อาการน่าเป็นห่วงว่าที่รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย หลัง “ปิยบุตร” ปลุกเก้าอี้ประธานสภาต้องเป็นของก้าวไกล อ้างจำเป็นต้องผ่านกฎหมายสำคัญ ด้านเพื่อไทยสวนประธานสภาควรเปิดทางผลักดันทุกนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น แถม FC เพื่อไทยยื่นหนังสือถอนตัว สัญญาณไม่ได้ไปต่อสูง
หลังการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ผ่านไปไม่ถึง 2 สัปดาห์ พรรคแกนนำอย่างก้าวไกล ฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลดำเนินการอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีมวลชนจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมออกมาเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาไม่ฝืนมติประชาชนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566
ทุกอย่างเดินหน้าไปเร็วมาก เช่น การเข้าพบภาคเอกชนในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หารือเรื่องค่าแรง 450 บาท ที่เป็นนโยบายของพรรคก้าวไกล ผลที่ออกมาอาจไม่ถูกใจแฟนคลับก้าวไกลมากนัก
ส่วนพรรคอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทย ที่ถูกเชิญให้มาร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ด้วยส่วนต่างของเก้าอี้ ส.ส. เพียง 10 ที่นั่ง โดยพรรคเพื่อไทยประกาศดันนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล
ปิยบุตรแฉตัด-เติม MOU
จนกระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่มีการนัดพรรคร่วมมาเซ็น MOU จัดตั้งรัฐบาล หลังจากนั้นสาธารณชนจึงได้รับทราบว่าในการเซ็น MOU มีปัญหาเรื่องการเพิ่มเติมและตัดข้อความบางส่วนออกไปก่อนที่จะเปิดแถลงข่าว ซึ่งล่าช้าไปราว 20 นาที จากกำหนดเดิม 16.30 น.
เริ่มกันที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ คณะก้าวหน้า ที่ออกมาโพสต์ข้อความว่า ผมได้อ่าน MOU การร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลแล้ว ผมไม่เห็นด้วยใน 2 ประเด็น ซึ่งแตกต่างไปจากเนื้อหาที่ปรากฏในร่าง MOU สุดท้ายที่หลุดออกมาทางสื่อ
ประเด็นแรก การเพิ่มข้อความที่ว่า “ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”
ผมเห็นว่า การเพิ่มถ้อยคำนี้ลงไปใน MOU อาจจะไป “รัดคอ” พรรคก้าวไกลในภายหลังได้ เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ตามที่เคยเสนอไป และตามที่เคยแถลงเป็นนโยบาย) ก็อาจจะถูก ส.ส. ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญนำมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญมาผสมผสานกับข้อความใน MOU ดังกล่าว มาขยายความตีความแบบพิสดาร เพื่อมัดไม่ให้พรรคก้าวไกลได้ใช้กลไกสภาแก้ไขมาตรา 112 ได้
ประเด็นที่สอง การตัดเรื่องการผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกรัฐสภาออกไป การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จต้องใช้กลไกการนิรโทษกรรมให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองเสียก่อน
การทำเรื่องเหล่านี้ได้สำเร็จ สุดท้ายต้องไปจบที่สภา เพราะต้องตราเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม แต่มันจะผ่านได้ต้องมีเสียงข้างมากในสภาสนับสนุน
ประธานสภาต้องเป็นของก้าวไกล
เมื่อการแก้ไข MOU ผ่านไปพรรคก้าวไกลไม่สามารถกลับมาทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อีก ตามที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่เห็นด้วยใน 2 ประเด็น ขณะเดียวกัน เริ่มมีท่าทีว่าพรรคเพื่อไทยสนใจเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อก้าวไกลได้ประมุขบริหารแล้ว เพื่อไทยที่เสียงไม่ต่างกันมากน่าจะได้เก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติ
ดังนั้น 23 พฤษภาคม 2566 นายปิยบุตร จึงโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้งว่า 2-3 วันมานี้มีข่าวปรากฏออกมาตามสื่อมวลชนว่า พรรคเพื่อไทยขอให้พรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ผมเห็นว่าพรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งนี้ให้พรรคใดๆ ไม่ได้
การเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดเนื้อหาใน MOU ได้ผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลได้ถอยในหลายประเด็น จนเหลือแต่ประเด็นที่ทุกพรรคยอมรับได้ และยอมเพิ่มอีกหลายข้อความเพื่อให้ทุกพรรคคลายความกังวลและสบายใจมากขึ้นแล้ว
เมื่อถึงคราวจัดสรรกระทรวงให้แต่ละพรรค พรรคก้าวไกลคงต้องยินยอม “เฉือน” อีกหลายกระทรวงให้พรรคอื่นๆ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยเฉพาะกระทรวงที่สังคมจัดให้เป็นเกรด A โดยพิจารณาจากงบประมาณและโครงการ “เป็นเนื้อเป็นหนัง”
เมื่อถึงช่วงเขียนนโยบายของรัฐบาลเพื่อแถลงต่อสภา พรรคก้าวไกลต้องประสานเอาความต้องการของทุกพรรคเข้ามาไว้ด้วยกัน
สภาพการประนีประนอม การเจรจาต่อรอง ระหว่างพรรคการเมือง และการยอมถอยให้พรรคการเมืองอื่นจะดำเนินเช่นนี้เรื่อยไปตลอดระยะเวลาของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดในทางการเมือง และเป็นเรื่องปกติในรัฐบาลผสม
ปัญหามีอยู่ว่า พรรคก้าวไกลจะต้องถอยจนถึงเมื่อไร ต้องยินยอมถึงขนาดไหน เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและตั้งรัฐบาลได้? และไปต่อได้?
ผมเห็นว่า การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกลจะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ ส.ส.พรรคอื่น
โดยทั่วไป ประธานสภาผู้แทนราษฎรมาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับที่หนึ่งอยู่แล้ว
กรณีสมัยที่แล้วเป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง เพราะ จำนวน ส.ส.ซีกรัฐบาลมีมากกว่าอีกฝ่ายไม่กี่เสียง ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องยอมเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแลกกับการสนับสนุนประยุทธ์
ในเมื่อครั้งนี้ ใครๆ ต่างก็บอกว่าประสงค์จะให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการเมืองไทยที่ใช้กันในสภาวะปกติต้องถูกนำมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก รัฐบาลรวมเสียงได้กว่า 300 ก็ถือว่ามากพอแล้ว รวมไปถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องมาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับหนึ่ง
นอกจากนี้ นโยบายของพรรคก้าวไกลที่ใช้รณรงค์หาเสียงจนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ของพรรคตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระและญัตติ
กล่าวจำเพาะกรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไข ป.อาญา มาตรา 112 (ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ไม่อยู่ใน MOU และไม่อยู่ในวาระร่วมหรือนโยบายของรัฐบาลแน่ๆ) พรรคก้าวไกลต้องใช้กลไกสภาในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมาก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้
มิพักต้องกล่าวถึง พรรคก้าวไกลต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธารสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมเกม ใช้และตีความข้อบังคับการประชุม และกำหนดทิศทางในการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
การประนีประนอมและการเจรจาทางการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ในการตั้งรัฐบาลผสม
แต่การถอยถึงขนาดยอมยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคอื่น เป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ หวังว่าพรรคก้าวไกลจะพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่
แก้ 112 ประธานสภาจำเป็น
สิ่งที่ชัดเจนหลังจากนายปิยบุตร เสนอความเห็นว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรควรต้องเป็นของพรรคก้าวไกล จากนั้นเพจพรรคก้าวไกลได้ออกมาให้เหตุผลถึงความจำเป็นในตำแหน่งดังกล่าว ตามมาด้วยแกนนำของพรรคออกมาย้ำถึงความสำคัญของตำแหน่งดังกล่าว
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าวว่า เรื่องนี้มองได้หลายมุม ประการแรกข้อเสนอของอาจารย์ปิยบุตร อาจถูกติความได้ว่าเข้าข่ายครอบงำพรรคก้าวไกล ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครไปร้องหรือไม่ ประการต่อมา อย่างที่อาจารย์ปิยบุตร โพสต์ไว้ก่อนหน้าว่ามีการตัดข้อความสำคัญใน MOU ที่เป็นแนวทางหลักของพรรคก้าวไกลออกไป ขณะที่พรรคก้าวไกลต้องการแก้กฎหมายหลายๆ ฉบับ หนึ่งในนั้นคือมาตรา 112 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ไว้ใจได้เป็นตัวผลักดัน
ตอนนี้เรื่องเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรกลายเป็นปัญหาระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย กลายเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี และสะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจกันและกันระหว่างพรรคอันดับ 1 และ 2 ที่มีที่จำนวน ส.ส.ห่างกันเพียงแค่ 10 ที่นั่ง
แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมีจำนวน ส.ส.มากที่สุด แต่เมื่อต้องมาเป็นรัฐบาลผสม นโยบายที่เคยหาเสียงไว้อาจไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง เราได้เห็นแล้วเรื่องค่าแรง 450 บาท หากเดินตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แทนที่จะเพิ่มรายได้ให้แรงงาน สุดท้ายจะกลายเป็นนายจ้างรับไม่ไหวปิดกิจการ ลูกจ้างก็จะตกงาน
เพื่อไทยต้องการ
อีกประเด็นหนึ่งที่ทุกคนเห็นนั่นก็คือ พรรคร่วมรัฐบาลกังวลเกี่ยวกับแนวทางของก้าวไกลเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ไว้ใน MOU ซึ่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าจะดันเรื่องนี้ด้วยเสียง ส.ส.ของพรรคก้าวไกลเอง
ในเมื่อไม่ได้เป็นนโยบายร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น โอกาสที่การแก้ไขมาตรา 112 เมื่อเข้าสภาแล้ว การผลักดันเพื่อให้ผ่านวาระต่างๆ จึงไม่ง่าย มีความเป็นไปได้สูงที่จะตกไปในที่สุด นั่นหมายถึงสิ่งที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถแก้มาตรา 112 ได้แม้ว่าจะเป็นรัฐบาล
อย่าลืมว่าก้าวไกลสร้างฐานมวลชนมาได้จากเรื่อง 112 ตอนนี้จึงเริ่มถูกค่อนแคะว่า “สู้ไปหลอกไป”
ขณะเดียวกัน ท่าทีของพรรคเพื่อไทยยังเสียงแข็งในเรื่องของเก้าอี้ประธานสภา โพสต์ของพรรคเพื่อไทยเมื่อ 26 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า ‘ประธานสภา’ ควรเปิดทางผลักดัน 'ทุกนโยบาย' ของ 'พรรคร่วมรัฐบาล' ให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น
ประธานสภาจึงต้องผลักดันญัตติใดๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือประชาชนเข้าสู่สภา ไม่เลือกปฏิบัติ และหาทางลดอุปสรรคทั้งหลาย ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา
ในกรณีนี้ เราชนะมาด้วยกัน ก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน แต่ควรหาทางทำภารกิจเพื่อประชาชนร่วมกันให้สำเร็จ ประเทศจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
สัญญาณถอนตัว?
ตอนนี้ดูอาการของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยแล้ว โอกาสที่จะร่วมรัฐบาลกันคงไม่น่าจะราบรื่นนัก เพียงแค่ Twitter ของทักษิณที่ออกมา รุ่งขึ้น อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร บินไปพบทักษิณแบบเร่งด่วน ในช่วงเวลานี้ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาในทางการเมือง โดยหลังจากนั้นท่าทีของพรรคเพื่อไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ บรรดา FC เพื่อไทยรวมตัวกันไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้พรรคเพื่อไทยถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2566 กลายเป็นอีกหนึ่งแนวร่วมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล
ว่ากันตามตรงการถอนตัวของพรรคเพื่อไทยนั้นเกิดขึ้นได้ทุกสถานการณ์ อาจจะเป็นผลจากพรรคก้าวไกลโดยตรง หรือจากกรณีกับ น.ต.ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย หรืออาจไปถึงเรื่องการพูดคุยในเรื่องกระทรวงต่างๆ รวมไปถึงขึ้นตอนเลือกนายกฯ ที่อาจเปิดให้สมาชิกพรรคฟรีโหวต
พรรคเพื่อไทยต้องการเก้าอี้ประธานสภาจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่สามารถใช้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งในการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลได้ เช่นเดียวกัน ไม่มีใครรู้ว่าพรรคก้าวไกลต้องการเปลี่ยนเกมขอเป็นฝ่ายค้านอีกสมัย รอเป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้งรอบหน้าหรือไม่ นี่คือเกมระดับชาติ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j