xs
xsm
sm
md
lg

ทะลุวัง Content ตัน-ตลาดไม่รับ-สีส้มถอย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลากกันยาว หยกไม่ได้ไปเข้าค่ายกับเพื่อน กระแสยังตีกลับเหมือนเดิม แต่บางส่วนยังหนุนหยก เริ่มมีเสียงติงให้ท้ายเด็ก ผู้ปกครอง ม.4 ขอความชัดเจน นักเรียนเตรียมพัฒน์ฯ เริ่มไม่ทนขึ้นป้าย “ขอความสงบคืนโรงเรียน” คนการเมืองเผยสีส้มถอยตั้งแต่ปีนรั้ว แถมเวียนเทียน Content กระแสตีกลับ เป้าหมายคือสร้างผลงานเพื่อขอลี้ภัย

หลังจากที่กลุ่มทะลุวังถูกคนในสังคมตำหนิเป็นอย่างมากกับเหตุการณ์เมื่อ 7 สิงหาคม 2566 ที่กลุ่มทะลุวังแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคภูมิใจไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แกนนำอย่าง น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง พร้อมพวกปิดทางออกรถยนต์ของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยการกล่าวถ้อยคำหยาบคาย จนคนบนโลกออนไลน์ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก รวมถึงบุคคลในสาย NGO ยังออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว

การเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังจึงเงียบไป และมาเริ่มถูกจับตาอีกครั้ง แต่รอบนี้นักแสดงนำเป็นหยก หรือ น.ส.ธนลภย์ ผลัญชัย ที่แสดงวีรกรรมปีนรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการจนเป็นข่าวโด่งดังมาแล้ว

31 สิงหาคม 2566 ที่โรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ เวลา 05.30 น. หยกเดินทางเพื่อไปขึ้นรถบัสไปค่ายเรียนภาษาจีนที่นครปฐม แต่ทางครูไม่ให้หยกไป อ้างว่าไม่ได้จ่ายค่าเทอม เพราะคืนค่าเทอมไปแล้ว จึงพยายามให้หยกลงจากรถ เพื่อนหยกจึงช่วยกันอุ้มลงจากรถ

ต่อมา หยกนั่งขวางรถบัส ทางเพื่อนหยกจึงมาอุ้มออกไปอีกครั้ง รถบัสเปลี่ยนเส้นทางเพื่อไปออกด้านหลังแทน หยกจึงนอนขวางล้อรถ เกิดการชุลมุน รถบัสจึงนำนักเรียนลงจากรถ และถอยเข้าโรงเรียนแล้วออกทางประตูหน้าแทน

หยก โพสต์เฟซบุ๊กว่า ครูไม่ให้หนูไปค่ายและบอกว่าหนูไม่ใช่นักเรียนแล้วเพราะคืนเงินมาแล้ว ครูให้เพื่อนๆ ช่วยกันอุ้มหนูลงมาจากรถ ครูถามเพื่อนว่ามีใครยังอยากให้หยกเรียนต่อมั้ย เพื่อนๆ ร่วมกันตอบว่าไม่ มีคนปรบมือดีใจ ตอนที่เพื่อนอุ้มหนูลงจากรถ

หนูรู้สึกตกใจหน้าเสียกับสถานการณ์แต่พยายามยิ้ม หนูตกใจที่ครูให้เพื่อนเข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ และให้เพื่อนเข้ามาเป็นคนออกหน้า รวมถึงใช้วิธีให้เพื่อนทำอะไรแบบนี้

ขอบคุณโรงเรียน พี่ตำรวจ และครูมากๆ ค่ะ บทเรียนนี้หนูจะไม่ลืม


ให้ท้ายเด็กนั้นไม่ดี

ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของหยกยังมีนักกิจกรรมด้านสังคมสงเคราะห์หรืองานด้าน NGO จำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับการแสดงสิทธิของเธอ อย่าง นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

จนอาจารย์เดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ โพสต์เฟซบุ๊กว่า คุณทิชา เริ่มด้วยความเชื่อว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นจาก อคติ และความเกลียดชัง มาลงที่หยก เห็นว่าหยกเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง ที่อยากเรียนหนังสือ เป็นความเชื่อของคุณทิชา

แต่คนอื่น (รวมทั้งผม) เห็นว่า ทั้งครูและเพื่อนนักเรียนไม่มีอคติ หรือเกลียดชังหยกเลย หยกเลือกไปร่วมกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง มากกว่าการเข้าเรียนและไม่ทำตามกฎระเบียบใดๆ

