช่าไม่ได้ ถึงขั้นแกะกรอบ ‘ทองหุ้มเพชร’ ออกมาขาย ยันคนเช่าพระเพื่อกำนัลผู้ใหญ่มูลค่าสูงๆ จะอยู่ที่กรอบ มั่นใจปี 2567 ตลาดรุ่ง ‘เงินสด’ สะพัดคาด ‘เศรษฐีจีน’ จะกลับมาเช่าพระเครื่องไทยรุ่นเก่าที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะชุดเบญจภาคี ของแท้องค์ละ 40-50 ล้านบาทล้วนอยู่ในมือคนรวย ด้าน ‘ต้น ท่าพระจันทร์’ เผยคนจีนชอบเช่าพระไทย ยึดกติกาต้องขายคืนได้ในราคา 70- 80% ไม่สนว่าพระแท้หรือไม่แท้ แนะจับตาปี 2567 กระแส ‘จตุคามรามเทพ’ ปี 30-32 จะกลับมา เหตุปี 2566 ราคาเคยต่ำสุด 2-3 หมื่นบาท ขยับเป็นระดับ 2-3 แสน ส่วนรุ่นทองคำขยับไปถึง 1-2 ล้านบาทแล้ว!
ธุรกิจพระเครื่องยังคงเป็นที่จับตา เพราะเมื่อธุรกิจอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจแล้ววงการพระเครื่องจะเป็นเช่นไร โดยที่ผ่านมา มักมีเสียงลือจากบรรดาเซียนพระว่าถึงอย่างไรธุรกิจนี้ก็ยังแข็งแรงและมีการเติบโตต่อเนื่อง จากนักสะสมและนักเก็งกำไรทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาแลกเปลี่ยนด้วยเงินสด ว่ากันว่าปีละหลายพันล้านไปจนถึงหมื่นล้านบาท!
ส่วนปี 2567 ธุรกิจพระเครื่องจะเป็นเช่นไร และพระเครื่องยอดนิยมจากเกจิดังๆ รุ่นไหน ที่กำลังเป็นที่ต้องการซึ่งจะสร้างมูลค่าให้ตลาดพระต่อไป รวมทั้งมีกระแสข่าวว่า ‘จตุคามรามเทพ’ จะกลับมาเป็นที่นิยมจริงหรือไม่?
อาจารย์สมาน บุญเพ็ญ หรือที่รู้จักกันในนาม สมาน คลองสาม อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย บอกว่า ปี 2566 ตลาดพระเครื่องได้รับผลกระทบเช่นกัน บรรดานักเล่นพระที่ซื้อไว้กันจำนวนมากปล่อยกันไม่ได้ ก็พากันแกะกรอบ หรือที่เรียกกันว่าจีวรพระออกมาขายกันก่อน
“ถ้าพระรุ่นเก่าไม่แท้ปล่อยยากก็เลือกเก็บพระ แกะจีวรหุ้มทองคำฝังเพชรไปขายก่อน ส่วนพระเครื่องรุ่นกลางๆ ยังพอปล่อยได้บ้างแต่ราคาไม่แรงเหมือนในอดีต”
สำหรับพระเครื่องรุ่นเก่าอย่างชุดเบญจภาคี ของหลวงปู่โต๊ะ ของแท้ราคา 40-50 ล้าน จะนำมาปล่อยเช่ากันแทบจะไม่มีแล้ว เพราะของแท้ ราคาสูงอยู่ในมือคนรวยทั้งนั้น
อาจารย์สมาน บอกต่อว่า เรื่องการเช่าพระมูลค่าแพงๆ ไปกำนัลผู้ใหญ่นั้น เท่าที่มีประสบการณ์ในวงการพระมานานบอกได้เลยว่า พระเครื่องของกำนัลไม่ได้มีมูลค่าสูงอย่างที่คนวงนอกเข้าใจ แต่มูลค่าสูงจะอยู่ที่ตลับพระมีประดับเพชรกันอย่างไรมากกว่า
นอกจากนี้ ตลาดคนจีนที่เข้ามาเช่าพระส่วนใหญ่เป็นพระรุ่นใหม่ราคาไม่ได้สูง แต่ในปี 2567 บรรดาเซียนพระมั่นใจว่าตลาดพระจะกลับมาคึกคักหลังการจัดงาน ‘เรียนรู้พระแท้กับเดลินิวส์’ ตลอดเดือนมกราคม ปี 2567 เพราะจะมีการเปิดกรุพระแท้รุ่นเก่า ที่บรรดาเศรษฐีชาวจีนเริ่มแสวงหาและต้องการจะสะสมเช่นกัน
