ก้าวไกลเริ่มถอยนโยบายที่เดินหน้าต่อไม่ได้ ค่าแรงขั้นต่ำ 450 ผู้ประกอบการอาจรับไม่ไหว เบี้ยผู้สูงอายุทยอยจ่ายครบ 3,000 ปี 2570 แถมนโยบายเลือกผู้ว่าฯ ถูก “ปิยบุตร” ออกมาค้าน หลังแสดงอิทธิฤทธิ์ก้าวไกลต้องได้เก้าอี้ประธานสภาฯ เงินเดือนผู้ป่วยติดเตียง 1 หมื่นบาทเริ่มเงียบ ส่วนนโยบายเรียนฟรี อาหารฟรีจนจบ ป.ตรี ไอติม-พริษฐ์ แจงไม่มั่นใจมีงบประมาณพอ ไม่ต่างหลอกให้เลือก
"กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม" อีกหนึ่งข้อความที่ติดหูเชิญชวนให้คนไทยเลือกพรรคก้าวไกลเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 และผลที่ออกมาถือว่าเกินคาด ก้าวไกลได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งๆ ที่คอการเมืองคาดกันว่ารอบนี้คงเป็นเพื่อไทย
พรรคก้าวไกลไม่รอช้า เร่งจับมือกัน 8 พรรค เตรียมตัวเป็นรัฐบาลโดยผลักดันให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ติดตามการเมืองในช่วงที่ผ่านมาย่อมทราบดีว่าพรรคก้าวไกลนั้นชูแนวทางการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 มาโดยตลอด และมีม็อบ 3 นิ้วของคนรุ่นใหม่เคียงข้างกันมาตลอด
แต่การที่ต้องเป็นรัฐบาลผสม การผลักดันนโยบายใดของพรรคย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมอื่นๆ ด้วย ก้าวไกลก็เช่นกัน แม้จุดขายของพรรคคือเรื่อง ม.112 แต่พรรคร่วมอื่นๆ ไม่เอาด้วย เมื่อต้องการจะเป็นรัฐบาลต้องยอมตัดเรื่องนี้ออกจาก MOU แถมก่อนแถลง MOU ยังถูกบีบให้เพิ่มข้อความบาดใจแกนคณะก้าวหน้าอยู่ไม่น้อย
ข้อความที่เพิ่มเข้ามาคือ “ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”
ขอประธานสภาฯ ดัน 112
ร้อนถึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า จึงต้องออกมาโพสต์ว่าพรรคก้าวไกลต้องไม่เสียเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร จนกลายเป็นปมคาใจกับพรรคเพื่อไทย
การเพิ่มถ้อยคำนี้ลงไปใน MOU อาจจะไป “รัดคอ” พรรคก้าวไกลในภายหลังได้ เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ตามที่เคยเสนอไป และตามที่เคยแถลงเป็นนโยบาย) อาจจะถูก ส.ส. ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ นำมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญมาผสมผสานกับข้อความใน MOU ดังกล่าว มาขยายความตีความแบบพิสดาร เพื่อมัดไม่ให้พรรคก้าวไกลได้ใช้กลไกสภาแก้ไขมาตรา 112 ได้
ผมเห็นว่าพรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งนี้ให้พรรคใดๆ ไม่ได้
ปัญหามีอยู่ว่า พรรคก้าวไกลจะต้องถอยจนถึงเมื่อไร ต้องยินยอมถึงขนาดไหน เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและตั้งรัฐบาลได้ และไปต่อได้?
