xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล” พ่าย! ทั้งเกมในและนอกสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก้าวไกล” ลื่นไถล พ่ายแพ้ทั้งเกมในและนอกสภา ด้อมส้ม-io ทำพิษ กร่างจนเพื่อนเกลียด กลยุทธ์ล่าแม่มด ไล่ถล่ม “คนเห็นต่าง-กกต.-ส.ว.” ไร้ผล โดน ส.ว.นักกฎหมายโต้กลับไล่ฟ้องดำเนินคดี ขณะที่ ม.112 ทำคะแนนนิยมก้าวไกลลดฮวบ เหตุส้มจำนวนไม่น้อยยังรักสถาบัน ส่วนม็อบ “ส้มออแกนิก” ปลุกไม่ขึ้น โดนแซะแรง “io ลงถนนไม่ได้” ด้านกลุ่มเสื้อแดงไม่ติดหาก “เพื่อไทย” จับกับ “ลุงป้อม” ทิ้งก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ด้วยรอยร้าว ติ่งส้ม-เสื้อแดง ยากประสาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นทางการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ภายใต้กลยุทธ์ของพรรคก้าวไกลดูจะเป็นการเดินเกมที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง ทั้งเกมในสภาและนอกสภา เพราะมีปัจจัยชี้ชัดว่านายพิธา จะชวดตำแหน่งนายกฯ และพรรคก้าวไกลจำต้องพลิกจากว่าที่แกนนำรัฐบาลไปเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ขณะที่พลังของมวลชน “ด้อมส้ม” ก็แผ่วลงอย่างน่าใจหาย ที่สำคัญกลยุทธ์ของก้าวไกลนั้นล้วนนำไปสู่การสร้างศัตรูทั้งสิ้น

กลุ่มด้อมส้มที่ตะโกนโห่ไล่ นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งไปร่วมประชุมที่พรรคก้าวไกล
พลาดอย่างแรง
ให้ด้อมส้มถล่มเพื่อไทย


สำหรับ “ยุทธศาสตร์ในสภา” ที่จะผลักดันให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกลได้เป็นแกนนำรัฐบาลนั้นมี 2 ส่วนด้วยกันคือ

1) “การเดินเกมกับพรรคร่วม” ซึ่งแม้ภาพที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจับมือกันทำ MOU จะดูหวานชื่นกลมเกลียว แต่แน่นอนว่าในทางการเมืองแล้วพรรคที่มีคะแนนมาอันดับหนึ่ง อย่างก้าวไกล และพรรคอันดับสองที่คะแนนห่างกันแค่ 10 ที่นั่ง เช่น พรรคเพื่อไทย ต่างต้องช่วงชิงเพื่อให้พรรคของตนเองได้สิ่งที่ดีที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งก้าวไกลนั้นรู้ดีว่าแม้จะเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีเพื่อไทยตนเองก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงใช้วิธีผูกมัดเพื่อไทยให้อยู่กับก้าวไกลเท่านั้นด้วยคำว่า “ฝั่งประชาธิปไตย” โดยให้ทีมงานด้อมส้ม ทั้งส้มจริง และส้ม io ส่งเสียงผ่านโซเชียลทุกแพลตฟอร์มเพื่อสร้างจิตวิทยาหมู่และชี้นำสังคมว่า “เพื่อไทยห้ามทิ้งก้าวไกล” หากเพื่อไทยไปจับมือกับพรรคอื่น ซึ่งนาทีคงหนีไม่พ้นพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลเดิม จะเท่ากับ “หักหลังประชาชน” และหากนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไม่ได้ชื่อ “พิธา” ก็แปลว่าก้าวไกลถูกเพื่อไทยหักหลัง เพื่อกดดันให้เพื่อไทยอยู่ในฐานะ “นางแบก” ที่ต้อส่งก้าวไกลไปให้ถึงฝัน

