คาดกระแส #แบนเที่ยวเกาหลีอีกไม่นานคงจบ เข้าใจคนอยากเที่ยวแล้วเจอแบบนี้ เสียเงิน-เสียเวลา-เสียความรู้สึก แต่ต้องยอมรับความจริงต้นเหตุจากคนไทยหนีไปขายแรงงานที่เกาหลีจำนวนมาก ครั้งนี้ภาครัฐทั้ง 2 ประเทศรับทราบและหาแนวทางลดปัญหา เผย 8 เดือนไทยเที่ยวเกาหลี 2.45 แสนคน ส่วน 9 เดือนเกาหลีเที่ยวไทย 1.19 ล้านคน หวั่นตอบโต้กันไปมาไทยเสียประโยชน์หลังนักท่องเที่ยวจีนหายเจอข่าวลบในไทยเพียบ
#แบนเที่ยวเกาหลีกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หลังจากมีนักร้องลูกทุ่งของไทยถูกปฏิเสธการเข้าประเทศเกาหลีใต้แล้วถูกส่งตัวกลับประเทศไทย ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับคนไทยที่จะเดินทางไปเที่ยวเกาหลีใต้อยู่บ่อยครั้ง ขนาดคนดังของไทยหลายคนยังเคยถูกเรียกเข้าห้องเย็นซักถามข้อมูลแล้วปล่อยเข้าเกาหลี หรือถ้าหนักคือส่งกลับประเทศไทย
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าอำนาจในการให้คนต่างชาติเข้าประเทศเป็นของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของทุกประเทศ ปัญหาคนไทยกับตม.เกาหลีมีมานานแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน
เรื่องนี้มีมาเป็นสิบปีแล้ว ต้นเหตุมาจากมีคนไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมายแฝงตัวเข้าไปในคราบนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อทัวร์แฝงมากับคนที่ตั้งใจมาเที่ยวจริงๆ พอคนดังโดนปฏิเสธเข้าเมืองก็มีกระแสแบบนี้ เดี๋ยวพอเรื่องสงบก็เงียบหายไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยที่ต้องการไปขายแรงงานในเกาหลีใต้จะใช้ช่องทางของการท่องเที่ยวเป็นช่องทางหลักในการเข้าเกาหลี สะดวกที่สุดคือซื้อทัวร์เพราะบริษัททัวร์จะเตรียมเอกสารให้ทั้งหมด มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง เพราะมีชื่อโรงแรมที่พัก ตั๋วเครื่องบินขากลับ แต่คนที่หนีจริงๆ ก็ทิ้งตั๋วขากลับ
“เราเข้าใจอารมณ์ของคนไทยที่ตั้งใจจะไปเที่ยวจริงๆ แต่ถูก ตม.เกาหลีปฏิเสธและส่งตัวกลับไทย เป็นใครก็โมโหทั้งนั้น เสียทั้งเงิน เสียเวลา ที่สำคัญคือเสียความรู้สึก” คนในวงการท่องเที่ยวกล่าว
K-ETA ผ่าน-ตม.ไม่ให้ผ่าน
ถ้าสังเกตให้ดีหลังจากเกาหลีเปิดประเทศหลังโควิด-19 เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พยายามดึงคนไทยไปท่องเที่ยวเคียงคู่กับเวียดนาม แต่คนไทยไปเกาหลีน้อยลงอยู่ดี เนื่องจากเงื่อนไขใหม่ที่ขออนุญาตเข้าประเทศผ่าน K-ETA เมื่อได้รับอนุมัติแล้วไม่ได้หมายความว่าท่านจะเข้าเกาหลีใต้ได้ทันที ทุกอย่างต้องไปวัดกันที่หน้างานว่า เจ้าหน้าที่ ตม.จะปล่อยผ่านหรือไม่ คนที่ลง K-ETA ผ่านแล้วถูกปฏิเสธเข้าเกาหลีก็มีให้เห็นหลายกรณี
โปรแกรมทัวร์เกาหลี ไม่ว่าจะเป็นโซล-นามิ-โซรัคซาน เกาะเจจู หรือปูซานที่พยายามโปรโมต แม้จะมีลูกค้าที่สนใจอยู่ แต่หลายคนก็กังวลเรื่อง ตม.เกาหลี ประกอบกับญี่ปุ่นเปิดให้เดินทางได้เหมือนปกติ คนไทยจึงให้น้ำหนักไปที่ญี่ปุ่นแทน
