“หยก” เจอกระแสตีกลับคนในสังคมพร้อมใจสวดพฤติกรรมไม่เหมาะสม หม่อมปลื้มสายประชาธิปไตย ตั้งคำถามเราจะสอนให้เด็กรุ่นต่อไปไม่เคารพกฎไปเรื่อยๆ หรือ? พอกันทีเก็บแต้มให้ท้ายเด็ก อี้-แทนคุณ ชี้กรณีหยกผลผลิตลัทธิคลั่งเสรีภาพของพรรคการเมืองหนึ่ง คนวงในห่วงยุคนี้โหดสุดๆ ปั้น Hero เสี่ยงคุกแทนเตือนหมดประโยชน์ถูกทิ้ง
เรื่องราวของ หยก ผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหลังเธอปีนรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเพื่อต้องการเข้าไปเรียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2566 ในโพสต์ของเธอระบุว่า โรงเรียนบอกว่าไล่เราออกแล้ว บอกว่าให้เราจำไว้ว่าต่อไปนี้เราคือบุคคลภายนอก
วันนี้เราถูกเรียกเข้าไปคุยหลังจากเข้าคาบเรียน ครูบอกขอคุยแต่เราขอเรียนก่อน พอเลิกเรียนเราก็ไป ครูผู้ชายว่าเราว่าไปทำอะไรมา ทำไมถึงโดนตาม ทำไมเราถึงไม่ปลอดภัย เราขอให้โทร.หาผู้ปกครองเรา เรากดอัดเสียงเพราะเราอยากจะแจ้งผู้ปกครองเราว่าครูทำอะไร ครูถามว่าเราไลฟ์เหรอ เราบอกว่าไม่ใช่ แต่เราบอกไปตรงๆ ว่าเราอัดเสียง
เรารู้สึกอึดอัด รู้สึกไม่ไหวเลยขอออก แต่ครูเขาก็ห้าม เขานั่งขวางทุกทางเราเลยหาทางออกแต่ไม่มีทางให้ออก ข้างหลังเป็นหน้าต่าง ข้างหน้ามีโต๊ะเราเลยเลือกที่จะคลานมุดโต๊ะออกไป
จากนั้นหยกได้โพสต์คลิปช่วงที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ในที่สุดเธอจึงปีนรั้วโรงเรียนเข้าไป
ปกติการเคลื่อนไหวของหยกมักจะมีแรงเชียร์จากกองเชียร์สายสีส้มอยู่เสมอ ครั้งนี้ถือว่าแปลกมากที่กระแสตีกลับ เสียงเชียร์หายไปกลายเป็นเสียงตำหนิเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ เดิมเราอาจได้เห็น #saveหยก แต่ครั้งนี้กลายเป็น #saveเตรียมพัฒน์
โรงเรียนผ่อนปรนสุดๆ
ทั้งนี้ ทางโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการได้ชี้แจงว่า น.ส.ธนลภย์ ผลัญชัย สำเร็จการศึกษาชั้น ม.3 ปีการศึกษา 2565 เมื่อ 1 เมษายน 2566 มารดาของน้องหยก มาบันทึกขอเลื่อนการมอบตัวเพื่อศึกษาต่อระดับชั้น ม.4 จากนั้น 19 พฤษภาคม 2566 โรงเรียนได้รับรายงานตัว น.ส.ธนลภย์ ไว้ก่อนเพื่อรักษาสิทธิในการศึกษาต่อ
โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนเข้าเรียนก่อน และเน้นย้ำให้นำผู้ปกครอง (มารดา) มามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ภายในวันที่ 10 มิ.ย.2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนจะต้องยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบ DMC ของกระทรวงศึกษาธิการ
แต่นักเรียนไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบ จึงไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในปีการศึกษา 2566
น.ส.ธนลภย์ เข้าเรียนในวันที่ 22 พ.ค.2566 โรงเรียนได้ชี้แจงให้รับทราบระเบียบแนวปฏิบัติตามคู่มือนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านการประชาพิจารณ์โดยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และนักเรียนทุกคนได้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ แต่น้องหยก ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เช่น ไม่แต่งกายชุดนักเรียน การทำสีผม การมาเรียนตามเวลา/รายวิชาตามความพอใจของนักเรียน รวมทั้งขอไม่เข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการไม่ยอมรับกฎระเบียบและไม่เข้าสู่กระบวนการของโรงเรียน
หม่อมปลื้ม-ไม่ปลื้ม
เรื่องราวของหยก ถูกผู้คนในสังคมหยิบยกขึ้นมาโพสต์เพื่อเตือนสติจากผู้มีชื่อเสียงหลายคน หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือหม่อมปลื้ม ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดัง โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว
เราจะสอนให้เด็กรุ่นต่อไปไม่เคารพกฎไปเรื่อยๆ หรือ? อย่างนี้ถ้าอนาคตมีคนไม่พอใจ จะเปลี่ยนกฎอะไรก็ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎนั้นเลยง่ายๆ ทั้งที่โดยส่วนรวมผู้อื่นยังยินดีปฏิบัติตามกฎนั้นอยู่? มันเเฟร์ต่อผู้อื่นซึ่งร่วมศึกษาในสถาบันนั้นไหม?
