“ทนายแก้ว” ชี้คดี “แอม ไซยาไนด์” อาจไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 247 ที่เว้นโทษประหารให้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมาตรานี้เริ่มใช้เมื่อ “คดีถึงสุด” ซึ่งคดีใดที่ศาลชั้นต้นตัดสินประหารต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณากลั่นกรอง กินเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ขณะที่แอม อายุครรภ์ 4 เดือนแล้ว อีกทั้งยังมีคดีโทษประหารต่างกรรมต่างวาระถึง 11 คดี พร้อมระบุ แอมต้องคืนทรัพย์ที่ยักยอกไปทั้งหมด แม้ผ่องถ่ายให้สามี-บุตร ก็เรียกคืนได้ อีกทั้งทายาทของเหยื่อสามารถฟ้องเรียก “ค่าทดแทนการเสียชีวิต” 5-8 ล้าน
กล่าวได้ว่าคดี “แอม ไซยาไนด์” ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่ง “แอม” หรือนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ ได้ก่อเหตุ “วางยาฆ่าชิงทรัพย์” เหยื่อไปแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ราย โดยมีเหยื่อที่รอดชีวิตเพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งเหยื่อเหล่านี้มีทั้งคนที่ให้แอมยืมเงิน ถูกแอมชักชวนให้นำเงินมาปล่อยกู้ ถูกหลอกในร่วมลงทุนในธุรกิจ ให้นำรถยนต์ไปจำนำ หลอกให้เล่นแชร์กับแอม และชักชวนให้ตั้งวงหวยทิพย์ ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันนอกจากสภาพศพคือคนที่อยู่กับผู้ตายเป็นคนสุดท้ายคือแอม และหลังจากเหยื่อเสียชีวิต ปรากฏว่าโทรศัพท์มือถือและทรัพย์สินต่างๆ สูญหายทั้งหมด
ดังนั้น นอกจากเจ้าหน้าที่จะต้องเร่งดำเนินคดีกับแอม ฐานฆ่าคนตายแล้ว สิ่งหนึ่งที่สังคมต่างจับตาคือ “ทรัพย์” ที่เหยื่อถูกแอมฉ้อโกงหรือขโมยไปนั้นจะสามารถทวงคืนกลับมาได้หรือไม่? อย่างไร
“ทนายแก้ว” มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล เจ้าของฉายาทนายโซเชียล ได้ไขข้อข้องใจในประเด็นดังกล่าวอย่างละเอียดว่า คดีของ “แอม ไซยาไนด์” นั้นล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับแล้วทั้งสิ้น 12 หมาย โดยจะแยกเป็นคดี แต่ละคดีต้องรับผิด 1 ครั้ง ซึ่งนอกจากความผิดทางอาญาแล้ว ญาติผู้ตายสามารถขอให้พนักงานอัยการฟ้องในส่วนของคดีแพ่งซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินได้ โดยหากผู้พิพากษาตัดสินว่าแอมมีความผิดฐานฆ่าเหยื่อจริง ทายาทของเหยื่อสามารถฟ้องเรียก “ค่าทดแทนการเสียชีวิต” ของเหยื่อได้ เนื่องจากเหยื่ออาจจะเป็นพ่อแม่ซึ่งมีลูกที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดู หรืออยู่ในฐานะลูกซึ่งมีพ่อแม่ที่ต้องอุปการะดูแล เมื่อเหยื่อเสียชีวิตลงบุคคลเหล่านี้ได้รับผลกระทบ ภรรยาหรือสามีที่จดทะเบียนสมรส และพ่อแม่ของเหยื่อสามารถฟ้องเรียก “ค่าทดแทนการเสียชีวิต” ได้
ส่วนกรณีที่เหยื่อเป็นเจ้าหนี้ที่ให้แอมยืมเงิน เล่นแชร์กับแอมแล้วยังไม่ได้เงินคืน หรือร่วมลงทุนกับแอม แล้วถูกแอมวางยาฆ่าเพื่อโกงเงิน ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแอมต้องคืนเงินทั้งหมดให้ทายาทโดยธรรม ซึ่งอาจเป็นทายาททางสายเลือด เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง และบุตร หรือคู่สมรส ซึ่งหากคืนทรัพย์สินให้ทายาทของเหยื่อศาลอาจจะพิจารณาลดหย่อนโทษให้
กรณีที่แอมนำทรัพย์สินของเหยื่อไปหลังจากที่เหยื่อเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเงินสด บัตรเครดิต ทองคำ กระเป๋า โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ จะถือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท หากแอมคืนทรัพย์สินให้แก่ญาติของเหยื่อ ศาลอาจจะพิจารณาลดหย่อนโทษให้ ซึ่งทางกฎหมายนั้นการกระทำผิดคิดเป็น 1 กรรม 1 วาระ โดยทรัพย์สิน 1 ชิ้น นับเป็น 1 คดี เช่น เอากระเป๋าไป ภายในกระเป๋ามีเงิน แป้ง ลิปสติก ก็นับเป็น 4 คดี
