สำรวจตลาดเงินฝากช่วงนี้มี 3 ทางเลือก เงินฝาก 10 เดือนของ ธ.ก.ส.ยังพอมี ดอกเบี้ย 1.5% ออมสินฝาก 8 เดือน ดอกเบี้ย 1.32% ระยะนี้มีพันธบัตรรุ่นออมอุ่นใจ 7 ปี ดอกเบี้ย 2.7% เสนอขาย 10 พฤษภาคม ชี้ช่วงนี้ตลาดพันธบัตรไม่คึกคักเหตุรอบนี้ผลตอบแทนลดลงเทียบรุ่น 7 ปีขายเมื่อปลายปี 65 ดอกเบี้ย 3% หลายคนลดน้ำหนักสลากออมทรัพย์เพิ่มสัดส่วนเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ชี้คนไทยนิยมพันธบัตรไม่เกิน 5 ปี
ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 5 ของปี 2566 แต่ผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินออมยังคงกระจุกตัวอยู่แค่สถาบันการเงินของรัฐบาล และสำนักบริหารหนี้สาธารณะเท่านั้นที่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกมาให้ประชาชนที่พอมีเงินออมนำมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นหลังพ้นสถานการณ์โควิด ที่แทบทุกประเทศต้องเผชิญกับเงินเฟ้อจากภาวะการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน กระทบต่อราคาน้ำมัน ลามไปถึงเกิดเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลก
การแก้ปัญหาของแต่ละประเทศเป็นไปตามปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ อย่างสหรัฐอเมริกาเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจนดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นไปอยู่ที่ 5-5.25% ส่วนเมืองไทยปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ 1.75% จนควบคุมเงินเฟ้อได้
โปรโมชันที่กระตุ้นให้เกิดการออมเงิน เท่าที่ออกมาส่วนใหญ่มาจากสถาบันการเงินของรัฐที่ออกผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ออกมา ส่วนธนาคารพาณิชย์เอกชนมีทั้งขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่มีโปรเงินฝากประมาณ 12-15 เดือนออกมาบ้างแต่น้อยมาก อาจออกมาเพียง 1 ครั้ง และส่วนใหญ่ไม่เน้นทำประชาสัมพันธ์มากนัก หรือบางรายไม่ออกโปรฯ เหล่านี้เลย
สลากเสร็จ-เงินฝากต่อ
เราจึงได้เห็นแบงก์รัฐอย่างออมสิน และ ธ.ก.ส.ที่มีผลิตภัณฑ์ทั้งเงินฝาก และสลากออมทรัพย์ออกมาเสนอขายให้ผู้สนใจออมเงินอย่างต่อเนื่อง
ธ.ก.ส. เพิ่งขายสลากออมทรัพย์ทวีสิน ชุด เกษตรมั่นคง 4 เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 วงเงิน 1 แสนล้านบาทหมดเกลี้ยง รุ่นนี้ราคาต่อหน่วยสูงเป็น 500 บาท จึงต้องเพิ่มเงินรางวัลที่ 1 เป็น 20 ล้านบาท และรางวัลอื่นๆ รวมทั้งเพิ่มดอกเบี้ยสลาก สลากออมสินปรับเพิ่มรางวัลที่ 1 เป็น 30 ล้านบาท (เดิม 10 ล้านบาท) รวมถึงเพิ่มเงินรางวัลเลขท้ายและดอกเบี้ยสลากตั้งแต่ 2 เมษายน 2566 เป็นต้นมา สลากออมสินสามารถซื้อได้ตลอด
อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งของธนาคารรัฐ คือ เงินฝาก ทั้ง 2 ธนาคารมักนิยมออกเงินฝากออมทรัพย์พิเศษไม่เสียภาษีมาเป็นจุดขาย โดยออกเงินฝากประเภทนี้เรื่อยมาตั้งแต่กลางปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นการล็อกเงินฝากตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีจังหวะเว้นเพื่อสลับกับออกสลากชุดใหม่บ้าง แต่พอก้าวเข้าสู่ปี 2566 เงินฝากออมทรัพย์พิเศษไม่เสียภาษีส่วนใหญ่ออกมาไม่เกิน 1 ปี