คนส่วนใหญ่มีเหตุผลและเคารพกติกา โรงเรียนไม่ต้องกังวลกับนักการเมือง หรือสื่อ หรือพิธีกร หรือเอ็นจีโอที่เก็บแต้มเข้าตนเองด้วยการให้ท้ายเด็กหรอกครับ ทำในสิ่งที่เหมาะสม แล้วสังคมจะเห็นเองว่าใครผิดใครถูก การทำสีผมหรือเเต่งตัวอะไรยังไงก็ได้ไม่ใช่สิทธิ ไม่เคยเป็นสิทธิ มันแค่เป็นสิ่งที่คุณอยากทำตามอำเภอใจเท่านั้น รณรงค์ให้เด็กปฏิบัติตามกฎระเบียบสถานศึกษาจะดีกว่า ไม่ใช่วันๆ เอาเเต่ให้ท้ายนักเรียนเพื่อให้ตนเองดูเหมือนเป็นคนที่เชียร์เรื่องสิทธิเสรีภาพ
การปฏิบัติตามกฎที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสวัสดิภาพของนักเรียนคือการฝึกการควบคุมตนเอง เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมาก อีกครั้ง : ถ้ารักรุ่นต่อไปจริงจริง ไม่ใช่รักเพื่อให้ตนเอง ดูเหมือนว่าเป็นฮีโร่ของฝ่ายประชาธิปไตย ก็ควรที่จะสอนให้เขาปฏิบัติตามกฎ ส่วนใครอยากให้ท้ายเด็กไปเรื่อยๆ ก็เชิญ ... แล้ววันหนึ่งก็จะเข้าใจเองว่า ผลต่อตัวเด็กผู้นั้น และผลต่อสังคมจะเป็นเช่นไร
ต้นทาง : ลัทธิคลั่งเสรีภาพ
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า กรณี น.ส.หยก เกิดจากสาเหตุจากการเสพข่าวและรับสารทางการเมืองของลัทธิคลั่งเสรีภาพแบบก้าวร้าวสุดโต่งของพรรคการเมืองหนึ่งที่มองทุกอย่างในสังคมไทยในแง่ลบแง่ร้าย ซึ่งเกิดจากการป้อนข้อมูลและทัศนคติทางการเมืองแบบต่อต้านผ่านกลไกการสื่อสารทั้งทางโซเชียลมีเดีย การทำกิจกรรมกลุ่ม การคบคุ้นกับรวมกลุ่มเพื่อนที่มีทัศนคติโน้มเอียงแบบต่อต้านสังคม
ทั้งนี้ แม้ในมุมมองของสังคมจะมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง มีลักษณะเป็นไปในเชิงลบ แต่สำหรับตัวเยาวชนคนดังกล่าวและกลุ่มเพื่อนที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเพื่อนที่มีทัศนคติไปในทางเดียวกัน กลับทำให้เกิดการเสริมแรงทางบวก (Positive reinforcement) กล่าวคือ กลายเป็นความเท่ ตื่นเต้น ท้าทาย ห้าวหาญที่สามารถเอาชนะระบบ ระเบียบ และกลไกทางสังคมที่ตนและพวกต่อต้านจนได้รับการยอมรับ ในความรู้สึกของพวกเขาคือการชดเชยส่วนที่ขาดหายไปจากครอบครัวหรือเพื่อนที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและอยู่ในความปกติของสังคม
การเสริมแรงทางบวกในมุมกลับ ทำให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคมที่เข้มข้นขึ้น และมีการขยายผลจากเครือข่ายที่มีลัทธิคลั่งเสรีภาพแบบก้าวร้าว ผ่านกลไกของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งป้อนความคิดเหล่านี้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบและทำอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ จะยิ่งทำลายคุณค่าและอัตลักษณ์แบบประนีประนอมของเยาวชนไทยในระยะยาว