คิดง่ายๆ ถ้าไปกับทัวร์แล้วลูกทัวร์จำนวนหนึ่งติด ตม. คณะทัวร์ต้องรอกันกี่ชั่วโมงกว่าจะทราบผล โปรแกรมท่องเที่ยวส่วนหนึ่งอาจหายไป แล้วที่รอดจาก ตม.มาได้ใช่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจริงทั้งหมด เพราะโอกาสหลุดรอดก็มี กลายเป็น ตม.สกัดนักท่องเที่ยว แต่ปล่อยแรงงานเข้าเมือง
ส่วนประเภทที่เดินทางท่องเที่ยวเอง จองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม และวางแผนท่องเที่ยวก็ใช่ว่าจะรอด ยกตัวอย่าง เพื่อน 4-5 คนวางแผนกันว่าจะไปเที่ยวเกาหลีใต้ จองตั๋วเครื่องบินข้ามปีเพื่อให้ได้ตั๋วถูก จองโรงเแรมที่พักไว้ อาจเช่ารถ หรือซื้อตั๋วโดยสารสาธารณะ สมมติว่าลงทะเบียน K-ETA ผ่านทุกคน แต่เดินทางไปแล้ว ตม.ให้ผ่านบางคน ไม่ผ่านบางคน แล้วเพื่อนกลุ่มนั้นจะเที่ยวกันอย่างไร ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ ค่าโรงแรมที่จ่ายไปแล้ว แต่ไม่ได้เที่ยว หลายคนจึงเปลี่ยนประเทศปลายทาง
ทัวร์เริ่มไม่ขายเส้นทางเกาหลี
ตอนนี้เอเยนต์ทัวร์บางแห่งไม่ขายทัวร์เกาหลี เพราะเกรงปัญหาจะตามมาอีกมาก ส่วนการแก้ปัญหาถ้าเริ่มจากบริษัททัวร์คงไม่ง่าย ไม่มีทัวร์เจ้าไหนซักประวัติลูกค้าว่า ทำงานอะไร ทำที่ไหน รายได้ต่อเดือนเท่าไหร่ ใช้บริการทัวร์แล้วจะหนีไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีหรือไม่ ถ้าเขาตั้งใจไปขายแรงงานจริงก็คงไม่มีใครตอบ
ปัญหาอยู่ที่ปลายทางคือเกาหลีใต้ ตม.เข้มงวดก็ต้องแลกกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น 4 จังหวัดแถบภาคอีสานของไทยเป็นเป้าหมายที่จะถูกสกัดเป็นลำดับแรก วิธีการเหล่านี้ก็ต้องแลกกับนักท่องเที่ยวหายไปส่วนหนึ่ง ซึ่งที่จริงในเกาหลีต้องการแรงงานผิดกฎหมายจากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะแรงงานเหล่านี้หายไปในช่วงโควิด ที่สำคัญคือเมื่อมีแรงงานผิดกฎหมายผ่าน ตม.ไปได้ แล้วมีการไปตามจับแรงงานเหล่านั้นหรือไม่
ส่วนการปกป้องลูกทัวร์ ไกด์ทำงานลำบาก เพราะไม่รู้ว่าใครมาเที่ยว ใครมาเพื่อโดด แต่ถ้าวัดกันที่ความรู้สึกส่วนตัว เชื่อว่าไกด์ดูออกว่าใครมาเที่ยวจริงๆ ตม.ที่เกาหลีจะมาถามไกด์ว่าการันตีลูกทัวร์รายที่ถูกสงสัยหรือไม่ ถ้าไกด์การันตีจะปล่อยออกมามีเงื่อนไขว่า ถ้ารายนี้หนีทัวร์ไกด์จะถูกแบนไปตลอด ทำให้ไกด์บางคนเลือกที่จะไม่การันตีลูกทัวร์รายใด
เกาหลีมี 3 เมืองหลักคือโซล ปูซาน และเจจู แต่มีจุดขายเรื่องศิลปิน ถ้าไม่ใช่กลุ่มที่คลั่งไคล้เกาหลีจริงๆ อาจจะไปแค่รอบเดียวจบ ใครที่เคยไปกับทัวร์คงพอทราบดีว่าที่นี่ลงร้านค้ารัฐบาลเหมือนกับจีน บางเส้นทางอาจลงถึง 5 ร้านในโปรแกรมเที่ยว 4 วัน 2 คืน ประเภทไม่ซื้อก็ได้ คนที่เคยไปย่อมมองออกว่าถ้ากรุ๊ปใดที่ไม่มีการซื้อสินค้าเลยหรือซื้อน้อยคนขายจะหน้าตาไม่รับแขก
“เงินของท่าน ท่านอยากจ่ายแล้วมีความสุขหรือมีความทุกข์ ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็เปลี่ยนเป้าหมาย หรือถ้าอยากลุ้นหรือชอบที่นี่มากก็ต้องลุ้นเอา ส่วนคนที่ชอบศิลปินเกาหลี ตอนนี้ก็มา On Tour ในเมืองไทยกันทั้งนั้น”
ไทย-เกาหลีจับมือเพิ่มนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม นั่นคือความรู้สึกของคนไทยที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่มีทั้งผิดหวังและสมหวัง แต่ในระดับชาติแล้วรัฐบาลของ 2 ประเทศร่วมมือกันที่จะผลักดันให้ทั้ง 2 ชาติเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น