“พระเก่าชุดเบญจภาคี เป็นชุดที่เศรษฐีใหม่ในประเทศและต่างประเทศต้องการ รวมถึงชุดเบญจภาคีที่สร้างขึ้นใหม่ หรือพระเครื่อง และเครื่องรางจะเป็นที่ต้องการ จึงเชื่อว่าปี 67 ตลาดพระจะคึกคักแลกเปลี่ยนกันด้วยเงินสดจะเกิดขึ้นแน่”
ด้าน ณัฐพงษ์ ชวาลรัตนสกุล หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ต้น ท่าพระจันทร์’ เคยพิชิตตำแหน่งแชมป์แฟนพันธุ์แท้พระเหรียญ ในรายการแฟนพันธุ์แท้พระเหรียญของ ปัญญา นิรันดร์กุล มาแล้ว และศึกษาเรื่องพระเครื่องตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ที่ถือเป็นเซียนพระชื่อดังคนหนึ่ง มีร้านพระเครื่องรับเช่า-ให้เช่าที่ย่านท่าพระจันทร์ และที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า งามวงศ์วาน ซึ่งเป็นศูนย์พระเครื่องที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บอกว่า ตลาดพระช่วงปลายปี 2566 เทียบกับต้นปี 2566 นั้นเงียบลงมากเพราะภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลกระทบต่อราคาโดยตรงคือ พระเครื่องบางรุ่น ราคาไม่ลงก็จริงเช่นราคาเช่า 1 แสนบาท ก็ยังคงปล่อยที่ 1 แสน แต่ต้องใช้เวลาปล่อยเช่านานกว่าเมื่อช่วงต้นปี
อีกประเภทหนึ่ง คือ ราคาลดลงอย่างชัดเจน และไม่มีคนเช่าก็มีด้วยกันหลายรุ่น แต่ขอไม่ยกตัวอย่างเนื่องจากจะกระทบวงการพระด้วยกันได้ ซึ่งจะมีทั้งพระใหม่ หรือพระเก่าที่ไม่ใช่เก่ามากๆ และเป็นพระเกจิดังๆ
“พระเครื่องพวกนี้ราคาขึ้นไปเยอะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เคยเช่าหลักแสนไปถึง 5 แสน ปัจจุบันลดลงมามาก แต่ไม่ใช่เช่า 1 แสนแล้วลดเหลือ 1 หมื่นนะ แต่เป็นการลดราคาลงมา 20-30%”
‘ต้น’ ย้ำว่า พระเครื่องรุ่นใหม่ที่ขึ้นสูงมากในช่วง 1-2 ปี ถามว่าเวลานี้มีโอกาสจะขึ้นไปอยู่ในราคาเดิมได้หรือไม่ ขอฟันธงว่า ‘ยาก’ เพราะภาวะเศรษฐกิจ ทำให้เม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามาในตลาดพระน้อยลง แม้ความนิยมจะยังมีอยู่ก็ตาม
“บางคนบอกว่าเศรษฐกิจซบเซา แต่ตลาดพระไม่กระทบ เพราะว่าคนที่ถือไว้ยังไม่ขายออกมา ถ้าเมื่อไหร่ขายออกมาจะรู้ทันที คนที่เคยเช่ามา 1 แสน ปัจจุบันเหลือแค่ 8 หมื่น ก็เพราะคนรับซื้อหรือแผงพระรับไว้ที่ 6-6.5 หมื่นบาท เพื่อที่เขาจะไปปล่อยต่อที่ 7.5 หมื่นถึง 8 หมื่นได้”
