xs
xsm
sm
md
lg

‘พิธา’ สู้ยาก! คดีถือหุ้น ITV หลักฐานชัดถือ ‘เพื่อตัวเอง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก สะท้อนมุมมองคดีถือหุ้นสื่อ ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล บอกชัดๆ ‘พิธาสู้ยาก’ เพราะหลักฐานชัดถือเพื่อตัวเอง แถมมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้เป็นบรรทัดฐาน ณ ขณะนี้ไม่ได้ทำ แต่อาจจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ งานนี้ศาลต้องตีความทีละเปลาะ ถอดที่ละปล้องมาพิจารณา ส่วนผลกระทบจะถึงขั้นการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 เป็นโมฆะและจะต้องเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศหรือไม่อยู่ที่คำร้องและคำวินิจฉัยของศาล ชี้ต้นไม้พิษสร้างผลออกมาก็ต้องเป็นพิษ เชื่อม็อบสีส้มเต็มถนน ติงจะคิดประลองกำลังต้องประเมินประสิทธิภาพม็อบส้มม็อบแดง หรือม็อบหลากสีอาจเข้าทางกลายเป็นความชอบธรรมให้หน่วยความมั่นคงเข้ามาแก้ปัญหา จับตา ‘พิธา-ก้าวไกล’ จะรับมืออย่างไร!

กรณีการถือหุ้น ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล จะนำไปสู่การเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศหรือไม่นั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าต้องดูคำร้องที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าร้องอย่างไร ถ้าร้องประเด็นแรกว่าขาดคุณสมบัติในการสมัคร ส.ส. นายพิธา ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะนายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ หรือร้องในประเด็นที่ 2 ขาดคุณสมบัติในความเป็นนายกฯ เขาก็ยังสามารถเป็น ส.ส.ได้

“ทั้ง 2 ประเด็นหากพบว่าผิดกฎหมายจริงก็จะเป็นเรื่องเฉพาะตัวให้พ้นจากตำแหน่งนั้นๆ”

แต่ถ้ามีการร้องในประเด็นที่ 3 ว่า นายพิธา ขาดคุณสมบัติที่จะรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกลมาตั้งแต่ต้น และศาลเห็นว่ามีปัญหาจริง ก็อาจทำให้ต้องเลือกตั้งซ่อมกันทั้งประเทศ

โดยประเด็นที่ 3 ที่นายวิษณุ กล่าวถึงนั้น หากมองเชื่อมโยงจะพบว่านายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้มีการไปยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายพิธา ไม่ได้มีปัญหาขาดคุณสมบัติเฉพาะความเป็น ส.ส.เท่านั้น แต่อาจจะต้องพ้นจากสมาชิกและหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่? เพราะในข้อบังคับพรรคก้าวไกลมีข้อห้ามในเรื่องเดียวกันคือต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) จึงย่อมมีผลกับการที่นายพิธา ได้ลงนามรับรองผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 2 ระบบของพรรคหรือไม่? ซึ่งจะเป็นเหตุไปสู่การเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศตามที่นายวิษณุ กล่าวถึง ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย บอกว่า สิ่งที่นายวิษณุ ชี้ให้เห็นกรณีของนายพิธา ในเรื่องการถือหุ้นสื่อนั้นเป็นการมองในภาพกว้างที่สุด เพราะในฐานะหัวหน้าพรรค เมื่อไปรับรองบุคคลอื่นในฐานะผู้สมัครทั้ง 2 ระบบ ซึ่งเป็นการมองและ เปรียบเปรยได้กับ “ต้นไม้พิษ สร้างผลออกมาก็ต้องเป็นพิษตามไปด้วย”

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดินเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล
ดังนั้น หากนายพิธา ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้สมัคร ส.ส.หรือในการเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ย่อมขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้รับรอง และเมื่อไปรับรองบุคคลอื่นก็ย่อมทำให้บุคคลที่ได้รับการรับรองขาดคุณสมบัติไปด้วย นั่นหมายถึงการรับรองนั้น ‘บกพร่อง’ การเป็นผู้สมัครก็บกพร่อง เมื่อการเป็นผู้สมัครบกพร่อง จึงทำให้การเลือกตั้งทั้งหมดก็บกพร่องเช่นกัน ในส่วนของความบกพร่อง จะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ

กรณีที่ 1 บกพร่องทั้งพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลจะเสียผู้สมัครไปทั้งหมด ต้องปรับกันใหม่ ก็อาจจะเป็นการเลื่อนอันดับที่ 2 ขึ้นมา ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องไปเกลี่ยเปอร์เซ็นต์กันใหม่ทั้งหมด

กรณีที่ 2 การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 เป็นโมฆะ จะส่งผลให้มีการเลือกตั้งซ่อมใหม่ ทั้งหมด นี่คือในมุมมองที่กว้างที่สุดที่นายวิษณุ ชี้แจงกรณีนายพิธา

“ถ้าจะมองในมุมที่แคบลงมา อาจไม่ได้ส่งผลถึงพรรค ซึ่งมี 2 นัย”

นัยแรก ในส่วนของนายพิธา ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวนายพิธาเท่านั้น

นัยที่สอง กฎหมายกำหนดให้หัวหน้าพรรคเป็นคนรับรอง โดยไม่ได้มองในเรื่องคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคจะต้องเป็นแบบเดียวกับผู้สมัคร ส.ส.หรือต้องเป็นแบบเดียวกับผู้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

“ถ้าไปดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง คุณสมบัติหัวหน้าพรรคเป็นอย่างไรก็แค่นั้น ไม่ต้องเป็นตาม พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มันคนละส่วนกัน ต้องไปดูในส่วนนั้นว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่”

ขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีบัญญัติไว้ก็ต้องไปดูข้อบังคับของพรรคก้าวไกลกำหนดกรณีหัวหน้าพรรคต้องเป็นอย่างไร เพราะหากข้อบังคับของพรรคเกิดไปล้อหรือไปสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เช่น มีการไปนำมาตรา 98 มาใช้ว่าหัวหน้าพรรคต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

“ตรงนี้แหละที่พรรคก้าวไกลจะเดือดร้อนกัน ย้ำนะต้องไปดูข้อบังคับของพรรคก้าวไกล เพราะถ้าพรรคไปเขียนมัดตัวเอง ก็จะลำบากหน่อย หรือกฎหมายพรรคการเมืองเขียนข้อความล้อกันก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่ง ท้ายที่สุดอาจเป็นเพียงแค่ให้หัวหน้าพรรคขาดคุณสมบัติหรือเปล่า ก็พ้นจากการเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนการไปรับรองไม่ถึงขนาดทำให้คนอื่นเสียไป ก็ถือว่าชอบ ก็ชอบต่อไป ต้องดูการหยิบยกมาตราขึ้นมาพิจารณาในศาล”

เช่น การนำมาตรา 82 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตีความเรื่องการพ้นจากตำแหน่ง ส่วนที่ทำไปก่อนจะไม่ถือว่าเสียไป ส่วนในตัวของนายพิธา จะได้รับผลกระทบใน 2 ลักษณะ คือกระทบในความเป็นผู้สมัคร ส.ส. และความเป็นผู้ถูกเสนอชื่อในการเป็นนายกรัฐมนตรี

“ทั้ง 2 เรื่องต้องนำมาตรา 98 มาใช้ ผ่านมาตรา 160 มาตรา 88 และ 89 ทั้ง 2 เรื่องนี้ถ้ามีการร้องก็พ่วงกันไปได้เลย ก็จะจบเรื่องของการขาดคุณสมบัติ ซึ่งปกติคดีที่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ ร้องแค่ไหน หรือขอแค่ไหนศาลจะพิจารณาเท่านั้น”

รศ.ดร.เจษฎ์ บอกอีกว่า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาตีความรัฐธรรมนูญ อะไรที่เชื่อมโยง อะไรที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวเนื่องกัน ศาลสามารถพิจารณาไปพร้อมกันได้ ทุกอย่างจึงอยู่ที่คำร้องและศาลจะพิจารณาวินิจฉัยออกมา

อีกทั้งหากศาลพิจารณาออกมาเพียงแค่ นายพิธา ขาดคุณสมบัติในการเป็น ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีคนจำนวนหนึ่งลงถนนกันแล้ว เพราะพรรคก้าวไกลจะเสียสิทธิในการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการเสนอแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว ซึ่งต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ใช้สิทธิเสนอเต็ม 3 ชื่อตามกฎหมายกำหนด จะมีตัวตายตัวแทนหากคนใดคนหนึ่งต้องสะดุด