มีการหารือระหว่างองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) จับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อ 22 ธันวาคม 2565 ประกาศความร่วมมือระดับทวิภาคี กำหนดให้ปี 2566-2567 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวระหว่างเกาหลีและไทย (2023-2024 Korea - Thailand Mutual Visit Years)
โดยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศเกาหลีราว 570,000 คน ประเทศไทยจึงถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของการท่องเที่ยวเกาหลี ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวเกาหลีเดินทางมาประเทศไทยมากถึง 1.89 ล้านคน ถือเป็นประเทศที่มาเยือนประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก
9 เดือนเกาหลีมาไทยเกินล้าน
คนเกาหลีเที่ยวไทยติด 1 ใน 5 อันดับแรกของจำนวนชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยสูงสุด หรือมีสัดส่วนประมาณ 6% ของจำนวนชาวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด และในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2566 นักท่องเที่ยวเกาหลีมีจำนวน 1.19 ล้านคน หรือกลับมาแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 นับได้ว่าเป็นตลาดที่มีการฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว และมองว่าตลาดนักท่องเที่ยวเกาหลีเที่ยวไทยมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง
โดยปัจจัยหนุนสำคัญมาจากความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2565 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยลงนาม MOU กับสมาคมตัวแทนการท่องเที่ยวเกาหลี Korea Association of Travel Agents (KATA) ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างกัน โดยปี 2023-2024 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวเกาหลี-ไทย และตามมาด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานท่องเที่ยวท้องถิ่นและภาคเอกชน เช่น การลงนาม MOU ระหว่างองค์การการท่องเที่ยวคยองกี (GTO) และสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดคยองกี และการลงนาม MOU ร่วมกันในการเปิดไฟลต์บินเช่าเหมาลำเส้นทางกรุงเทพฯ-สนามบินนานาชาติมูอัน
การร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศ ทำให้เห็นนักท่องเที่ยวเกาหลีที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยในปีนี้กว่า 47% เป็นกลุ่มที่เดินทางมาเที่ยวไทยครั้งแรก โดยจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเกาหลียังคงอยู่เมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวยังคงเป็นการเล่นกอล์ฟ
เทรนด์ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีจะคล้ายกับเทรนด์การท่องเที่ยวโลก คือ ไปตามสถานที่ท่องเที่ยวที่สะท้อนวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ทำกิจกรรมเหมือนที่คน Local และที่สำคัญการท่องเที่ยวตามรีวิว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวไปตามสถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้า และโดยเฉพาะร้านอาหารที่ศิลปินชาวเกาหลีไป
