“ปลัดกระทรวงแรงงาน” เผยแรงงานไทยในต่างประเทศบูมสุด นำเงินตราเข้าไทยถึงปีละ 300,000 ล้านบาท ช่างต่อเรือในเกาหลีรายได้เหยียบแสน ชี้ปี 66 แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศทะลุเป้า พบไปไต้หวันเยอะสุด ขณะที่ ก.แรงงานเตรียมเปิดตลาดแรงงานใหม่ใน 6 ประเทศ 100,000 อัตรา เน้นแรงงานฝีมือ ฟันค่าตัวสูง ระบุแรงงาน 3 จว.ชายแดนใต้มีโอกาสทำงานด้านสุขภาพในซาอุฯ ด้านกาตาร์ต้องการภาคการก่อสร้าง ขนส่ง และท่องเที่ยว รับเอเชียนเกมส์ พร้อมดึงผีน้อยในเกาหลีเข้าโครงการวีซ่า E8
ช่วงนี้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศดูจะประสบปัญหาไม่น้อยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยในอิสราเอลที่ต้องเดินทางกลับประเทศอย่างกะทันหันเนื่องจากปัญหาการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ในปาเลสไตน์ หรือแรงงานไทยในเกาหลีใต้ซึ่งนอกจากความเป็นอยู่ค่อนข้างจะลำบากแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาผีน้อยที่ลักลอบเข้าไปทำงานในแดนกิมจิอีกด้วย อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานของไทยหาได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเต็มที่
โดยล่าสุด กระทรวงแรงงานได้วางแนวทางสำหรับแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ ในปี 2567 โดยจะเน้นทั้งการรักษาตลาดแรงงานเก่าและขยายตลาดแรงงานใหม่ไปพร้อมกัน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า การส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงแรงงานเนื่องจากเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้มีงานทำ ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาการว่างงานภายในประเทศแล้ว การทำงานในต่างประเทศยังสามารถสร้างรายได้ในอัตราที่สูง สามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้ปีละหลายแสนล้าน อีกทั้งยังช่วยพัฒนาความรู้และทักษะฝีมือให้แรงงานไทย ซึ่งจะสามารถนำทักษะดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาประเทศได้อีกด้วย
โดยกระทรวงแรงงานได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ และบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อรักษาตลาดแรงงานเก่าและขยายตลาดแรงงานใหม่ ตามนโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งมอบหมายให้กรมการจัดหางานส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ ทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ จำนวน 100,000 อัตรา ภายในปี 2567
“ในปี 2566 มีคนไทยไปทำงานในประเทศต่างๆ รวมแล้วถึง 89,000 คน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 50,000 คน และจากข้อมูลพบว่ารายได้ที่แรงงานไทยในต่างประเทศส่งกลับไทยโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย สูงถึงปีละ 3 แสนล้านบาท ดังนั้น ในปี 2567 เราจึงส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานทั้งในตลาดแรงงานเดิม คือ เกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง ขณะเดียวกัน เปิดตลาดแรงงานใหม่ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งยังไม่เคยส่งแรงงานเข้าไป เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างงานสร้างรายได้ให้แรงงานไทย รวมถึงเป็นโอกาสที่แรงงานไทยจะได้เพิ่มทักษะฝีมือด้วย” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันเราส่งคนไทยไปทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึง 123 ประเทศ โดยประเทศหลักๆ ที่คนไทยเดินทางไปทำงานในปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.2566) 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ไต้หวัน เป็นประเทศที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานมากที่สุด โดยมีจำนวนถึง 18,699 คน 2.เกาหลีใต้ ไทยส่งแรงงานไป 7,490 คน โดยส่วนใหญ่เข้าไปทำงานภาคการเกษตร และอู่ต่อเรือ 3.ญี่ปุ่น มีแรงงานไทยไปทำงาน 6,385 คน 4.สวีเดน คนไทยเข้าไปทำงาน 5,935 คน ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานภาคการเกษตร และ 5.อิสราเอล มีแรงงานไทยเข้าไปทำงาน 5,064 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคการเกษตร แต่เนื่องจากปัญหาการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ปัจจุบันไทยจึงระงับการส่งแรงงานไปทำงานแล้ว
