ประเมินเสียง ส.ว. ชี้ชัดพร้อมโหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ หากก้าวไกลยินดีถอย ไม่แก้ ม.112 เหตุสภาสูงหวั่นกระทบความมั่นคงในระยะยาว “ส.ว.เสรี” ลั่นอย่าลุแก่อำนาจ ด้าน “รศ.ดร.พิชาย” แนะก้าวไกลขอเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน เชื่อ ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนายินดีโหวตให้ ขณะที่ ส.ว.ที่มีแนวคิดประชาธิปไตยน่าจะมีมากกว่า 30 เสียง ส่วน ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112 มีทางออก โดยสามารถโหวตคว่ำเมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่สภา พร้อมระบุกรณีหุ้นไอทีวีไม่กระทบคุณสมบัติ "พิธา" และปัญหาการปราศรัยของ ส.ส.ก้าวไกล ไม่นำไปสู่การยุบพรรค
คงจะไม่ง่ายเสียแล้วสำหรับการขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคก้าวไกลจะแลนด์สไลด์ สามารถกวาด ส.ส.ได้ถึง 151 ที่นั่ง อยู่ในฐานะพรรคที่มีคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง และได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งล่าสุดนายพิธา ประกาศว่าจะจัดตั้งรัฐบาล 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม รวมกันเป็น 309 เสียง แต่อย่าลืมว่าในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายพิธา จะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือได้ไม่ต่ำกว่า 376 เสียง ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงต้องดูว่าจะใช้กลยุทธ์ใดในการหาเสียงสนับสนุนที่ยังขาดอีก 66 เสียง
ซึ่งเกมนี้มิอาจนิ่งนอนใจ เพราะถึงแม้ก้าวไกลจะประกาศว่าจะจับมือกับอีก 5 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่หากดูจากท่าทีของ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งพูดชัดว่า “จะไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง ให้ก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลก่อน” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากก้าวไกลไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้แล้วเพื่อไทยจะอยู่เฉยๆ เพราะตามกติกาแล้วหากพรรคที่มีคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับสองที่จะจัดตั้งรัฐบาล!
ที่น่าสังเกตคือ ในขณะที่นายพิธา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2566 ว่า “ผมได้โทรศัพท์หาคุณแพทองธาร ชินวัตร แสดงความยินดีกับความมุ่งมั่นตั้งใจในการเดินทางหาเสียง ที่ทำได้อย่างดีเยี่ยมไร้ที่ติ และได้เชิญชวนพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมในการจัดตั้งรัฐบาลตามที่เคยสัญญากับพี่น้องประชาชน”
แต่ในวันที่ 16 พ.ค.2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กลับออกมาบอกว่า “พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้รับเทียบเชิญจากก้าวไกล ”
ซึ่งเท่ากับเป็นการแบ่งรับแบ่งสู้ และส่งสัญญาณว่าเพื่อไทยยังไม่ตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลกับก้าวไกลหรือไม่?
ดังนั้น สิ่งที่ก้าวไกลต้องตระหนักคือต้องหาเสียงสนับสนุนเพื่อโหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ ให้ได้เร็วที่สุด แต่เสียงที่ยังขาดอยู่อีก 66 เสียง จะหาจากไหน? ในเมื่อหลายพรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลมีท่าทีว่าจะไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯ จากก้าวไกล โดยนอกจากพรรคของสองลุงที่ยืนคนละข้างกับก้าวไกลอย่างรวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐแล้ว พรรคภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนาประกาศชัดว่าจะไม่แก้มาตรา 112 ซึ่งแปลตรงๆ ว่าไม่สนับสนุนนายพิธา เป็นนายกฯ อย่างแน่นอน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์นั้นแม้จะมีสมาชิกพรรคบางคนออกมาบอกว่าควรสนับสนุนนายพิธา ซึ่งได้รับฉันทมติจากประชาชน แต่ในทางการเมืองแล้วประชาธิปัตย์กับก้าวไกลเป็นไม้เบื่อไม้เมากันอยู่ และแม้ 25 เสียงของประชาธิปัตย์จะยกมือสนับสนุนนายพิธา แต่เสียงก็ยังไม่พออยู่ดี
ส่งผลให้ก้าวไกลจำเป็นต้องขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่หากฟังเสียงจาก ส.ว.ส่วนใหญ่ในตอนนี้สาเหตุที่ ส.ว.ไม่อาจสนับสนุนนายกฯ จากพรรคก้าวไกล คือไม่สามารถยอมรับเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งถือเป็นความมั่นคงของชาติ ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ก้าวไกลจะยอมถอย โดยละเว้นเรื่องการแก้ ม.112 เพราะดูจะเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถตกลงกันได้
