วนกลับมาหลอกอีกครั้งมิจฉาชีพยอมซื้อโฆษณา Facebook หลอกลงทุนอ้างได้ผลตอบแทนสูง เอารูปคนดัง ผู้บริหารบริษัทใหญ่ ใช้โลโก้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. เสริมความเชื่อมั่น รอบนี้ทำเป็นคลิปสั้นชวนลงทุนมีให้เลือกทั้งลงทุนสั้น-ยาว-สูงวัย นักบริหารเงินชี้ผลตอบแทนสูงเกินจริงไม่มีใครทำได้ ด้าน ก.ล.ต.ประสาน Facebook ถอดโฆษณาหลอกลวง
ในช่วงนี้หลายท่านที่เล่น Facebook คงได้เห็นโพสต์ชักชวนให้ลงทุนหุ้นตัวใหญ่ๆ ของประเทศไทยผ่านตากันมาบ้าง ด้วยข้อความเชิญชวนเริ่มลงทุนหลักพันบาทและได้รับผลตอบแทนสูง เช่น เปิดพอร์ต 1,000 บาทรับปันผล 290 บาทต่อวัน หรือ 29% หรือบางเจ้าโฆษณาว่าได้ผลตอบแทนสูงถึง 48% ใครที่ต้องการหาผลตอบแทนที่ดีคงสนใจกับโฆษณาเหล่านี้ไม่น้อย
ถือเป็นการวนกลับมาอีกครั้งของโฆษณาชักชวนให้ลงทุน หลังจากที่ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เคยยิงโฆษณาถี่ๆ ออกมาหลอกล่อคนที่ต้องการผลตอบแทนสูงๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวของอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ออกมาเตือนว่าโฆษณาเหล่านี้เป็นของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่ลักลอบนำเอาโลโก้ รูปผู้บริหารของบริษัทขนาดใหญ่โดยที่บริษัทไม่มีส่วนรู้เห็น เพื่อนำมาใช้หลอกล่อเหยื่อ รวมถึงแอบอ้างว่าได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.
ในรอบนี้รูปแบบในการเชิญชวนไม่ต่างไปจากเดิม หุ้นใหญ่อย่าง ปตท. หุ้นตระกูล CP ถูกมิจฉาชีพนำมาใช้หลอกล่อ ครั้งนี้ตัดคลิปสั้นๆ ของผู้บริหารนำมาสร้างความน่าเชื่อถือ มีการสร้างคลิปสัมภาษณ์สาวโรงงานเล่นหุ้นเริ่มจาก 1,000 ปีเดียวพอร์ตขยับขึ้นเป็นครึ่งล้าน และพยายามชวนลงทุนกองทุนผู้สูงอายุให้ผลตอบแทนราว 5-7% ต่อเดือน
สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน
หน่วยงานต้นทางที่กำกับดูแลเรื่องการลงทุนอย่าง ก.ล.ต. เห็นว่า แนวโน้มของการหลอกลงทุนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมิจฉาชีพมักใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการหลอกลวงประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริง ล่อลวงด้วยการเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริง หรือการแอบอ้างใช้ภาพ และ/หรือชื่อของผู้บริหารของหน่วยงานในตลาดทุนมาชักชวนให้ลงทุน เป็นต้น
ก.ล.ต. จึงเปิดให้มีช่องทาง “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เพื่อให้เป็นช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสการหลอกลงทุนโดยตรง โทร.1207 กด 22 หรือแจ้งผ่านระบบรับแจ้งบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th/scamalert) หรืออีเมล scamalert@sec.or.th โดย ก.ล.ต. จะเร่งดำเนินการตรวจสอบเบาะแสที่ได้รับและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปิดกั้นเนื้อหาหรือช่องทางการหลอกลงทุน โดยจะประสานกับ Meta (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram รวมทั้งประสาน LINE (ประเทศไทย) เพื่อปิดกั้นช่องทางของมิจฉาชีพในแพลตฟอร์มดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นกับประชาชน
