xs
xsm
sm
md
lg

‘พิธา-ก้าวไกล’ ลูกไก่ในกำมือใคร? เชื่อเผชิญสารพัดแรงบีบให้รัฐบาลอยู่ยาก!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาเส้นทาง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หากได้เสียง ส.ว.ครบ 376 เสียง นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แต่ยังต้องเจอวิบากกรรมจนทำให้รัฐบาลอยู่ยาก ‘รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณภูเก็ต’ จากนิด้า ระบุสารพัดปัญหากลายเป็นแรงบีบ แต่ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของ ‘พิธา’ ในการบริหารทุกฝ่ายได้อย่างลงตัว ทั้งจาก MOU พรรคร่วมรัฐบาลและนโยบายที่หาเสียงไว้ กรณีระบบราชการมีสิทธิถูก ‘วางยา’ ส่วนกลุ่มทุนผูกขาดยากยิ่งกว่า แค่เรื่องปฏิรูปพลังงาน เจอทุนใหญ่ที่เป็น ‘นายทุน’ ให้เกือบทุกพรรคก็หนาวแล้ว อีกทั้งถ้า ‘พิธา’ ถูกสอยจากคดีหุ้น ITV บรรดาด้อมส้มจำนวนมหาศาลจะออกมากดดัน ยิ่งกว่ายุค ‘ธนาธร’ โดนสอย และยุบอนาคตใหม่คูณ 3 เท่า ในทางกลับกัน หากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถทำตามที่หาเสียง โดยเฉพาะมาตรา 112 จะถูกสีส้มถล่ม ผสมผสานกับฝ่ายตรงข้ามโจมตี ขณะเดียวกันอาจได้เห็น ‘เพื่อไทย’ คุมกระทรวงพลังงาน แลกกับการยึดเก้าอี้ประธานสภาเพื่อผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ รวมทั้ง ม.112 เข้าสภาได้ตามเป้า!

หลังลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) จำนวน 23 ข้อ และอีก 5 ข้อเป็นข้อตกลงแนวทางการบริหารประเทศ โดยไม่มีการบรรจุมาตรา 112 ไว้ใน MOU ของบรรดาแกนนำจาก 8 พรรคการเมือง จำนวน 313 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ถือเป็นก้าวแรกที่จะทำให้รัฐบาลชุดนี้เป็นจริงได้ โดยเฉพาะการไม่บรรจุมาตรา 112 ลงไปนั้นจะทำให้ ส.ว.มีความสบายใจ และลงคะแนนโหวตให้ได้ครบ 376 เสียง เลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

ที่สำคัญแม้ว่านายพิธา จะสามารถก้าวผ่าน ส.ว.ไปได้ และไม่ถูกสอยหรือไม่ถูกตัดสิทธิจากคดีถือหุ้น ITV มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จก็ตาม แต่เขาจะต้องเผชิญแรงกดดันมากมาย ทั้งจากนโยบายที่ใช้หาเสียง และความคาดหวังของมวลชน ‘ด้อมส้ม’ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องของมาตรา 112 การปฏิรูปกองทัพ รวมไปถึงแรงเสียดทานจากคนในคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล พรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนระบบราชการและกลุ่มทุนผูกขาดต่างๆ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่สั่นคลอนเก้าอี้ของนายกฯ พิธา และพรรคก้าวไกลโดยตรง

‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’


รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ประเมินว่า 70% นายพิธา น่าจะตั้งรัฐบาลก้าวไกลได้สำเร็จจากการที่ไม่มีมาตรา 112 ใน MOU ที่มีการลงนาม ซึ่งจะทำให้บรรดา ส.ว.คงไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะไม่ลงมติให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ ส.ว. 250 คนนั้นมีทั้ง ส.ว.ที่ประกาศสนับสนุนเนื่องจากรวบรวมได้เสียงข้างมากมาแล้ว และยังมีกลุ่ม ส.ว.ที่ไม่สบายใจเรื่องมาตรา 112 คงจะคลายกังวลไปได้แล้ว และยังมี ส.ว.กลุ่มอื่นๆ ที่บรรดานักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย รวมถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีการติดต่อบรรดา ส.ว.ที่เป็นลูกน้องเก่าให้โหวตสนับสนุนนายพิธา เช่นกัน

“เรื่องมาตรา 112 พรรคที่ร่วมรัฐบาลเขาไม่สนับสนุนให้มีการยกเลิกหรือแก้ไข จึงเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกล ซึ่งมีเสียง 152 ต้องเสนอกฎหมายนี้ในสภาไปเอง เชื่อว่าถ้ามีการเสนอในสภา โอกาสที่จะผ่านคงน้อยมาก และอาจตกตั้งแต่ในวาระแรก และในช่วงเวลา 4 ปีนี้คิดว่าการแก้ไขมาตรา 112 ยากที่จะประสบความสำเร็จ”