หยกไม่ได้คิดเอง แสดงออกด้วยตัวเอง แต่มีคนคิดวางแผน กำกับ และสั่งการเป็นระบบ

แม้แต่ครั้งหลังสุดที่ถูกเพื่อนๆ อุ้มลงจากรถ หยกก็ไม่ได้เดินทางไปโรงรียนด้วยตัวคนเดียว แต่มีทีมงานร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์ หรือกำกับการแสดงด้วย เหมือนกับทุกครั้ง อย่างนี้พูดได้ไหมว่า หยกเป็นเพียงตัวแสดงไปตามบทที่มีผู้เขียน และชักใยอยู่เบื้องหลัง

อยากฝากบอกว่า การรักเด็กเป็นเรื่องดี แต่การเข้าข้าง หรือการให้ท้ายเด็กนั้นไม่ดี

จากนั้นป้ามล หรือทิชา ณ นคร โพสต์ตอบว่า ขอบคุณเสียงเตือน เป้าหมายสูงสุดเราไม่ได้ปกป้องปัจเจก (หยก) เท่านั้น แต่เราปกป้องการส่งต่อการสืบทอด “ระบบอำนาจนิยม” ที่ผ่านมาทางปัจเจก (หยก) ด้วย


การเมืองเข้าโรงเรียน

ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้านปรัชญาการเมือง โพสต์แสดงความคิดเห็นว่า ได้ดูคลิปที่เพื่อนๆ นักเรียนบนรถทนไม่ไหวต่อการกระทำทุกอย่างที่ผ่านมา และรุมต่อว่าหยก บางทีก็สงสารหยกนะครับที่มาถึงจุดนี้

จากเดิมที่น้องเคยเป็นเด็กดีและมีอนาคตคนหนึ่ง แต่พอโดนกลุ่มการเมืองมาแสวงประโยชน์ ทำให้หยกต้องเสียผู้เสียคนและเสียอนาคตสดใสที่เขาควรจะมีจะเป็น

ขอให้กรณีของหยกเป็นกรณีตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่าเราไม่ควรให้กลุ่มการเมืองเข้าไปยุ่งกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาเลย ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วล้วนแต่มีกฎหมายป้องกันเรื่องนี้อย่างรุนแรง

ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าเข้าไปใช้ประโยชน์จากเด็กและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเลยแม้แต่น้อย ส่วนบ้านเราคงต้องเอาเรื่องนี้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงกฎหมายต่อไป

ผู้ปกครองควรมีความชัดเจน

การแสดงออกของหยก ยังส่งผลมาถึงมีการออกจดหมายเปิดผนึกจากกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ลงวันที่ 5 กันยายน 2566 ใจความโดยสรุป จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่มีการขัดขวางการเดินทางไปเข้าค่ายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ห้อง 4/18 นั้น การกระทำดังกล่าวสุ่มเสี่ยงในการละเมิดเสรีภาพของกลุ่มนักเรียนที่จะเดินทางไปค่ายที่อยู่บนรถโดยสารซึ่งเป็นลูกๆ ของเรา ส่งผลให้กระทบสภาพจิตใจ

เราขอความชัดเจนในสถานะความเป็นนักเรียนของน้องหยก เราขอเรียกร้องไปยังพ่อและแม่ของน้องหยก การปรากฏตัวออกมาของพ่อแม่จะชี้ทางสว่างให้ลูกที่หลงผิดได้

เราขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐที่อาจช่วยเหลือเรื่องนี้ได้ น้องหยกคือเยาวชนหญิงคนหนึ่งมีโอกาสทำผิดพลาดและสมควรได้รับโอกาส เราอยากสื่อสารถึงน้องหยก ด้วยความปรารถนาดีอย่างตรงไปตรงมาว่า เราไม่อยากเห็นลูกกระทำผิดอีก เราจะเอาใจช่วยให้ลูกกลับมาอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง


ขึ้นป้ายขอคืนความสงบ

จากนั้นหยก ได้โพสต์ว่ากลับเข้าโรงเรียนอีกครั้ง เมื่อ 6 กันยายน 2566 พร้อมกล่าวถึงจดหมายจากกลุ่มผู้ปกครองชั้น ม.4 เตรียมพัฒน์ฯ ที่กล่าวถึงเธอว่า หนูเห็นสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนออกจดหมายถึงหนู หนูเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเรียกร้องกับโรงเรียน เรื่องขอความชัดเจนในสถานะของหนูเพราะหนูก็อยากรู้

ทำไมหนูถึงไม่มีชื่อเป็นความผิดใคร มอบตัวแล้วเกิดความผิดพลาดไม่ให้เรียนอยู่ๆ ก็คืนเงินได้เลยใช่ไหม หนูอยากเรียกร้องพ่อแม่ของเพื่อนๆ คนอื่นเหมือนกันว่าบางทีครูอาจจะทำไม่ถูก ทีคุณครูปล่อยหรือสนับสนุนให้เพื่อนๆ ทำอะไรต่างๆ กับหนู