เพราะยิ่งสังคมให้ความสนใจมากเท่าไร ยิ่งมีเหยื่อที่เกิดจากการอบรมเลี้ยงดูที่ขาดพร่อง ไปเสพติดการให้คุณค่าทางสังคมแบบก้าวร้าว เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองและเพื่อนที่อยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อนทางความคิดใช้เป็นหลักดำเนินชีวิต มีแต่จะทำให้ตัวเองติดบ่วงความรุนแรงไปเรื่อยๆ
“หยก” กระแสตีกลับ
แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีของหยก น่าจะเป็นครั้งแรกที่แนวร่วมสายสีส้มเมื่อสร้างวีรกรรมแล้วเกิดกระแสตีกลับ ปกติมักจะมีระดับตัว Top ของสีส้มเข้ามาอวยเสมอ เพื่อดึงให้สมาชิกส้มรายอื่นๆ เข้ามาร่วมชื่นชม แต่รอบนี้ไม่มี และเริ่มมีสายสีส้มบางคนหันไปเลือกข้างโรงเรียนแทน
วันรุ่งขึ้นเริ่มมีแกนนำอย่างนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล โพสต์ #saveหยก แต่ยังไม่สามารถพลิกสถานการณ์ให้หยกกลับมาได้รับการยกย่องเหมือนก่อนได้
กระแสไม่เห็นด้วยกับหยกเยอะมาก เบอร์ใหญ่ๆ ของสีส้มเลยไม่กล้าบุกตะลุยเหมือนก่อน แค่โพสต์ติดไว้ว่าเป็นห่วง ตอนนี้เลยเกิดข้อสังเกตว่า “หยก” อาจถูกทิ้งหรือไม่ แต่เชื่อว่าต้นทางคงไม่ทิ้งหยก พูดตรงๆ “หยก” ยังเป็นสินค้าที่ขายได้ ทำงานให้กับต้นทางได้อยู่ เป็นที่รู้จักในตลาด มี Story และจุดขายในตัว
ตอนนี้เริ่มมีกลุ่มทะลุวังเข้าไปดูแล ที่ผ่านมาหยกมาสายเดียวกับทะลุวัง ระยะนี้เราได้เห็นหยกไปโรงเรียนพร้อมด้วยกลุ่มทะลุวังที่เข้าไปทั้งพูดคุยต่อรอง ถ่ายภาพ ถ่ายคลิป ทำ Content
จากอนาคตใหม่ถึงก้าวไกล
เมื่อนักการเมืองและพรรคการเมืองถูกออกแบบมาให้เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง โจทย์ใหญ่ที่สุดคือทำอย่างไรจึงจะขายได้มาก โมเดลศิลปินเกาหลีถูกนำมาปรับใช้ ปรับลุคนักการเมืองเป็นศิลปินดารา สร้างแฟนคลับคนรุ่นใหม่ นโยบายและภาพลักษณ์ต่างๆ ต้องทันสมัย สื่อสารด้วยเครื่องมือที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
เมื่อสามารถครองใจฐานเสียงคนรุ่นใหม่ได้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเป็นการสร้างหัวคะแนนธรรมชาติ แฟนคลับจะทุ่มสุดใจเพื่อให้ศิลปินในดวงใจ (นักการเมือง) ประสบความสำเร็จ พร้อมเสียสละเวลาทำกราฟิกต่างๆ ช่วยคนที่ตัวเองชื่นชอบ
เขาปั้นมาตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ ชูธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้นมา จนได้ ส.ส.ราว 80 คนในสมัยแรก รอบนี้มีทั้งกลยุทธ์ใหม่ พระเอกใหม่ บวกด้วยอาการเบื่อลุง จึงโยกมาที่ก้าวไกลจนได้ ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่ง
