xs
xsm
sm
md
lg

ด้อมส้มพุ่งเป้ากดดัน "บิ๊กเพื่อไทย" จาตุรนต์ตอบชัดไม่ออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพื่อไทยผ่านด่าน ส.ว. จนได้ "เศรษฐา" เป็นนายกฯ หลังจับมือพรรค 2 ลุง “เต้น” อำลาเพื่อไทยรักษาอุดมการณ์ อี้-แทนคุณ ชี้ไปไม่ถึงเป้าแลนด์สไลด์ ทำบริบทเพื่อไทยเปลี่ยน ด้อมตามแซะ "จาตุรนต์-หมอทศพร" ที่โหวตเห็นชอบ ตามกดดัน "หมอชลน่าน" ลาออก อาจารย์นิติศาสตร์ มช. โพสต์ต่อว่าสับปลับ จาตุรนต์ตอบมติพรรค

ตลอดทั้งสัปดาห์ ศูนย์รวมความสนใจของคนทั้งประเทศโฟกัสไปอยู่ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เช้านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อรับโทษตามกระบวนการยุติธรรม ทำให้กลบคดีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ 

เรื่องสร้างโรงพักตำรวจและมีคำพิพากษายกฟ้อง

ตามมาด้วยภาคบ่ายที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ผลโหวตที่ออกมาราบรื่นทั้งฝั่ง ส.ส.และ ส.ว. มติเห็นชอบ 482 ไม่เห็นชอบ 165 งดออกเสียง 81 จาก 705 เสียง

แตกต่างจากเมื่อครั้งที่เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ช่วงเดือนกรกฎาคมที่เจออุปสรรคทั้งไม่เห็นด้วยจนไม่ผ่าน และปัญหาเรื่องการใช้ข้อบังคับของสภา

เป็นอันว่าการเมืองของไทยผ่านด่านสำคัญจนได้ตัวนายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ หลังจากที่เลือกตั้งมาแล้วกว่า 3 เดือน ด้วยข้อสรุปพรรคอันดับ 1 พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และต้องไปเป็นฝ่ายค้าน ส่งต่อให้พรรคอันดับ 2 พรรคเพื่อไทย รวมเสียง ส.ส. และ ส.ว.จนเกิน 376 เสียง เป็นรัฐบาลท่ามกลางเสียงค่อนแคะว่าไม่รักษาคำพูดในช่วงที่หาเสียง จนต้องหันไปจับมือกับ 2 ลุงที่เป็นขั้วอำนาจเดิม

บริบทเปลี่ยน-ด้อมเสียงดัง

นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นใจคุณหมอชลน่าน ในทางวิชาการแล้วบริบทเปลี่ยน สาระหลักก็เปลี่ยน สิ่งที่พูดหาเสียงเพื่อขอคะแนน ทำบนเงื่อนไขตั้งเป้าแลนด์สไลด์ เมื่อบริบทเปลี่ยนผลของคะแนนที่ออกมาไม่แลนด์สไลด์ แม้เจตนาไม่ได้เปลี่ยน ดังนั้นเนื้อหาอาจเปลี่ยนตาม เลยถูกโจมตีว่าตระบัดสัตย์

สอดคล้องกับนักการเมืองอาวุโสอีกท่านที่ประเมินว่า ช่วงหาเสียงทุกพรรคก็อยากชนะให้ได้มากที่สุด เรื่องไม่จับมือกับลุงของเพื่อไทยเกิดขึ้นหลังจากความนิยมในพรรคก้าวไกลแซงหน้าเพื่อไทย จึงต้องหาเสียงด้วยการประกาศไม่เอาลุง เพื่อเป้าหมายแลนด์สไลด์ สุดท้ายก็เป็นรองก้าวไกล ถามว่าถ้าเพื่อไทยชิงตั้งรัฐบาลแข่งกับก้าวไกลตั้งแต่แรก ก้าวไกลไม่มีตัวเลือกมากนัก ที่ผ่านมาก้าวไกลก็ต่อสายกับพรรคสายอนุรักษนิยมที่ด่าอยู่ทุกวันเพื่อหวังเป็นรัฐบาลเช่นกัน จนเกิดปรากฏการณ์มีกรณ์ไม่มีกู และยังแอบคุยกับบางพรรค

“ที่เพื่อไทยถูกถล่มทุกวันนี้ มันอยู่ที่ใครเสียงดังกว่ากัน ก้าวไกลกุมสื่อออนไลน์ไว้ในมือด้วยฐานแฟนคลับคนรุ่นใหม่จำนวนมาก เรื่องที่ก้าวไกลแอบทำกองเชียร์เงียบ แต่ถ้าพรรคอื่นทำกองเชียร์พร้อมถล่ม”


