xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! 3 กองทุนสหรัฐฯ ให้เงินกลุ่มเคลื่อนไหวหนุน “พิธา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พล.ท.นันทเดช” เผยสหรัฐฯ พยายามตั้ง “ศูนย์ควบคุมปฏิบัติการระบบอาวุธนำวิถี” ในไทย อีกทั้งมีหน่วยข่าวกรองติดตามความเคลื่อนไหวของทุกประเทศเพื่อเจาะจุดอ่อน หลังตั้งฐานทัพ 750 แห่งใน 80 ประเทศทั่วโลก พบ “3 กองทุนของสหรัฐฯ” ให้เงินสนับสนุนองค์กรในไทยที่เคลื่อนไหวทางการเมืองหมิ่นสถาบัน สร้างความแตกแยก และใช้สู้คดี ม.112 ชี้กองทุนดังกล่าวสนิทสนมกับ “กลุ่ม 3 นิ้ว” และนายพิธา

เป็นประเด็นที่สร้างความกังวลใจให้แก่หลายฝ่ายอย่างยิ่งสำหรับกระแสข่าวเรื่องความพยายามตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย เพราะนี่คือเรื่องของอธิปไตยและความมั่นคง หากไทยเปิดประตูให้สหรัฐฯเข้ามาตั้งฐานทัพก็เท่ากับไทยประกาศตัวเป็นศัตรูกับจีนซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งของอเมริกา ย่อมส่งผลกระทบทั้งความมั่นคงและการท่องเที่ยวเนื่องจากชาวจีนคือนักท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สร้างรายได้ให้ไทยมากที่สุด และอาจทำให้ไทยกลายเป็นสมรภูมิรบไม่ต่างจากประเทศยูเครน ขณะเดียวกัน มีคนแย้งว่าปัจจุบันเป็นการสู้รบกันทางเศรษฐกิจ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย

ส่วนว่าเรื่องนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด คงต้องฟังความเห็นจากผู้ที่คร่ำหวอดด้านความมั่นคง

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.)
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ 100% ที่สหรัฐฯ จะเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย เนื่องจากสหรัฐฯ มีความพยายามที่จะขยายอำนาจไปทั่วโลก โดยสหรัฐฯ มีหน่วยข่าวกรองที่ทันสมัยถึง 3 หน่วยในการติดตามการเคลื่อนไหวของทุกประเทศ ซึ่งเมื่อได้ผลจากข่าวกรอง สหรัฐฯ จะนำผลของข่าวกรองนั้นไปเจาะจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ มียุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจที่พึ่งพาสงครามและการรบนอกประเทศ จึงพยายามทำให้ทุกประเทศต้องพึ่งพากองกำลังจากสหรัฐฯ และผลักดันให้มีฐานทัพของสหรัฐฯ อยู่ทั่วโลก

แต่ทั้งนี้สำหรับความพยายามตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นน่าจะเรียกว่า “ศูนย์ควบคุมปฏิบัติการระบบอาวุธนำวิถี” มากกว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมต่อระบบการสื่อสารของฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีฐานทัพของสหรัฐฯ ถึง 4 แห่ง ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องการเข้ามาตั้งศูนย์ดังกล่าวในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะถ้าไม่มีฐานทัพในประเทศไทย การเชื่อมต่อระบบการสื่อสารของสหรัฐฯ จะขาดตอน เนื่องจากปัจจุบันอาวุธที่ใช้ในการโจมตีจะใช้ระบบการสื่อสารจากดาวเทียมระยะต่ำ โดยมีสถานีภาคพื้นดินคอยควบคุม

ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า ล้วนเป็นพันมิตรกับจีน สหรัฐฯ ไม่สามารถเข้าไปตั้งฐานควบคุมได้ จุดเดียวที่เชื่อมต่อสัญญาณเพื่อควบคุมอาวุธนำวิถีได้ก็คือประเทศไทย จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเขาจึงอยากเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี ซึ่งความคิดลักษณะนี้สหรัฐฯ เคยเสนอมายังรัฐบาลไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สหรัฐฯ ก็เคยขอเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา โดยอ้างว่าเพื่อดำเนินโครงการใหญ่ 2 โครงการ คือ "โครงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติ" หรือเอชเอดีอาร์ (HADR- Humanitarian Assistance and Disaster Relief) ที่ดำเนินการโดยกองทัพสหรัฐฯ และการตั้งสถานีวิจัยและเก็บตัวอย่างอากาศ ภายใต้โครงการเอสอีเอซี 4 อาร์เอส (Southeast Asia Composition, Cloud and Climate Coupling Regional Study) ของสำนักงานบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือนาซา แต่ถูกกระแสต่อต้านอย่างหนักทั้งจากนักวิชาการ ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้คนในโลกไซเบอร์ จึงไม่สามารถทำได้

“หากสหรัฐฯ สามารถเข้ามาตั้งศูนย์ควบคุมอาวุธนำวิถีในประเทศไทยได้จะส่งผลให้ไทยกลายเป็นศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา โดยเฉพาะกับจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจที่เป็นคู่ปรับกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก นอกจากนั้น การทำให้ไทยอ่อนแอจะส่งผลให้ประเทศแนวร่วมของจีนอย่างลาว กัมพูชา พม่า อ่อนแอไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนยอมไม่ได้” พล.ท.นันทเดช ระบุ

ฐานทัพสหรัฐฯ ที่อยู่ใกล้รัสเซีย
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันสหรัฐฯ มีฐานทัพในประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 750 แห่งใน 80 ประเทศ โดยทวีปเอเชียนั้นสหรัฐฯ มีฐานทัพอยู่ทั้งในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ส่วนกองกำลังทหารสหรัฐฯ ที่กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ นั้นมีถึงเกือบ 2 แสนนาย ประกอบด้วย กองบัญชาการกลาง ซึ่งมีทหารราว 45,000-65,000 นาย ทั่วอ่าวเปอร์เซีย กองบัญชาการยุโรป มีทหารราว 33,000 นาย ในเยอรมนี กองบัญชาการอินโดแปซิฟิก มีทหารราว 50,000-55,000 นาย ในญี่ปุ่น และราว 26,000 นาย ในเกาหลีใต้ ดังนั้น ความพยายามที่จะตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ หรือเป็นเฟกนิวส์อย่างที่พรรคก้าวไกลระบุ

อีกกรณีหนึ่งที่เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าสหรัฐฯ พยายามแทรกแซงประเทศไทยคือการให้เงินสนับสนุนแก่องค์กรเอกชนในไทยที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดย พล.ท.นันทเดช ระบุว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ให้เงินสนับสนุนองค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการเดินงานมวลชนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางอย่างของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนผ่านองค์กร 3 แห่ง คือ

1.กองทุนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (America’s National Endowment for Democracy : NED) เป็นกองทุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งให้เงินสนับสนุนเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และสื่อต่างๆ เมื่อกองทุนให้เงินสนับสนุนแก่องค์กรใดแล้วจะต้องแจ้งให้รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐสภารับทราบ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักถูกนำออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเพจ ThaiTribune ระบุว่า กองทุนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรที่สภาคองเกรสรับรอง ขึ้นตรงกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และมีบัญชีการเงินภายใต้การดูแลของสถานทูตสหรัฐฯ แต่ละประเทศ โดยมีการให้งบประมาณไว้ช่วยเหลือองค์กร สถาบันต่างๆ ที่เสนอโครงการขอรับทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ NED และเป็นองค์กรที่นักวิชาการอเมริกันเรียกว่า เป็น CIA ภาคพลเรือน โดยองค์กรเอกชนในไทยที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก NED ได้แก่ เว็บไซต์ประชาไท มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (TVS.) มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน (The Isaan Record) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน - HRLA มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ฮิวแมนไรท์วอท

2.มูลนิธิโอเพน โซไซตี้ (Open Society Foundation : OSF) ของจอร์จ โซรอส ซึ่งให้เงินสนับสนุนเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และสื่อเช่นกัน โดยจากข้อมูลพบว่ามีองค์กรในไทยอย่างน้อย 5 องค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิดังกล่าว ประกอบด้วย เว็บไซต์ประชาไท เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

