xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึก! ทำไม "มวยไทย" ยังไปไม่ถึง "โอลิมปิก"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.สุปราณี” เผยมวยไทยใกล้ได้รับการบรรจุในกีฬาโอลิมปิก เหลืออีกเพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้น ชี้อุปสรรคสำคัญคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ให้การสนับสนุน IFMA ทั้งที่การเข้าสู่โอลิมปิกจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มวยไทยมหาศาล พร้อมระบุสมาชิก IFMA เตรียมหารือเพื่อวางแนวทางหลังเสร็จศึกชิงแชมป์มวยไทยโลก ด้าน “ทนายอนันต์ชัย” ยันหาก “ดร.สุปราณี” ไม่ยื่นจดลิขสิทธิ์ มวยไทยคงเสียท่าให้ “กุน ขแมร์”

หลังจากที่กัมพูชามีความพยายามที่จะเคลม “มวยไทย” โดยได้ยกเลิกกีฬามวยไทยในการแข่งขันซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือน พ.ค.2566 นี้ และบรรจุมวยเขมรที่มีชื่อว่า กุน ขแมร์เข้าไปแทน พร้อมทั้งอ้างว่ามวยไทยมีต้นแบบมาจากกุน ขแมร์ ส่งผลให้ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเรื่องราวของมวยไทยกลายเป็นประเด็นที่ทั้งคนไทยและต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าขณะที่มวยจากกำแพงอย่างกุน ขแมร์ โอ้อวดว่าจะก้าวไปสู่ระดับโลกทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ แต่กีฬา “มวยไทย” ใกล้ที่จะได้รับการบรรจุเข้าสู่การแข่งขันในระดับโอลิมปิกในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ ชนิดที่เรียกว่า “เหลืออีกไม่กี่ก้าว” เท่านั้น!

ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หรือ NSDF
โดย ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หรือ NSDF หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้มวยไทยไปสู่โอลิมปิก ได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ผลักดันมวยไทยไปสู่โอลิมปิกคือ “สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ” หรือ IFMA ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา IFMA ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อขึ้นสู่โอลิมปิก โดยยื่นเรื่องต่อ วาดา (WADA : World Anti-Doping Agency) หรือองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก เพื่อให้พิจารณารับรองว่านักกีฬามวยไทยไม่มีการใช้สารต้องห้ามหรือสารกระตุ้น ซึ่งผ่านไปด้วยดี

จากนั้น IFMA ได้เข้าเป็นสมาชิก สมาคมสหพันธ์กีฬานานาชาติ (GAISF : Global Association of International Sports Federations ซึ่งเดิมคือ สปอร์ตแอคคอร์ด) ซึ่งเป็นองค์กรกีฬานานาชาติที่ประกอบด้วยสหพันธ์กีฬานานาชาติชนิดต่างๆ ที่เป็นอิสระ รวมถึงองค์กรกีฬาสากล และองค์กรจัดการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตามด้วยเข้าเป็นสมาชิก AIMS (Alliance of Independent Recognized Members of Sport) ซึ่งเป็นตัวแทนของสหพันธ์นานาชาติ 23 แห่ง ซึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านการพิจารณาของสเตฟาน ฟ็อกซ์ ประธาน AIMS แต่ IFMA ก็ทำสำเร็จ

และล่าสุดมวยไทยได้ผ่าน AIMS ขึ้นไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เพื่อเตรียมบรรจุอยู่ในกีฬาโอลิมปิกแล้ว โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2564 ที่กรุงโตเกียว ที่ประชุมสมัชชาใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ครั้งที่ 138 ได้มีการลงมติอย่างเป็นทางการให้สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นสหพันธ์กีฬานานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นการปูทางไปสู่การบรรจุแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ในอนาคตอันใกล้


ดร.สุปราณี กล่าวต่อว่า เมื่อถึงจุดนี้สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และ IFMA จะวางแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้มวยไทยถูกบรรจุอยู่ในการแข่งขันซัมเมอร์โอลิมปิก โดยอันดับแรกต้องพยายามผลักดันให้ประเทศซึ่งมีแนวโน้มจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเลือกมวยไทยให้เป็นหนึ่งในประเภทกีฬาที่จะทำการแข่งขันในโอลิมปิก

ลำดับต่อไปคือ ต้องทำให้ทวีปต่างๆ ทั้ง 5 ทวีปที่อยู่ในโอลิมปิก อันได้แก่ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปโอเชียเนียจัดการแข่งขันมวยไทย โดยประเทศเหล่านี้ต้องรู้สึกว่ามวยไทยเป็นกีฬาที่สนุกและได้รับความนิยม ซึ่งเราจะใช้การถ่ายทอดสดแบบออนไลน์เป็นช่องทางในการผลักดันให้มวยไทยได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการสื่อสารเป็นออนไลน์หมดแล้ว ดังนั้น การแข่งขันชกมวยสามารถถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ไปประเทศต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์