ผมเห็นว่า การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกลจะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ ส.ส.พรรคอื่น
“เจตนานี้สะท้อนถึงความต้องการมั่นใจในการเสนอกฎหมายสำคัญของพรรคก้าวไกล แน่นอนว่าจะต้องมี ม.112 ที่แม้จะไม่อยู่ใน MOU แต่พรรคก้าวไกลจะผลักดันด้วยเสียงของ ส.ส.ภายในพรรค” นักวิชาการด้านการเมืองกล่าว
ถอย “ค่าแรง-เบี้ยผู้สูงอายุ”
นักสังเกตการณ์ทางการเมืองตั้งข้อสังเกตว่า ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกพรรคการเมืองต้องพยายามสรรหานโยบายที่ล่อใจให้คนมาเลือกพรรคของตน บางนโยบายก็ก้ำกึ่งเสมือนเป็นสัญญาว่าจะให้ อย่างเงินดิจิทัลของเพื่อไทยก็ถูกร้อง แต่ กกต.ยกคำร้องก็แปลว่าไม่ผิด ถ้าเรามาพิจารณานโยบายของพรรคอันดับ 1 อย่างก้าวไกล ขณะนี้หลายนโยบายที่ใช้หาเสียงตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะทำไม่ได้
1 ใน 15 นโยบาย หัวข้อปากท้องดี ที่ถูกพูดถึงกันมากคือ ขึ้นค่าแรงทุกปี ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มต้นทันที 450 บาท ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเกินต้องได้ OT แม้นายพิธา จะเดินสายพบกับภาคธุรกิจต่างๆ แล้ว เกือบทุกฝ่ายต่างไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า ในฝั่งของนายจ้าง หรือผู้ประกอบการชัดเจนว่า จ่ายไม่ไหว ซึ่งอยากให้พรรคก้าวไกลพิจารณาผลกระทบ เพราะการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 354 บาทต่อวัน เป็น 450 บาทต่อวัน เท่ากับปรับขึ้นทันที 30% ทั้งประเทศ จะเกิดผลกระทบอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังเสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ออกกฎห้ามพรรคการเมืองนำเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้หาเสียง เพราะคนจ่ายค่าจ้างไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นเอกชน
อีกนโยบายหนึ่งที่เริ่มมีสัญญาณว่าน่าจะเป็นไปได้ยากคือ สวัสดิการลดเหลื่อมล้ำ สิทธิลาคลอด 180 วัน เงินเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน เงินผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อเดือน ระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ระบุว่าจะจัดเป็นเงินให้เดือนละ 1 หมื่นบาท
เรื่องเงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท ถือเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่ก้าวไกลได้ฐานผู้สูงวัยมาไม่น้อย จากเดิมที่คนอายุ 60 ปีได้เบี้ย 600 บาท ได้ตามลำดับ จนถึง 1,000 บาทเมื่ออายุ 90 ปี เพราะทุกคนทราบดีว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่เมื่อติดตามไปที่พรรคก้าวไกลพบว่าจะเป็นการทยอยขึ้นให้ จะได้ 3,000 บาท เมื่อปี 2570
เลือกผู้ว่าฯ-ปิยบุตรไม่เห็นด้วย
อีกนโยบายหนึ่ง หัวข้อการเมืองดีหนึ่งในนั้นคือ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ตำบลละ 20 ล้านต่อปี
นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์แสดงความเห็นเมื่อ 2 มิถุนายน 2566 ว่า “เลือกตั้งผู้ว่าฯ” ไม่ใช่ “ยาวิเศษ”
ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลนำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะก้าวหน้า พบกับ 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจ อีกไม่ช้าไม่นาน รัฐบาลก้าวไกลคงเร่งดำเนินนโยบายเกี่ยวกับกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น
ผมสนับสนุนเรื่องนี้ แต่มีประเด็นสำคัญที่ผมไม่เห็นด้วย นั่นคือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ
ในช่วงเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองชูนโยบาย “เลือกตั้งผู้ว่าฯ” พรรคก้าวไกลประกาศให้ทำพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ พรรคเพื่อไทยเสนอให้ทยอยทำตามความพร้อม
ผมเห็นว่าปัญหาการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นในประเทศไทย ณ วันนี้มิใช่เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเรามีองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดอยู่แล้ว และมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้บริหารสูงสุดอยู่แล้ว
แต่ปัญหาที่แท้จริงของเรา คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วไม่มีอำนาจหน้าที่เพียงพอ ไม่มีงบประมาณเพียงพอ ถูกราชการส่วนกลางและภูมิภาคแทรกแซงบ่อย และมีกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะซ้ำซ้อนกันระหว่างส่วนกลาง/ภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
“ปลดล็อกท้องถิ่น” อย่างแท้จริงคือ การเอางาน เงิน คน ไปให้ท้องถิ่น การจัดการอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น มิใช่วนเวียนอยู่กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ
ฝันค้างเรียนฟรีถึง ป.ตรี
อีกนโยบายหนึ่งที่ผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกลลงพื้นที่หาเสียง ชูนโยบายเรียนฟรี อาหารฟรีจนจบปริญญาตรี ซึ่งนโยบายนี้โดนใจกลุ่มที่เป็นผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เพียงแต่ไม่นำมาบรรจุไว้ในนโยบายหลักของพรรคก้าวไกล
แต่หลังจากที่ทราบผลการเลือกตั้งและก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการสื่อสาร พรรคก้าวไกล ได้ออกมากล่าวว่า ด้วยนโยบายสวัสดิการของพรรคก้าวไกลที่เสนอไป ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการเด็กเล็ก สวัสดิการผู้สูงวัย เรายังไม่มั่นใจว่าจะมีงบประมาณเพียงพอในการทำให้เรียนฟรี ป.ตรี เกิดขึ้นได้จริงภายใน 4 ปี หรือภายในสมัยแรกนะครับ
สอดคล้องกับนายเพชร กรุณพล ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลที่โพสต์ว่า เป้าหมายของพรรคก้าวไกลคือให้ ป.ตรี เรียนฟรี แต่เราไม่สามารถหางบประมาณมาทำให้เป็นจริงได้ใน 4 ปีนี้ เราจึงไม่เขียนไว้ในนโยบายของเราและไม่เคยพูดที่ไหนว่าเราจะทำใน 4 ปีนี้ แต่เราจะพยายามอย่างถึงที่สุดให้การเรียน ป.ตรี ฟรี เกิดขึ้นให้ได้เพื่อนักเรียนและผู้ปกครองทุกคน
จนมีผู้ออกมาเขียนตอบข้อความดังกล่าวว่า “แล้วคือที่หาเสียงไว้นี่คือ พูดๆ ไปก่อนทำได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งอย่างนี้เหรอ”
ไม่ตรงปกต้องรอเลือกใหม่
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงเรื่องนโยบายไม่ตรงปกของพรรคการเมืองในช่วงที่มีการหาเสียงกับแนวทางหลังเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อถึงเวลาหลายนโยบายก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลผสมการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ต้องตกผลึกร่วมกัน แม้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจเต็มก็ไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง
การตรวจสอบสามารถทำได้จากทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม รวมไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน ตรงนี้จึงอยู่ที่ประชาชนที่เลือกนักการเมืองเข้ามาว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเลือกพรรคเหล่านี้กลับเข้ามาอีกหรือไม่
ทำไม่ได้เพราะรัฐบาลผสม
อดีตนักการเมืองกล่าวว่า การเมืองไทยส่วนใหญ่มักเป็นรัฐบาลผสม ดังนั้น นโยบายที่ใช้ช่วงหาเสียงของแต่ละพรรคจึงถูกผลักดันให้ออกมาเป็นรูปธรรมไม่ได้ทุกนโยบาย ขึ้นอยู่กับการต่อรองกับพรรคร่วมด้วยกัน อย่างก้าวไกลตอนนี้อยู่ในสภาพเดียวกัน บางนโยบายเริ่มมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น เรื่องค่าแรง 450 บาท ตัวนโยบายได้เรื่องคะแนนเสียง แต่ปฏิบัติยาก คนจ่ายคือนายจ้าง และจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตเหมือนเมื่อครั้งที่ปรับค่าแรงเป็น 300 บาท เสี่ยงต่อการย้ายฐานผลิตของทุนต่างชาติ
เช่นเดียวกับเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท ได้คำตอบว่าเป็นการทยอยจ่าย และจะครบ 3,000 บาทในปี 2570 อีกหลายนโยบายยังคงถูกตั้งคำถาม เช่น เงินเดือนผู้ป่วยติดเตียงเดือนละ 1 หมื่นบาท เรียนฟรีอาหารฟรีจนจบ ป.ตรี ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่คงต้องรอให้พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลเสียก่อน
ขนาดเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ก้าวไกลเขียนเป็นนโยบายของพรรค เลือกตั้งเสร็จเป็นเบอร์ 1 อาจารย์ปิยบุตร ยังแสดงความไม่เห็นด้วยเลย หรืออย่างการแก้ไขมาตรา 112 แม้ถูกสกัดจากพรรคร่วมในขั้นตอน MOU ก้าวไกลเกรงจะเสียฐานมวลชน เลยต้องผลักดันด้วย ส.ส.ภายในพรรค จึงต้องเอาเก้าอี้ประธานสภาฯ ให้ได้ เมื่อถึงขั้นตอนโหวต ถามว่าพรรคอื่นจะโหวตหรือไม่ แต่จะเป็นแค่หลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าก้าวไกลไม่ทิ้งเรื่องนี้ ผลสุดท้ายคือกฎหมายไม่ผ่าน ส่วนจะตีความว่าเป็นวิธีหลอกมวลชนหรือไม่คงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
นโยบายที่ไม่ตรงกับการหาเสียงนั้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ต้องไปพิจารณาว่าการหาเสียงในลักษณะที่ให้ความหวังกับประชาชนหรือไม่ ทำได้จริงหรือไม่ สุดท้ายจึงไม่ต่างไปจากหลอกให้เลือก
สำหรับประชาชนต้องรู้ให้ทันว่านโยบายของพรรคการเมืองที่มานำเสนอนั้น บางอย่างก็ทำได้ บางอย่างก็ทำไม่ได้
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาที่พรรคก้าวไกลเป็นว่าที่รัฐบาล ส่วนจะฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนเข้ามาบริหารประเทศหรือไม่คงต้องรอ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j