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เพราะถ้าบรรดากลุ่มทุนต่างชาติไม่แน่ใจว่ารัฐบาลใหม่จะมีเสถียรภาพเขาจะถอนการลงทุน ทั้งในอุตสาหกรรมและตลาดหุ้นที่สามารถชี้วัดได้ แต่ถ้าต่างชาติมีความมั่นใจว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จกลุ่มทุนต่างๆ จะกลับเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ตลาดหุ้นที่เคยแกว่งก็ขยับขึ้นมาเขียวให้ได้เห็นกัน

นอกจากนี้ เราจะเห็นว่านายพิธา รีบเดินสายไปสร้างความมั่นใจให้กลุ่มทุน เพราะจากนโยบายค่าแรงเพิ่มวันละ 450 บาท ทำให้นักลงทุนต่อต้านได้ เพราะการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด บรรดาบริษัท โรงงานต่างๆ ต้องได้รับความเดือดร้อน นายพิธา จึงไปพบสภาอุตสาหกรรมเพื่อรับฟังปัญหา และจะได้ใช้เป็นช่องทางแก้ปัญหาเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล

“เมื่อ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ไปพบเอกอัครราชทูตจีน ยิ่งทำให้คนกลุ่มหนึ่งคลายกังวล เพราะมีการปล่อยข่าวว่ารัฐบาลใหม่จะให้อเมริกามาตั้งฐานทัพในบ้านเรา รวมไปถึงการที่สหรัฐฯ ไม่ขาย F-35 ให้ไทยในเวลานี้ ก็เป็นสัญญาณบอกว่าสหรัฐฯ ไม่ได้คิดจะมาตั้งฐานทัพในไทย และส่วนตัวคิดว่าไม่มีรัฐบาลใดจะยอมให้ต่างชาติมาตั้งฐานทัพในบ้านเราหรอก เพราะเรามีบทเรียนมาแล้วตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้มีการตั้งฐานทัพ ก็คงไม่มีใครยอมแล้ว”

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
รศ.ดร พิชาย บอกว่า อีก 30% ที่คาดว่าจะตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จเพราะอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ เช่น นายพิธา อาจถูกตัดสิทธิกรณีถือหุ้น ITV ทำให้ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่จากหลักฐาน ข้อเท็จจริง และเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเชื่อว่านายพิธา น่าจะผ่านฉลุย เพราะมีหุ้นจำนวนน้อย การที่จะไปครอบงำสื่อคงเป็นไปไม่ได้ และเวลาผ่านมากว่า 10 ปี ไม่เคยเห็นการกระจายภาพ กระจายเสียงของ ITV ปรากฏต่อสาธารณะ ดังนั้น เมื่อเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ก็สามารถหลุดพ้นจากการถูกถอนสิทธิให้เห็นมาแล้ว

“การแบ่งกระทรวงไม่น่าจะมีปัญหา เพราะก้าวไกลเน้นการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสังคม และคงสนใจกระทรวงพลังงานเพราะมีเรื่องที่ประชาชนเจอปัญหามาก ค่าไฟแพง เรียกว่าก้าวไกลอาจเป็นพรรคเดียวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกลุ่มทุนพลังงาน จึงน่าจะทำอะไรได้มาก แต่ก็ไม่แน่ เพราะเขาอยากได้เก้าอี้ประธานสภาเป็นของก้าวไกล อาจต้องยกพลังงานแลกก็เป็นได้”

รศ.ดร.พิชาย บอกว่า พรรคก้าวไกลต้องการเก้าอี้ประธานสภาเพื่อขับเคลื่อนในทางการเมือง เมื่อต้องการปฏิรูปการเมืองเก้าอี้ประธานสภาจึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นคนกำหนดประเด็น กำหนดญัตติต่างๆ ที่จะเข้าที่ประชุมสภา โดยเฉพาะเรื่องการแก้มาตรา 112 อยู่ที่ประธานสภาจะให้บรรจุเรื่องนี้เข้าสภาหรือไม่?