เขาใช้แฟนคลับเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมปกป้องหากถูกโจมตี พร้อมชื่นชมถ้าทำแล้วถูกใจ วิธีนี้ถ้านักการเมืองที่พวกเขาชอบทำผิดหรือทำในสิ่งไม่ถูกต้อง แฟนคลับก็พร้อมมองไม่เห็น ให้อภัย พยายามสุดกำลังส่งคนที่ชอบให้บรรลุเป้าหมาย
นี่คือการลงทุนที่ต่ำแต่ได้ผลตอบแทนสูง สร้างเป้าหมายคือคำว่าประชาธิปไตย ปั้นแฟนคลับให้เป็น Hero เพื่อทำงานให้ฟรีๆ ด้วยการเข้าถึงจุดอ่อนของมนุษย์ที่ต้องการยอมรับ สร้างภาคภูมิใจ ชูสิทธิส่วนบุคคล และปลุกกระแสทันสมัย จ่ายค่าแรงก็แค่กด Like กด Share
ปั้น Hero-ใช้ Hero
ในโลกออนไลน์หลายคนต่างพยายามสร้างตัวตนขึ้นมาให้เป็นที่รู้จัก จนมีผู้ติดตาม (แฟนคลับ) เป็นจำนวนมาก โพสต์อะไรลงไปยิ่งมียอดกดไลก์กดแชร์กระจายออกไปมากก็ยิ่งสร้างความภาคภูมิใจว่าฉันไม่ต่างไปจากดาราคนหนึ่ง เป็น Celeb เป็น Influencer วีรกรรมของหยกถูกนำมาถ่ายทอดบนโลกออนไลน์จนเป็นที่รู้จักของคนในวงกว้าง
จุดขายของหยกคือเป็นผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 อายุน้อยที่สุด (ม.ต้นในขณะนั้น) มีกองเชียร์สนับสนุน มีสื่อติดตามทำข่าว เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ แม้ว่าการกระทำนั้นจะผิดต่อกฎหมาย ไม่ว่าหยกจะคิดเองทำเอง หรือมีผู้แนะนำให้ทำ แต่คนที่ได้รับโทษก็คือตัวหยกเอง บรรดากองเชียร์ไม่ได้รับโทษเหมือนเธอ
คาถา “ประชาธิปไตย” ที่ถูกอ้างถึงตลอดเวลานั้น ลองพิจารณาดูว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในเวลานี้คือประชาธิปไตยจริงหรือไม่ เราเป็นห่วงว่าผู้ใหญ่บางคน บางพรรคการเมืองจะใช้เด็กๆ เหล่านี้เป็นเครื่องมือเพื่อให้พรรคของเขาก้าวเข้าสู่อำนาจ ใครที่ถูกดำเนินคดีแรกๆ ก็อาจดูแล แต่จะดูแลได้ตลอดไปหรือไม่ และเมื่อวันใดที่เขาเข้าสู่อำนาจสำเร็จ เด็กๆ เหล่านี้จะมีประโยชน์กับเขาอีกหรือไม่
การหลงไปกับกระแส การถูกยกย่องเชิดชู พร้อมทำบางสิ่งแม้ขัดกับกฎหมาย มีกระบวนการปั้นสาวกให้เป็น Hero มันคือการทะลุเข้าถึงจิตวิทยาของมนุษย์ แล้วนำมันมาสร้างประโยชน์ให้คนที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เมื่อหมดประโยชน์แล้วก็ทิ้งไป ถือว่าโหดมาก
เขาใช้คุณจ่ายค่าแรงแค่คำยกย่อง แถมให้คนอื่นช่วยจ่ายอีก คุณไม่ได้ค่าแรง ทำให้ฟรี เพราะรัก เพราะชอบ เสียเงินเองก็ยอม เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางเองก็ยอม ลองกลับมานั่งทบทวนดีมั้ยว่าเป็น Hero แล้วได้อะไร ถ้าเป็น Hero แล้วต้องมีคดี ติดคุกเมื่อการเมืองเปลี่ยนผ่านไปแล้ว อนาคตคุณจะเป็นอย่างไร เขาหลอกใช้คุณ เมื่อเขาบรรลุเป้าหมายแล้ว เขาจะกลับลงมาเล่นในตลาดเดิมๆ ที่เสี่ยงต่อภาพลักษณ์ของเขาหรือพรรคเหรอ?
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j