แต่สิ่งที่ก้าวไกลพลาดอย่างมากคือท่าทีที่ไม่ให้เกียรติพรรคร่วม โดยดึงดันจะเอาให้ได้ดั่งใจทุกอย่าง และที่สำคัญยังปล่อยให้ติ่งส้ม ทั้งส้มสวน และส้ม io ไล่ถล่มเพื่อไทยโดยไม่ห้ามปราม ทุกครั้งที่มีการเจรจาต่อรองระหว่างก้าวไกลกับพรรคร่วม หากใครสนับสนุนก้าวไกลจะมีติ่งส้มไปอวยยศสรรเสริญในโซเชียล แต่หากไม่เห็นตามที่ก้าวไกลเสนอ หรือออกมาตำหนิติติงจะมีติ่งส้มไปไล่ถล่มเช่นกัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการใช้มวลชนในโซเชียลมากดดันและด้อยค่าพรรคร่วมด้วยกันเพื่อให้ได้สิ่งที่ก้าวไกลต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่วิธีที่ “มิตร” พึงกระทำ

กลุ่มเสื้อแดงเอฟซีพรรคเพื่อไทย เดินทางไปยื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อไทยเพื่อขอให้ “ถอนตัว” จากการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล
และที่เจ็บปวดที่สุดเห็นจะเป็นครั้งที่ “นายชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรคเพื่อไทย เดินทางไปร่วมประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่อาคารอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นที่ทำการพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2566 ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกประธานสภา ปรากฏว่ามีด้อมส้มมาตะโกนโห่ไล่ พร้อมทั้งบอกว่า “ตำแหน่งประธานสภา และนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นของก้าวไกลเท่านั้น และขอให้ยึดเสียงประชาชนที่เลือกมา” โดยที่ทางพรรคก้าวไกลไม่ได้ออกมาห้ามปรามมวลชนของตัวเองแต่อย่างใด

ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่พรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก โดยในวันรุ่งขึ้นซึ่งมีการประชุม ส.ส.เพื่อไทย ได้มี ส.ส. บางส่วนลุกขึ้นแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าพรรคก้าวไกลไม่ให้เกียรติหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ปล่อยให้กองเชียร์มารุมต่อว่าซึ่งสร้างความอับอายให้พรรคเพื่อไทยอย่างมาก ขณะที่ ส.ส. บางคน ลุกขึ้นมาต่อว่าพรรคก้าวไกล ที่ใช้กระบวนการไอโอมาโจมตีพรรคเพื่อไทย ว่าจะหักหลังพรรคก้าวไกล ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้กลับกลายเป็นการสร้าง “จุดแข็ง” ให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งจะใช้เรื่อง “การไม่ให้เกียรติ และความไม่จริงใจของพรรคก้าวไกล” มาอธิบายมวลชนเสื้อแดงถึงหนึ่งในเหตุผลที่จำเป็นต้องยุติการร่วมงานกับพรรคก้าวไกล ขณะที่มวลชนเสื้อแดงเองไม่พอใจกับพฤติกรรมดังกล่าวของด้อมส้มเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ มวลชนกลุ่มเสื้อแดงเอฟซีพรรคเพื่อไทยนับ 100 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อไทยเพื่อขอให้พิจารณา “ถอนตัว” จากการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล


“แก้ ม.112”
ทำคะแนนนิยม "พิธา" ตกฮวบ


2) “การเดินเกมในการโหวตเลือกนายกฯ” นับเป็นการเดินเกมในสภาที่ดูจะสำคัญไม่น้อยกว่าข้อแรก ซึ่งในการโหวตครั้งที่ 1 นั้นนายพิธา แพ้ไม่เป็นท่า เนื่องจากความดื้อดึงที่จะแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ภายใต้การส่งสัญญาณของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล แม้จะไม่สามารถบรรจุเรื่องแก้ 112 ใน MOU เพราะพรรคร่วมไม่เอาด้วย ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยื่นข้อเสนอล่วงหน้าว่าหากพรรคก้าวไกลไม่แก้ ม.112 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ ส.ว.ก็ยินดีที่จะโหวตให้พรรคนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคก้าวไกลไม่ยินยอม จึงถูกทั้ง ส.ส.และ ส.ว.อภิปรายลากไส้ในสภาเสียยับเยิน ทำให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงคนที่เลือกก้าวไกล ได้รับรู้ว่าร่างแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกลนั้น “อันตราย” เกินกว่าจะปล่อยผ่านได้