ออมสิน 11 เดือน
ช่วงเดือนเมษายน 2566 ธนาคารออมสินออกโปรโมชันเงินฝากฉลองก้าวสู่ปีที่ 111 บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 11 เดือน ดอกเบี้ยสูงเทียบเท่าฝากประจำ 1.6% ต่อปี เปิดรับฝาก 1-11 เมษายน 2566
เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 11 เดือน เปิดรับฝากทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ระยะเวลาฝากเงิน 11 เดือน ให้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step Up) ขั้นที่ 1 (เดือนที่ 1-7) อัตราดอกเบี้ย 0.80% ต่อปี ขั้นที่ 2 (เดือนที่ 8-10) อัตราดอกเบี้ย 1.15% ต่อปี และขั้นที่ 3 (เดือนที่ 11) อัตราดอกเบี้ย 5.99% ต่อปี คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.36% ต่อปี บุคคลธรรมดาได้รับสิทธิประโยชน์ดอกเบี้ยไม่ถูกหักภาษี
ดังนั้น ผู้ฝากเงินจะได้รับดอกเบี้ยเทียบเท่าเงินฝากประจำ 1.60% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดในขณะนี้เมื่อเทียบกับเงินฝากอื่นที่มีระยะเวลาฝากเงิน 11 เดือนเท่ากัน เปิดให้ฝากเงินได้ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป และไม่จำกัดวงเงินรับฝาก เงินฝากชุดนี้เปิดรับฝากเพียง 11 วัน ผลตอบรับมียอดฝากทะลุ 25,000 ล้านบาท
ธ.ก.ส. 10 เดือน
หลังจากเงินฝาก 11 เดือนของธนาคารออมสินปิดฉากลง ต่อมาค่าย ธ.ก.ส. ออก “เงินฝาก Step Up 10 เดือน” ดอกเบี้ยแบบขั้นบันได สูงสุด 6.20% ต่อปี เฉลี่ย 1.50% ต่อปี เปิดรับฝาก 17 เมษายน-15 พฤษภาคม 2566
อัตราดอกเบี้ยแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 (ระยะเวลา 7 เดือน) ร้อยละ 0.90 ต่อปี ช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2567 (ระยะเวลา 2 เดือน) ร้อยละ 1.25 ต่อปี และ ช่วงที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 (ระยะเวลา 1 เดือน) ร้อยละ 6.20 ต่อปี กำหนดฝากเงินขั้นต่ำครั้งละ 50,000 บาท แต่ไม่จำกัดวงเงินรับฝากสูงสุด ทั้งนี้ ผู้ฝากที่ถอนเงินบางส่วนหรือปิดบัญชีก่อนครบกำหนด ธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของต้นเงินที่ถอน ขั้นต่ำครั้งละ 500 บาท
ออมสิน 8 เดือน
ในระหว่างนี้ธนาคารออมสินออกบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงเสียดฟ้า ผลตอบแทนไว ไม่เสียภาษี เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 8 เดือน เปิดบัญชีขั้นต่ำ 10,000 บาท บุคคลธรรมดาที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป และนิติบุคคลทุกประเภท ไม่จำกัดวงเงินรับฝากสูงสุด อัตราดอกเบี้ยต่อปี 1.32 ต่อปี (เทียบเท่าเงินฝากประจำร้อยละ 1.55 ต่อปี) เปิดรับฝากตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2566