“เพื่อไทย ก็บอกว่าเรื่องมาตรา 112 ให้เข้าไปถกเถียงกันในสภา ซึ่งถ้าก้าวไกลผลักดันเข้ามาได้ ส.ส.คงได้แสดงความคิดเห็นกันต่อไป”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นายพิธา และพรรคก้าวไกล จะต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะระบบราชการและบรรดากลุ่มทุนผูกขาด ซึ่งมีนโยบายใน MOU ที่รัฐบาลสามารถทำได้เลย และไม่มีคนต่อต้าน เช่น เรื่องการทำประชามติเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ การผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียม หรือการบริหารที่ใช้งบประมาณฐานศูนย์และเรื่องสุราก้าวหน้า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเมื่อรัฐมนตรีคลังเข้าไปนั่งก็ไปแก้ระเบียบ ไปปลดล็อกให้ผู้ผลิตรายย่อยเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้

ส่วนนโยบายที่จะเป็นอุปสรรคและพรรคก้าวไกลจะต้องถูกต่อต้านจากบรรดาข้าราชการกระทรวงมหาดไทย คือนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งที่ความจริงพรรคก้าวไกลไม่ได้จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ พร้อมกันทั่วประเทศ แต่จะพิจารณาเป็นโครงการนำร่องในจังหวัดที่มีความพร้อม มีการทำประชามติจากคนในจังหวัดนั้นว่าต้องการผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ เช่น ภูเก็ต ชลบุรี ขอนแก่น เป็นต้น

ตามด้วยนโยบายปฏิรูปกองทัพ ซึ่งถ้าดำเนินการจริงน่าจะได้รับการต่อต้านจากบุคลากรในกองทัพเช่นกัน เพราะในนั้นมีการปรับโครงสร้างสภากลาโหม หรือเรื่องการนำทรัพย์สินของกองทัพมาไว้ที่กระทรวงการคลัง

“เรื่องทรัพย์สินที่กองทัพเคยได้ประโยชน์ ถ้าจะเอาสนามกอล์ฟมาจัดทำเป็นสวนสาธารณะ คงจะเป็นเรื่องยาก และเชื่อว่าทำไม่ได้ในปีแรกๆ แต่พรรคก้าวไกลคงต้องผลักดันกันต่อไป”

อีกทั้งยังต้องเผชิญกับเรื่องของกลุ่มทุนผูกขาด ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการให้เกิดเสรีในเรื่องธุรกิจโทรคมนาคม การจะไปแตะ TRUE กับ DTAC ว่าต้องแยกจากกันคงถูกต่อต้านมาก หรือการบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านทุนผูกขาดอย่างจริงจังคงจะไปกระทบนายทุนใหญ่แน่นอน

“การปรับโครงสร้างพลังงานจะไปแตะทุนที่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค จึงต้องเข้าไปดูว่าจะปรับอะไร อย่างไรเพื่อความสมเหตุสมผล ที่จะเป็นไปได้ก็ต้องสู้กันไป”

นายพิธา เดินทางไปขอบคุณชาวระยอง ผู้คนออกมารอรับหลายหมื่นคน

ม็อบที่มาชุมนุมสมัยธนาธร โดนยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563
ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนานิด้า ย้ำว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องระวังที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี และบรรดารัฐมนตรีไม่มีประสบการณ์ อาจถูกวางยาได้ง่าย คือสั่งอะไรไปแล้วทำเฉย หรือไม่ทำ ซึ่งเชื่อว่าพรรคก้าวไกลน่าจะรู้และเตรียมรับมือไว้เช่นกันโดยเน้นที่ความโปร่งใส มีการออกระเบียบมาให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูล และตรงไหนที่ขับเคลื่อนไม่ได้ต้องชี้แจงเหตุผลมา อาจจะใช้อำนาจรัฐในการผลักดันไปปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ ให้เร็วขึ้นได้

“กลุ่มข้าราชการเลือกก้าวไกล 44% เลือกเพื่อไทย 27% เลือกรวมไทยสร้างชาติแค่ 12% แปลว่าคนเหล่านี้ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่พรรคก้าวไกลยิ่งต้องระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะต้องการไปสร้างบรรทัดฐานใหม่ ใครมีเรื่องผิด อื้อฉาวก็ต้องลาออก อาจทำให้นักการเมืองเก่าที่อยู่พรรคร่วมรัฐบาลลำบากใจได้เช่นกัน เพราะนักการเมืองรุ่นเก่ามีเรื่องอื้อฉาว หรือโดนศาลสั่งพักการทำงานยังไม่ยอมออกก็มี”

ดังนั้น หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลมาได้แล้ว แต่จะอยู่ได้นานแค่ไหนก็อยู่ที่นายพิธา จะบริหารอย่างไร ไม่ว่าจะเรื่องความเห็นภายในพรรค การเดินหน้าผลักดันนโยบายที่คนคาดหวัง โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งข้อดีของนายพิธา คือมีลักษณะของการประนีประนอม ไม่มีความแข็งกร้าว มีความอ่อนน้อมถ่อมตน โดยไม่เสียจุดยืน ซึ่งบุคลิกแบบนี้น่าจะคุยได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล

ส่วนที่สังคมหวั่นเกรงว่าจะเกิดการชุมนุมของบรรดาด้อมส้มจนนำไปสู่ความรุนแรงนั้น รศ.ดร.พิชาย บอกว่า ม็อบด้อมส้มจะเกิดได้ทันทีเมื่อนายพิธา ถูกตัดสิทธิทางการเมืองกรณี ITV มีผลให้นายพิธา หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“ม็อบสีส้มหากเกิดขึ้นมันเป็นม็อบที่น่ากลัวมาก เพราะตอนนี้ คุณพิธา เป็นนักการเมืองที่ประชาชนมีความคาดหวังสูงในตำแหน่งนายกฯ และเป็นคนที่โดดเด่นในตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ ที่เหนือกว่านักการเมืองคนอื่นๆ ในปัจจุบันมาก ทั้งในเรื่องความนิยม การพูดจา การสื่อสารทั้งในและต่างประเทศ โซเชียลทำ TIKTOK ที่เกี่ยวกับคุณพิธา ออกมามากมาย ไปดูช่วงที่นายพิธา เดินทางไปขอบคุณชาวระยอง จะเห็นภาพผู้คนออกมารอรับหลายหมื่นคน ถ้าเขาโดนสอยม็อบที่จะมาชุมนุมจะมากกว่าสมัยธนาธร โดนสอยและยุบอนาคตใหม่ เรียกว่าต้องคูณสามนั่นแหละ”

โดยหากนายพิธา หลุดเก้าอี้นายกฯ บรรดาผู้ที่เลือกก้าวไกลทั้งในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกรวม 3 ล้านกว่าคน คงเตรียมตัวออกมาเป็นม็อบกดดัน เพราะคนเหล่านี้เชื่อว่านายพิธา ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคง คงมีการประเมินสถานการณ์ไว้แล้ว จึงต้องมีความระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง อีกทั้งต่างประเทศคงไม่ยอมรับ หากนายพิธา จะถูกตัดสิทธิ เพราะเขามองเป็นความไร้สาระ เนื่องจาก ITV ไม่มีตัวตนในการออกอากาศ

“ส่วนพวกไม่ชอบคุณพิธา จะมีการปลุกระดม พวกไอโอทั้งหลายก็เผยแพร่เรื่องตั้งฐานทัพ เรื่องล้มสถาบัน มันก็จะวุ่นวายไปหมด”

นายปิยบุตร แสงกนกกุล
ที่สำคัญที่สุด นายพิธา และพรรคก้าวไกลจะต้องระมัดระวังให้ดีคือการบริหารมวลชนสีส้ม หรือบรรดาด้อมส้มทั้งหลาย เพราะในกลุ่มสีส้มจำนวนหนึ่งจะมีความเร่าร้อน ต้องการที่จะปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ ที่ได้มีการหาเสียงไว้ โดยเฉพาะเรื่องมาตรา 112 จะสร้างความกดดัน ซึ่งนายพิธา ต้องบริหารอารมณ์มวลชนที่สนับสนุนก้าวไกลให้เหมาะสม เพราะคนเหล่านี้มีความหวังมาก ก็ย่อมผิดหวังมาก จึงเป็นเรื่องที่จะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน

“คนพวกนี้จะส่งเสียงในสื่อโซเชียล ในทวิตเตอร์มาก่อน เหมือนที่เคยทวีต #มีกรณ์ ไม่มีกู มาแล้ว ถ้าเป็นหลักพัน หลักหมื่นทำความเข้าใจได้ ก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ถ้าเป็นหลักแสนขึ้นไปจะลำบากกันหน่อย ต้องยอมรับคนที่เลือกก้าวไกลมีหลายกลุ่มมาก เลือกเพราะชอบยกเลิกเกณฑ์ทหาร เลือกเพราะชอบการกระจายอำนาจ เลือกเพราะสุราก้าวหน้า เลือกเพราะระบบรัฐสวัสดิการ เลือกเพราะปฏิรูปกองทัพ เลือกเพราะแก้มาตรา 112”

ดังนั้น กลุ่มต่างๆ ทั้งในพรรคและนอกพรรค รวมไปถึงมวลชนสีส้มอาจจะกลายเป็นแรงกดดันที่ทรงอิทธิพลจนดูเหมือนว่านายพิธาและพรรคก้าวไกลเป็น ‘ลูกไก่ในกำมือ’ ใช่หรือไม่!?



กำลังโหลดความคิดเห็น