ลาออกไม่ใช่ตัวหลัก

ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายที่โดนถล่มจะหาทางออกและแก้สถานการณ์อย่างไร เพราะเป็นเพียงแค่คำด่าหรือตำหนิ แต่บางคนก็รับไม่ได้กับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำ เพราะสุดท้ายเป็นการร่วมรัฐบาลกับพรรคทั้ง 2 ลุง ดังนั้น เราจึงได้เห็นการแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยด้วยการลาออกจากพรรค

ถ้าเอาคนดังๆ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ช่วยงานด้านกฎหมายให้พรรคเพื่อไทย ลาออกเมื่อ 15 สิงหาคม 2566 ตามมาด้วย 21 สิงหาคม 66 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ได้ออกมาขอยุติบทบาท ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย เนื่องจากเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ขัดต่อจุดยืนของตน

วันเดียวกัน น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ แจ้งลาออกจากพรรคเพื่อไทยเช่นกัน

ที่จับตาอีกรายคือนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยกล่าวบนเวทีหาเสียงว่า พรรคเพื่อไทยไม่จับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ไม่มีดีลกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถ้าร่วมรัฐบาลตนประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยมีการทวงถามจากฝ่ายตรงข้ามมาตลอดว่าเมื่อไหร่จะลาออก ซึ่งได้รับคำตอบว่าขอตั้งคณะรัฐมนตรีให้เสร็จก่อน

แหล่งข่าวที่ติดตามพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ปกติหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะเลือกกันทุก 2 ปี ตอนนี้หมอชลน่าน ครบวาระแล้ว การลาออกจึงไม่ใช่ปัญหาแต่เวลานี้อาจไม่สะดวกเนื่องจากอยู่ในช่วงตั้งรัฐบาล อีกไม่นานหมอคงไปแน่ เพราะถ้าหัวหน้าพรรคลาออกกรรมการบริหารพรรคต้องออกตามไปด้วย

ส่วนท่านอื่นๆ ที่ลาออกไปต้องพิจารณาด้วยว่ามีบทบาทในพรรคมากน้อยแค่ไหน บางท่านไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรค หรืออย่างคุณณัฐวุฒิ เขามาในนาม ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย หน้าที่หลักคือช่วยหาเสียงให้พรรค ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังเลือกตั้งนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ใหญ่ในพรรค

วันนี้ขึ้นอยู่กับการมองว่าเราจะยึดหลักการ 100% แน่นอนว่าตัดสินใจโดยยึดหลักการคุณจะกลายเป็นฮีโร่ในสายตาของคนที่เห็นเหมือนกัน แต่ประเทศเดินต่อไม่ได้ หรือจะยอมลดหลักการแล้วถูกด่า เราจะเลือกอะไร


เหน็บจาตุรนต์-ทศพร

ขอพูดตรงๆ ว่าในพรรคเพื่อไทยมีแดงอมส้มอยู่ไม่น้อย เชียร์ก้าวไกลสุดใจทั้งๆ ที่ตัวเองสังกัดเพื่อไทย ในวันลงมติเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งคุณจาตุรนต์ ฉายแสง และนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ ก็โหวตเห็นชอบกับคุณเศรษฐา จนถูกบรรดาด้อมส้มนำเอาการลงมติของทั้ง 2 ท่านนำไปล้อเลียน

ที่ผ่านมา คอการเมืองคงพอจะเห็นแนวทางหมอทศพรไปม็อบของน้องๆ 3 นิ้วตลอด ส่วนคุณจาตุรนต์ ก็โพสต์แสดงความเห็นไปในแนวทางเดียวกับพรรคอันดับ 1 แต่สุดท้ายทั้ง 2 ท่านก็เคารพมติพรรคเพื่อไทย หลังจากลงมติเลือกนายกฯ แบบขัดใจ

สายที่เห็นต่างจนมีการส่งจดหมายเปิดผนึกบนโลกออนไลน์ โดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 22 สิงหาคม 2566 ภายหลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

สวัสดีครับ พี่อ๋อย

...เมื่อหวนกลับมาสู่สนามการเมืองอีกครั้ง แม้จะยังคงสังกัดอยู่กับพรรคการเมืองที่สืบทอดมาจากพรรคดั้งเดิม ผมก็ยังคงแอบเชียร์อยู่ลึกๆ และหวังว่าพี่จะสามารถมีบทบาทอย่างสำคัญในการผลักดันให้พรรคการเมืองนี้เดินหน้าไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ไม่ใช่อยู่ในฐานะแค่เป็น “ไม้ประดับ” ให้พรรคดูสวยงามเท่านั้น

