“พล.ท.นันทเดช” เผยกลุ่มเรียกร้อง “แยกล้านนา” กลุ่มเดียวกับที่หาเสียงให้พรรคก้าวไกล วงในชี้เอี่ยวอดีตเสื้อแดงที่เคยปักธง สปป.ล้านนา เมื่อปี 57 ฟันธงแค่อีเวนต์ สร้างกระแส แต่ไร้เสียงตอบรับจากคนเชียงใหม่ ห่วงอนาคตอาจบานปลาย ด้าน “รศ.ธีระ” ระบุ อธิการบดีประกาศห้ามจัดเสวนาแห่ไม้ก้ำประชาธิปไตยในรั้ว มช. พบย้ายไปจัดที่โรงแรม ขณะที่ “เครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบัน” จับตาหากเข้าข่ายแบ่งแยกดินแดน ยุยงปลุกปั่น เตรียมแจ้งความดำเนินคดี
สร้างความกังวลใจให้ประชาชนคนไทยและฝ่ายความมั่นคงไม่น้อยทีเดียวสำหรับการจัดงาน เสวนาวาระรัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ "แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดหมายกระจายอำนาจ" ซึ่งเดิมจะจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 23 มิ.ย.2566 ตามด้วยกิจกรรมของ คณะก่อการล้านนาใหม่-NEO LANNA ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย.2566 โดยจะเคลื่อนขบวนจากเจ้าศรีวิชัยไปพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อเรียกร้องให้ “ปลดแอกจังหวัดเชียงใหม่ออกจากสยาม” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือหนึ่งในความพยายามแบ่งแยกดินแดน!
ส่วนว่าขบวนการดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร ใครชักใยอยู่เบื้องหลัง และความมุ่งหมายดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
แหล่งข่าวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนล้านนาออกจากประเทศไทยในปัจจุบันคือเครือข่ายกลุ่มเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557 โดยช่วงนั้นมีการขึ้นธงที่มีข้อความว่า “สปป.ล้านนา” ที่สันกำแพง ซึ่งกลุ่มนี้เป็นเครือข่ายกลุ่มเสื้อแดงเก่าที่แยกออกมาตั้งกลุ่มของตัวเอง ยกตัวอย่าง กลุ่มเสื้อแดงสถานีรถไฟกับกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เคยอยู่ด้วยกัน ซึ่งแกนนำในยุคนั้นปัจจุบันบางคนได้ดิบได้ดี บางคนไปเป็นนักการเมือง เช่น นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้เป็น ส.ส.พรรคเพื่อชาติ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อีกทั้งสามารถปลดหนี้ได้ ขณะที่บางคนมาเป็นฐานเสียงให้พรรคก้าวไกล
อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองในเชียงใหม่นั้นไม่ถึงขั้นต้องการแบ่งแยกดินแดนจริงๆ เหมือนการเคลื่อนไหวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ การชูธงล้านนาเมื่อปี 2557 เป็นเพียงการจุดประเด็นเพื่อสร้างกระแสให้คนสนใจโดยรู้อยู่แล้วว่าประเด็นนี้ไม่มีเสียงตอบรับจากคนเชียงใหม่ ส่วนคนที่มาเคลื่อนไหวเรื่องแยกล้านนากับกลุ่มที่หนุนก้าวไกลไม่ใช่มวลชนกลุ่มใหม่แต่อย่างใด เพราะเสื้อแดงกับเสื้อส้มมาจากกลุ่มเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่สาเหตุที่พรรคก้าวไกลกวาดที่นั่งในเชียงใหม่ได้มากกว่าเพื่อไทย เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า สำหรับการเสวนา “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย” ซึ่งเดิมจะจัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น เป็นกิจกรรมที่นำโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งนักวิชาการกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพของล้านนามานานแล้ว โดยไม่ได้มองเรื่องการแบ่งแยกดินแดน แต่มองว่าเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำเนื่องจากบุคคลเหล่านี้เป็นนักวิชาการที่มีจุดยืนว่าไม่เอาอำมาตย์ มองเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวจังหวัดจัดการตนเอง แต่หากมองจากฝ่ายความมั่นคงจะมองว่านักวิชาการเหล่านี้เป็นนักวิชาการกบฏ
