#เลิกบังคับแปรอักษร ทำเป็นระบบสมยศ+นักเรียนเลวชง ส.ส.ก้าวไกลรับลูก แต่ปลุกไม่ขึ้นหลังศิษย์เก่า-ผู้ปกครองเห็นต่างลูกได้ประสบการณ์ คนดังเปิดหน้าโพสต์โต้ จนกระแสตีกลับก้าวไกลเงียบ ด้าน Admin เพจนักเกรียนXXX ยอมรับครั้งนี้การเมืองลากจตุรมิตรเข้าไปลึก ยันแปรอักษรรูปว่าวเป็นแค่ล้อคริสเตียนที่ยิงจุดโทษไม่เข้าเท่านั้น ไม่ได้แซะทางการเมือง
การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรครั้งที่ 30 กลายเป็นดรามาให้พูดถึงในวงกว้างหลังจากเกิดกระแส #เลิกบังคับแปรอักษร เนื่องจากมีศิษย์เก่าของโรงเรียนเทพศิรินทร์ อย่างนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมสมาชิกบางรายของกลุ่มนักเรียนเลว ทำกิจกรรมติดป้ายดังกล่าวตามสถานที่ต่างๆ เช่น สะพานลอย และที่หน้าสนามศุภชลาศัย
พร้อมทั้งยื่นเรื่องดังกล่าวต่อกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานอื่นๆ โดยมี ส.ส.พรรคก้าวไกลกรุงเทพมหานคร 2 ราย ออกเรียกร้องให้ยกเลิกบังคับแปรอักษรได้แก่ น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ และนายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ที่แสดงความคิดเห็นที่คล้ายกัน
โดยมี น.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล และโฆษกกรรมาธิการการศึกษาออกมากล่าวว่า คณะทำงานการศึกษาก้าวไกล มีความเห็นตรงกันว่า เราไม่ได้แถลงเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านกิจกรรม “จตุรมิตรสามัคคี” รวมทั้งข้อมูลที่ได้รับอาจจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกมิติ แต่กระนั้นทางเรามีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของเด็กนักเรียน รวมถึงการละเมิดสิทธิของนักเรียน เราขอยืนยันว่า นักเรียนทุกคนมีสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องของความสวัสดิภาพความปลอดภัย
ส่งผลให้มีการพูดถึงเรื่องเลิกบังคับแปรอักษรเป็นวงกว้าง ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะศิษย์เก่าของ 4 โรงเรียนที่แข่งขันรายการจตุรมิตร
60 ปีไม่มีปัญหา
สำหรับการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 เป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ประกอบไปด้วยโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ แข่งขันระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน ถึง 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ
ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีจัดครั้งแรกเมื่อ 16 ตุลาคม 2507 โดยจัดแข่งขันทุก 2 ปี ส่วนการแข่งขันครั้งที่ 30 เดิมได้กำหนดไว้ในวันที่ 13, 15, 17 และ 20 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้ชื่องานตามแนวคิด “สร้างความดีสู่วิถีชีวิตใหม่” แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวการณ์ที่น่าเป็นห่วง คณะกรรมการจัดการแข่งขันจึงมีมติเลื่อนการแข่งขันไปเป็นปี พ.ศ.2565 ต่อมามีการกำหนดการจัดการแข่งขันในวันที่ 12,14,16,19 พฤศจิกายน 2565 และต่อมาได้เลื่อนการแข่งขันอีกครั้งไปเป็นปีการศึกษา 2566
ส.ส.ก้าวไกลรับลูกถึงกรรมาธิการ