เงื่อนไขการถอน ถอนครั้งละเท่าใดก็ได้ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 8 เดือน ถอนหรือปิดบัญชีก่อนครบกำหนดได้รับดอกเบี้ยเผื่อเรียก เมื่อฝากครบ 8 เดือนนับตั้งแต่วันที่ฝากจะโอนดอกเบี้ยและยอดเงินฝากเข้าบัญชีเผื่อเรียกที่เป็นบัญชีคู่โอนที่ผู้ฝากแจ้งไว้
เงินฝาก ธ.ก.ส.ยังเหลือ
แหล่งข่าวจากวงการเงินฝากกล่าวว่า ถ้าพิจารณาเฉพาะเงินฝากในช่วงนี้มีให้เลือก 2 ค่ายระหว่างออมสิน 8 เดือน ดอกเบี้ย 1.32% ธ.ก.ส.เงินฝาก 10 เดือน ดอกเบี้ย 1.5% ของ ธ.ก.ส.ออกมาระยะหนึ่งแล้ว วงเงินรับฝาก 3 หมื่นล้านบาท เท่าที่ตรวจสอบตอนนี้กรุงเทพฯ และรอบๆ เต็มแล้ว แต่ยังเหลืออีกบางพื้นที่ราว 2 พันล้านบาท ซึ่งจะดึงโควตากลับมาที่ส่วนกลางในวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 คนที่สนใจลองสอบถามไปตามสาขาของ ธ.ก.ส.ใกล้บ้านว่ายังเปิดรับฝากอยู่อีกหรือไม่ เงินฝากของทั้ง 2 ธนาคารเป็นแบบไม่เสียภาษีด้วยกันทั้งคู่
ระยะนี้ถือว่าเป็นช่วงคาบเกี่ยวที่ผู้มีเงินออมสามารถเลือกฝากเงินกับแบงก์ที่ชอบได้ ถ้าเอาผลตอบแทนสูงกว่าคงเป็น ธ.ก.ส. ถ้าไม่ติดขัดเรื่องหาสาขาที่จะไปใช้บริการ หรือพร้อมฝากยาวก็ยังมีตัวเลือกอื่น
พันธบัตรใหม่ 7 ปี
นอกจากเงินฝากของธนาคารรัฐทั้ง 2 แห่งแล้วยังมีพันธบัตรรัฐบาลรุ่นออมอุ่นใจออกมาเสนอขายอีกตั้งแต่ 10 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมอุ่นใจ วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1) การจำหน่ายพันธบัตรให้แก่ประชาชน วงเงิน 35,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ที่ร้อยละ 2.70 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่
วอลเล็ต สบม. ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง วงเงิน 10,000 ล้านบาท เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 10-23 พฤษภาคม 2566 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินและผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย วงเงิน 25,000 ล้านบาท เปิดให้จองซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 15-17 พฤษภาคม 2566 วงเงินจองซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท ทวีคูณรอบละ 1,000 บาท
2) การจำหน่ายพันธบัตรให้นิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22-23 พฤษภาคม 2566 วงเงิน 5,000 ล้านบาท เป็นรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ร้อยละ 2.60 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน วงเงินซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท และไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง
พันธบัตรรอบนี้ไม่คึกคัก
เท่าที่สำรวจตลาดดูพันธบัตร รุ่นออมอุ่นใจ อายุ 7 ปี ที่จะเปิดขายตั้งแต่ 10 พฤษภาคมบนวอลเล็ต สบม. 1 หมื่นล้านบาท และอีก 2.5 หมื่นล้านบาท ผ่าน 4 ธนาคารใหญ่ ระหว่าง 15-17 พฤษภาคม 2566 (จัดสรรแบบ Small Lot First) ผลตอบแทน 2.7% ถือว่าได้รับความสนใจไม่มากนัก ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับพันธบัตรรุ่นสุขใจให้ออม ที่เปิดจำหน่ายช่วง 7-20 ธันวาคม 2565 ครั้งนั้นมี 3 รุ่นคือ 3 ปี ดอกเบี้ย 2.3% อายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 3% อายุ 10 ปี (นิติบุคคล) ดอกเบี้ย 2.9%
รอบนี้ 7 ปีเท่ากันผลตอบแทนเหลือ 2.7% (ปลายปี 3%) อายุ 10 ปี (นิติบุคคล) รอบนี้ดอกเบี้ย 2.6% (ปลายปี 2.9%) แน่นอนว่า Yield ของพันธบัตรรัฐบาลระยะที่ผ่านมาปรับลดลง ทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรต้องปรับลดลง
อีกอย่างตัวอายุพันธบัตรก็มีผลต่อการตัดสินใจออมเช่นกัน พอเป็นรุ่น 7 ปีแถมดอกเบี้ยไม่น่าสนใจ หลายคนเลยผ่าน คนไทยส่วนใหญ่ชอบพันธบัตรที่ถือไม่นาน 3 ปี ถือเป็นรุ่นยอดนิยม พันธบัตร 5 ปีหลายคนก็บ่นเพราะส่วนใหญ่คนซื้อเป็นกลุ่มสูงวัยต้องการได้ดอกเบี้ยเพื่อการดำรงชีวิต ถือนานๆ เกรงว่าอาจอยู่ไม่ทันได้ใช้เงินต้น
แถมช่วงนี้มีสลากออมสินให้เลือก มีเงินฝากไม่เสียภาษีให้เลือก แม้ผลตอบแทนจะเป็นรองพันธบัตรรัฐบาลและถือครองสั้นกว่า หลายคนจึงเลือกออมไปตามทางเลือกที่ตนเองมีความพร้อม
เพิ่มน้ำหนักเงินฝากลดสลาก
ช่วงโควิดตัวเลือกด้านการออมเงินมีน้อย รัฐกดดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ มุ่งแก้ปัญหาภาระหนี้สินของประชาชนที่มีอยู่ ในทางธุรกิจไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่เพราะกังวลเงินหนี้สูญ หลายท่านอาจไม่มีตัวเลือกในการออมเงินระยะนั้นต้องวิ่งหาสลากออมทรัพย์ที่บางรุ่นไม่มีดอกเบี้ยลุ้นรางวัลอย่างเดียว และลดผลตอบแทนสลากลง เปิดขายเป็นรอบๆ
นั่นคือภาวะที่ต้องยอมรับสภาพ ตอนนี้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น สลากออมทรัพย์ก็ปรับผลตอบแทนสูงขึ้น มีเงินฝากหลากหลายรูปแบบมากขึ้น หลายคนเริ่มลดน้ำหนักสลากออมทรัพย์ลง เนื่องจากผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ (ไม่ถูกรางวัลใหญ่) กว่าการออกผ่านเงินฝาก ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว หรือจะเลือกออมยาวผ่านพันบัตรรัฐบาลก็ได้ บางท่านอาจขยับไปลงทุนในทองคำ หรือหุ้นกู้เอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของแต่ละบุคคล
การเพิ่มหรือลดสัดส่วนการออมด้านใดด้านหนึ่งถือเป็นเรื่องปกติดเพราะผลตอบแทนจากการออมเงินรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอาจไม่เป็นที่พอใจได้เสมอไป การสลับไปยังการออมรูปแบบอื่นบ้างหากทำให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นย่อมเป็นเรื่องดี ขึ้นอยู่กับการยอมรับว่าในบางรูปแบบก็มีความเสี่ยงตามมา
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้มีเงินออมเป็นหลัก หากอยู่ในช่วงที่ใกล้หรือพ้นวัยทำงานแล้ว การออมที่ีมีความเสี่ยงสูงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะโอกาสที่จะกลับมาทำงานเก็บเงินใหม่ทดแทนของเดิมที่อาจสูญไปเป็นเรื่องยาก แม้ช่องทางที่ออมอยู่ในปัจจุบันจะได้ผลตอบแทนน้อย แต่มีความมั่นคงไม่เสี่ยงต่อเงินต้นสูญ ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j