xs
xsm
sm
md
lg

"พิธา" อ่วม โดนเช็กบิล 4 เรื่องหนัก โทษจำคุก-ยุบพรรค “ส.ส.ก้าวไกล” โมฆะทั้งพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดปม 4 กรณีร้อง "พิธา" ส่อโคม่า ชี้ “คดีหุ้นไอทีวี” ถึงขั้นติดคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่น-2 แสน และอาจส่งผลให้การเลือก ส.ส.ก้าวไกล เป็นโมฆะยกพรรค ด้าน “สดศรี” ระบุโทษจำคุกไม่รอลงอาญา กรณี “ขายที่ดินประจวบฯ” ชี้ชัด “พ่อส้ม” ไม่ใช่ผู้จัดการมรดก ตามด้วย ”สำนักพิมพ์พิธา” อาจเข้าข่ายเป็นเจ้าของสื่ออีกคดี ขณะที่ นโยบายแก้ ม.112 เสี่ยงเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง “ดร.ณัฐวุฒิ” ชี้เป็นเหตุให้ยุบพรรค
 
เรียกได้ว่าเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีคดีและถูกร้องให้ตรวจสอบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ซึ่งแม้ว่า 8 พรรคร่วมที่จับมือกันประกาศตัวจัดตั้งรัฐบาลจะยืนยันแน่นหนักว่าจะยกมือสนับสนุนให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากท่าทีของสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าจะไม่โหวตให้นายพิธา เพราะรับไม่ได้กับนโยบายแก้ ม.112 ทำให้ความหวังที่จะได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 367 เสียง ยังดูริบหรี่ อีกทั้งนายพิธา ยังถูกร้องในหลายประเด็น ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนส่งผลต่อเส้นทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนว่าคดีหรือประเด็นที่ถูกร้องจะมีเรื่องอะไรบ้าง และจะส่งผลต่อนายพิธา รวมถึงพรรคก้าวไกลอย่างไร คงต้องไปไล่เรียงกัน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา
“คดีหุ้นไอทีวี” ส่อทำ "พิธา" ติดคุก
เลือก ส.ส.ก้าวไกลเป็นโมฆะ


1) “คดีหุ้นสื่อ” ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยด้วย ซึ่งแน่นอนว่ากรณีนี้ย่อมส่งผลต่อการลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีชื่อนายพิธาเป็นแคนดิเดต

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธา จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งถือครองตั้งแต่ 2551-2566 (รวม 16 ปี) ว่าเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จึงไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้ กกต.จะมีมติไม่รับคำร้องดังกล่าว เนื่องจากคำร้องยื่นมาเกินวันที่จะรับพิจารณา แต่มีมติให้รับเรื่องไปไต่สวนต่อ เนื่องจากมีหลักฐานที่อาจเป็นข้อเท็จจริง จึงต้องตรวจสอบต่อไปว่านายพิธา มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังฝ่าฝืน ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังฝ่าฝืน หรือไม่

ทั้งนี้แม้นายพิธา จะชี้แจงว่าหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นของกองมรดกบิดา หลังบิดาเสียชีวิตปี 2549 และตนถือครองหุ้นในฐานะผู้จัดการมารดก แต่มีหลักฐานหลายอย่างที่ชี้ว่าหุ้นดังกล่าวอาจเป็นหุ้นของนายพิธาเอง เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (แบบ บมจ.006) ที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าท้ายรายชื่อและที่อยู่ผู้ถือหุ้นนั้นนายพิธา มิได้ระบุว่าถือในนาม ‘ผู้จัดการมรดก’ แต่อย่างใด

อีกทั้งการโอนหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ที่นายพิธา ถืออยู่ให้ นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นน้องชาย เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 (หลังจากการเลือกตั้ง วันที่ 14 พ.ค.2566) นั้น

นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา
นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา ให้ความเห็นว่า จากหลักฐานการโอนหุ้นชี้ว่า

“หุ้นดังกล่าวเป็นของนายพิธา ไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง เนื่องจากการโอนหุ้นให้นายภาษิณ นั้น หลักฐานการโอนระบุว่า นายพิธา ผู้โอน/ฝาก นายภาษิณ ผู้รับโอน/ฝาก ซึ่งหากโอนในฐานะผู้จัดการมรดก ต้องระบุว่า นายพิธา ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ผู้โอน นายภาษิณ ผู้รับโอน” อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา กล่าว

ส่วนกรณีสถานะของบริษัทไอทีวีนั้นมีหลักฐานชี้ชัดว่าไอทีวียังมี “สถานะเป็นสื่อ” แม้ปัจจุบันไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศ แต่บริษัทฯไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ สถานะยังเปิดดำเนินการ นำส่งงบการเงินทุกปี อีกทั้งเอกสารงบการเงินของบริษัทไอทีวีในปี 2466 ระบุว่าบริษัททำสื่อมวลชนแขนงอื่นซึ่งมิใช่สถานีโทรทัศน์ไอทีวีแล้ว

ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติจะเข้าความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 151 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 20 ปี และกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ให้ศาลสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ที่ได้รับมาระหว่างดำรงตำแหน่งด้วย

นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.
ด้าน นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. ระบุว่า “มาตรา 151 โทษแรงมาก สำคัญที่สุดคือโทษจำคุก และโทษปรับ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากฎหมายไม่ได้เขียนให้รอการลงโทษ ถ้าผิดก็ต้องจำคุกเลย และต้องถูกปรับด้วย เพราะกฎหมายใช้คำว่าและ”

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า การที่นายพิธา รู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นสื่อ แต่ไปเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าพรรค เท่ากับไปรับรองทั้งที่ตัวเองไม่มีคุณสมบัติ ซึ่งจะส่งผลให้การลงสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.พรรคก้าวไกลเป็นโมฆะไปด้วย

“ส่วนตัวมองว่าหากจะเป็นโมฆะ ควรจะเป็นเฉพาะเขตที่ผู้สมัครพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ควรโมฆะทั้งหมด แต่บางฝ่ายเห็นว่าต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ เพราะคะแนนที่พรรคก้าวไกลได้ไป ทำให้คะแนนเสียงของคนอื่นๆ ผิดเพี้ยน ไม่ตรงกับความจริง คะแนนจึงไม่ควรเสียเฉพาะพรรคก้าวไกล แต่เสียทั้งระบบ เพราะหากนายพิธา ไม่เซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ประชาชนอาจไปพิจารณาเลือกพรรคอื่น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นอย่างไร และมีคำวินิจฉัยเช่นใด ถ้าเลือกตั้งเฉพาะเขตที่พรรคก้าวไกลชนะเสียหายน้อยหน่อย แต่ถ้าต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศก็เสียหายเยอะ” นายเสรี ระบุ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
พิรุธขายที่ดิน จ.ประจวบฯ
ชี้ “พิธา” เป็นผู้รับมรดก?


2) “ปมขายที่ดิน จ.ประจวบฯ” ซึ่งข้อพิรุธของเรื่องนี้จะช่วยให้คดีหุ้นสื่อของนายพิธา ซึ่ง กกต.เตรียมส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

สืบเนื่องจาก นายเรืองไกร เจ้าเดิมได้ส่งคำร้องไปยัง กกต. ขอให้ตรวจสอบข้อมูลการขายที่ดินของนายพิธา ว่าการขายที่ดินโฉนดที่ 13543 เลขที่ดิน 501 หน้าสำรวจ 1516 ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2566 ซึ่งพบความผิดปกติของเอกสาร โดยหลังโฉนดที่ดินรายการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2560 ระบุว่า ประเภทการจดทะเบียน คือ “ผู้จัดการมรดก” ตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 1860/2550 ลว. 16 มี.ค.2550 ผู้ให้สัญญา คือ นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ (ตาย) ผู้รับสัญญา คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้จัดการมรดก

แต่ทำไมในหลังโฉนดที่ดิน รายการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2560 ในลำดับต่อมา ระบุว่า ประเภทการจดทะเบียน คือ โอน “มรดก” ผู้ให้สัญญา คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (ผู้จัดการมรดก นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์) ผู้รับสัญญา คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

นอกจากนี้ บันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร เมื่อวันที่ 27 มี.ค.66 ยังระบุในข้อ 1.ว่า ข้าพเจ้าผู้โอนได้อสังหาริมทรัพย์นี้ มาโดย (1) การรับโอน “มรดก” เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2549

นายเรืองไกร ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายพิธา ระบุในบันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2566 ว่า ตัวนายพิธา ผู้โอนได้อสังหาริมทรัพย์นี้มาโดย “การรับโอนมรดก” เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2549 และการระบุในหนังสือสัญญาขายที่ดิน เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2566 ข้อ 4. ว่าผู้ขายได้ที่ดินมาโดย “การรับโอนมรดก” เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2549 นั้นถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากวันที่ 18 ก.ย.2549 เป็นวันที่นายพงษ์ศักดิ์ ตาย และเป็นวันก่อนที่ศาลแพ่งจะมีคำสั่งตั้ง “ผู้จัดการมรดก” เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2550 อีกทั้งในวันที่ 18 ก.ย.2549 นายพิธา ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าทั้งหุ้นไอทีวีและที่ดินที่ จ.ประจวบฯ ล้วนเป็นมรดกที่นายพิธาได้รับพร้อมกันหลังจากที่บิดาเสียชีวิต ซึ่งนายพิธา จะเป็น “ผู้จัดการมรดก” ได้ก็ต่อเมื่อสมบัติทั้งหมดยังไม่ถูกแบ่ง และในช่วงเวลาเดียวกันถ้านายพิธา ครอบครองที่ดินในฐานะ “มรดก” ก็ต้องครอบครองหุ้นไอทีวีในฐานะ “มรดก” ด้วยเช่นกัน

“เชื่อว่าข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อ กกต.ในการพิจารณายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะ ส.ส.ของนายพิธาต่อไป” นายเรืองไกร ระบุ

หนังสือ วิถีก้าวไกล ที่เขียนโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์
เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์
เท่ากับ “พิธา” เป็นเจ้าของสื่อหรือไม่


3) “กรณีเป็นเจ้าของกิจการหนังสือ” ถือเป็นประเด็นใหม่ ซึ่งชี้ว่านายพิธา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าของธุรกิจสื่อ ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอาจส่งผลให้นายพิธา พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.

โดย นายเรืองไกร ได้ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบสมาชิกภาพของนายพิธา ว่าสิ้นสุดลงตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากข้อมูลจากการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายพิธา ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า นายพิธา เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และเป็นผู้เขียนหนังสือ 4 รายการ คือ หนังสือวิถีก้าวไกล ความรัก คือการตกหลุมรักหลายๆ ครั้ง ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน ด้วยรักจากอนาคต และเป็นเจ้าของสิทธิในหนังสือดังกล่าว โดยมีรายได้จากการขายหนังสือ จำนวน 431,712 บาท โดยเป็นรายได้ระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมืองเฉลี่ย 107,928 บาทต่อปี นายพิธา จึงอาจมีลักษณะต้องห้ามตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 ซึ่งหาก กกต.พบว่านายพิธา เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

“อยากให้ กกต.ตรวจสอบว่านายพิธา เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเนื่องจากเป็น “เจ้าของ” ในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่ และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของนายพิธา ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงหรือไม่” นายเรืองไกร ระบุ

นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบนโยบายแก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกลและนายพิธา
นโยบายแก้ ม.112
ส่อทำ “ก้าวไกล” ถูกยุบ


4) “ปม แก้ ม.112 อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง” และนำไปสู่การ “ยุบพรรค”

สืบเนื่องจากที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

อีกทั้งก่อนหน้านั้น นายธีรยุทธ ขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำดังกล่าว แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม) ทางศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติให้สอบถามไปยังอัยการสูงสุดว่า มีคำสั่งรับ หรือไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หากมีคำสั่งรับคำร้องขอ ดำเนินการแล้วอย่างไร และผลการดำเนินการเป็นอย่างไร โดยให้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

ซึ่งล่าสุด อัยการสูงสุดได้ทำหนังสือตอบกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนรายละเอียดหนังสือดังกล่าวนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้

“ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม” นักวิชาการชื่อดังด้านกฎหมายมหาชน และรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ การล้มล้างการปกครองนั้นถือเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร โดย “ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม” นักวิชาการชื่อดังด้านกฎหมายมหาชน และรัฐธรรมนูญ ได้เคยชี้เรื่องนี้ไว้ว่า เนื่องจากมาตรา 112 คุณธรรมทางกฎหมายมุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และบัญญัติอยู่ในหมวด 2 ความผิด ลักษณะ 1 หมวดความผิดเกี่ยวด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี

และหากพิจารณาถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 20 พรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงนี้แม้นโยบายพรรคก้าวไกลไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่คาบเกี่ยวกับการกระทำและพฤติการณ์ "ล้มล้างการปกครอง" หรือ "เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง" เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้แก่

(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“จะเห็นได้ว่า การแก้ไข ม.112 แม้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิบังควรหรือไม่ ตรงนี้อาจนำไปสู่ช่องทางร้องยุบพรรคในที่สุด ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นในการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคไทยรักษาชาติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่กระทำผิดกติกานำไปสู่การยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง และส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรไปแก้ไขกฎหมายอาญามาตรานี้” ดร.ณัฐวุฒิ ระบุ

ส่วนว่าผลการพิจารณาคำร้องแต่ละกรณีจะเป็นเช่นไร จะส่งผลกระทบต่อนายพิธา และพรรคก้าวไกลหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ขณะนี้คือเริ่มมีเสียงร่ำลือ หรือคำทำนายดวงนายพิธา ที่ว่า “จะไม่มีแผ่นดินอยู่” จะเป็นความจริง?




กำลังโหลดความคิดเห็น