ครั้งนี้มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอ้างความเป็นศิษย์เก่าโดดเข้ามาปลุกกระแส #เลิกบังคับแปรอักษร โดยอ้างเหตุผลว่า จตุรมิตรสามัคคีมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ การแข่งขันฟุตบอล การแปรอักษรโดยนักเรียน พาเหรดและโชว์พิเศษ จุดที่เป็นอันตรายต่อนักเรียนมากที่สุดคือ การแปรอักษรบนอัฒจันทร์ นักเรียนถูกบังคับห้ามไปขับถ่ายที่ห้องน้ำโดยคำสั่งและโดยสภาพแวดล้อม ทั้งยังต้องตากแดดเป็นเวลาเกินกว่า 8 ชั่วโมงติดต่อกัน ทำให้สุขภาพผิวของนักเรียนเสียหาย นักเรียนเสี่ยงที่จะเป็นลมแดดตามอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ
และยังเรียกร้องต่อผู้อำนวยการของโรงเรียนในเครือจตุรมิตร ในฐานะผู้จัดงานให้ปรับปรุงการจัดงานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีให้เป็นดังต่อไปนี้
1.ยกเลิกการบังคับนักเรียนขึ้นเชียร์และแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 นักเรียนต้องมีสิทธิเลือกโดยสมัครใจ อาจให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมได้
2.เพิ่มเวลาพักสำหรับผู้ขึ้นแปรอักษรอย่างชัดเจน มีเวลารับประทานอาหาร มีเวลาพักเข้าห้องน้ำ มีเวลาพักเพื่อหลบแดด มีมาตรการควบคุมคนให้สามารถเดินเข้าออกได้โดยง่าย ทั้งขณะปกติและขณะฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้
3.จัดสวัสดิการให้มีปัจจัยอื่นใดที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนอัฒจันทร์ เช่น ครีมกันแดดสำหรับใบหน้าและร่างกาย
ตามมาด้วย ส.ส.ก้าวไกลที่ออกมารับลูกในเรื่องนี้ไปจนถึงขั้นกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร
เฉลยรูปว่าวแค่ล้อคริสเตียน
จากการสอบถาม Admin เพจนักเกรียน XXXX ว่านี่เป็นครั้งแรกหรือไม่ที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยว ได้รับคำตอบว่า กิจกรรมจตุรมิตรเริ่มมีการพูดถึงกันในทางการเมืองมาตั้งแต่ครั้งที่ 26-27 เป็นต้นมา มีการนำเอาภาพของการแปรอักษร หรือขบวนไปใช้ในทางการเมืองบ้าง แต่ครั้งนี้ยื่นเรื่องไปถึงกรรมาธิการการศึกษา ถือว่าหนักกว่าครั้งก่อนๆ
ส่วนจุดเริ่มต้นของ #เลิกบังคับแปรอักษรในครั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเริ่มจากรูปว่าวหรือไม่ การแปรอักษรรูปว่าวเป็นเรื่องภายในสนาม เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันฟุตบอลคู่สวนกุหลาบกับกรุงเทพคริสเตียน ขณะนั้นคริสเตียนได้จุดโทษแต่ยิงไม่เข้า สวนกุหลาบก็แปรเป็นรูปว่าวเป็นการล้อเลียน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย
ส่วนการแปรอักษรรูปพระบรมวงศานุวงศ์นั้น ถือเป็นโค้ดร่วม โค้ดบังคับ ทุกโรงเรียนแปรทุกครั้งอยู่แล้ว ไม่มีนัยทางการเมือง จึงอยากให้ศึกษารายละเอียดก่อนวิพากษ์วิจารณ์
คนดังไม่ทน
การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรแทบทุกครั้งจะมีคนดังทั้งนักการเมืองหรือดารา นักร้องที่เคยเป็นศิษย์เก่ามาร่วมชมและเชียร์เสมอ
ครั้งนี้ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลายอย่างดู๋ สัญญา คุณากร พิธีกรและนักแสดงได้ออกมาโพสต์ว่า ผมเป็นคนไม่ชอบมีเรื่องกับใคร แต่ทำไมผมมีความรู้สึกว่า ประโยคที่ได้ยินจากเรื่องนี้มันตรงกับที่รู้สึก ว่า "…(คุณ) อย่า…(มาหาเรื่อง) กับโรงเรียนของ…(ผม) เลย"