หยกยังคงโพสต์กิจกรรมของตัวเองที่ไปโรงเรียนอีกเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 แต่ในวันดังกล่าวพบว่ามีการขึ้นป้ายผ้าหน้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ มีข้อความว่า ขอความสงบคืนโรงเรียน เบื่อความวุ่นวายเพราะคนคนหนึ่ง เก็บคำว่าสิทธิ
ไปสอนตัวเอง มาแขวนหน้าประตูทางเข้าโรงเรียน

ทิชา save หยก

ตามมาด้วยการโพสต์ของนางทิชา ณ นคร ที่โพสต์เข้าใจการกระทำของหยกมาอย่างต่อเนื่อง จนหยก และกลุ่มทะลุวังมักจะนำมาโพสต์ต่อเสมอ เช่น 8 กันยายน 2566 นางทิชาได้โพสต์ว่า

️ไม่ได้ชอบ ไม่เห็นด้วยในหลายเรื่องที่เด็กหญิงทำ แถมยังถูกด่า ถูกดูถูก เสียดสีจากคนไม่รู้จักมากมาย รวมถึงถูกร้องขออย่างมีหลักการ จากคนเคยรู้จัก ไม่นับถูกลดทอนคุณค่าจากคนเคยยอมรับ ใช่! ฉันเป็นคนมีแสง มีรางวัล มีดุษฎีบัณฑิต ไม่หิวแสง

แต่บอกอีกครั้งว่า จะติดตามเด็กหญิงห่างๆ อย่างห่วงๆ ต่อไป และยินดีเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนใดตามช่องทางที่เปิดที่เข้าได้

แต่โคตรสงสัยจริงๆ ว่า ท่านทั้งหลายเอาอะไรมาคิด มาเชื่อมากล่าวหาว่า การติดตามเด็กหญิงห่างๆ อย่างห่วงๆ ของฉัน ของคนจำนวนน้อยนิด คือ การให้ท้าย ให้เด็กหญิงไม่เลิก ไม่ถอย ตรรกะอะไร?

ความจริงคือ นาทีต่อนาที วันต่อวัน ที่เด็กหญิงอยู่กับเเรงเสียดทาน การ ignoring ของผู้คน คนห่างๆ อย่างห่วงๆ อย่างฉัน และผู้คนอันน้อยนิด ก็ไม่ได้ไปแบกทุกข์ แบกรับความชิงชัง หรือรับแรงเสียดทานใดๆ ร่วมกับกับเด็กหญิงแม้แต่น้อย

ความจริงคือ เด็กหญิงต่อสู้ (กับอำนาจนิยม) อย่างโดดเดี่ยว บนระยะเวลาที่ถูกซื้อที่ยาวนาน ทั้งไม่รู้วันจบ ไม่รู้วันสิ้นสุด

นอกจากนี้ยังโพสต์เพิ่มพร้อมตั้งคำถามว่า จำได้มั้ยตอนอายุเท่าหยกคุณทำอะไรบ้าง จินตนาการได้มั้ย เมื่อคุณอายุเท่าหยก คุณได้รับหมายศาล คุณรับมือกับมันอย่างไร ฉันไม่ได้ให้ท้ายหยก แต่หยกต่างหากที่ปลุกเด็กน้อยที่ขี้ขลาดในตัวฉัน #saveหยก


ทะลุวังเวียน Content

หนึ่งในผู้ติดตามสถานการณ์ทางการเมือง คนที่ตามเรื่องม็อบคงพอจะเห็นรูปแบบการเคลื่อนไหว ม็อบอื่นๆ แผ่วลงไปทั้งจากเรื่องตัวแกนนำที่ถูกดำเนินคดีเรื่อง ม.112 ส่วนเรื่องปฏิวัติรัฐประหารก็จบไปนานแล้ว ที่ผ่านมามีความพยายามจะปลุกกระแสเรื่องการสืบทอดอำนาจเผด็จการ แต่เมื่อเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแม้จะรวมกับพรรค 2 ลุง แต่ทุกพรรคก็ผ่านการเลือกตั้งมาในสนามเดียวกับพรรคก้าวไกล พรรคขวัญใจคนรุ่นใหม่ การเคลื่อนไหวหลักตอนนี้คงเป็นกลุ่มทะลุวัง

กลุ่มทะลุวังที่เคยเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 ถูกดำเนินคดีเช่นกัน จากนั้นเริ่มเปลี่ยนแนวมาที่เรื่องหยกกับโรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ เคลื่อนไหวต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ แล้วก็กลับไปปลุกเรื่องหยกอีกครั้ง ดูทรงแล้วทะลุวังคงวน Content ไปแนวนี้

