xs
xsm
sm
md
lg

8 ปัจจัยส่งผลให้ “ก้าวไกล” ไม่ได้เป็นรัฐบาล!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชี้หลายปัจจัยทำ “ก้าวไกล” พลาดเก้าอี้รัฐบาล เหตุดึงดันแก้ ม.112 ทำ ส.ว.ไม่โหวตหนุน “พ่อส้ม” นั่งนายกฯ อีกทั้ง “พิธา” เสี่ยงถูกตัดสิทธิจากกรณีถือหุ้นไอทีวี พา ส.ส.ก้าวไกลหลุดทั้งคณะ ฝ่ายความมั่นคงหวั่นก้าวไกล “ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน” ด้านนักธุรกิจไม่ปลื้มนโยบาย เกรงทำเศรษฐกิจดิ่งเหว คาด “เพื่อไทย” ย้ายขั้ว หากเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากมีอำนาจต่อรองสูง จับกับพรรคใดก็ได้ ขณะที่ด้อมส้ม-เสื้อแดงร้าวลึก ยากประสาน เชื่อหากติ่งส้มลงถนนจะนำไปสู่รัฐประหาร

กำลังร้อนระอุทีเดียวสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ “พรรคก้าวไกล” เพราะแม้ทั้ง 8 พรรคจะเซ็น MOU ร่วมกันทั้งในส่วนของการจัดตั้งรัฐบาลและการแบ่งงานกันทำ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการช่วงชิงตำแหน่งประธานสภา ระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างรุนแรงของ FC ทั้งสองพรรคถึงขั้นที่กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยไปยื่นหนังสือขอให้เพื่อไทยถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล อีกทั้งยังมีกรณีการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในประเด็นการถือหุ้นไอทีวีซึ่งยังไม่รู้จะออกลูกผีหรือลูกคน ณ เวลานี้ จึงต้องยอมรับว่าหนทางที่พรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ


ส่วนว่าจะมีปัจจัยใดบ้างที่บั่นทอนโอกาสที่พรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาล คงต้องมาไล่เรียงกัน

1) ปัจจัยแรกเห็นจะหนีไม่พ้นปัญหาที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนในการโหวตเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีได้เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือไม่ต่ำกว่า 376 เสียง เนื่องจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาลมีเพียง 313 เสียง ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่แสดงเจตนารมณ์ว่าจะสนับสนุนนายพิธา มีไม่ถึง 10 เสียง ขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าจะไม่สนับสนุนนายพิธา หากพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันที่จะแก้มาตรา 112 ส่วน ส.ว.ที่ประกาศตัวว่าจะโหวตให้นายพิธา นั้นมีไม่เกิน 20 เสียง ซึ่งแน่นอนว่าหากพรรคก้าวไกลไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน

2) พรรคก้าวไกลมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทยมาก แต่ปัญหาคือพรรคก้าวไกลร่วมงานได้เฉพาะพรรคที่เรียกตัวเองว่าขั้วประชาธิปไตยเท่านั้น ขณะที่พรรคเพื่อไทยสามารถจับมือกับพรรคใดก็ได้ ยกเว้นเพียงพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงที่พรรคก้าวไกลจะพลิกกลายเป็นฝ่ายค้าน เพราะหากก้าวไกลเลือกนายกฯ ไม่ได้เนื่องจากเสียงสนับสนุนไม่พอ ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของพรรคเพื่อไทยที่จะไปจับขั้วกับพรรคการเมืองอื่นที่ ส.ว.ยอมรับเพื่อให้มีเสียงสนับสนุนมากพอที่จะโหวตเลือกนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยได้

3) ขณะนี้เกิดปัญหาขัดแย้งอย่างหนักระหว่าง “คนเสื้อแดง” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และ “ด้อมส้ม” ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล เนื่องจากคนเสื้อแดงเจ็บแค้นที่ถูกติ่งส้มด้อยค่า ขณะที่ติ่งส้มมองว่าพรรคเพื่อไทยไม่จริงใจ ความขัดแย้งดังกล่าวร้าวลึกถึงขั้นที่มีตัวแทนคนเสื้อแดงไปยื่นหนังสือให้พรรคเพื่อไทยถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยไม่ได้ตอบรับในเรื่องนี้และ FC บางส่วนของทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยพยายามปรามคนของตนไม่ให้สร้างความขัดแย้ง แต่รอยร้าวดังกล่าวดูจะไม่จางหายไป ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นภาวะที่สุ่มเสี่ยงสำหรับพรรคก้าวไกลอย่างยิ่ง เพราะหากมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เพื่อไทยต้องตัดสินใจแยกตัวจากก้าวไกล เชื่อว่าบรรดามวลชนเสื้อแดงย่อมไม่คัดค้านอย่างแน่นอน