ในส่วนของคนจีนที่เข้าสู่ตลาดพระเครื่องมีอยู่พอประมาณและได้มาเปิดร้านพระเครื่องที่ศูนย์พันธุ์ทิพย์ แต่คนจีนไม่ได้เช่าพระเก่าที่มีมูลค่าสูงเป็นสิบๆ ล้านแบบคนไทย เนื่องจากคนจีนไม่สามารถจำแนกพระราคาสิบๆ ล้านกับราคาหนึ่งแสนว่ามันแตกต่างกันตรงไหน อย่างไรได้
“จะไปบอกเขาว่าพระราคาสิบๆ ล้าน มันเก่ากว่า เก่งกว่า สวยกว่า บางครั้งคนจีนไม่เข้าใจ และเขาจะเล่นหรือเช่าในกลุ่มของเขาซึ่งเป็นคนละส่วนกับตลาดพระไทยที่บรรดาเซียนหรือนักสะสมเล่นกัน”
ที่สำคัญ ‘ต้น’ บอกว่า คนจีนนิยมมาเช่าพระเครื่องที่เมืองไทย โดยยึดหลักการ คือ เช่าพระจากที่คนไทยนิยม และต้องกลับมาขายคืนได้ในราคา 70-80% จากมูลค่าที่คนจีนเช่าไป
“หลักการนี้คนจีน happy ยอมให้หัก 20-30% ไม่จำเป็นต้องดูว่าพระแท้หรือไม่แท้ แค่ราคารับคืนมีส่วนต่างที่พอใจ พูดง่ายๆ คือซื้อแล้วขายคืนได้ หรือเปลี่ยนเล่นรุ่นอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่าได้เท่านั้น”
อีกทั้งการที่คนจีนเลือกมาเช่าพระที่เมืองไทยเพราะเทียบราคากับการเช่าผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นคนจีนนำไปขายในประเทศจีนมีการบวกราคาสูงถึง 100 กว่าเปอร์เซ็นต์ ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่คนจีนพอใจที่จะให้หักส่วนต่าง 20-30% ซื้อองค์ละ 1 ล้าน มาขายคืน 8 แสน เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะถ้าไปซื้อที่อื่นแม้ราคา 3-4 แสน แต่เวลาจะคืนก็หาตัวคนขายไม่เจอแล้ว
‘ต้น’ บอกอีกว่าศูนย์พระเครื่องที่ห้างพันธุ์ทิพย์ มีคนจีน พูดภาษาจีน และรับเช่า ปล่อยเช่า จากคนไทย มาเปิดร้านหรือแผงพระประมาณ 20-30% จากทั้งหมดประมาณ 500 แผง โดยแผงเหล่านี้ดูจะซบเซาเช่นกันซึ่งอาจเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศจีนด้วยเช่นกัน
“ช่วงนี้ตลาดพระเงียบไม่ว่าใครอยากจะปล่อยเช่าก็ต้องทำใจที่จะขาดทุน หรือคิดบวก ขายวันนี้เดี๋ยวก็เช่าใหม่ สวยกว่าเดิม”
ขณะเดียวกัน พระเครื่องรุ่นเก่าๆ ชุดเบญจภาคี หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หรือพระสมเด็จวัดระฆัง หรือพระวัดปากน้ำ พิมพ์แป๊ะยิ้ม ราคาพระเครื่องเหล่านี้คงไม่ขึ้นไปมากกว่านี้แล้ว โดยเฉพาะพระที่มีการสร้าง 50 กว่าปีมาแล้ว จะกระจัดกระจายไปอยู่ในมือนักสะสม ที่สำคัญพระเครื่องที่มีจำนวนน้อย ราคาจะไม่ลง
“เวลานี้พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เฉพาะรุ่นที่สร้างทันสมเด็จโต เท่านั้นที่มีราคาหลายสิบล้านขึ้นไป เชื่อว่าจะมีไม่เกิน 50 องค์ ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงพระว่ารุ่นนี้อยู่กับใคร จะมีประวัติกันหมด ส่วนราคาขายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