ก่อนหน้านี้ อดีตรัฐมนตรี Des เคยมีแนวคิดที่จะฟ้อง Facebook ที่ปล่อยให้มิจฉาชีพโฆษณาหลอกลวงผ่านแพลตฟอร์มนี้ แต่เปลี่ยนรัฐบาลไปเสียก่อน ขณะนี้ถ้าพบว่ามีการโฆษณาหลอกลวงผ่าน Facebook ทาง ก.ล.ต.สามารถประสานงานกับทาง Facebook ได้ทันทีเพื่อลบทันที
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้แนะข้อสังเกตของการหลอกลวงไว้ดังนี้
1.เสนอผลตอบแทนสูงเกินจริง เร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุน
2.คำโฆษณาชักชวนว่าแม้ไม่มีความรู้ก็ลงทุนได้
3.อ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานรัฐ ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือสมาคมที่เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
4.แอบอ้างโดยใช้รูปดารา คนดังหรือผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่
5.ชื่อผู้รับโอนใช้ชื่อบัญชีส่วนตัว
6.ปลอมแปลงใบอนุญาต อ้างชื่อ หรือตั้งชื่อให้ใกล้เคียงบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับ
หากพบเห็นพฤติกรรมที่น่าสงสัย อย่าเพิ่งหลงเชื่อ ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ เพราะการโฆษณาชวนเชื่อหรือชักชวนให้ลงทุนในลักษณะดังกล่าวมักจะเป็นการหลอกลวง
ใช้โฆษณาล่อเหยื่อ
รูปแบบการติดต่อกับเหยื่อครั้งนี้ก็ไม่ต่างกับครั้งที่แล้ว โลโก้หรือรูปผู้บริหารที่นำมาใช้ตรงกับของจริง เมื่อโฆษณาที่ซื้อไปได้ผลมีผู้สนใจทักเข้าไปทาง Messenger จะมีคนแนะนำเบื้องต้น และชักชวนให้พูดคุยทาง Line จากนั้นจะเข้าสู่โหมดของการชักชวนลงทุนตาม Package ต่างๆ ที่เสนอมาให้พร้อมทั้งผลตอบแทน
เพจที่ชักชวนลงทุนรูปแบบนี้เกือบทั้งหมดจะซื้อโฆษณาผ่าน Facebook เพื่อให้คนได้เห็นในวงกว้าง เพิ่มโอกาสของคนที่จะหลงเข้ามาเป็นเหยื่อมากขึ้น โฆษณาชักชวนลงทุนจะไม่ปรากฏบนเพจต้นทาง ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าส่วนมากเป็นเพจต้นทางมักตั้งขึ้นมาใหม่ อาจมีความพยายามสร้างความเคลื่อนไหวบ้าง แต่ไม่ใช่เป็นเพจที่เปิดมานานคาดว่าเป็นเพจเฉพาะกิจ
เป้าหมายของมิจฉาชีพคือหลอกคนที่ไม่มีความรู้ด้านการลงทุน เพราะไม่รู้ว่าจะตรวจสอบหรือปรึกษาใครที่ไหนได้ ส่วนคนที่พอทราบเรื่องการลงทุนย่อมมองออกว่านี่คือมิจฉาชีพ เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้ามาจัดการเพื่อให้ลดเหยื่อที่จะถูกหลอกลวง
อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด
จากการทดลองสอบถามไปยังเพจที่ชักชวนลงทุนรายหนึ่งพบว่า การลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์บริษัทของเรามี 2 แบบ คือ
1.การลงทุนระยะสั้น (รายวัน) และ 2.การลงทุนระยะยาว (รายเดือน) ปันผล
หากลูกค้าไม่เคยลงทุนมาก่อนดิฉันขอแนะนำลงทุนแบบรายวันก่อนจะดีกว่า เพราะใช้เวลาทำกำไรไม่นาน สามารถถอนกำไรและทุนออกจากบัญชีได้ทันทีหลังเทรดเสร็จสิ้น
พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสำหรับรูปแบบระยะสั้น - Day Trade คือ การเก็งกำไรระยะสั้นในสินทรัพย์ทางการเงิน อาศัยประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของราคาในช่วงเล็กๆ ภายในวันเดียวหรือเซสชันเดียวกัน ถือเป็นวิธีการเทรดที่มีความเสี่ยงสูง หากมีความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ที่กำลังเทรดก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขาดทุนได้
เริ่มต้นการลงทุนที่ 1,500 บาท ใน 1 วัน สามารถทำการซื้อขายได้ 12 รอบ แต่ละรอบ ผลกำไรจะอยู่ที่ 15-30% สามารถเบิกถอนทุนและกำไรได้หลังการซื้อขายเสร็จสิ้น
ส่วนอีกรายแจ้งว่า การลงทุนมี 3 รูปแบบ คือ การลงทุนรูปแบบรายวัน (ระยะสั้น) การลงทุนรูปแบบปันผลรายสัปดาห์ (ระยะยาว) และกองทุนผู้สูงอายุ (อายุ 50 ปีขึ้นไป)
สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ ทางบริษัทจะมีอาจารย์คอยสอนให้ทุกขั้นตอนในการเทรดซื้อขายให้
การลงทุนแบบรายวัน (Day trade) การลงทุนระยะสั้นใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,259 บาท กำไรโดยเฉลี่ยจะได้รับอยู่ที่ 10-30% ระยะเวลาในการซื้อขายเฉลี่ย 10-15 นาที หลังจากซื้อขายสิ้นสุด ทำรายการเบิก-ถอนทุนและกำไรได้ทันที
ในระหว่างการซื้อขายจะมีโบรกเกอร์หรือผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ด้านการลงทุนช่วยวิธีการลงทุนทุกขั้นตอนอย่างละเอียด เงินลงทุนขั้นต่ำระยะสั้นอยู่ที่ 1,259 สูงสุดที่ 100,000 บาท
การลงทุนแบบปันผล (ระยะยาว) การลงทุนแบบปันผลนี้จะใช้เงินลงทุนขั้นต่ำที่ 20,000 บาทขึ้นไป การปันผลจะปันผลทุกๆ 1 สัปดาห์ โดยกำไรหรือปันผลที่ผู้ลงทุนจะได้รับแต่ละสัปดาห์อยู่ที่ 5-7%
ในส่วนตรงนี้ทางบริษัทมีโบกเกอร์ผู้เชี่ยวชาญนำเทรด ถ้าหากลูกค้าเทรดตามโบกเกอร์แล้วเกิดขาดทุน ทางบริษัทยินดีคืนทุนให้เต็มจำนวน เงินลงทุนขั้นต่ำระยะยาวอยู่ที่ 20,000 สูงสุดที่ 200,000 บาท
แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวมกล่าวว่า ที่มิจฉาชีพเสนอมานี้นักบริหารเงินมืออาชีพก็ไม่สามารถทำได้ การรับประกันการลงทุนไม่มีใครเขาทำกัน ถ้าใครเห็นแบบนี้ให้มั่นใจได้เลยว่านี่ไม่ใช่การลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีโอกาสสูญเงินเมื่อท่านโอนเงินไปให้มิจฉาชีพเหล่านี้
ข้อสังเกตมิจฉาชีพ
แหล่งข่าวจากวงการลงทุนให้คำแนะนำในการดูว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ เรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น หรือกองทุนรวม ส่วนใหญ่จะไม่ทำการประชาสัมพันธ์ในลักษณะนี้ เพราะบริษัทเหล่านี้จะต้องบริหารงานมาจนลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น ประการต่อมาเรื่องการลงทุน บริษัทที่รับบริหารเงินหรือเป็นตัวกลางซื้อขายหุ้นหรือกองทุนให้ลูกค้าจะต้องได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.
ตัวบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถเป็นตัวกลางในการซื้อขายหุ้นหรือบริหารเงินของลูกค้าตามที่โฆษณาได้ แต่มีโฆษณาบางตัวที่แอบอ้างว่าเป็นโบรกเกอร์ที่มีอยู่จริงๆ เมื่อตรวจสอบกลับไปยังโบรกเกอร์ดังกล่าวรับคำตอบว่าบริษัทเขาถูกแอบอ้าง
บริษัทที่รับอนุญาตซื้อขายหุ้นส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน มักจะไม่มีรายใดรับประกันเรื่องผลตอบแทน อีกทั้งตัวเลขผลตอบแทนที่เหล่ามิจฉาชีพเสนอมานั้นในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เพราะสูงกว่าผลตอบแทนในตลาดเงินและตลาดทุนมาก ขนาดผู้บริหารเงินมืออาชีพก็อาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนมากขนาดนี้
อย่างไรก็ตาม มิจฉาชีพเหล่านี้จะเตรียมตัวมาค่อนข้างดีในเรื่องเอกสารหลักฐาน หากลูกค้ารายใดเริ่มมีข้อสงสัยก็จะแสดงหลักฐาน (ปลอม) ให้ลูกค้าดู คนที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนพอเจอแบบนี้ก็เชื่อโดยสนิทใจ เขาสามารถปลอมเอกสารว่าได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่
มันเป็นเพียงการสร้าง Story ของเหล่ามิจฉาชีพเพื่อหลอกเหยื่อ ไม่ต่างไปจากแก๊ง Call Center ที่เน้นหลอกลวงและข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว ถือเป็นการแยกกลุ่มเหยื่อ เพราะเรื่องการลงทุน เหยื่อมักจะมีเงินออมอยู่ไม่น้อย ดังนั้นวงเงินความเสียหายอาจมากไม่แพ้การหลอกลวงรูปแบบอื่นหากไม่มีการเข้าไปยังยั้ง หรือสกัดกั้น
มีเงิน มีสติ
ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุนให้ข้อแนะนำสำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนว่า อันดับแรกต้องศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนให้ดีก่อนตัดสินใจ ไม่ต้องกังวลจะเสียโอกาสดีๆ ไป หรืออย่าหลงเชื่อคำหลอกลวงที่ว่าไม่มีความรู้ก็ลงทุนได้ ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าเงินทองที่ท่านเก็บออมมาทั้งชีวิตอย่าให้สูญไปง่ายๆ
ขอให้ยึดหลักความจริงไว้ก่อนว่า ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดนั้นถือว่ามีความเสี่ยงสูง ขนาดเซียนหุ้นระดับประเทศยังไม่สามารถบริหารพอร์ตได้ผลตอบแทนตามที่โฆษณาเหล่านี้แจ้งไว้ แม้อาจมีบางรายที่ได้รับผลตอบแทนจริงตามที่โฆษณา ส่วนใหญ่จะเป็นแค่ช่วงแรกเพื่อล่อให้เหยื่อลงเงินเพิ่มเท่านั้น
ข้อคิดอีกประการหนึ่งถ้าเขาเก่งขนาดนี้ เขาค่อยๆ บริหารเงินหลักพันบาทของเขาเองให้กลายเป็นหลักล้าน หลักสิบ ร้อย หรือพันล้านบาท ได้เพียงคนเดียวไม่ต้องแบ่งใครไม่ดีกว่าหรือ? ทำไมเขาจะต้องมารับจ้างบริหารเงินคนอื่นเพื่อให้คนอื่นรวยแล้วตัวเองรับแค่ค่าธรรมเนียมบริหาร
ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยเกษียณ ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนจากบำเหน็จหรือบำนาญที่ได้รับให้งอกเงยเพื่อไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิต
ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมานาน แม้จะเริ่มขยับขึ้นมาบ้างแต่ยังอยู่ในระดับน้อยมาก จนหลายคนพร้อมเสี่ยงเพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินที่มีความมั่นคง แต่การเสี่ยงด้วยช่องทางเหล่านี้อาจทำให้เงินต้นที่ท่านมีหายไปทั้งหมด
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j