ส่วนค่าแรงที่แรงงานไทยในแต่ละประเทศได้รับนั้นไม่ต่างกันมาก โดยไต้หวันค่าแรงอยู่ที่เดือนละประมาณ 33,000-34,000 บาท เกาหลีใต้ ในส่วนของภารการเกษตรค่าแรงอยู่ที่ 50,000 บาท ส่วนช่างเชื่อมในอู่ต่อเรือ ค่าแรงอยู่ที่ 80,000-100,000 บาท ญี่ปุ่น ค่าแรงอยู่ที่ 50,000-60,000 บาท ขณะที่อิสราเอล ค่าแรงอยู่ที่ 50,000 บาท ส่วนสวีเดน ซึ่งคนไทยนิยมไปทำงานเก็บลูกเบอรี่นั้น ค่าตอบแทนจะขึ้นอยู่กับผลงานและความขยัน บางคนมีรายได้สูงถึงเดือนละ 70,000 บาท
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า สำหรับตลาดแรงงานใหม่ที่กระทรวงแรงงานตั้งเป้าไว้นั้น มีอยู่ 6 ประเทศ คือ
1.ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่แรงงานไทยในภาคการก่อสร้างเคยสร้างชื่อเสียงไว้ แต่ต่อมาได้หยุดการส่งแรงงานไทยไปนานถึง 33 ปี นี่จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้กลับมาเปิดตลาดแรงงานที่ซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง แต่สาขาอาชีพที่ส่งไปนั้นจะแตกต่างไปจากเดิม โดยเราจะเน้นแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ได้แก่ ช่างเชื่อมท่อก๊าซใต้น้ำ ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่มีค่าตอบแทนสูง โดยอยู่ที่ 50,000-100,000 บาทต่อเดือน นอกจากนั้นซาอุฯ ยังต้องการแรงงานในสาขาอาชีพ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลคนป่วยและคนชรา เนื่องจากซาอุฯ กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยค่าแรงในสาขาอาชีพนี้อยู่ที่ 40,000-100,000 บาทต่อเดือน แต่ข้อสำคัญคือต้องสามารถพูดภาษาอาหรับได้ จึงถือเป็นโอกาสของแรงงานไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
2.ประเทศกาตาร์ เนื่องจากกาตาร์กำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 21 ในปี 2030 จึงต้องการแรงงานภาคก่อสร้าง ภาคบริการเกี่ยวกับท่าอากาศยานและรถไฟ ภาคการท่องเที่ยวและสุขภาพ และภาคการขนส่ง นอกจากนั้น ยังต้องการแรงงานที่ทำงานเกี่ยวกับธุรกิจน้ำมันและท่อก๊าซ โดยค่าตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 40,000-50,000 บาท
3.ประเทศจอร์แดน ตำแหน่งงานที่ต้องการคือแรงงานภาคเกษตร โดยค่าตอบแทนอยู่ที่เดือนละ 40,000-50,000 บาท เบื้องต้นจอร์แดนต้องการแรงงานล็อตแรก จำนวน 159 อัตรา ซึ่งทางกระทรวงแรงงานจะให้บริษัทหางานเอกชนเป็นผู้จัดส่ง และคาดว่าจอร์แดนจะต้องการแรงงานไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเชื่อว่าไทยจะสามารถขยายตลาดไปยังแรงงานสาขาอื่นๆ ในจอร์แดนได้อีกด้วย
4.ประเทศนิวซีแลนด์ ตำแหน่งงานที่ต้องการ ได้แก่ แรงงานภาคบริการ ภาคเกษตร โดยค่าแรงอยู่ที่ 50,000 บาทขึ้นไป นอกจากนั้นยังต้องการแรงงานที่มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญในสาขาสถาปนิก ทันตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน
5.ประเทศโปรตุเกส ตำแหน่งงานที่ต้องการ คือ แรงงานด้านเกษตรกรรม และงานร้านอาหาร โดยเฉพาะเชฟอาหารไทย เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก จึงได้ค่าแรงค่อนข้างสูง ทั้งนี้พบว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีแรงงานไทยเข้าไปทำงานในโปรตุเกสเพิ่มมากขึ้นแต่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ เช่น แรงงานภาคการเกษตรที่เข้าไปปลูกผัก ปลูกผลไม้
6.ประเทศออสเตรเลีย ต้องการพ่อครัวแม่ครัวคนไทยที่มีประกาศนียบัตรรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
“ผมและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะเดินทางไปเจรจาเพื่อเปิดตลาดแรงงานในออสเตรเลียเร็วๆ นี้ โดยทราบว่านอกจากพ่อครัวแล้ว เขามีความต้องการแรงงานภาคเกษตรจากไทยไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เพื่อไปช่วยปลูกมะม่วง จึงถือเป็นตลาดแรงงานใหม่ที่เป็นโอกาสของคนไทย ทั้งนี้ การปรับตัวของแรงงานนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ เช่น งานก่อสร้างในประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งอดีตเคยเป็นแหล่งงานหลักของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นตลาดของแรงงานจากกลุ่มประเทศในเอเชียใต้ อย่างปากีสถาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา บังกลาเทศ เนื่องจากมีค่าแรงค่อนข้างถูก คืออยู่ที่เดือนละ 15,000 บาท ดังนั้นหากคนไทยจะไปทำงานประเทศแถบตะวันออกกลางต้องเป็นพวกช่างแรงงานเช่นฝีมือ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า โฟร์แมน จึงจะคุ้มเพราะเรตค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทย คืออยู่ที่เดือนละ 30,000 บาทขึ้นไป” นายไพโรจน์ กล่าว
สำหรับปัญหาแรงงานไทยที่ไปเป็นผีน้อยในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้นั้น “ปลัดกระทรวงแรงงาน” ชี้แจงว่า เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้เพราะสอบทักษะภาษาเกาหลีไม่ผ่าน ทำให้เกิดการลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลี จึงได้มีการเจรจาร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยและเกาหลีใต้ เพื่อทำ MOU เกี่ยวกับการจ้างแรงงานไทยให้ไปทำงานภาคการเกษตรในประเทศเกาหลีใต้โดยไม่ต้องสอบทักษะภาษาเกาหลี ที่เรียกว่าโครงการวีซ่า E8 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาผีน้อยได้เป็นอย่างมาก โดยโครงการดังกล่าวได้มีการลงนามไปแล้วที่เมืองจินอัน และจะขยายไปยังเมืองอื่นๆ ต่อไป
นอกจากนั้น ยังมีโครงการวีซ่า E7 ซึ่งเปิดโอกาสให้ช่างเชื่อมของไทยเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือของเกาหลีใต้ได้โดยไม่ต้องสอบทักษะภาษาเกาหลี ซึ่งล่าสุดไทยได้ส่งช่างเชื่อมเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้จำนวนหลายพันคนแล้ว ส่วนแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอลนั้นทางกระทรวงแรงงานมีนโยบายที่จะช่วยเหลือโดยให้แรงงานเหล่านี้เข้าไปทำงานภาคการเกษตรที่ประเทศเกาหลีใต้โดยผ่านโครงการวีซ่า E8 ซึ่งอัตราค่าตอบแทนที่ได้รับนั้นไม่ต่างจากที่อิสราเอล
ส่วนในเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในเกาหลีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงนั้นกระทรวงแรงงานได้ให้เอกอัครราชทูตฝ่ายแรงงาน ที่กรุงโซล ลงไปดูข้อเท็จจริงว่าแรงงานไทยทั้งที่เข้าไปแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร และต้องการความช่วยเหลือหรือไม่
“ในส่วนของผีน้อยที่อยู่ในเกาหลีนั้นทางการเกาหลีมีนโยบายผ่อนปรน โดยให้สามารถไปรายงานตัวและเดินทางกลับประเทศไทยโดยไม่มีความผิด ซึ่งเมื่อกลับมาแล้วแรงงานเหล่านี้สามารถเข้าโครงการวีซ่า E8 เพื่อกลับเข้าไปทำงานที่เกาหลีแบบถูกกฎหมายได้ แต่ที่ผ่านมามีผู้เข้ามารายงานตัวไม่เกิน 3,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะแรงจูงใจเรื่องรายได้ โดยแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานภาคการเกษตรในเกาหลี มีค่าตอบแทนอยู่ที่เดือนประมาณ 5 หมื่นบาท ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ยอมเป็นผีน้อย ขณะเดียวกัน นายจ้างก็ชอบเพราะถือว่าเขาได้เปรียบ เมื่อแรงงานไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมาย นายจ้างสามารถต่อรองค่าแรงได้ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ไม่ใช่เฉพาะเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี มีผีน้อยที่ได้ค่าแรงเท่ากับแรงงานที่เข้าไปแบบถูกกฎหมายอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนายจ้างเป็นหลัก” ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j