คดีพระคม ยักยอกเงินวัดป่าธรรมคีรีเกินกว่า 200 ล้านบาท คาดไม่ใช่คดีสุดท้าย สร้างโปรไฟล์พระสายปฏิบัติ ดึงคนใหญ่คนโตเป็นศิษย์ ต่อยอดฐานศรัทธาให้กว้างขึ้น แนะดูพระ-ดูวัดนานๆ ทำบุญไม่จำเป็นต้องเป็นวัดดังได้บุญเหมือนกัน ปลุกมหาเถรสมาคมทำงานเชิงรุก ตอนนี้องค์เทพเต็มเมือง
กลายเป็นเรื่องที่ทำหน้าคนทั้งประเทศต้องหันกลับมามองวงการสงฆ์ของเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากที่ตำรวจกองปราบปรามจับกุมขบวนการยักยอกเงินวัดกว่า 180 ล้านบาท เมื่อ 6 พฤษภาคม 2566 ประกอบด้วย นายคม คงแก้ว หรือพระอาจารย์คม อภิวโร หรือพระวชิรญาณโกศล (คม อภิวโร) อายุ 39 ปี นายวุฒิมา หรือพระหมอ เถาว์หมอ หรือพระมหาวุฒิมา เถาว์หมอ อายุ 38 ปี และ น.ส.จุฑาทิพย์ ภูบดีวโรชุพันธุ์ อายุ 35 ปี ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่ 64-66/2566 ตามลำดับ ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2566
ข้อหา “เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และรับของโจร” โดยจับกุมตัว นายคม ได้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนนายวุฒิมา จับกุมได้ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่ น.ส.จุฑาทิพย์ จับกุมตัวได้ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี
พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. กล่าวว่า สืบเนื่องจากได้รับการประสานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ พระอาจารย์คม ประธานฝ่ายสงฆ์ของวัดป่าธรรมคีรี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หลังสงสัยว่ามีการทุจริตเงินวัด จึงจัดกำลังพื้นที่สืบสวนตรวจสอบภายในวัด
จนพบว่า พระอาจารย์คม ซึ่งเป็นพระผู้ดูแลการใช้จ่ายเงินต่างๆ ของวัด รวมถึงเงินที่ญาติโยมมีจิตศรัทธาร่วมทำบุญ ได้ร่วมกับ พระหมอ เจ้าอาวาสวัด นำเงินของวัดไปใช้จ่ายส่วนตัว รวมถึงยังนำเงินสดไปมอบให้น.ส.จุฑาทิพย์ น้องสาวของตนเพื่อฝากเข้าบัญชีธนาคาร หรือเก็บไว้ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบทั้งสามร่วมกันยักยอกเงินของวัดไปแล้วกว่า 180 ล้านบาท
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมยังพบทรัพย์อีกจำนวนหนึ่งที่ซุกซ่อนตามพื้นที่ต่างๆ เบื้องต้นคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
พระคมไม่ใช่คดีสุดท้าย
คดีนี้สร้างความน่าสนใจให้สังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ที่ถูกจับกุมเป็นพระชื่อดังที่มีลูกศิษย์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และจำนวนเงินที่ยักยอกจากวัดนั้นมีมูลค่าสูงมาก
อาจารย์ด้านพุทธศาสนากล่าวว่า คดีในลักษณะนี้จะมีออกมาเรื่อยๆ ตราบใดที่สังคมพุทธบ้านเรายังเป็นแบบนี้ กรณีของอดีตพระคม ย่อมไม่ใช่คดีสุดท้าย สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนว่าพุทธศาสนิกชนถูกหลอกให้เห็นในภาพที่บุคคลเหล่านี้สร้างขึ้นมา
สมัยนี้พระพรรษาน้อยก็ดังได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต่างไปจากวงการดารา ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือพระต้องทำการตลาด สร้างจุดเด่น สร้างประวัติให้น่าสนใจ มีสื่อโซเชียลที่ถูกนำมาใช้โปรโมตให้คนทั่วไปเห็นในวงกว้างภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เมื่อสามารถสร้างให้คนเชื่อ ศรัทธาได้ จากนั้นทุกอย่างจะไหลเข้ามา
อย่างกรณีพระคม ในด้านประวัติความเป็นมามีความคลุมเครืออยู่มาก แต่การสร้างโปรไฟล์สร้างความน่าสนใจเป็นอย่างมาก พระหนุ่ม ดาวรุ่ง คุณสมบัติดี เดินสายพระปฏิบัติ อยู่วัดป่า คำสอนต่างๆ พูดได้ตรงใจ มีทีมสนับสนุนด้านสื่อโซเชียล มีลูกศิษย์ที่เป็นคนใหญ่คนโตช่วยกันผลักดัน การบอกบุญก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ ในวัดล้วนแล้วแต่สำเร็จโดยเร็ว
เมื่อผู้นำของวัดสามารถสร้างศรัทธาได้เป็นวงกว้างแล้ว ขนาดระดับเจ้าสัว หรือระดับองคมนตรียังศรัทธา ดังนั้น จึงไม่ต้องห่วงเรื่องของเงินบริจาค การบอกบุญใดๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก
ความเป็นธรรมยุติกนิกายเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยสร้างศรัทธา พระป่าสายปฏิบัติถูกอ้างถึงว่าเดินสายเดียวกับหลวงตามหาบัว ยิ่งเพิ่มศรัทธาได้มากขึ้น แถมร่ำลือไปถึงเป็นระดับพระอริยสงฆ์ พระสายนี้ไม่จับเงิน ไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้เงินไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แม้การบอกบุญของวัดนี้จะเป็นการรับบริจาคเข้าไปที่บัญชีวัด แต่สิ่งที่ตำรวจตรวจพบคือ เป็นการร่วมกับเจ้าอาวาสใช้อำนาจเบิกเงินออกมา ส่วนจะนำไปไหน ทำอะไร เป็นเรื่องที่พระที่ถูกจับสึกและถูกดำเนินคดีเท่านั้นที่ทราบดี
ย้อนคำสอนพระคม
จากการที่พระคม เป็นพระดาวรุ่ง คำสอนต่างๆ มักถูกนำมาทำเป็นกราฟิกโพสต์สอนคนไว้หลากหลาย หนึ่งในนั้นที่ถูกหยิบนำขึ้นมาล้อเลียนโดยไพรวัลย์ วรรณบุตร อดีตพระวัดสร้อยทอง เปรียญธรรม 9 ประโยค ที่โพสต์ข้อความ อ้อ เหรอคะ! บนกราฟิกคำสอนของพระคม
“คนมารยาสาไถยมีมาก อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ไม่ควรไว้ใจคนที่แกล้งทำสงบเสงี่ยม คนสมัยนี้หน้าอย่างหลังอย่าง เจ้าเล่ห์เพทุบายหลอกให้เชื่อว่าเป็นคนดี เพื่อกอบโกยลาภ ยศ สุข สรรเสริญต่างๆ” โอวาทธรรม พระอาจารย์คม อภิวโร วัดป่าธรรมคีรี
นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา กล่าวว่า อยากย้ำเรื่องการคบหาพระ เราอย่าไปหาพระที่วิเศษมากนัก หรือพระที่แอบอ้างสรรพคุณมากนัก ควรจะเลือกพระปกติ พระธรรมดา เลือกทำบุญแต่พอประมาณ บางทีเราใช้เงินแก้ปัญหาปลายเหตุด้วยการทำบุญอย่างเดียวบางทีจะทำให้พระเสีย จะทำให้วงการพระเสียระบบ คิดไตร่ตรองก่อนทำบุญ
แหล่งข่าวกล่าวว่า การดูว่าพระวัดไหนดีหรือไม่เป็นเรื่องยาก เพียงแต่ขอให้ค่อยๆ ดู และดูไปนานๆ ซึ่งบางครั้งแม้ว่าจะใช้เวลาดูนานแต่ยังมีโอกาสดูผิดได้เช่นกัน ที่จริงวัดดังกับวัดไม่ดังเมื่อคุณทำบุญแล้วผลบุญที่ได้ย่อมไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ผู้ที่เลือกทำบุญกับวัดดังอาจรู้สึกว่าสบายใจเท่านั้นเอง
พุทธศาสนิกชนที่เป็นผู้ถวายเงินทำบุญให้พระ และวัดนั้นต้องช่วยกันตรวจสอบด้วยเช่นกัน ที่เป็นอยู่ในเวลานี้คือวัดไหนร่ำลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ วัดไหนที่ร่ำลือกันว่าพระดีพระดัง ทุกคนก็แห่ตามกัน วัดและพระที่ดังไม่ต้องห่วงเรื่องเงินบริจาค มีเหลือล้นจนบางครั้งเกิดปัญหาทุจริต หรือเกิดเรื่องของผลประโยชน์ตามมา วัดที่ไม่ดัง ไกลหรือกันดารจะทำอะไรก็ลำบาก นี่คือความแตกต่างกันของพุทธศาสนาในบ้านเรา
มหาเถรสมาคมต้องเชิงรุก
อีกประการหนึ่งคือ หน่วยงานที่ควบคุมความประพฤติของพระอย่างมหาเถรสมาคม เรื่องระบบการตรวจสอบของมหาเถรสมาคมนั้นมีการกระจายอำนาจกันเป็นระดับหน จังหวัด อำเภอ ตำบล บางครั้งก็ทันเหตุการณ์ บางครั้งก็ล่าช้า บางครั้งมีความเกรงอกเกรงใจกันจนเกิดปัญหาตามมา
ในบางเรื่องระดับนโยบาย การออกมาเตือนเรื่องความเชื่อต่างๆ ตอนนี้คือไม่มี ตกลงเราจะนับถือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือเราควรเคารพองค์เทพต่างๆ ที่ผุดขึ้นอย่างมากมายในเวลานี้
ตอนนี้ทุกวัดเน้นไปที่สิ่งปลูกสร้างให้ใหญ่โต รวมไปถึงรูปปั้นเทพต่างๆ เพื่อดึงคนให้เข้าวัด เพราะจะมีผลต่อการพิจารณาในการขอสมณศักดิ์ของพระในวัดนั้น วัดไหนที่พระในวัดหรือเจ้าอาวาสได้รับสมณศักดิ์สูงๆ นิตยภัตก็มากขึ้น กิจนิมนต์ก็เยอะขึ้น ทำอะไรก็ง่ายตามไปด้วย ตรงนี้ควรมีการทบทวนว่าหลักการดังกล่าวเหมาะสมแล้วหรือไม่
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j