โดย แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ หนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พูดถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่า “ส.ว.จำนวนไม่น้อยยินดีปิดสวิตช์ และเห็นด้วยว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกลควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนโยบายอื่นๆ ของก้าวไกลนั้น ส.ว.ไม่ติดใจ ยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ที่ไม่ต้องการให้ไปแตะ แม้จะไม่ได้ยกเลิก ม.112 แค่แก้ไข เนื่องจากเราเกรงว่าจะลุกลามบานปลาย เพราะท่าทีของก้าวไกล และกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีต่อเรื่องนี้นั้นก้าวร้าวมาก ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ในวาระ 4 นี้ก้าวไกลจะเว้นเรื่องนี้ไว้ก่อน”
ซึ่งสอดคล้องกับ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ประเด็นที่ ส.ว.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลคือ 1) เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และ 2) การนำต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ และสร้างความแตกแยกให้คนในชาติ หากมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านทำให้เกิดความแตกแยก ซึ่งไม่ใช่แค่ ส.ว.เท่านั้น พรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่เห็นด้วย
การที่ก้าวไกลบอกว่าหากไม่โหวตให้ก้าวไกลแปลว่าไม่เคารพเสียงประชาชนนั้น ต้องอย่าลืมว่าคนไทยที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งนี้มีทั้งหมด 52 ล้านคน ซึ่งคนที่เลือกก้าวไกลมี 10 กว่าล้านเสียง แล้วเสียงประชาชนส่วนอื่นๆ พรรคก้าวไกลจะไม่เคารพหรือ อีกทั้งคนที่เลือกก้าวไกลไม่ได้แปลว่าเขาสนับสนุนเรื่องแก้ ม.112 ทุกคน เพราะนโยบายของก้าวไกลมีเยอะมาก เขาอาจจะเลือกก้าวไกลเพราะนโยบายอื่นๆ ก็ได้
“จริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่ ส.ว. เพราะข้อสำคัญคือถ้าคุณเสนอแบบนี้ พรรคการเมืองต่างๆ แม้แต่พรรคเพื่อไทยเขาก็ไม่เอาด้วย หลายพรรค อย่างภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา เขาพูดชัดว่าไม่แตะ ม.112 แล้วคุณจะเป็นนายกฯ ได้หรือ ไม่ต้องถามเลยว่า ส.ว.จะโหวตให้ใคร คุณยังตกลงกันเองไม่ได้เลย ไปตกลงกันก่อนว่าพรรคอื่นเขาจะเอากับคุณหรือเปล่า เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะมากดดัน ส.ว.ให้โหวตเลือกนายกฯ จากก้าวไกล ซึ่งถ้าจะขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.พรรคก้าวไกลต้องประกาศต่อสาธารณะอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ไม่ใช่ว่าก้าวไกลได้ 151 เสียงแล้วจะเอาทุกอย่าง เมื่อมีอำนาจแล้วอย่าลุแก่อำนาจ” นายเสรี กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า ตอนนี้พรรคก้าวไกลและพรรคที่คาดว่าจะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงรวมกัน 310 เสียง ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 376 เสียง จึงยังขาดอีก 66 เสียง ดังนั้น สิ่งที่พรรคก้าวไกลควรทำคือการขอเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล ตามด้วยการขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา
ทั้งนี้ ล่าสุดมีอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคนสำคัญ เช่น มาดามเดียร์ น.ส.วทันยา บุนนาค นายสาธิต ปิตุเตชะ และนายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน ออกมาเสนอความเห็นให้พรรคประชาธิปัตย์โหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ ซึ่งถือเป็นความคิดที่น่าชื่นชมและเป็นปรากฏการณ์ที่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทั้ง 3 ท่านคงจะเสนอความเห็นนี้ต่อกรรมการบริหารพรรค และออกเป็นมติพรรค ซึ่งเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์มีแนวโน้มสูงมากที่จะรับความคิดนี้เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะกอบกู้คะแนนนิยมของประชาธิปัตย์คืนมา และเชื่อว่าผู้ใหญ่ในพรรคอย่าง นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน จะสนับสนุนแนวทางนี้ด้วย
ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนานั้นโดยส่วนตัวเชื่อว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา จะสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยและโหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ แม้ว่าพรรคชาติไทยพัฒนาจะเป็นฝ่ายค้าน เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้นเชื่อว่าคงไม่โหวตให้ก้าวไกลแน่นอน
รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า พรรคประชาธิปัตย์มี 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนามี 10 เสียง รวมเป็น 35 เสียง ส่วนที่ยังขาดอีก 31 เสียง (66-35 = 31) เชื่อว่าจะสามารถขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ได้ ซึ่ง ส.ว.มีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่จะไม่โหวตให้ก้าวไกลเลย และ ส.ว.กลุ่มที่มีแนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งคาดว่ากลุ่มนี้น่าจะมีถึง 30 กว่าเสียง
“ตอนนี้บทบาทของ ส.ว.มีความสำคัญมาก ส.ว.มีทางเลือก 2 ทาง คือ โหวตสนับสนุนคุณพิธา หรือไม่สนับสนุนโดยโหวตสวนหรือวางเฉย ซึ่งการโหวตทั้ง 2 แนวทางนั้นมีผลต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก ถ้า ส.ว.สนับสนุนคุณพิธา จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สามารถบริหารประเทศได้ ประเทศก็ขับเคลื่อนไปข้างหน้า นานาชาติจะให้การยอมรับเพราะเราปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนว่ารัฐบาลก้าวไกลจะบริหารดีหรือไม่ค่อยมาตรวจสอบกันภายหลัง แต่ในทางกลับกันหาก ส.ว.ไม่ให้การสนับสนุนคุณพิธา ก็ทำให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ การเมืองไทยจะเกิดปัญหาไร้เสถียรภาพทันทีเพราะไม่รู้จะไปทางไหน การใช้จ่ายงบประมาณจะล่าช้า การลงทุนจะหยุดชะงัก และอาจจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองตามมา” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
ส่วนประเด็นที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนตัวแทนจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการแก้ไขมาตรา 112 แต่หากก้าวไกลประกาศว่าจะไม่แก้ไขมาตรา 112 ส.ว.ก็พร้อมสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกฯ นั้น รศ.ดร.พิชาย มองว่า คงยากที่พรรคก้าวไกลจะไม่แก้มาตรา 112 เนื่องจากเป็นนโยบายที่ได้เคยหาเสียงไว้ และการที่ประชาชน 14 ล้านคนเลือกพรรคก้าวไกลก็แปลว่าประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะก้าวไกลพูดถึงเรื่องนี้ในทุกเวที
“ดังนั้น ส.ว.จะขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนก็คงไม่ได้ ซึ่งหาก ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 สามารถโหวตคัดค้านขณะที่มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวในสภาได้ เพราะกฎหมายต้องผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา หากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยก็สามารถโหวตคว่ำกฎหมายที่มีการแก้ไขได้” รศ.ดร.พิชาย ระบุ
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าหากก้าวไกลไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ พรรคเพื่อไทยซึ่งมีคะแนนมาเป็นอันดับ 2 อาจขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนั้น รศ.ดร.พิชาย วิเคราะห์ว่า หาก ส.ว.ไม่สนับสนุนนายกฯ จากก้าวไกล แต่ไปสนับสนุนนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 ที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าและอาจได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากเพื่อไทยมี 140 เสียง ดึงภูมิไทยเข้ามาอีก 70 เสียง เป็น 210 เสียง เอาพลังประชารัฐเข้ามาอีก 40 เป็น 250 เสียง ยังเป็นรัฐบาลสียงปริ่มน้ำ แม้จะเอาพรรคประชาชาติเข้ามาอีก 10 เสียง เป็น 260 เสียงก็ยังไม่มีเสถียรภาพ จะดึงประชาธิปัตย์เข้ามาไม่น่าจะได้ เพราะประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยไม่ถูกกัน
“หากจะเอาสูตรนี้ต้องมีคน 3 คนที่เสียสละ คือ คุณหมอชลน่าน ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคุณเศรษฐา ต้องลาออกจากประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เพราะ 2 คนนี้เคยประกาศว่าไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ ส่วนคนที่ 3 ต้องมีคนใดคนหนึ่งเสียสละระหว่างคุณอุ๊งอิ๊ง กับ พล.อ.ประวิตร ถ้าจะเอาคุณอุ๊งอิ๊ง นั่งนายกฯ พล.อ.ประวิตร ต้องลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ เพราะคุณอุ๊งอิ๊ง เคยพูดว่าจะไม่เอาคนที่ทำรัฐประหารแต่ไม่เคยบอกว่าจะไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้น ถ้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐแต่ไม่มี พล.อ.ประวิตร ถือว่าไม่ได้ผิดคำพูด หรือถ้า พล.อ.ประวิตร ไม่ลาออก คุณอุ๊งอิ๊ง ก็ต้องเสียสละ ซึ่งผมคิดว่าเขาน่าจะเสียสละ พล.อ.ประวิตร มากกว่า” รศ.ดร.พิชาย ระบุ
อีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายเกรงว่าอาจส่งผลให้ก้าวไกลไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ คือ กรณีการยื่นยุบพรรคก้าวไกล และการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา นั้น รศ.ดร.พิชาย เชื่อว่า ประเด็นดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อพรรคก้าวไกล โดยกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบถ้อยคำปราศรัยของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ว่าการหาเสียงมีลักษณะให้ร้ายสถาบัน พาดพิงไปถึงโครงการพระราชดำริว่ามีการคอร์รัปชัน ซึ่งนายศรีสุวรรณ ชี้ว่าอาจนำไปสู่การยุบพรรคนั้น โดยส่วนตัวมองว่าโครงการพระราชดำริดำเนินการโดยองค์กร ไม่ใช่สถาบัน
ส่วนกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชี่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบว่าการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น นั้นเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่นั้น โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม เนื่องจากปัจจุบันไอทีวีไม่ได้ดำเนินกิจการสื่อจึงไม่สามารถสร้างความได้เปรียบในการหาเสียงเลือกตั้งให้นายพิธาได้