เมื่อพี่ประกาศความเห็นทางการเมืองในระหว่างการหาเสียง โดยเฉพาะการไม่จับมือกับพรรคที่สืบทอดอำนาจจากเผด็จการ ผมไม่มีความสงสัยแม้แต่นิดเดียว ผมเชื่อมั่นว่านั่นเป็นความปรารถนาอย่างจริงใจที่ต้องการให้การเมืองไทยหลุดพ้นจากระบบอำนาจนิยมที่ทอดยาวมานานทศวรรษ

แต่ในการลงคะแนนเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีวันนี้ ความแปลกใจแบบเกินจะคาดคิดเมื่อพี่ลงคะแนนสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลที่หันไปจูบปากกับพรรคที่ได้เคยปฏิเสธมาอย่างหนักแน่น แน่นอนล่ะว่าหลายๆ คนในพรรคของพี่ก็เคยพูดแบบนี้แล้วก็มาสับปลับ แต่นั่นก็เป็นบุคคลในอีกฐานะหนึ่ง พวกเขาไม่ใช่ “พี่อ๋อย” แบบที่ผมเคยรู้จัก

น่าเศร้านะครับ การสับปลับในครั้งนี้ได้ทำให้พี่กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำอย่างยากจะปฏิเสธ ชนชั้นนำที่เคยเป็นคู่ปรปักษ์กับพี่มาแทบตลอดชีวิต


ตอบกลับมติพรรค

จากนั้น 24 สิงหาคม 2566 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย โพสต์ตอบ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ดังนี้

...นานมาแล้วที่ผมอาจจะเคยมีบทบาทมากๆ แต่ช่วงนี้ผมไม่ได้มีบทบาทอย่างสำคัญอะไรเลยครับ

ผมยินดีรับฟังคำวิจารณ์ของอาจารย์เสมอครับ แต่ที่อาจารย์ใช้คำว่า "สับปลับ" ผมว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงแน่ๆ ครับ

ในการปราศรัยหาเสียงที่ผ่านมา ผมพูดเรื่องการต่อต้านคัดค้านการสืบทอดอำนาจและทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและได้เน้นย้ำคำประกาศของแกนนำพรรคว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับสองพรรค ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ

หลังการเลือกตั้ง ผมแสดงความเห็นสนับสนุนการตั้งรัฐบาลโดย 8 พรรค เมื่อไม่สำเร็จ ผมก็แสดงความเห็นทั้งในที่ประชุมแกนนำของพรรคและพูดผ่านสื่อมวลชนว่าไม่เห็นด้วยกับการข้ามขั้วและทักท้วงการจับมือกับสองพรรค ด้วยความหวังว่าการจับมือกันดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น

ผลปรากฏว่า ผมเป็นเสียงข้างน้อย พรรคมีมติและดำเนินการไปดังที่เกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นจนถึงวันนี้ผมยังยืนยันความเห็นต่อการจัดตั้งรัฐบาลตามที่ผมพูดไว้ทุกอย่าง ไม่เปลี่ยนแปลง

มาถึงการโหวตนายกฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้อาจารย์ผิดหวัง ขอเรียนว่าการโหวตนี้เป็นการโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ตลอดการหาเสียงผมก็ร่วมหาเสียงเพื่อสนับสนุนคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ผมยังสนับสนุนเหมือนเดิมและก็เป็นมติพรรค ผมจึงโหวตเห็นชอบ

ส่วนที่อาจารย์เห็นว่าการโหวต "เห็นชอบ" เป็นการสนับสนุนรัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นก็มีส่วนจริง แต่ถึงแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับองค์ประกอบของรัฐบาลผสมที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น ผมก็ต้องปฏิบัติตามมติพรรคอยู่ดี

การปฏิบัติตามมติพรรคเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งในระบบรัฐสภา หากจะไม่ปฏิบัติตามมติพรรคในเรื่องใหญ่มากๆ ต้องพร้อมที่จะลาออกจากพรรคการเมืองนั้นไป แต่ผมไม่คิดจะลาออก

โดยสรุปก็เพื่อจะบอกว่า ที่ผมพูดไปตั้งแต่ตอนหาเสียงมาจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคัดค้านการสืบทอดอำนาจ การตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้ว การไม่เป็นรัฐมนตรี การไม่ลาออกจากพรรคและสิ่งที่ตั้งใจจะทำต่อไป ไม่มีเรื่องไหนที่ผมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาครับ จาตุรนต์ คนเดิมครับ

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้มีบางคนที่เดินออก ไม่ว่าจะด้วยอุดมการณ์หรือคำพูดค้ำคอก็ตาม และก็มีบางคนที่เคยเดินออกพยายามเลี้ยวกลับเข้ามาก็มี แน่นอนว่าคนในเพื่อไทยที่ชื่นชอบส้มก็อาจเสียดายที่ไม่ได้ร่วมงานกัน แต่ทุกอย่างย่อมอยู่ที่กฎเกณฑ์ของแต่ละพรรค

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH






กำลังโหลดความคิดเห็น