“ญาติของเหยื่อสามารถเรียกค่าทดแทนการเสียชีวิตจากผู้กระทำผิดได้ 5 ล้าน 8 ล้าน ก็เรียกได้เพราะถือเป็นการสูญเสียที่ญาติได้รับผลกระทบ ผู้ตายบางคนอาจจะหาเงินได้เดือนละเป็นหมื่นเป็นแสน สามารถส่งเสียบุตรจนจบปริญญา ซึ่งใช้เงินเยอะมาก หรือกรณีฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ ลักทรัพย์ สมมติว่าแอมซึ่งเป็นผู้กระทำผิดจะโอนหรือผ่องถ่ายทรัพย์ให้ลูกให้สามี ญาติของเหยื่อก็สามารถเรียกทรัพย์นั้นคืนได้ เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบ ตามหลักต้นไม้พิษ ผลก็ย่อมเป็นพิษ” ทนายแก้ว ระบุ
ส่วนกรณีอื่นๆ ซึ่งแอมทำการฉ้อโกงเหยื่อในลักษณะที่ต่างออกไป เช่น กรณีของ “ทราย” นางมณฑาทิพย์ ขาวอินทร์ ซึ่งแอมแอบอ้างเป็นผู้จัดการมรดกหลังจากทรายเสียชีวิต แล้วนำทรัพย์สินของทรายไปขายนั้น “ทนายแก้ว” ชี้แจงว่า การที่แอมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิตได้มีเพียงกรณีเดียวคือทายาทของผู้เสียชีวิตต้องให้การยินยอม ในกรณีนี้คือสามีหรือพ่อแม่ของทรายต้องเซ็นอนุญาตให้แอมเป็นผู้จัดการมรดก และการที่แอมอ้างว่าทรายเซ็นมอบอำนาจให้แอมเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก ซึ่งต้องไปตรวจสอบว่าลายเซ็นของทรายนั้นเป็นลายเซ็นปลอมหรือเปล่า หากพบว่าแอมปลอมลายเซ็นก็มีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร มีโทษจำคุก 3 ปี ส่วนทรัพย์สินที่ยักยอกไปขาย แอมต้องโอนคืนให้ทายาทของทราย ซึ่งหากบุคคลภายนอกซื้อด้วยความสุจริตก็ไม่ถือว่ามีความผิดและไม่ต้องคืนทรัพย์ที่ซื้อไป แต่แอมซึ่งเป็นผู้ยักยอกจะต้องชดใช้เงินคืนตามมูลค่าของทรัพย์สินที่ขายไป
ส่วนกรณีหวยทิพย์ที่มีผู้ร้องว่าถูกแอมกับ “แด้” นายสุทธิศักดิ์ พูนขวัญ ซึ่งแอมระบุว่าเป็นสามี หลอกให้ซื้อหวยแล้วโกงเงินนั้น “ทนายแก้ว” ชี้ว่า หากแอมกับแด้ร่วมกันกระทำผิดจริงจะถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อแด้เสียชีวิต ความผิดทางอาญาของแด้หมดไป แต่ความรับผิดชอบทางแพ่งยังอยู่ เหยื่อที่ถูกฉ้อโกงสามารถเรียกคืนทรัพย์จากทายาทโดยธรรมของแด้ ส่วนแอมต้องรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ต้องคืนเงินให้เหยื่อที่ถูกโกง และในเมื่อแอมกับแด้ร่วมมือกัน เหยื่อจะเรียกคืนเงินทั้งหมดจากแอมก็ได้
ส่วนกรณียายของแด้ ซึ่งมอบทองคำให้แอมเนื่องจากเชื่อคำพูดของแอมว่าเด็กในท้องเป็นลูกของแด้นั้น “ทนายแก้ว” ระบุว่า หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าลูกในท้องของแอม ไม่ใช่ลูกของแด้ตามที่แอมกล่าวอ้าง ยายของแด้ก็สามารถเรียกคืนทองที่มอบให้แอมได้ เนื่องจากยายให้ทองเพื่อให้แอมใช้เป็นทุนในการเลี้ยงดูลูกของแด้ เป็นการให้เพราะแอมจงใจหลอกลวงให้เข้าใจผิดซึ่งถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แสดงถ้อยคำอันเป็นเท็จให้หลงเชื่อโดยที่แอมก็รู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่ลูกของแด้