คุณไม่เคยรับรู้ถึงเกียรติภูมิของโรงเรียน ความอดทน ความเสียสละ การภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนที่จะสร้างเยาวชนที่มีเกียรติ มีรากเหง้า มีกำลังสติปัญญา และมีความเป็นมนุษย์ … ทั้งหมดต้องถูกหล่อหลอมโดยหลายช่องทาง หลายกิจกรรม…มีทั้งยาก และง่าย ทั้งเหน็ดเหนื่อย…และลำบาก
โปรดรับรู้ว่า นักเรียนสวนกุหลาบจะรักษาความถูกต้องจากการแอบแฝงผลใดๆ และจะรักษาเกียรติของโรงเรียนเสมอไป
#ผมคือนักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
การโพสต์ของดู๋สัญญามีคนแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าอัสสัมชัญอย่างอธิป บอล นานา โพสต์แสดงความเห็นในฐานะศิษย์เก่ารุ่น AC110 อย่าเสือก..!! เรื่องแปรอักษรของพวกกู
กระแสตีกลับก้าวไกล
ศิษย์เก่ารายหนึ่งกล่าวว่า จตุรมิตรเขามีกันมา 60 ปีแล้ว ไม่เห็นมีปัญหา เพิ่งมาครั้งนี้ที่มีนักการเมืองโดดเข้ามาลากให้การแข่งขันครั้งนี้เป็นประเด็นทางการเมือง คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ศิษย์เก่าเทพศิรินทร์ ปลุกเรื่องนี้ขึ้นมา คอการเมืองก็พอจะรู้ว่าคุณสมยศ เป็นส้มมากกว่าแดง และทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ 3 นิ้ว
จากนั้น ส.ส.ก้าวไกลรับลูกตั้งคำถามแสดงความห่วงใย 1.กิจกรรมการให้นักเรียนขึ้นแปรอักษรของแต่ละโรงเรียนเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยความสมัครใจของนักเรียนผู้เข้าร่วมหรือไม่? 2.การจัดการเรื่องสุขอนามัยและเหตุฉุกเฉินมีความพร้อมและเหมาะสมหรือไม่? ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา รวมไปถึงส่งเรื่องนี้ไปถึงกรรมาธิการการศึกษา
ทุกอย่างเป็นระบบตั้งแต่การเปิดเรื่อง รับลูกและส่งต่อไปเพื่อให้เป็นประเด็นทางการเมืองในแนวทางที่พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญ
แต่ผลที่ออกมาเกิดกระแสตีกลับจากบรรดาศิษย์เก่าและผู้ปกครองไม่น้อย ตอนนี้สายการเมืองก้าวไกลเริ่มเงียบไป อีกทั้งกิจกรรมนี้จบลงไปเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นคู่ชิงชนะเลิศระหว่างโรงเรียนสวนกุหลาบกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
ครั้งนี้ไม่มีพรรคการเมืองอื่นโดดลงมาร่วมขบวนกับพรรคก้าวไกล ที่เปิดตัวอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับแนวทางของพรรคที่เน้นเนื่องสิทธิเสรีภาพ โดยตั้งข้อสังเกตว่าการแปรอักษรในครั้งนี้เป็นการบังคับและอาจการละเมิดสิทธิเด็กนักเรียน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นแนวทางที่ก้าวไกลใช้หาเสียงมาตลอด
ดูเหมือนการชิงจังหวะเพื่อสร้างคะแนนนิยมของก้าวไกลอาจได้ผลตรงกันข้าม ขนาดศิษย์เก่าของจตุรมิตรที่เคยเลือกก้าวไกลยังออกมาต่อว่า พร้อมตั้งข้อสงสัยเรื่องคุณภาพส.ส.ของพรรค ที่ก่อนหน้านี้ ส.ส.ชายมีคดีคุกคามทางเพศจนพรรคต้องมีมติขับออก หลังกระแสตีกลับที่พรรคลงโทษ ส.ส.ที่กระทำผิดเหมือนกันแต่รับโทษไม่เท่ากัน
ขณะที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยทราบดีว่าลูกตัวเองลำบากจากการต้องขึ้นแปรอักษร แต่กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นการฝึกความอดทนร่วมกัน สร้างความสามัคคีกลมเกลียว ดังนั้น การปลุกกระแสเลิกบังคับแปรอักษรจากทางก้าวไกลจึงแผ่วลงอย่างทันตา
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram : https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok : https://vt.tiktok.com/ZSe4j