3.องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID โดยตัวองค์กรระบุว่ามุ่งช่วยเหลือด้านการพัฒนา แต่กลับพบว่าเงินกองทุนบางส่วนกลับใช้เพื่อสนับสนุนองค์กรที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันกษัตริย์ของไทย เช่น เว็บไซต์ประชาไท

ข้อมูลจาก ThaiTribune เมื่อปี 2563
ทั้งนี้ จากข้อมูลยังพบว่ากองทุนของสหรัฐฯ นั้นสนับสนุนการโจมตีสถาบันกษัตริย์ทางอ้อม โดยสนับสนุนเงินทุนให้แก่กลุ่มที่สู้คดี ม.112 ซึ่งเงินที่กลุ่มนี้ใช้ประกันตัวก็มาจากกองทุนของสหรัฐฯ นั่นเอง

“สำหรับเงินของ NED นั้นทางวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ จะฝากไว้ที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นเงินที่สถานทูตสหรัฐฯ ใช้เพื่อแทรกแซงกิจการทางสังคมของไทย ซึ่งเท่าที่ทราบเฉพาะเงินสนับสนุนของ NED ในไทยอยู่ที่ 70-80 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการที่เขาจะให้ทุนกับองค์กรใดจะดูว่าโครงการที่เขียนขอไปตรงกับเป้าหมายของเขาหรือไม่ เช่น ใช้เพื่อตั้งทนายว่าความให้แก่ผู้ที่ถูกกดขี่สิทธิเสรีภาพ โดยส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อสนับสนุนความขัดแย้ง เราจึงเห็นความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ความแตกแยกในหลายๆ ประเทศโดยมีสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน และเป็นที่สังเกตว่าหลายองค์กรที่กองทุนของสหรัฐฯ ให้เงินอุดหนุนเป็นกลุ่มที่แสดงความเห็นในลักษณะหมิ่นสถาบัน” พล.ท.นันทเดช กล่าว

พล.ท.นันทเดช ยังตั้งข้อสังเกตว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีความสนิทสนมกับสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่น จะเห็นได้ว่าทูตสหรัฐฯ ไปร่วมงานเทศกาลไพรด์ หรือ Pride Month ของกลุ่ม LGBT กับนายพิธา และองค์กรของสหรัฐฯ ที่ให้ทุนสนับสนุนเอ็นจีโอในไทยก็มีความสนิทสนมกับกลุ่ม 3 นิ้ว เนื่องจากการเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ตรงกับเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเข้มแข็งเพราะจะเป็นช่องทางให้สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงได้ง่าย ซึ่งสิ่งที่ทำให้ไทยเข้มแข็งคือสถาบันกษัตริย์ เขาจึงมีความพยายามทำลายสถาบันกษัตริย์ เพราะหากไม่มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจก็สามารถแบ่งแยกคนไทยได้ง่าย การที่พรรคก้าวไกลนำสถาบันกษัตริย์มาโจมตีและพยายามยกเลิกมาตรา 112 นั้นก็เข้าทางสหรัฐฯ นายโจนาธาน เฮด นักข่าว BBC ที่มาสัมภาษณ์คุณพิธา ก็เป็นอดีตผู้ต้องหาคดี 112 อย่างไรก็ดี อีกมุมหนึ่งความพยายามในการโจมตีสถาบันของคนเหล่านี้ทำให้คนไทยตื่นตัวในการศึกษาประวัติศาสตร์และมีความรักชาติมากขึ้น

“เชื่อว่าหากคุณพิธา เป็นนายกฯ สหรัฐฯ จะสามารถเจรจาตกลงความต้องการต่างๆ ได้ง่ายกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากคุณพิธา และพรรคก้าวไกลมีความสัมพันธ์กับอเมริกา และทางอเมริกาก็ช่วยเหลือองค์กรเอกชนที่ให้การสนับสนุนคุณพิธาด้วย” พล.ท.นันเดช ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น