นอกจากนั้น ประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากคือ กรณีที่หากแอมกระทำความผิดจริง และศาลสั่งลงโทษประหารชีวิต แต่แอมอาจจะไม่ได้รับโทษประหาร เนื่องจากอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ โดยจะได้รับการลดโทษเป็นการจำคุกตลอดชีวิตแทน เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 247 วรรคสอง ระบุว่า ถ้าจำเลยคนใดต้องโทษประหารชีวิต ถ้าตั้งครรภ์อยู่ให้รอไว้จนกว่าจะพ้นกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันคลอดบุตรและให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิตนั้น ทางด้าน “ทนายแก้ว” วิเคราะห์ว่า กรณีของแอมอาจไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากการพิจารณาคดีต้องใช้เวลา โดยแอมโดนข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิตถึง 11 คดี ต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งในการพิจารณาคดีนั้นศาลจะต้องพิจารณาให้สิ้นสงสัยทุกคดี แม้คดีต่างๆ จะมีความคล้ายคลึงกันแต่จะรวมสำนวนคดีมาพิจารณาพร้อมกันหรือไม่ก็ขึ้นกับดุลพินิจของพนักงานอัยการ หากรวมกันไม่ได้ก็ต้องสืบเป็นรายคดีไป
ที่สำคัญการนำมาตรา 247 มาบังคับใช้นั้นจะเริ่มเมื่อ “คดีถึงที่สุด” โดยศาลตัดสินให้ประหารชีวิต ซึ่งหากมีการอุทธรณ์ ฎีกาจะต้องพิจารณาถึง 3 ศาล หรือแม้ว่าแอมจะยอมรับสารภาพในศาลชั้นต้น แล้วศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต ความคุ้มครองกรณีตั้งครรภ์ก็ยังไม่เกิด เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ระบุว่า “ในกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต จะต้องมีการส่งเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ตาม” ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ได้กลั่นกรองก่อน ดังนั้น อย่างเร็วที่สุดคดีของ “แอม ไซยาไนด์” จะต้องไปสิ้นสุดในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งกว่าคดีจะถึงที่สุดต้องใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่ง ณ ตอนนั้นแอมน่าจะคลอดแล้ว
"ขั้นตอนจากศาลชั้นต้นไปถึงศาลอุทธรณ์ จนคดีถึงที่สุดต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ปัจจุบันแอมท้องได้ 4 เดือน กว่าจะผ่าน 2 ศาล จนคดีจะถึงที่สุด แอมคงคลอดแล้ว ดังนั้น คดีของแอมอาจไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 247 ที่ละเว้นโทษประหารให้หญิงตั้งครรภ์ นอกจากนั้น แอมยังมีคดีที่โทษถึงประหารถึง 11 คดี ซึ่งไม่รู้ว่าคดีไหนจะเริ่มพิจารณาเมื่อไหร่ และแต่ละคดีจะพิจารณาถึงที่สุดเดือนไหน" ทนายแก้ว ระบุ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า มีเหยื่อที่ถูกแอมวางยาทั้งหมด 15 คน โดยเสียชีวิต 14 คน และรอดชีวิต 1 คน ซึ่งล่าสุดแอมถูกออกหมายจับแล้ว 12 คดี เป็นข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 11 คดี และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 1 คดี ซึ่งช่วงแรกมีการออกหมายจับ 3 คดี คือ คดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อันได้แก่ คดีของก้อย (พ่วงข้อหาลักทรัพย์) สารวัตรปู และน้อยผัก ต่อมา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2566 ตำรวจได้ออกหมายจับแอมอีก 9 คดี โดยแบ่งเป็นข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 8 คดี ประกอบด้วย คดีของแด้ นิด ครูอ๊อด ครูต่าย ผู้กองนุ้ย จุ๋ม บี-สุรัตน์ แอ๊ะ และข้อหาพยายามฆ่าจากกรณีของปลาที่รอดชีวิตอีก 1 คดี นอกจากนั้น ยังมีอีก 3 คดีที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ได้แก่ คดีของทราย หนิม และฟ้า
โดยเหยื่อทั้งหมดมีรายละเอียดดังนี้