“คำว่าแยกล้านนาที่ใช้กันอยู่ทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้นเป็นแค่วาทกรรม แค่การสร้างอีเวนต์ เพื่อให้เกิดความสนใจ แต่ปัจจัยที่จะทำให้ไปถึงจุดนั้นมันไม่มี เพราะสังคมคนเหนือไม่มีความขัดแย้งเหมือน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถ้าถามว่าจะผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนเชียงใหม่เอาไหม ก็เอา แต่จะแยกดินแดนไหม บอกเลยว่าไม่ คือถ้ามีการแจกเอกสารลงประชามติว่าจะแยกดินแดนหรือไม่ คนเชียงใหม่ก็ไม่รับ แม้กระทั่งปี 2557 ซึ่งมีการเคลื่อนไหวอย่างหนัก มีแนวคิดให้เชียงใหม่เป็นรัฐอิสระ และปักธง สปป.ล้านนา ก็ยังไม่มีกระแสตอบรับอะไรเลย แต่ในอนาคตถ้าปัจจัยการเมืองในประเทศเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น การเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเคลื่อนไหวอุณหภูมิมันก็จะเปลี่ยน ส่วนการให้ร้ายสถาบันมีมาตั้งแต่ยุคเสื้อแดงแล้ว และต่อเนื่องมาถึงยุคก้าวไกลซึ่งมีแนวคิดไม่เอาสถาบัน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพรรคก้าวไกลปลูกฝังแนวคิดไม่เอาสถาบันให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันเยาวชนในภาคเหนือมีแนวคิดไปในทางนี้เยอะมาก” แหล่งข่าว ระบุ
ด้าน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่า งานเสวนาแห่ไม้ก้ำประชาธิปไตยมีการนำชาวเขาลงมาร่วมเคลื่อนไหว เพื่อให้สอดคล้องกับงานเสวนาแบ่งแยกดินแดนปาตานีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ยอมให้มีการจัดงานดังกล่าว ขณะที่นายธนาธร เลือกไปเป็นวิทยากรในการเสวนาวันที่ 23 มิ.ย.เท่านั้น เพื่อที่จะได้อ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับคณะก่อการล้านนาใหม่ที่เรียกร้องให้ปลดแอกจังหวัดเชียงใหม่ออกประเทศไทย ทั้งที่จริงๆ แล้วกลุ่มนี้คือกลุ่มที่หาเสียงให้พรรคก้าวไกล
และหากดูจากรายชื่อผู้ร่วมเสวนาแห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย จะพบชื่อ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักเคลื่อนไหวที่มีความสนิทสนมชนิดเป็นเนื้อเดียวกับพรรคก้าวไกล ขณะที่เพจ “คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA” ซึ่งเป็นสื่อหลักในการประชาสัมพันธ์งานเสวนาแห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย และเป็นผู้จัดกิจกรรมเคลื่อนขบวนในเมืองเชียงใหม่เพื่อเรียกร้องให้ “ปลดแอกจังหวัดเชียงใหม่ออกจากสยาม” นำเสนอกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลอย่างต่อเนื่อง วันครบรอบ 100 วัน การเสียชีวิตของ นายติรานนท์ เวียงธรรม หรือทนายเคน อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.แพร่ จากอุบัติเหตุชนแล้วหนี คลิปบรรยากาศการการพบปะเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของเครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบัน (ภาคเหนือ) ที่คัดค้านการจัดงานเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ "แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดหมายกระจายอำนาจ" สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากส่งผลให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตัดสินใจยกเลิกการจัดเสวนาดังกล่าว และส่งผลให้ผู้จัดงานต้องย้ายไปจัดที่โรงแรมไอบิส จ.เชียงใหม่ แทน
รศ.ธีระ วิสิทธิ์พานิช ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบัน (ภาคเหนือ) และอดีตคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากที่ทางเครือข่ายคนไทยรักสถาบันฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแสดงความห่วงใยกรณีการจัดงานเสวนา "แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย" นั้น เราได้เสนอว่าหากจะจัดเสวนาควรเป็นลักษณะของการดีเบต 2 ฝ่าย เพื่อให้มีการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้านและมีความเป็นกลาง อย่างไรก็ดี สุดท้ายทางอธิการบดีสรุปว่าไม่อนุญาตให้จัดงานเสวนาดังกล่าวในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว
โดยทราบว่าล่าสุดทางผู้จัดงานแห่ไม้ก้ำประชาธิปไตยได้ย้ายไปจัดที่โรงแรมไอบิส ในวันและเวลาเดิม คือ วันที่ 23 มิ.ย.2566 เวลา 12.30-17.00 น. ส่วนคณะก่อการล้านนาใหม่-NEO LANNA ซึ่งจะจัดกิจกรรมในวันที่ 24 มิ.ย.2566 โดยเคลื่อนขบวนจากเจ้าศรีวิชัย ไปพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อเรียกร้องให้ “ปลดแอกจังหวัดเชียงใหม่ออกจากสยาม” คือประเทศไทย ยังคงจัดกิจกรรมเช่นเดิม
ทั้งนี้ ล่าสุด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งมีรายชื่อเป็นผู้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อภาพรวมการกระจายอำนาจ ได้แจ้งว่าไม่สามารถไปร่วมเสวนาในงานแห่ไม้ก้ำประชาธิปไตยได้ เนื่องจากต้องไปขึ้นศาลในฐานะจำเลยในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์จากการไลฟ์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "วัคซีนพระราชทาน ใครได้-ใครเสีย" ในวันที่ 23 มิ.ย.2566 ทางด้านผู้จัดงานจึงเชิญ อ.ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เป็นผู้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อดังกล่าวแทน
รศ.ธีระ กล่าวต่อว่า ตนและคณะจะไปร่วมรับฟังการงานเสวนา "แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย" ในวันที่ 23 มิ.ย.ด้วย อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นด้วยกับการเสวนาฝ่ายเดียว ซึ่งไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเสวนาเชิงวิชาการ เพราะถ้าหากเป็นเชิงวิชาการจะต้องมีวิทยากรที่มีความเห็นรอบด้าน ต้องมีวิทยากรทั้ง 2 ฝั่ง การพูดฝั่งเดียวไม่ต่างจากการยัดเยียดข้อมูลตามความเชื่อของผู้พูดเพียงฝั่งเดียว โดยเฉพาะประเด็นที่พยายามจะแบ่งแยกภาคเหนืออกจากประเทศไทย ซึ่งเราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะประเทศไทยสงบสุขมานานเป็นพันปี
“สมัยก่อนมันมีการเคลื่อนไหวเรื่องแบ่งแยกล้านนาบ้างประปรายแต่ไม่ชัด แต่ช่วง 2-3 ปีมานี้ชัดเจนมาก พูดกันแบบตรงไปตรงมาไม่พูดอ้อมๆ เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเราเป็นห่วงว่าหากเยาวชนนิสิตนักศึกษาฟังความด้านเดียวจะโน้มเอียงได้ และไม่แน่ว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจต่อเนื่องมาจากการเสวนา และลงประชามติแบ่งแยกดินแดนปาตานี ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดปัตตานีก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งหากการเสวนามีการชี้นำให้แบ่งแยกดินแดน อันเข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 เรื่องแบ่งแยกดินแดน หรือเข้าข่ายความผิดอาญา มาตรา 113 เรื่องยุยงปลุกปั่นให้แบ่งแยกดินแดน เราจะแจ้งความดำเนินคดีไปตามขั้นตอนกฎหมาย” รศ.ธีระ กล่าว