xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธนวรรธน์” เชื่อเงินดิจิทัล-ขึ้นเงินเดือน ขรก.ไม่กระทบเงินเฟ้อ แต่ต้องแลกกับโครงการพัฒนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ” ม.หอการค้า ชี้โครงการแจกเงินดิจิทัล-ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ไม่กระทบต่อเงินเฟ้อ เนื่องจากอำนาจการซื้อเพิ่มขึ้นไม่มาก ผู้ประกอบการจึงไม่กล้าขึ้นราคาสินค้า เชื่อ ปี 67 เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% เท่านั้น ขณะเดียวกัน ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากเงินที่ใช้ในทั้งสองโครงการไม่ใช่ “เงินก้อนใหม่” ที่ผลักเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พร้อมทั้งติงต้องแลกกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขยายระบบเศรษฐกิจของประเทศ

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักสำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล คนละ 1 หมื่นบาท ของรัฐบาลพรรค “เพื่อไทย” ที่นำโดย “นายเศรษฐา ทวีสิน” แม้รัฐบาลจะยืนยันว่านโยบายนี้จะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่หลายฝ่ายต่างวิตกว่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี อีกทั้งล่าสุดนายกฯ เศรษฐา ยังมีแนวคิดที่จะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ ทั้งสองนโยบายนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือเปล่า? ขณะเดียวกัน เกรงว่านโยบายดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การจะกระตุ้นเศรษฐกิจคือ “การใส่เงินก้อนใหม่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ” เวลารัฐบาลทำโครงการใดๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะจัดทำแผนงบประมาณและนำเงินภาษีที่จัดเก็บได้กลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ หรือใช้วิธีกู้เงินมาเพื่อทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอาจจะอัดฉีดเงินให้ประชาชนผ่านโครงการต่างๆ

สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ทราบว่ารัฐบาลเศรษฐา จะใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 นั้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งนายกฯ เศรษฐาอาจจะใช้แค่นี้ หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านล้านบาท วงเงินขาดดุลงบประมาณที่ พล.อ.ประยุทธ์ วางไว้คือ ปี 2567 ขาดดุล 6 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลเศรษฐา อาจตั้งขาดดุล 7 แสนล้านบาท โดยไปหาเงินมาอีก 1 แสนล้านบาท

ส่วนการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการนั้นแน่นอนว่าเงินที่ใช้จะมาจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะขึ้นเงินเดือนแบบไหน ขึ้นให้เฉพาะข้าราชการแรกเข้า หรือขึ้นให้ทั้งระบบ คงต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ต้องดูก่อนว่ารากฐานของเงินเดือนข้าราชการคืออะไร ปกติเงินเดือนของข้าราชการจะถูกปรับขึ้นตามขั้นตามซีที่สูงขึ้น ดังนั้น ในการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบต้องดูว่าเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ฐานรายได้ในปัจจุบันเขาอยู่ได้ไหม ถ้าผ่านมาหลายปีแล้วไม่ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ แต่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก ข้าราชการอยู่ไม่ได้ก็ต้องปรับขึ้น ส่วนจะปรับขึ้นเท่าไหร่ก็อีกเรื่องหนึ่ง


รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า การแจกเงินดิจิทัล ตลอดจนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้น ถ้าใช้เงินจากงบประมาณขาดดุลในปี 2567 มันคือวงเงินที่จะใช้อยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการกระตุ้นใหม่ แต่เป็นกรอบวงเงินเดิมเพียงแต่เปลี่ยนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มาเป็นโครงการแจกเงินดิจิทัล

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ภาพยังไม่ชัดเพราะรัฐบาลยังไม่ได้บอกชัดเจนว่าโครงการแจกเงินดิจิทัลจะใช้เงินจากวงเงินงบประมาณขาดดุลหรือใช้เงินจากวงเงินกู้ ซึ่งถ้าใช้เงินกู้เพื่อทำโครงการแจกเงินดิจิทัล ซึ่งน่าจะอยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาท ส่วนเงินงบประมาณที่ตั้งเป็นงบขาดดุล 7 แสนล้านก็ไปทำโครงการอื่น

“ตอนแรกแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 4.4% เนื่องจากแบงก์ชาติสันนิษฐานว่าเงินดิจิทัลน่าจะเอามาจากการเติมเงินนอกงบประมาณเข้ามา ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ….ส่วนเงินงบประมาณที่ตั้งขาดดุล 7 แสนล้านก็ใช้ในโครงการอื่นๆ ต่อไป แต่อาจให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาใช้เงินในส่วนนี้แทน แต่ถ้าดูจากข้อมูลของกระทรวงการคลังซึ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโต 3.2% เนื่องจากไม่ได้นับรวมการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงินดิจิทัล คือถ้าไม่เอาเงินก้อนใหม่ซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณเข้ามาทำโครงการแจกเงินดิจิทัล คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 3.2% เท่านั้น” รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ


รศ.ดร.ธนวรรธน์ ชี้ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินให้ประชาชนนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินดิจิทัล หรือการขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดการสร้างงานซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้ และไม่ได้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การขึ้นเงินเดือนข้าราชการซึ่งต้องเอาเงินงบประมาณมาจ่าย สมมติใช้เงิน 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หรือ 1 แสนล้านบาทต่อปี รัฐบาลต้องตัดโครงการเพื่อการลงทุนออกไป 1 แสนล้าน ขณะที่เงินดิจิทัลที่แจกให้ประชาชน ถ้าประชาชนเอาไปใช้เพื่อบริโภคมันก็หมดไป แต่ถ้าเอาไปใช้ต่อยอดทำธุรกิจ ซื้อหม้อซื้อกระทะเพื่อทำกล้วยทอดขาย ขายอาหาร ขายขนมหวาน เป็นการสร้างรายได้ เงินนี้ถ้าใช้ซื้อข้าวของในท้องถิ่น เศรษฐกิจจะหมุนเวียนในท้องถิ่น แต่ถ้าเอาไปซื้อโทรศัพท์มือถือ เงินก็ถูกโอนไปต่างประเทศ

“แน่นอนว่าผลลัพธ์ของการใช้เงินแตกต่างกัน โครงการที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สร้างถนนหนทาง สร้างรถไฟฟ้า เป็นการพัฒนาในระยะยาว สร้างถนน 1 เส้น หมู่บ้านนั้นเจริญ หมู่บ้านนั้นใช้ถนนในการทำมาหากิน แต่ให้เงินคนในหมู่บ้านคนละ 1 หมื่น ชาวบ้านก็เอาเงินไปกินไปใช้แล้วหมดไป การขึ้นเงินเดือนข้าราชการก็คล้ายกัน เหมือนการโอนเงินให้ข้าราชการใช้เพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน ข้าราชการใช้ในการอุปโภคบริโภค แต่ถ้าไม่ขึ้นเงินเดือนราชการ รัฐบาลอาจจะเอาเงินส่วนนี้ไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สมมติใช้เงินในการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 1 หมื่นล้าน ตกปีละ 1.2 แสนล้าน เงินแสนล้านอาจจะสร้างถนนได้ 100 เส้น ซึ่งอาจจะทำให้ระบบเศรษฐกิจในจังหวัดต่างๆ คึกคักมากขึ้น เรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมอง” รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนที่หลายฝ่ายวิตกว่าการแจกเงินดิจิทัลและการขึ้นเงินเดือนข้าราชการจะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อนั้น รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า ปัจจุบันแม้จะไม่มีการแจกเงินดิจิทัลหรือขึ้นเงินเดือนข้าราชการเงินก็เฟ้ออยู่แล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลแจกเงินดิจิทัลหรือขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการแล้วเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบ 2-3% ถือว่าพอคุมได้ ตอนนี้คนกลัวว่าจะเกิดเงินเฟ้อเพราะคิดว่ารัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัลเป็นเงินรวมถึง 5 แสนล้าน ซึ่งจริงๆ อาจจะไม่ถึง และหากมีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เชื่อว่าเงินที่ไหลเข้าไปในระบบเศรษฐกิจยังน้อย อีกทั้งทั้งสองนโยบายไม่ได้ทำให้คนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมากนัก ดังนั้นผู้ประกอบการจะไม่กล้าขึ้นราคาสินค้าเยอะ เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นไม่มาก

“ล่าสุด แบงก์ชาติประเมินว่าปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.5% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงไม่มีอะไรน่ากังวล” รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH





กำลังโหลดความคิดเห็น