“แบบนี้ก็แปลว่า นายกฯ ต้องมาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งบรรดาสมาชิกก้าวไกล หรือคนที่สนับสนุนเขาอาจคิดว่านี่คือทฤษฎีสมคบคิดไม่ให้ก้าวไกลนั่งนายกฯ ก็คงจะวุ่นวายลงถนนกันระดับหนึ่ง”

ที่สำคัญหากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาว่าต้องไปทั้งพรรคก้าวไกล คือการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะก็อาจจะมีความเสียหายเกิดขึ้นมากมาย เพราะไม่ใช่แค่ก้าวไกล แต่พรรคอื่นๆ ด้วย เพราะมีเสียงลือตลอดว่าการเลือกตั้งใช้เงินเยอะ ก็จะเกิดแรงกระเพื่อมกันมาก

“คราวนี้แหละจะลงถนนกันทั้งหมด ไม่ใช่แค่ส้ม จะมีทั้งแดง ทั้งเหลือง ทั้งกัญชง กัญชา ซึ่งถ้ามีเพียงสีใดสีหนึ่งลงถนนเท่านั้นอาจทำให้ดูเสมือนรัฐหรือผู้ดูแลความมั่นคงเป็นปฏิปักษ์กับสีนั้นหรือส่วนนั้นส่วนเดียว”

 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย
รศ.ดร.เจษฎ์ ย้ำว่า ถ้ามีเหตุให้เสื้อหลากสีลงถนนกันหมด หากมีการใช้กำลังเข้าปราบปรามก็อาจเป็นความชอบธรรม เพราะพวกคุณ พวกท่านมาก่อความวุ่นวาย รัฐหรือหน่วยงานความมั่นคงไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับใคร แต่พวกคุณมาทำให้บ้านเมืองวุ่นวายก็เป็นเหตุให้หน่วยงานความมั่นคงต้องออกมาจัดการ จะเป็นการเข้าทางอีกฝ่ายทันที

นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ ยังให้ความเห็นกรณีนายพิธา ถือหุ้นสื่อ ITV ว่าสิ่งที่ต้องดูกันคือประเด็นแรก หลักฐานชัดว่าหุ้นเป็นชื่อนายพิธา ที่บอกว่าถือแทนกองมรดก ก็ต้องไปดูอีกว่านายพิธา ได้มีการสละสิทธิในกองมรดกนี้หรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้มีการสละสิทธิในกองมรดก ต้องถือว่านายพิธาเป็นทายาทโดยธรรมที่ได้รับมรดก ก็ถือว่านายพิธา ถือหุ้นเพื่อตัวเอง

ประเด็นที่สอง หุ้นที่ถือเป็นหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์หรือกิจการสื่อมวลชน ถ้าเป็นก็จะโดนระลอกสอง คือถือหุ้นจริงและเป็นกิจการสื่อด้วย ต้องไปดูในบริคณห์สนธิ ดูวัตถุประสงค์ 30-40 ข้อ และต้องดูว่าประกอบกิจการจริงหรือไม่ มีรายได้จากการทำสื่อหรือเปล่า หรืออาจไม่มีรายได้ แต่มีการแลกเปลี่ยนก็ต้องว่ากันไป

“ต้องไปดูวัตถุประสงค์หลักที่แจ้งไว้ เพราะครั้งหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า ณ ขณะนี้ไม่ได้ทำ แต่มันมีในวัตถุประสงค์ อาจจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นอาจเข้าข่ายตรงนี้ ซึ่งศาลต้องไปพิจารณาดูต่อไป เรียกว่าศาลต้องตีความทีละเปลาะ เหมือนใบสนที่มันเป็นปล้องๆ ก็ต้องถอดทีละปล้องมาพิจารณาตัดสิน”

รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุว่า ในความเป็นจริงพรรคก้าวไกลและพรรคอื่นๆ ควรจะนำกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาพิจารณา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับนายธนาธร ปี 2562 แต่วันนี้ปี 2566 มีเวลาตั้ง 4 ปี ควรมาสำราวจดูทรัพย์สินของตัวเอง มีหุ้นตัวไหนเข้าข่ายบ้าง หากบริษัทไม่ได้มีการประกอบกิจการด้านนี้แล้ว ควรเอาวัตถุประสงค์ด้านนี้ออกไป หรือถ้าบริษัทยังประกอบกิจการด้านสื่อ ควรที่จะเลือกขายหุ้นออกไปหรือให้คนอื่นถือครองหุ้นแทน ซึ่งกรณีนายพิธา ถ้าจะถามว่าประมาทหรือไม่ ก็ประมาทนะ เพราะเวลาผ่านมาตั้ง 4 ปีทำไมไม่ดำเนินการให้เรียบร้อย และความจริงผู้สมัครทุกพรรคต้องดูทรัพย์สิน หุ้นของตัวเองให้ละเอียดจะดีที่สุด จะไปหวังให้หน่วยงานรัฐ หรือ กกต.ดูให้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่รู้สอบถามไปก็จะปลอดภัยกว่า

ส่วนในเรื่องของการจับขั้วตั้งรัฐบาลในระบบรัฐสภาทั่วไป พรรคที่ได้ที่ 1 กับที่ 2 ซึ่งมีขนาดใหญ่พอๆ กันจะไม่จับมือกันหรอก ซึ่งความจริงพรรคอันดับ 2 มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ยิ่งขนาดพรรคห่างกันเพียง 10 เสียงด้วย และยังมีการเน้นย้ำตลอดว่าพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดต้องเป็นรัฐบาล ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพียงแต่ว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาที่ 1 มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน

“ให้ตามดูกันต่อไปนะ จะมีอะไรมันส์ๆ ตามมาอีกเยอะ ก้าวไกลกับเพื่อไทย ก็เป็นการหมั้นหมายกัน แต่ก้าวไกลจะไปทึกทักว่าเป็นสามี ภรรยา หรือคู่สมรสต้องแต่งานเฉพาะกับก้าวไกล มันไม่ได้ เพราะเพื่อไทยมีสิทธิถอนหมั้นได้เช่นกัน”






สิ่งที่ต้องมองต่อไปคือหากนายพิธา ขาดคุณสมบัติตามคำร้องและพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล มีนายกฯ มาจากเพื่อไทยโดยตรง และบรรดามวลชนก้าวไกลเลือกลงถนน เพราะเชื่อในพลัง 14 ล้านเสียง ต้องไม่ลืมว่ามีคนไม่เลือกอีก 27 ล้านเสียง 

“ก้าวไกลต้องประเมินให้ดี มวลชนที่จะลงถนนมีประสิทธิภาพเท่าไหร่ เพราะหากเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล และม็อบสีส้มต้องมาชนหรือมาต้านเพื่อไทย หากเพื่อไทยเขาจัดม็อบมาชนบ้างจะเป็นอย่างไร เรื่องประสิทธิภาพม็อบก็ต้องมองให้ดี ม็อบสีส้มเป็นม็อบหนีทหาร ม็อบเรียน รด. แต่ม็อบเพื่อไทย เป็นม็อบทหารเกณฑ์ นอนกลางดินกินกลางทรายได้ ทำไร่ ไถนาได้ ม็อบต่อยมวยหาเลี้ยงชีพตั้งแต่เด็ก ส่วนม็อบสีส้ม เป็นม็อบเล่นเกมในห้อง ม็อบออกกำลังกายในห้องแอร์ ถ้าคิดจะชนม็อบ ม็อบสีส้ม 14 ล้าน แต่ม็อบเพื่อไทย 10 ล้าน ยังคิดจะชนกับเขาหรือ พละกำลังมันต่างกันนะ”

จากนี้ไปสังคมต้องจับตาดูท่าทีของนายพิธา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล จะเดินหน้าอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของประเด็นการถือหุ้นสื่อ หากศาลวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว รวมไปถึงการขยับตัวของพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล และการขยับตัวของขั้วรัฐบาลเดิมที่มีกลุ่มต่างๆ พยายามปั่นกระแสและวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่คือทฤษฎีสมคบคิดเพื่อขจัดพรรคก้าวไกลและเป็นที่มาให้บรรดาสีส้มลงถนนนั่นเอง!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH



กำลังโหลดความคิดเห็น