4) การที่นายพิธา ถูกร้องกรณีถือหุ้นไอทีวีนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพิกถอนนายพิธา จากการเป็น ส.ส. เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งเป็นผู้ร้องชี้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติจะส่งผลกระทบต่อ ส.ส.ก้าวไกลด้วย เนื่องจากนายพิธา เป็นหัวหน้าพรรคที่ต้องรับรองคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล แต่เมื่อนายพิธา ขาดคุณสมบัติเสียเอง จะส่งผลทำให้การรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครพรรคก้าวไกลทุกคนเป็นโมฆะ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งร้องให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธากรณีถือหุ้นไอทีวี
5) นโยบายแก้ ม.112 และปฏิรูปกองทัพของพรรคก้าวไกล เป็นสิ่งที่กองทัพและคนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถยอมรับได้เนื่องจากมองว่าจะส่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งเมื่อกองทัพไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกลก็เป็นธรรมดาที่ ส.ว.สายทหารจะไม่โหวตเลือกนายพิธา เป็นนายกฯ ขณะที่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 อาจจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านและเกิดความวุ่นวายตามมาอันเป็นเหตุให้ทหารต้องทำรัฐประหารอีกครั้ง

6) นโยบายของก้าวไกลเริ่มถูกวิจารณ์จากนักธุรกิจว่าทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา ทั้งเรื่องค่าแรง 450 บาท ที่บรรดาผู้ประกอบการมองว่านอกจากจะทำให้ธุรกิจ SME ไม่สามารถแบกรับต้นทุนและล้มหายตายจากไปในที่สุดแล้ว ยังส่งผลให้นักลงทุนพากันย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานตามมา ขณะที่ทางด้านตลาดทุนก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลอย่างหนักว่าจะทำให้ตลาดทุนย่ำแย่ เนื่องจากพรรคก้าวไกลมองปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบตื้นเขิน มองว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนายทุนกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คนรวยกับคนจน และเหมารวมว่านักลงทุนในตลาดหุ้นคือคนรวยที่ต้องถูกเก็บภาษีสูงๆ ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งแน่นอนว่ากรณีดังกล่าวทำให้คะแนนนิยมของก้าวไกลลดฮวบลงตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งรัฐบาลเลยทีเดียว

7) ท่าทีด้านการต่างประเทศของนายพิธา อาจทำให้ไทยกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับนานาประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา นายพิธา มักแสดงความเห็นในลักษณะก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศต่างๆ เช่น เรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากยูเครนในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข นายพิธา ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลทหารพม่ากรณีการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และล่าสุด นายพิธา ได้พูดถึงนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลว่าจะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในพม่า ซึ่งการกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน ทำให้ฝ่ายความมั่นคงกังวลใจว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลอาจนำไทยเข้าสู่สงครามหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ

8) มีการปลุกกระแสให้ด้อมส้มลงถนนหากนายพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ ขณะที่กลุ่มคัดค้านการแก้ ม.112 ซึ่งมีไม่น้อยก็ไม่พอใจพรรคก้าวไกล จึงอาจนำไปสู่การปะทะกันของมวลชนทั้งสองกลุ่มได้ และเป็นชนวนเหตุให้ทหารออกมารัฐประหาร

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ชี้ว่า โอกาสที่พรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่นั้น 50 : 50 แต่ถ้าดูเฉพาะปัจจัยที่จะทำให้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาลน่าจะมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ

1.การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต.ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขพลิกผัน ซึ่งหากตัวเลข ส.ส.ของแต่ละพรรคเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอาจส่งผลให้สมการการเมืองเปลี่ยนแปลงได้

2.การเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีลักษณะ “พรรคเดียวกันแต่คนละขั้ว” และ “ขั้วเดียวกันแต่คนละพรรค” โดยในระดับพรรคนั้นก้าวไกลอาจจะเคลียร์ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคสำหรับพรรคก้าวไกลคือการเคลียร์ในระดับมุ้งที่อยู่ในแต่ละพรรค เนื่องจากแต่ละมุ้งมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น แต่ละมุ้งในพรรคเพื่อไทยซึ่งในการลงมติต่างๆ สุดท้ายอาจจะฟรีโหวตก็ได้

3.การขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับก้าวไกล โดย ส.ว.มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกยืนยันจะโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ เพราะถือว่าเป็นฉันทมติของประชาชน ส่วน ส.ว.กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่จะโหวตโน ซึ่งจะไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่จะโนโหวต ซึ่งจะงดออกเสียงในการโหวตเลือกนายกฯ ที่เรียกว่าปิดสวิตช์ตัวเอง

“ส.ว.ที่จะโหวตให้คุณพิธาน่าจะมีประมาณ 20 เสียง ให้เต็มที่ไม่เกิน 30 เสียง ปัจจุบันพรรคร่วมรัฐบาลมี 313 เสียง รวมกับพรรคเล็กพรรคน้อยที่โหวตให้นายพิธา เต็มที่รวมแล้วไม่เกิน 320 รวมกับ ส.ว.อีก 30 เสียง เป็น 350 เสียง ก็ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 376 เสียง ขณะที่ ส.ว.กลุ่มโหวตโนและโนโหวตรวมกันมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่โหวตให้คุณพิธา เพราะฉะนั้นก็คงไม่ง่ายที่คุณพิธาจะผ่านด่าน” รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น