ซึ่งที่ผ่านมา มีประเทศที่ให้การสนับสนุนมวยไทยมากพอสมควร เช่น จากที่ได้จัดการแข่งขันมวยไทย ในการแข่งขันเวิลด์เกมส์ (มีการแข่งขัน 30 ชนิดกีฬา) ที่เมืองเบอร์มิงแฮม มลรัฐแอละบามา ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ชาวอเมริกันได้เห็นว่ามวยไทยสนุก และเป็นที่ชื่นชอบของเด็กอเมริกัน ซึ่งผลการประเมินจากการจัดงานดังกล่าวส่งผลให้โอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา และพาราลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกาให้การรับรองกีฬามวยไทยให้เป็นหนึ่งชนิดกีฬาที่เขาสนับสนุน ทั้งที่ปกติการรับรองกีฬาที่ต้องใส่เครื่องป้องกันในระหว่างแข่งขันนั้นเป็นไปได้ยากมาก จึงถือเป็นความสำเร็จของการผลักดันมวยไทยในทวีปอเมริกาเหนือ

และขั้นตอนต่อไปคือการผลักดันให้มีการจัดการแข่งขันมวยไทยในยูโรเปียนเกมส์ (การแข่งขันมหกรรมกีฬาระหว่างประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งมีการจัดขึ้นในทุก 4 ปี) ซึ่งจะมีขึ้นช่วงปลายเดือน พ.ค.2566 นี้ โดยทางทีมงานกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติจะต้องนำปี่พาทย์มวยไทยไปบรรเลงด้วย เนื่องจากกฎของ IFMA นั้นในการจัดชิงแชมป์มวยไทยในระดับระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นทวีปเอเชีย หรือทวีปยุโรปจะต้องใช้ปี่พาทย์ที่บรรเลงสด ซึ่งทางคณะกรรมการกองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุน อย่างไรก็ดี ในส่วนของการผลักดันการแข่งขันมวยไทยในเอเชียนเกมส์ ที่เมืองหางโจว ประทศจีน ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือน ก.ย. ถึงต้นเดือน ต.ค.2566 นั้นเราไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จึงต้องรอการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งต่อไป

“ต้องบอกว่าตอนนี้มวยไทยเราเข้าใกล้โอลิมปิกเข้าไปทุกทีแล้ว จากที่ทุกคนบอกว่าอีก 100 ปีไทยจะได้มีโอกาสไปโอลิมปิกหรือเปล่า แต่ตอนนี้มวยไทยไปอยู่ในตะกร้า IOC แล้ว เป็นชนิดกีฬาหนึ่งที่โอลิมปิกให้การยอมรับ ถ้าดูจากแผนภูมิถือว่าเราอยู่ในส่วนของยอดพีระมิด” ดร.สุปราณี กล่าว


สำหรับอุปสรรคที่ทำให้มวยไทยยังไม่สามารถบรรจุในการแข่งขันโอลิมปิกได้นั้น ดร.สุปราณี ชี้ว่า เนื่องจากยังขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยกตัวอย่างกีฬาเทควันโดซึ่งได้รับการบรรจุให้แข่งขันในโอลิมปิกแล้วนั้นเกิดจากการผลักดันของรัฐบาลเกาหลี ขณะที่ผู้ที่ผลักดันมวยไทยให้เข้าสู่โอลิมปิกคือ IFMA ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติ โดยที่การขับเคลื่อนเพื่อผลักดันมวยไทยเข้าสู่โอลิมปิกนั้น IFMA ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จะได้รับงบสนับสนุนเฉพาะในส่วนของการจัดการแข่งขันชกมวยโดยผ่านสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น การจะขับเคลื่อนเพื่อเข้าสู่โอลิมปิกของ IFMA ต้องรอการสะสมเงินทุนจากสมาชิก

ซึ่งแม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยจะให้การสนับสนุน แต่หากจะขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพต้องดำเนินการผลักดันโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เนื่องจาก รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานคณะกรรมการกีฬามวยซึ่งมีอำนาจเต็มในเรื่องนี้ ทั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วงคือในอนาคตหาก IFMA ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติสามารถหาเงินทุนได้มากพอ หรือมีนักลงทุนเข้ามาสนับสนุนจนองค์กรแข็งแกร่ง IFMA อาจไม่เห็นความสำคัญของไทยทั้งที่เราเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมวยไทย

“สำหรับเงินทุนที่ IFMA จะใช้ในการขับเคลื่อนมวยไทยเข้าสู่โอลิมปิกนั้นน่าจะไม่เกินปีละ 300 ล้านบาท ซึ่งทางเศรษฐกิจแล้วถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ที่สำคัญมวยไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นสมบัติของชาติไทย ก็เกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการผลักดันมวยไทยเข้าสู่โอลิมปิก ซึ่งหากมวยไทยได้รับการบรรจุในโอลิมปิกนอกจากจะเป็นความภาคภูมิใจของชาติแล้ว ไทยยังได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เหมือนตอนเทควันโดได้รับการบรรจุเข้าโอลิมปิก เกาหลีนั่งโกยเงิน ใครจะเรียนเทควันโดต้องจ้างโค้ชจากเกาหลี ซึ่งปัจจุบันกีฬามวยไทยเป็นที่นิยมไปทั่วโลกเนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ค่าตัวนักมวยเก่งๆ อยู่ที่หลักแสน ดูอย่างบัวขาวค่าตัว 4-5 ล้าน ซึ่งจะเห็นได้ในประเทศไทยว่าไม่มีกีฬาประเภทใดที่สามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้เท่ากับมวยไทยและคิกบ็อกซิ่ง ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนให้ทั้งนักมวย ครูมวย ทีมงาน ไปจนถึงเสื้อผ้าและอุปกรณ์ต่างๆ กีฬาชนิดอื่นอาจจะได้ชื่อได้เหรียญ แต่สร้างเศรษฐกิจไม่ได้” ดร.สุปราณี ระบุ

ดร.สุปราณี ยังได้เปิดเผยว่า ทราบมาว่าหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันศึกชิงแชมป์มวยไทยโลก 2023 ที่ประเทศไทย ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 4-13 พ.ค.2566 ทาง IFMA จะมีการประชุมกันเพื่อหารือถึงแนวทางในการผลักดันมวยไทยไปโอลิมปิกให้เร็วขึ้น รวมถึงจะเชิญสื่อเข้ารับฟังรายละเอียดและขั้นตอนในการผลักดันมวยไทยไปสู่โอลิมปิกด้วย

นายอนันต์ชัย ไชยเดช เจ้าของฉายา “ทนายกระดูกเหล็ก”
ขณะที่ นายอนันต์ชัย ไชยเดช เจ้าของฉายา “ทนายกระดูกเหล็ก” ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้ ดร.สุปราณี กรณีข้อกล่าวหาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ระบุว่า คนไทยต้องขอบคุณ ดร.สุปราณี ที่ดึง “สหพันธ์มวยอาชีพโลก” ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของนานาชาติที่ชื่นชอบมวยไทยจาก 5 ทวีป จำนวนถึง 129 ประเทศในขณะนั้นให้มาอยู่ภายใต้สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย โดยไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ” หรือ IFMA ในเวลาต่อมา เพราะการที่มวยไทยตกอยู่ในมือต่างชาติถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก อาจทำให้สูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไปเหมือนกรณีที่ข้าวหอมมะลิของไทยถูกต่างชาตินำไปจดสิทธิบัตร

เนื่องจากสมาชิกของสหพันธ์มวยอาชีพโลกจากแต่ละประเทศล้วนแต่เป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น ซึ่งต่างอยากจะเป็นเจ้าของคำว่า “มวยไทย” และพบว่ามีหลายองค์กรพยายามยื่นจดลิขสิทธิ์ “มวยไทย” ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย แต่ไทยเราไม่อนุมัติ ต่อมามีผู้หญิงไทย 2 คนซึ่งทราบเรื่องนี้ได้มาปรึกษา ดร.สุปราณี ทาง ดร.สุปราณีจึงได้ใช้เงินส่วนตัวในการดำเนินการยื่นจดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับมวยไทยในเรื่องของการรำมวยไทย และดนตรีที่ใช้ระหว่างการแข่งขันชกมวยไทย

“ถ้าวันนั้น ดร.สุปราณีไม่ดึงสหพันธ์มวยอาชีพโลกมาอยู่ภายใต้สมาคมมวยไทย จนกลายเป็น IFMA ในปัจจุบัน และไม่ได้ยื่นจดลิขสิทธิ์ ป่านนี้มวยไทยถูกกุน ขแมร์ ของเขมรตีตายแล้ว คนไทยต้องขอบคุณ ดร.สุปราณี และผู้หญิงไทยอีก 2 คนที่ช่วยกันปกป้องมวยไทย” ทนายอนันต์ชัย ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น