แต่ถ้านักเล่นพระรุ่นใหม่ต่างไปจองพระใหม่ 5 ลัง 10 ลัง ถ้าใครมี 20 ลังเคยขายได้ลังละ 1 แสนบาท ถ้ามีการปล่อยออกมาลังละ 5 หมื่น ทุกคนก็ต้องขายลังละ 5 หมื่นเหมือนกันหมด ตลาดพระใหม่จะเป็นแบบนี้ ราคามีโอกาสลงค่อนข้างมาก
‘ต้น’ เล่าว่า ปี 2566 ที่มีการออกพระรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดพระ ราคาจะคูณ 2 หรือคูณ 3 เท่าเหมือนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมายังไม่เห็นมีแม้แต่รุ่นเดียว เนื่องจากแต่ละหลวงพ่อ แต่ละรุ่นมีคนเข้าไปเล่นน้อยแค่ 300-500 คน ซึ่งต่างจากพระเครื่องที่มีคนเล่นในระดับหลายหมื่นคน หรือแสนคน รวมไปถึงค่านิยม และเม็ดเงินที่คอยพยุงแต่ละรุ่นมันแตกต่างกันมาก อีกทั้งพระเครื่องรุ่นเก่าๆ ล้วนอยู่ในมือคนมีเงิน ในฐานะที่อยู่วงการนี้มา 20 กว่าปี ยังเห็นพระเครื่องในระดับมาสเตอร์พีซออกมาน้อยมาก โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
“พระเครื่องที่ออกสู่ตลาดที่เคยมีราคาสูงสุด และลดลงมาต่อเนื่อง ยังไม่เห็นมีองค์ไหนพุ่งขึ้นไปถึงราคาสูงได้ พระปากน้ำรุ่น 6 แป๊ะยิ้ม ผ่านมา 30 กว่าปี ราคาลงมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถขึ้นไปสูงเท่าเดิมได้ ตอนนี้อยู่ที่ 5-6 พัน”
ต้น ท่าพระจันทร์ บอกอีกว่า ปัจจุบันเท่าที่เห็นจะมีวัตถุมงคลเพียงอย่างเดียวคือ ‘จตุคามรามเทพ” รุ่นแรกที่สร้างขึ้นในโอกาสประกอบพิธีกรรมเบิกเนตรหลักเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2530 ในรูปแบบพระผงสุริยัน-จันทรา และเหรียญปิดตาพังพระกาฬ ปี 32 (รุ่นแรก) ที่เคยมีราคาสูงที่สุด และราคาตกมาต่อเนื่อง แต่กลับปรากฏว่าปีนี้ราคากำลังทะยานขึ้นจนเชื่อว่าจะไปถึงจุดที่แพงที่สุดได้ และเชื่อว่าตลาดพระปี 2567 จตุคามรุ่นนี้น่าจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง
“เนื้อทองคำขึ้นเป็นหลักล้านๆ บางองค์ 2 ล้านกว่าที่หากัน เหรียญพังพระกาฬ เนื้อนวโลหะ ช่วงตกสุดอยู่ที่ 2-3 หมื่น แต่ปี 2566 เริ่มขยับเป็น 2-3 แสน เชื่อว่าจะขยับขึ้นไปอีกเพราะรุ่นแรกที่ผลิตมีจำนวนไม่มาก ที่สำคัญราคาที่ขยับน่าจะเกิดจากความเชื่อ ศรัทธาของนักสะสมและนักเก็งกำไรกลับเข้ามาหาวัตถุมงคล”
‘ต้น’ ย้ำว่าจตุคามฯ รุ่นอื่นๆ ที่มีการผลิตออกมาจากวัดดังๆ ในทุกภาคไม่น่าจะมีโอกาสได้รับความนิยมเท่าจตุคามฯ รุ่นปี 2530 และ 2532 ที่พลตำรวจตรีขุนพันธ์รักษ์ราชเดช เป็นประธานจัดสร้าง!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j