ส่วนพรรคสีส้มที่เดิมเคยมีคนในพรรคเข้ามามีส่วนร่วมเรียกร้องให้ปล่อยตัวหยกออกจากบ้านปรานี แต่เมื่อหยกปีนรั้วโรงเรียนแล้วกระแสตีกลับ วันนั้นมีคนของก้าวไกลออกมารับเรื่องแต่ไม่เปิดตัวอย่างชัดเจน และเรื่องจากฝั่งก้าวไกลก็เงียบหายไป

สีส้มถอย-NGO เสียบ

เมื่อหยกปีนรั้วโรงเรียน-กระแสลบ บุ้งบุกพรรคเพื่อไทย-กระแสลบ หยกจะไปเข้าค่าย-กระแสลบ ถามว่านักการเมืองสีส้มเขาจะหนุนทะลุวังหรือไม่ เราก็เห็นแล้วว่าเขาทิ้งทะลุวังไปแล้ว ตอนนี้ทะลุวังต้องสร้างกิจกรรมเอง โดยหวังกลุ่มอื่นๆ ที่จะเข้ามาหนุน งบด้านสนับสนุนประชาธิปไตยจากต่างประเทศมีเยอะ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะ Deal กับองค์กรใด และเป้าหมายของการขับเคลื่อนของนักกิจกรรมสายนี้คือต้องการประเทศที่พร้อมรับพวกเขาลี้ภัย

นอกจากนี้ งานสาย NGO บางรายที่หนุนการกระทำของน้องๆ เหล่านี้ ส่วนหนึ่งอาจตรงกับแนวคิดของผู้นำองค์กรนั้น และบางส่วนก็ตรงกับแนวทางของการทำงานที่มีเงินสนับสนุนจากต่างประเทศเช่นกัน เพราะการแสดงออกบางอย่างกลายเป็นอีกหนึ่งผลงานขององค์กรเหล่านั้น

มันคือ Content

กระแสรอบนี้ก็เหมือนรอบปีนรั้วคือ ผลตอบรับออกมาส่วนใหญ่เป็นลบ ถามว่าหยกไม่รู้สถานะของตัวเองจริงๆ หรือ หยกย่อมทราบเรื่องนี้ดีมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 และเป็นคนโพสต์สถานะของตัวเองว่าไม่ใช่นักเรียนแห่งนี้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งโรงเรียนได้ชี้แจงถึงเหตุผลเรื่องการมอบตัวไม่สมบูรณ์ที่หยกให้บุ้งเป็นผู้ปกครองแทนพ่อแม่ที่แท้จริง

ดังนั้น การที่จะไปร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ หยกย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิไป แต่ก็ยังมาด้วยข้ออ้างต่างๆ สุดท้ายแม้หยกจะไม่ได้ไปแต่เธอได้ Content ชุดใหญ่ออกมาและถูกกล่าวถึงในวงกว้าง

ไม่เฉลียวใจบ้างเหรอ หยกบอกอยากไปเรียน อยากไปร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสถานะความเป็นนักเรียนที่เตรียมพัฒน์ฯ การไปแต่ละครั้งมีทีมงานไปด้วย ถ่ายทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวทั้งระยะไกลและใกล้ ส่วนหน้างานหยกก็ Live ให้คนทั่วไปให้ทราบถึงการเจรจาระหว่างครูและเพื่อน ม.4 ร่วมชั้นกับตัวเธอ

ที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นการรุกของหยก และทีมสนับสนุนที่โรงเรียนและนักเรียนทั้งหมดเป็นฝ่ายตั้งรับเนื่องจากมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแสดงออกของบุคคลเหล่านี้ แต่วันนี้เราเริ่มเห็นอารมณ์และความรู้สึกของเพื่อนๆ ผ่านคำพูด และเริ่มที่จะเห็นป้ายแสดงความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เรื่องของหยกตอนนี้ถือว่ายังไม่มีใครเข้ามาเป็นเจ้าภาพอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกิดขึ้นหลังยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ คราวนี้เมื่อได้รัฐบาลใหม่คงมีเจ้าภาพดูแลอย่างจริงจัง ส่วนการจัดการกับต้นทางของปัญหาคือต้องดูว่ามีใครจะแจ้งความดำเนินคดีกับใครบางคนหรือไม่ แต่เห็นว่ามีแจ้งความคดีค้ามนุษย์อยู่ด้วย

ภาพจาก Facebook
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH


ภาพจาก Facebook

ภาพจาก Facebook




กำลังโหลดความคิดเห็น