คนที่ 1 : “ทราย” นางมณฑาทิพย์ ขาวอินทร์ ชาว จ.กำแพงเพชร ซึ่งสามีเป็นชาวต่างชาติ และแอมเข้าไปตีสนิมจนเป็นเพื่อนกัน โดยแอมยืมเงินทรายหลายครั้ง ทรายเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2558 วันเดียวกับที่แอมไปรับทรายที่สนามบินมาส่งที่พักที่กรุงเทพฯ ซึ่งแม่ของทรายเชื่อว่าทรายถูกแอมวางยาเนื่องจากสภาพศพเหมือนกับเหยื่อรายอื่นของแอม และหลังจากทรายเสียชีวิต แอมได้ตั้งตัวเองเป็นผู้จัดการมรดกของทราย และนำทรัพย์สินของทรายออกขายทอดตลาดจนหมด
- ทรัพย์สินที่สูญไป ได้แก่ เงินที่แอมยืมทราย รวมประมาณ 150,000 บาท อาคารพาณิชย์ของทรายที่แอมขายไปในวงเงิน 3.5 ล้านบาท โดยมอบเงินจากการขายตึกให้แม่ทรายแค่บางส่วน ขณะที่ทรัพย์สินที่อยู่ในอาคารดังกล่าวก็หายไป
- ตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
คนที่ 2 : “นิด” น.ส.นิตยา แก้วบุปผา โฟร์แมนคุมงาน เสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2563 ที่ จ.นครปฐม
- แอมมีการกู้ยืมเงินจากนิด
- แอมโดนข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โทษคือประหารชีวิต
คนที่ 3 : “หนิม” น.ส.สาวิตรี บุตรศรีรักษ์ อายุ 40 ปี ภรรยานายดาบตำรวจ ตม.บึงกาฬ วันที่ 25 พ.ย.2563 ใน จ.มุกดาหาร หลังได้รับยาลดน้ำหนักมาจากแอม
- มีการร่วมวงแชร์
- แอมติดหนี้หนิมหลักแสนบาท
- ตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
คนที่ 4 : “ฟ้า” น.ส.ดาริณี เทพหวี อายุ 34 ปี เสียชีวิตด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ที่บ้านพักใน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2563 หลังออกไปกับแอม
- มีทรัพย์สินสูญหาย 60,000 บาท
- ตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
คนที่ 5 : “บี” หรือนายสุรัตน์ ทรพับ อายุ 35 ปี เสียชีวิตที่บ้านพักใน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2564 ด้วยอาการเลือดหัวใจตีบ โดยนายบี เป็นเพื่อนสนิทกับแอมสมัยมัธยม
- ช่วงเสียชีวิตพบเงินจากบัญชีธนาคารของผู้ตาย โอนเข้าบัญชีธนาคารแอม จำนวน 60,000 บาท
- แอมถูกออกหมายจับข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีโทษประหารชีวิต
คนที่ 6 : “ผู้กองนุ้ย” ร.ต.อ.กานดา โตไร่ อายุ 36 ปี เสียชีวิตบริเวณหน้าห้างโกลบอล ถ.เพชรเกษมขาออก อ.เมือง จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2565 เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลว
- ลงทุนเล่นแชร์กับแอม วง 7 คน และสนิทกับแอม
- แอมถูกออกหมายจับข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีโทษประหารชีวิต
คนที่ 7 : “เจ๊น้อยผัก” หรือนางรจรินทร์ นิลห้อย เสียชีวิตหลังจากออกไปรับถุงอาหารจากหญิงปริศนาแล้วนำมากิน ก่อนเป็นลมล้มชัก และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2565 ที่ จ.สมุทรสาคร เนื่องจากเลือดเป็นกรด
- ร่วมวงแชร์ 100,000 บาท กับแอม
- แอมโดนข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โทษคือประหารชีวิต
คนที่ 8 : “จุ๋ม” นางจันทร์รัตน์ วงศ์ไกรสิณ เสียชีวิตเนื่องจากหัวใจล้มเหลว ที่บ้านพักใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 โดยรู้จักกับแอมจากเพื่อนที่เป็นตัวแทนขายประกัน
- นางจันทร์รัตน์โอนเงินให้แอม 70,000 บาท เพื่อลงทุนปล่อยเงินกู้ และ 26,800 บาท เพื่อลงทุนขายของ
- แอมโดนข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีโทษประหารชีวิต
คนที่ 9 : “ครูต่าย” นางมณีรัตน์ พจนารถ เสียชีวิตเนื่องจากเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ที่ตลาดบน-ตลาดล่าง พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2565 โดยจากแชตพบว่า แอมนัดเจอครูต่ายก่อนเสียชีวิต และแอมยอมรับกับลูกครูต่ายว่าเจอกันจริง
- แอมโดนข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีโทษประหารชีวิต
คนที่ 10 : “เอ๊ะ” น.ส.กะณิกา ตุลาเดชารักษ์ อายุ 44 ปี เสียชีวิตที่ปั๊ม ปตท. บริเวณวงเวียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2565 โดยเอ๊ะรู้จักกับ น.ส.แอม ผ่านทางโซเชียล
- ช่วงเสียชีวิตพบเงินในบัญชีธนาคารของผู้ตายถูกถอนออกไปจำนวน 300,000 บาท พร้อมโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง สร้อยคอและสร้อยข้อมือทองคำสูญหายไปอีกอย่างละเส้น
- แอมถูกออกหมายจับข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีโทษประหารชีวิต
คนที่ 11 : “ครูอ๊อด” น.ส.ผุสดี สามบุญมี เป็นข้าราชการครู เสียชีวิตภายในห้องนอนที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2565 จากระบบไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจล้มเหลว ซึ่งตอนแรกญาติคิดว่าเสียชีวิตเพราะมะเร็งเม็ดเลือด
- ลงทุนเล่นแชร์กับแอม วง 7 คน
- แอมโดนข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โทษคือประหารชีวิต
คนที่ 12 : “แด้” นายสุทธิศักดิ์ พูนขวัญ อายุ 35 ปี ซึ่งแอมอ้างว่าเป็นสามีใหม่ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แด้เสียชีวิตด้วยสาเหตุหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่บ้านพักใน จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2566 ภายหลังพบว่าแด้ร่วมอยู่ในขบวนการหวยทิพย์ของแอม และเสียชีวิตหลังจากมีคนที่สูญเงินจากหวยทิพย์ไปตามหาตัวที่บ้าน
- แด้เสียชีวิตขณะอยู่กับแอม โดยทรัพย์สินที่สูญหายหลังเสียชีวิต มีทั้งสร้อยคอทองคำ และสร้อยข้อมือทองคำ น้ำหนักรวม 8 บาท พระเครื่องมูลค่า 100,000 บาท พร้อมเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง
- แอมโดนข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โทษคือประหารชีวิต
คนที่ 13 : “สารวัตรปู” พ.ต.ต.หญิง นิภา เสียชีวิตที่องค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ปรากฏภาพคู่กับ น.ส.แอม ตอนไปทำบุญด้วยกัน
- มีทรัพย์สินสูญหาย
- แอมโดนข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โทษคือประหารชีวิต
คนที่ 14 : “ก้อย” น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ อายุ 32 ปี เป็นคน จ.กาญจนบุรี เสียชีวิตที่ท่าน้ำ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 หลังนั่งรถไปปล่อยปลากับแอม
- หลังเสียชีวิต โทรศัพท์มือถือไอโฟน 14 และทรัพย์สินของก้อย มูลค่ารวมกว่าแสนบาทหายไป
- แอมโดนข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โทษคือประหารชีวิต
คนที่ 15 : เป็นผู้รอดชีวิตคนเดียวคือ “ปลา” นางกานติมา แพสอาด อายุ 36 ปี เป็นภรรยานายตำรวจยศ พ.ต.ท. ตำแหน่ง ผบ.ร้อย ตชด. ซึ่งแอมกับปลาสนิทกันมากว่า 6 ปี แอมให้ปลากินยาแคปซูลซึ่งอ้างว่าเป็นสมุนไพร ทำให้มีอาการหัวใจหยุดเต้น แต่ปลาเรียกรถกู้ชีพนำตัวส่งโรงพยาบาลได้ทันจึงรอดมาได้
- ปลาให้แอมยืมเงินไป 250,000 บาท โดยแอมใช้คืนมาแล้ว 50,000 บาท
- แอม ถูกออกหมายจับข้อหาพยายามฆ่า
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่า “เหยื่อ” ของแอม ไซยาไนด์ จะมีมากกว่านี้หรือไม่? และมี “ใคร” สมรู้ร่วมคิดในการกระทำผิดของแอมด้วยหรือเปล่า? ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไป