xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจ “เพื่อไทย” ทนอีกนานแค่ไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยิ่งนานยิ่งเผชิญแรงกดดันก้าวไกลพลาดเก้าอี้สำคัญแพ้เหลี่ยมเพื่อไทย ด้อมส้มยังเก็บอาการ เพนกวินเริ่มแซะ-อานนท์เริ่มเตือน หมอชลน่านเริ่มออกอาการอยากออกไปก็ออกไปไม่ได้โดนกองเชียร์ส้มโห่ จากนี้ชะตาพิธาอยู่ในมือ ส.ว. จับตาเพื่อไทยจะทนก้าวไกลได้นานแค่ไหน?

“พรรคเพื่อไทยไม่อาจแยกออกจากก้าวไกลได้ เพราะเราถูกมัดรวม ด้วยอาณัติของประชาชน แม้เราอยากออกไปก็ออกไปไม่ได้” ขอเน้นคำนี้ “อยากออกก็ออกไม่ได้ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยมีสิทธิ แต่มันไม่ชอบธรรม เพราะประชาชน 25 ล้านเสียง มัดเพื่อไทยกับก้าวไกลรวมกันแล้ว เปรียบเหมือนพ่อแม่จับลูกคลุมถุงชนแต่งงาน” คำกล่าวของนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อ 29 มิถุนายน 2566

สะท้อนถึงความรู้สึกภายในของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันในการหารือเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรกับพรรคก้าวไกล หลังจากที่ทั้ง 2 พรรคต่างต้องการเก้าอี้ตัวนี้ทั้งคู่

ไม่เพียงเท่านั้น พรรคก้าวไกลยังต้องเจอกับเสียงโห่จากกองเชียร์สีส้มเมื่อ 2 กรกฎาคม 2566 ที่รอบนี้เป็นกลุ่มคนสูงอายุ พร้อมทั้งตะโกนว่า เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น นับเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันสะสมที่เพื่อไทยต้องอดทน ขณะที่เจ้าภาพกลับนิ่งๆ กับสถานการณ์นี้

งานนี้ก้าวไกลแพ้

การชิงเหลี่ยมเก้าอี้ประธานสภา นับว่าดุเดือดจากเดิมที่ต่างฝ่ายต่างอยากได้ ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่าพรรคเพื่อไทยยอมรับเก้าอี้รองประธานสภา 2 ที่นั่ง ยอมก้าวไกลเป็นประธานสภา แต่เรื่องกลับมาพลิกอีกหลังเพื่อไทยยืนยันยังไม่ได้ข้อสรุป จากนั้นจึงได้ข้อสรุปช่วงค่ำของวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ทั้งเพื่อไทยเสนอชื่อนายวันมูหะมัด นอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นั่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นก้าวไกลจึงตามไปพูดคุยกับนายวันมูหะมัด นอร์ มะทา

จากนั้นช่วงค่ำของวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้โพสต์ข้อตกลงร่วมกันในเรื่องตำแหน่งประธานสภา พร้อมด้วยข้อกำหนด 4 ข้อ ที่น่าจะเป็นปัญหาไม่น้อยคือข้อ 4 ที่ระบุว่า

พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ

4 กรกฎาคม 2566 เป็นวันลงมติเลือกประธานสภา นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกลเป็นรองประธานสภา คนที่ 1 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน พรรคเพื่อไทยเป็นรองประธานสภา คนที่ 2 ไม่มีการพลิกโผแต่อย่างใด

ขณะที่เรื่องเงื่อนไขข้อที่ 4 เรื่องที่พรรคเพื่อไทยต้องร่วมกันเห็นชอบกฎหมายสำคัญ เช่น การนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง รวมถึงกฎหมายฉบับอื่น ซึ่งพรรคเพื่ีอไทยเคยแจ้งไว้แล้วว่าไม่เห็นด้วยตั้งแต่ตอนเซ็น MOU แต่คงต้องคุยกัน


นิรโทษสุดซอยจุดจบรัฐบาล

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566 เรื่องนิรโทษกรรม ฉบับก้าวไกลและเพื่อไทย

อ่านข้อตกลงร่วมของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ข้อที่ 4 ความว่า "ร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง"

ปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือคดีแสดงออกทางการเมืองคืออะไร? สภาผู้แทนราษฎรชุดก่อนๆ เคยพิจารณาเรื่องคดีการเมืองมาแล้ว แต่หาข้อยุติไม่ได้ จนนำไปสู่กฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยและกลายเป็นจุดจบของรัฐบาล

หากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เห็นว่า คดีตามมาตรา 112 เป็นการแสดงออกทางการเมือง และคิดจะนิรโทษกรรม ผมว่า นั่นแหละคือการเริ่มต้นจุดจบของรัฐบาล

ในฐานะประชาชน ผมอยากให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยแสดงออกให้ชัดว่า คดีการเมืองที่จะร่วมมือกันนิรโทษกรรม คือ คดีอะไร เพื่อคนไทยจะได้ตัดสินใจได้ ว่า ควรสนับสนุนรัฐบาลหรือไม่ และที่สำคัญเป็นสาระสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาจะใช้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

อย่าเดินไปในเส้นทางที่เคยมีผู้เดินไป แล้วไม่เคยได้เดินกลับออกมา


แพ้เมื่อไหร่อ้างสัญญามัด

ไม่เพียงเท่านั้น ในวันที่มีการลงมติเลือกประธานสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังโพสต์เรื่องที่เลือกหัวหน้าพรรคประชาชาติ หนึ่งในนั้นมีข้อความที่สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจประธานสภาคนใหม่คือ

“อ.วันนอร์ยังให้คำมั่นกับพวกเราว่ากฎหมายสำคัญของพรรคก้าวไกล เช่น สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม กฎหมายเพื่อกลุ่มพี่น้องแรงงาน และกฎหมายเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ จะไม่ถูกขัดขวางหรือถ่วงให้ช้าไม่ว่าด้วยความไม่ไว้วางใจหรือความไร้ประสิทธิภาพภายใต้การทำงานของ อ.วันนอร์”

แหล่งข่าวทางการเมืองให้ข้อสังเกตว่า ถ้าก้าวไกลเสียเปรียบเมื่อไหร่ จะมีเรื่องของสัญญาเข้ามาผูกหรือมัดคู่กรณีไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาฝ่ายเดียวหรือ 2 ฝ่าย ทั้งเรื่องนิรโทษ หรือเรื่องประธานสภา ของอาจารย์วันนอร์ ส่วนอีกฝ่ายจะทำตามหรือไม่คงต้องรอดูกัน แต่ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่กลบความพ่ายแพ้ในเกมต่อรอง อย่างข้อความที่กล่าวถึงอาจารย์วันนอร์ค่อนข้างแรง ทั้งๆ ที่ท่านเป็นผู้ใหญ่ทางก้าวไกลควรให้เกียรติท่าน


ทะลุวังด่าก้าวไกลไม่เต็ม

ขณะเดียวกัน ในด้านของแฟนคลับพรรคก้าวไกล ก็เริ่มมีปฏิกริยาต่อท่าทีของพรรคมาตั้งแต่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ชัดเจนคือกรณีของหยก น.ส.ธนลภย์ ผลัญชัย ที่ปีนรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเข้าไป โดยอ้างว่าต้องการเข้าไปเรียนโดยที่แต่งชุดไปรเวทและย้อมผมสีฉูดฉาด ซึ่งขัดต่อกฎระเบียบของโรงเรียน อีกทั้งหยกยังมีปัญหาเรื่องการมอบตัวที่ยังไม่สมบูรณ์

กรณีนี้ทางหยกอ้างว่าทำตามนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ไม่บังคับชุดนักเรียน ผู้ปกครองใช้งบกับอย่างอื่นได้ และเรื่องของทรงผม แต่กระแสสังคมกลับไม่เห็นด้วยกับการกระทำของหยกที่ปีนรั้วโรงเรียน 3 วัน มี ส.ส.ของก้าวไกลเข้ามาร่วมหาทางออกกับทางโรงเรียน แต่ไม่ออกมาให้ข่าวใดๆ เงียบหายไประยะหนึ่ง ก่อนออกมาโพสต์ว่า หาทางออกร่วมกัน เพื่อให้นักเรียนและเยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา เนื้อหาไม่มีความชัดเจนในเรื่องแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ตอนนี้ทางโรงเรียนยอมให้หยกเข้าไปเรียนได้ แต่ไม่ชัดเจนถึงสถานะของหยกว่ายังคงสภาพเป็นนักเรียนของเตรียมฯ พัฒน์หรือไม่

ช่วงนั้นกลุ่มที่หนุนหยก อย่างกลุ่มทะลุวัง ได้ออกมาโพสต์ตำหนิพรรคก้าวไกลหลายครั้ง แต่เลือกใช้ถ้อยคำที่ไม่ดุเดือด ต่างไปจากการตอบโต้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอื่นๆ

กลุ่มทะลุวังเป็นกลุ่มที่แยกออกมาเคลื่อนไหวช่วงปลายๆ ของการชุมนุม กลุ่มเยาวชนปลดแอกเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาชุมนุม และมีกลุ่มอื่นๆ จนรวมตัวกันเป็นกลุ่มราษฎร และแยกตัวออกมาของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

กลุ่มแรกๆ มีน้ำหนักที่แกนนำพรรคก้าวไกลต้องฟังมากกว่า #มีกรณ์ไม่มีกู ส่งผลให้พรรคก้าวไกลต้องถอนตัวจากที่เจรจากับพรรคชาติพัฒนากล้าภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

แน่นอนว่าต่างจากกรณีของหยกเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรณีหยกนั้นเกิดกระแสตีกลับเป็นวงกว้าง ซึ่งทางพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับกระแสโซเชียลเป็นลำดับแรก 

ชุดขาวพรึบ!!

เส้นทางของพรรคก้าวไกลที่กำลังเดินเข้าสู่อำนาจในการบริหารตามขั้นตอนต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับแนวทางในการหาเสียงของพรรคก้าวไกล สร้างความไม่สบายใจให้บรรดาด้อมส้มอยู่ไม่น้อย เริ่มจากรัฐพิธีเปิดประชุมสภาเมื่อ 3 กรกฎาคม 2566 ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งแต่งกายชุดขาวเข้าร่วมพิธี

จุดนี้ทำให้หลายฝ่ายโยงไปถึงกรณีของหยกที่ต่อต้านเครื่องแบบ ขณะที่พรรคก้าวไกลที่มีนโยบายยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน ต่างแต่งชุดขาวกันพร้อมเพรียง จุดนี้ด้อมส้มเงียบกริบไม่มีการโพสต์ใดๆ เว้นแต่ฝ่ายที่ไม่เลือกก้าวไกลนำเอาไปขยายผล

อาจมีเพียงเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ออกมาโพสต์ว่าด้วยรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ไม่เคยมีธรรมเนียมว่าผู้แทนปวงชนจะต้องร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภามาก่อน ทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะเป็นการ “ประจบเจ้า” ออกหน้าออกตาจนเกินงาม ไม่มีความสง่าสมกับความเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติที่ประชาชนเลือกมา


อานนท์เริ่มติงก้าวไกล

จากนั้นนายอานนท์ นำภา แกนนำที่เคลื่อนไหวสนับสนุนแนวทางของพรรคก้าวไกล โพสต์เมื่อ 6 กรกฎาคม 2566 ว่า เหตุผลที่คนยังเชียร์พรรคก้าวไกลอยู่เพราะเชื่อว่าพรรคจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอกฎหมายที่มีความแหลมคมต่อยุคสมัย

ถ้าพรรคหันหลังให้สิ่งที่ให้คำมั่นไว้ก่อนเลือกตั้ง ลดเพดานเพียงเพื่อให้ได้เป็นนายกฯ ผมเชื่อว่าทุกคนจะหันหลังให้ แต่ถ้าพรรคก้าวไกลยังยืนหลังตรง คนนอกสภาก็ถึงไหนถึงกัน

ในวันเดียวกัน ทนายอานนท์ ยังโพสต์อีกว่า มีอยู่ 3 เรื่อง ที่ผมเป็นห่วงมากตอนนี้

1.ฝ่ายก้าวไกลที่ก่นด่าเพื่อไทยแบบไม่เผาผี ฝ่ายก้าวไกลต้องยอมรับความจริงด้วยว่า นโยบายทุกเรื่องที่เราเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่จับมือกับเพื่อไทย จริงอยู่ว่าในพรรคเพื่อไทยนั้นหลากหลาย มีนักการเมืองและผู้สนับสนุนที่ยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ผมไม่อยากให้ให้แสงกับคนเหล่านั้น แต่อยากให้มองไปที่เพื่อนเรา พี่น้องเราในพรรคที่อยากเปลี่ยนแปลงซึ่งมีไม่น้อย และเหล่านั้นพร้อมที่จะหนุนเสริมนโยบายก้าวไกลให้สำเร็จ ฝ่ายก้าวไกลต้องถนอมมิตรให้มากกว่านี้ ถ้าอยากให้งานใหญ่สำเร็จ

2.ฝ่ายเพื่อไทยที่กำลังเมาหมัด จนจวนเจียนจะทำลายการต่อสู้และนโยบายของก้าวไกล ผมเริ่มเห็นท่าทีของฝ่ายเพื่อไทยหลายคนที่กำลังขยับ กำลังจะทำลาย หรือแช่งให้นโยบายก้าวไกลทำไม่สำเร็จ ทั้งที่นโยบายเหล่านั้นคือสิ่งที่ตัวเองก็อยากได้ และเคยต่อสู้มาก่อน แต่กลับไม่อยากให้มันสำเร็จโดยฝีมือพรรคก้าวไกล ผมเห็นว่าฝ่ายเพื่อไทยควรทำใจให้ใหญ่ๆ นิ่งๆ แล้วทั้ง 2 พรรคจะชนะร่วมกัน จะได้ในสิ่งที่ทั้ง 2 พรรคอยากได้อย่างสมบูรณ์

3.ต้องพยายามอย่าผลักให้สังคมที่ขัดแย้งไปสู่เวทีความรุนแรง ความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยมันมีแน่ แต่สังคมต้องเปลี่ยนผ่านไปพร้อมกันโดยสันติ เราไม่อาจมีบาดแผลทางประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานต้องรำลึกไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว

ขั้นตอนต่อไปคือเลือกนายกรัฐมนตรี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะสมหวังกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยหรือไม่ เสียงของ ส.ว.จะเป็นตัวพิสูจน์ รวมไปถึงความอดทนของพรรคเพื่อไทยที่มัดกันมาหลังเลือกตั้งว่าจะทนกันได้แค่ไหน ขนาดระดับพรรคยังชิงไหวชิงพริบกันทุกมิติ ระดับกองเชียร์ยิ่งไม่ต้องพูด ฟัดกันนัวทุกวันทุกช่องทางบนโลกออนไลน์ คำตอบคือพรรคเพื่อไทยจะแบกก้าวไกลไปอีกนานแค่ไหน?

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH




กำลังโหลดความคิดเห็น