ทำให้คนไทยทุกสีเสื้อซึ่งต่างรักสถาบันเริ่มไม่ไว้ใจนายพิธา และพรรคก้าวไกล หลายคนที่เลือกก้าวไกลมาด้วยความหวังว่าการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคก้าวไกลจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทิศทางที่ดี แต่นายพิธา กลับเอา 300 นโยบายที่หาเสียงไว้ไปแลกกับ ม.112 เพียงเรื่องเดียว จึงส่งผลให้ความนิยมที่มีต่อพรรคก้าวไกลและนายพิธา “ตกฮวบ” และการขับเคลื่อนเรื่องนี้ของก้าวไกลถือเป็นการก้าวพลาดครั้งใหญ่ที่ไม่อาจจะย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้

ส่วนการโหวตเลือกนายกฯ รอบสอง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.ค.นี้ หลายฝ่ายฟันธงตรงกันว่าอย่างไรเสียนายพิธา ไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ แม้พรรคเพื่อไทยจะรักษาน้ำใจโดยไม่ส่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยลงแข่ง เพราะก้าวไกลรับปากว่าหากโหวตรอบสองไม่ผ่าน จะสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหมายถึงยินดีหนุนนายกฯจากพรรคเพื่อไทย แต่การโหวตยังต้องอาศัยเสียงจาก ส.ว. เพื่อให้ได้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 375 (ส.ว.ลาออกไป 1 คน) เช่นเดียวกับการลงมติครั้งแรก ดังนั้นไม่ว่าการโหวตเลือกนายกฯ จะถือเป็นญัตติหรือไม่ และหากทั้งสภาเสนอชื่อนายพิธา คนเดียว จะสามารถโหวตครั้งที่ 2 ได้หรือเปล่า ล้วนไม่ใช่ประเด็น เพราะในเมื่อเสียงที่สนับสนุนก้าวไกลยังมีเท่าเดิม ยังไงนายพิธา ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ

ถามว่าจะใช้วิธีแก้มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ เสียก่อน ค่อยโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 เพื่อให้นายพิธา มีโอกาสเป็นนายกฯ ได้หรือเปล่า ตอบได้เลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะการแก้ไขกฎหมายต้องผ่าน ส.ว. แล้วใครเล่าจะแก้กฎหมายตัดอำนาจตัวเอง?

และหากเดินเกมถัดไปโดยโหวตนายกฯ รอบ 3 โดยก้าวไกลหลีกทางให้แคนดิเดตจากเพื่อไทยได้ชิงตำแหน่งนายกฯ โดยยังจับขั้ว 8 พรรคเดิม ถามว่า ส.ว.จะโหวตให้แคนดิเดตจากเพื่อไทยหรือเปล่า ตอบได้อีกว่าไม่โหวตให้เช่นกัน เพราะตราบใดที่เพื่อไทยยังจับกับก้าวไกล ส.ว.ก็ไม่สนับสนุน เพราะไม่ต้องการให้กลุ่มที่ผลักดันแก้ ม.112 มาตลอดเข้าไปมีอำนาจในฐานะรัฐบาล

ถามอีกว่าแล้วก้าวไกลรู้ไหมว่าสถานการณ์จะเป็นดั่งข้างต้น ตอบได้เลยว่ารู้ แต่ที่ยื้อไว้ก็เพื่อต้องการสกัดไม่ให้เพื่อไทยย้ายไปจับกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิมแล้วตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ก้าวไกลจึงต้องกอดเพื่อไทยไว้แน่น ส่วนจะกอดไว้ได้นานแค่ไหน คำตอบอยู่ที่เพื่อไทย!

แต่ปัญหาคือ ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่ กกต.ยื่นให้ศาลวินิจฉัย ตามมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท itv จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น พร้อมทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีผลให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ให้รัฐสภาโหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้!! จึงเท่ากับประเทศไทยจะไม่มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพิธา



ม็อบส้มออแกนิกปลุกไม่ขึ้น

ส่วน “ยุทธศาสตร์นอกสภา” นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าก้าวไกลก็พลาดอีก เพราะการใช้ด้อมส้ม ทั้งส้มจริง ส้ม io ไปตามถล่มคนที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคก้าวไกล และนายพิธา ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่รับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการตรวจสอบนายพิธา ในหลากหลายประเด็น หรือบรรดา ส.ว. ที่ไม่โหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ โดยเฉพาะ ส.ว.ที่อภิปราย ม.112 นั้นนอกจากจะไม่สามารถกดดันให้คนเหล่านี้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือหันมาสนับสนุนนายพิธา เพราะกลัวทัวร์ลงแล้ว ยังทำให้กระแสสังคมตีกลับ มองว่าด้อมส้มและพรรคก้าวไกลคือ “ประชาธิปไตยที่ห้ามเห็นต่าง” และเป็นอันธพาลครองเมือง

