“นพ.อรรถสิทธิ์” ชี้บุฟเฟต์เบียร์-ฟรีโฟลว์ไวน์ อันตรายถึงตาย เหตุกระตุ้นการดื่ม ปริมาณแอลกอฮอล์สูงเกินกว่าสภาพร่างกายจะรับไหว โดยเฉพาะนักดื่มหน้าใหม่ เผยสูตรคำนวณเช็กด่วน! แต่ละคนดื่มแอลกอฮอล์ได้แค่ไหน แจงผลกระทบมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่มีอาการ เห็นภาพซ้อน ระบบหายใจผิดปกติ หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิต ด้าน “เครือข่ายรณรงค์ฯ” ระบุจัดโปรโมชันบุฟเฟต์ ผิด พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ โทษทั้งจำทั้งปรับ
ลมหนาวเริ่มมาแล้ว และคาดว่าปลายเดือน ต.ค.2566 นี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้เหมาะกับการนัดสังสรรค์ดื่มกิน โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงปลายปีมักจะมีโปรโมชันของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ที่แข่งขันกันทำตลาดเพื่อช่วงชิงลูกค้า โดยเฉพาะการจัดบุฟเฟต์แอลกอฮอล์ หรือที่เรียกว่า free flow ซึ่งแม้ช่วงหลังจะลดน้อยลงแต่ยังมีให้เห็นอยู่
ในมุมของผู้บริโภคอาจจะมองว่านี่คือช่วงคืนกำไร เป็นโอกาสที่จะได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบสุดคุ้ม แต่ทราบหรือไม่ว่าในทางการแพทย์นั้นการดื่มแบบ Unlimited free flow alcohol เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง และมีความเสี่ยงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตเลยทีเดียว
นพ.อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย พยาธิแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรค ให้ข้อมูลว่า จากประสบการณ์ตรงในการตรวจพิสูจน์ผู้ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหันพบว่าแม้จะเป็นคนหนุ่มที่สุขภาพแข็งแรง แต่หากดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ความตายได้
ยกตัวอย่าง เคสของชายหนุ่มวัยทำงาน อายุ 32 ปี รายหนึ่ง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเขาเป็นพนักงานบริษัทเอกชน มีสุขภาพโดยรวมแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว และก่อนเสียชีวิตไม่ได้เจ็บป่วยอะไรมาก่อน แต่ได้ไปฉลองวันเกิดกับภรรยาโดยรับประทานอาหารและดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านอาหารซึ่งมีการจัดโปรโมชันเบียร์สดบุฟเฟต์ ดื่มได้ไม่จำกัด ภายในเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งผู้ตายพยายามดื่มเบียร์ให้ได้ปริมาณมากที่สุดเพราะกลัวไม่คุ้ม โดยดื่มเบียร์คนเดียวไปประมาณ 3 เหยือก มีอาการเมามากถึงขั้นอาเจียน ภรรยาจึงพากลับไปนอนที่บ้าน แต่รุ่งเช้าปรากฏว่าสามีเสียชีวิตแล้ว
จากที่ตนได้ผ่าพิสูจน์ศพชายดังกล่าวทั้งภายนอกและภายในอย่างละเอียด ไม่พบสิ่งผิดปกติที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเป็นสาเหตุการตายได้ นอกจากกลิ่นแอลกอฮอล์จากกระเพาะอาหารและจากตัวผู้ตายที่ค่อนข้างแรงมาก แต่จากประวัติที่ผู้ตายดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากในเวลาสั้นๆ และตามแนวปฏิบัติในการผ่าชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุการตายซึ่งต้องมีการเจาะเลือดส่งตรวจในทางพิษวิทยา โดยผลการตรวจทางพิษวิทยา (acute alcohol intoxication pending toxicological laboratory) จากห้องแล็บพบว่ามีค่าสูงถึง 363 mg/100mL จึงสันนิษฐานว่าผู้ตายน่าจะเสียชีวิตจากพิษของแอลกอฮอล์เฉียบพลัน
นพ.อรรถสิทธิ์ อธิบายว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากๆ ทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์ในปริมาณสูงๆ จะไปกดการหายใจ หรือทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ยิ่งไปกว่านั้นคนที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณมากๆ และในระยะเวลาสั้นๆ ย่อมเป็นพิษที่เฉียบพลันมากกว่าคนที่ปกติดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำซึ่งร่างกายมีความคุ้นชินกับแอลกอฮอล์มากกว่า
เหมือนกรณีเคสตัวอย่าง ซึ่งปกติที่ไม่ค่อยได้ดื่มแอลกอฮอล์ จะดื่มเฉพาะเวลามีงานเลี้ยงหรือเข้าสังคม การได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณมากถึง 3 เหยือก หรือประมาณ 3 ลิตร ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ย่อมทำให้เกิดพิษเฉียบพลันมากกว่าคนที่ดื่มสุราเป็นประจำทุกวัน เพราะคนที่ดื่มสุราเป็นประจำทุกวัน ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวให้ทนต่อพิษของแอลกอฮอล์ในระดับสูงๆ ได้ ซึ่งเรียกว่า alcohol tolerance แต่คนเหล่านี้จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของพิษแอลกอฮอล์เรื้อรังแทน เช่น ตับอักเสบ ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับ ซึ่งบ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวการเสียชีวิตจากพิษแอลกอฮอล์เฉียบพลัน เช่น เสียชีวิตภายหลังการแข่งขันดื่มเบียร์เร็วในงานเทศกาลที่ต่างประเทศ หรือพริตตี้ที่รับดื่มเหล้าแลกเงินในงานเอนเตอร์เทนบางอย่าง การรับน้องที่มีการบังคับดื่มเหล้า
“ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลต่อความผิดปกติของร่างกายได้หลายระดับ ตั้งแต่ขั้นที่ไม่สามารถสังเกตอาการความผิดปกติได้ ขั้นสนุกสนาน ขั้นตื่นตัว ขั้นสับสน ขั้น stupor ขั้นโคม่า ไปจนถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน เช่น กรณีเคสตัวอย่าง ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ 363 mg/100mL ซึ่งอยู่ในระดับที่ทำให้หมดสติและถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น การดื่มแอลกอฮอล์จึงควรจำกัดปริมาณเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงมากจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อร่างกายได้” นพ.อรรถสิทธิ์ ระบุ
นพ.อรรถสิทธิ์ ยังได้แนะนำสูตรการคำนวณ “ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด” ว่า สามารถคำนวณได้ง่ายๆ โดยเอา ”ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มคิดเป็นกรัม” หารด้วยน้ำหนักตัว คูณด้วย 0.68 ในกรณีที่เป็นเพศชาย หรือคูณด้วย 0.55 ในกรณีที่เป็นเพศหญิง แล้วคูณด้วย 10 จะออกมาเป็นระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด
แต่เริ่มต้นเราต้องหา “ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม” ก่อนว่ามีอยู่กี่กรัม โดยสูตรการคำนวณคือ เอา “เปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์” คูณ “ปริมาณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เราดื่ม” แล้วหารด้วย 100 ซึ่ง “เปอร์เซ็นของแอลกอฮอล์” สามารถดูได้จากฉลากของขวดเครื่องดื่มที่เราดื่ม ซึ่งจะพบว่ามีตัวเลขเขียนไว้ชัดเจนว่ามีแอลกอฮอล์อยู่กี่เปอร์เซ็นต์ เช่น เบียร์ยี่ห้อ H มีแอลกอฮอล์อยู่ 5% ไวน์แดงยี่ห้อ A มีแอลกอฮอล์ 13%
ตัวอย่างการคำนวณปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม เช่น ดื่มไวน์แดงยี่ห้อ A ไป 2 แก้ว โดยไวน์ 1 แก้ว มีปริมาณ 150 mL 2 แก้ว ก็เท่ากับ 300 mL ดังนั้น ไวน์แดง 2 แก้ว จะมีแอลกอฮอล์ เท่ากับ 13 คูณด้วย 300 หารด้วย 100 จะเท่ากับ 39 กรัม
เมื่อได้ “ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม” แล้ว ก็นำมาคำนวณหา “ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด” เช่น คนที่ดื่มเป็นผู้ชาย น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม ดื่มไวน์แดงยี่ห้อ A ไป 2 แก้ว
วิธีคำนวณระดับแอลกอฮอล์ในเลือด คือ นำ 39 มาหารด้วย 70 คูณด้วย 0.68 คูณด้วย 10 เท่ากับ 0.081 กรัม หรือเท่ากับ 80 มิลลิกรัม/100 mL (แปลงกรัม เป็นมิลลิกรัม โดยคูณ 1,000) แสดงว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ในระดับสนุกสนาน (ดูตารางประกอบ) แต่ก็เกินระดับที่กฎหมายกำหนดคือ 50 mg/100 mL
นพ.อรรถสิทธิ์ ระบุว่า อาการป่วยและการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ไม่ว่าจะตับอักเสบ โรคตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคเกาต์ มะเร็งชนิดต่างๆ รวมถึงโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ล้วนมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งจากการเก็บข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่าผู้ขับขี่ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมีประมาณ 20-50% ที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกิดอุบัติเหตุ และความเข้มข้นของระดับแอลกอฮอล์ในเลือดก็เกินปริมาณที่กำหนดตามกฎหมาย
อย่างไรก็ดี แอลกอฮอล์จะมีประโยชน์หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เช่น แอลกอฮอล์ในไวน์แดงมีฤทธิ์ในการป้องกันโรคระบบหัวใจและไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประมาณ 10% ของประชากร โดยเฉพาะเพศชาย การดื่มในระดับปานกลางในช่วงแรกจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นนำไปสู่การบริโภคแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงสังคมโดยรวม ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ จึงมีความพยายามในการป้องกันปัญหาจากผลกระทบของแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง เช่น การออกกฎหมายห้ามขายสุราให้แก่บุคคลที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี การจำกัดช่วงเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการห้ามผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
“การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องดื่มแบบพอประมาณ ไม่ให้มากเกินไปจนถึงระดับที่เป็นอันตราย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไม่ควรส่งเสริมการขายด้วยการจัดบุฟเฟต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินเท่าไหร่ก็ได้ไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นบุฟเฟต์เบียร์ หรือฟรีโฟลว์ไวน์ เนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากๆ ในระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ดื่มถึงขั้นเสียชีวิตได้” นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว
ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ชี้ว่า การจัดโปรโมชันบุฟเฟต์แอลกอฮอล์นั้นถือว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งห้ามไม่ให้มีการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการลด แลก แจก แถม จัดให้ชิม จัดโปรโมชัน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นหากผู้ใดพบเห็นการจัดบุฟเฟต์แอลกอฮอล์สามารถแจ้งความดำเนินคดีผู้ประกอบการได้ทันที
“นอกจากเบียร์ที่ติดตลาดอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว อาจจะมีคราฟต์เบียร์บางเจ้าที่ทำตลาดโดยการจัดบุฟเฟต์ ซึ่งการจัดบุฟเฟต์เบียร์นั้นเข้าข่ายการแจก แถมให้ หรือลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย ซึ่งมีความผิดชัดเจน เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานในพื้นที่ว่าจะขยับมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สสจ. (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) หรืออาจจะแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้ประสานไปยังตำรวจในพื้นที่ให้เข้าไปดำเนินการ” นายชูวิทย์ ระบุ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j