8 เดือนไปเกาหลี 2.5 แสนคน
คนไทยเที่ยวต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยมองว่าในปี 2566 คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะมีจำนวนประมาณ 6 ล้านคน หรือกลับมาแล้วประมาณ 57% ของจำนวนคนไทยเที่ยวต่างประเทศในปี 2562
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ คนไทยเดินทางไปเที่ยวเกาหลีคิดเป็น 64% ของจำนวนคนไทยเที่ยวเกาหลีในปี 2562 หรือมีจำนวนประมาณ 2.5 แสนคน ทั้งนี้ประเทศเกาหลีเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวติด 1 ใน 10 อันดับแรกที่คนไทยเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด
กิจกรรมการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวไทยสนใจ นอกจากเป็นการท่องเที่ยวตามรอยวัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์ และตามรอยภาพยนตร์แล้ว เทรนด์ท่องเที่ยวของคนไทยที่น่าสนใจและเห็นชัดเจนมากขึ้น การท่องเที่ยว culinary food and travel ไปตามร้านดังของท้องถิ่นที่มีการรีวิวผ่าน Social Media และร้านอาหารพื้นเมือง
ข่าวลบนักท่องเที่ยวจีนหายวับ
เรามองว่า #แบนเที่ยวเกาหลี เป็นเพียงอารมณ์ชั่วขณะหนึ่งและเป็นการแสดงออกให้ปลายทางได้รับทราบความรู้สึก เชื่ออีกระยะจะค่อยๆ ลดลงไป ซึ่งเรื่องกลายเป็นเรื่องที่รัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่ายรับทราบและเตรียมนำไปปรับใช้แก้ปัญหาดังกล่าว แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ที่ไม่มีแนวทางแก้ไข
ถ้าเรามาดูตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปมาระหว่างกันในช่วงนี้ 8 เดือนแรกไทยไปเกาหลี 2.45 แสนคน 9 เดือนแรกเกาหลีมาไทย 1.19 ล้านคน ถือว่าต่างกว่ากันเยอะ เราแบนเขาไม่ไป 2.5 แสนคน ถ้าเขาตอบโต้ไม่มาบ้างนักท่องเที่ยวจะหายไปมากกว่า 1 ล้านคน เราต้องมองให้รอบด้าน เดิมเราวางเป้าดึงนักท่องเที่ยวจีน 5.3 ล้านคน ด้วยการเปิดฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนโดยเลือกช่วงที่จีนกำลังฉลองวันชาติ 1 ตุลาคม แต่ตอนนี้ดูเหมือนทุกอย่างไม่เป็นใจ ตัวเลข 9 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยเพียง 2.49 ล้านคนเท่านั้น
คนจีนเปลี่ยนปลายทางจากไทยไปญี่ปุ่นไม่น้อย หลังจากไทยมีข่าวเรื่องกวาดล้างทุนจีนสีเทา ข่าวลือถูกลักพาตัว ถูกขโมยไต แถมมาเจอภาพยนตร์จีน No More Bets เป็นหนังแนวอาชญากรรม เป็นเรื่องการค้ามนุษย์ เหยื่อที่ถูกหลอกจะถูกทารุณกรรมต่างๆ แม้ไม่ได้ระบุประเทศไทยโดยตรงและถูกตีความว่าเป็นประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตามมาด้วยเหตุการณ์กราดยิงในห้างสยามพารากอนเมื่อเย็นของวันที่ 3 ตุลาคม 2566 มีชาวจีนเสียชีวิตด้วย ยิ่งทำให้เป้าหมายที่จะดึงนักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย ยิ่งเกิดกระแสแบนเที่ยวเกาหลีขึ้นมา หากคนเกาหลีแบนเที่ยวไทยบ้าง การท่องเที่ยวไทยคงมีปัญหา และอาจส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j