ขณะที่ ส.ว.ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการที่ด้อมส้มไปคุกคาม facebook IG ของคนในครอบครัว หรือนำชื่อที่อยู่และธุรกิจของ ส.ว.เหล่านี้ไปแขวนในโซเชียล เพื่อให้เหล่าด้อมไปตามคุกคามเหมือน “ขบวนการล่าแม่มด” จนธุรกิจได้รับความเสียหาย ต่างก็ประกาศเดินหน้าฟ้อง โดยระบุว่าจะดำเนินคดีถึงที่สุด แม้จะเป็น io ก็สามารถตามจาก ID ได้ ส่งผลให้ด้อมส้มต้องถอยกรูดไม่เป็นขบวน

ขณะที่มวลชนสีส้มที่เคยห้อมล้อมนายพิธาขณะเดินสายไปต่างจังหวัดเพื่อเช็กเสียงสนับสนุนและปลุกเร้าให้มวลชนออกชุมนุมหากนายพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ แต่ปรากฏว่าพอถึงวันโหวตนายกฯ จริง มวลชนส้มออแกนิกซึ่งเป็นพลังบริสุทธิ์เหล่านี้กลับออกมาน้อยมากในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา หรือหอศิลป์กรุงเทพฯ จุดปักหลักประจำของด้อมส้ม แต่ละวันมีผู้ชุมนุมในแค่หลักร้อยเท่านั้น โดยแกนนำเป็นคนหน้าเดิม อย่าง นายอานนท์ นำพา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หนึ่งในผู้นำกลุ่มคณะราษฎร์ ที่ครั้งนี้มาในนามแกนนำกลุ่ม Respect My Vote และกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ แต่ที่น่าสังเกตคือครั้งนี้ผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภาส่วนใหญ่กลับเป็นผู้สูงอายุ ไม่ใช่วัยรุ่นวัยทำงานซึ่งเป็นมวลชนหลักของก้าวไกล โดยว่ากันว่าคุณลุงคุณป้าเหล่าเป็นกลุ่มเสื้อแดงเก่าที่หันมาสนับสนุนนายพิธา ด้วยเหตุผลเรื่องการดำรงชีพ ขณะที่ในต่างจังหวัดมีด้อมส้มออกมาถือป้ายข้อความตามอนุสาวรีย์ หรือสถานที่สำคัญบ้างประปราย แต่ละจุดอยู่ที่หลักหน่วยถึงหลักสิบ ส่วนที่ประกาศกร้าวในโซเชียลกันอย่างครึกโครมว่า หากพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ คนจะลงถนนเป็นล้าน บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ กลับหายเงียบ จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า “io ลงถนนไม่ได้”

อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีกระแสข่าวว่ามี “ทุนก้อนใหญ่” ผ่านมาทางเอ็นจีโอเพื่อสนับสนุนการชุมนุมซึ่งหากถึงที่สุดแล้วนายพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ และพรรคเพื่อไทยย้ายไปจับขั้วกับพรรครัฐบาลเดิม เพื่อเป็นสารตั้งต้นหวังดึงมวลชนทั้งแดงและส้มออกมาชุมนุม ส่วนว่าจะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร และจากนี้จะมีม็อบใหญ่เกิดหรือเปล่าคงต้องติดตามกันต่อไป

แต่แว่วว่าขณะนี้มวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ติดใจ หากเพื่อไทยจะย้ายไปจับขั้วกับลุงป้อม เพราะมองว่านี่คือสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก และก้าวไกลคือตัวปัญหา หากยังฝืนจับกับก้าวไกลก็มีแต่จะพากันลงห้วยลงเหว ขณะที่มวลชนแดงบางส่วนไม่ถูกกับด้อมส้ม เหตุเพราะถูกด้อยค่ามาตลอด จึงรู้สึกสะใจหากเพื่อไทยจะเดินตามแนวทางนี้ โดยทิ้งให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับประชาธิปัตย์และรวมไทยสร้างชาติ!





กำลังโหลดความคิดเห็น