xs
xsm
sm
md
lg

‘3 Scenario’ ในการจัดตั้งรัฐบาล เตะโด่ง ‘ก้าวไกล’ หวั่นเป็นชนวนดึงรถถังเต็มถนน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง บรรดาพรรคการเมืองต้องงัดวาทกรรมเด็ดๆ และทุ่มทรัพยากรต่างๆ หวังโค่นคู่ต่อสู้ ‘ผอ.นิด้าโพล’ ชี้เพื่อไทยชนะเลือกตั้งแน่ แต่หมดโอกาสแลนด์สไลด์ ระบุ ‘3 Scenario’ ในการจัดตั้งรัฐบาลที่แน่ๆ ไม่มีใครอยากดึง ‘ก้าวไกล’ ร่วมรัฐบาล เพราะเหมือนพกระเบิดเวลาหากเป็นรัฐบาลเมื่อไหร่ก็เรียก ‘รถถัง’ ออกมาเต็มถนน ด้าน ‘สนั่น อังอุบลกุล’ ประธานหอฯ แจงอยากเห็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งฟอร์มทีมที่มีเสถียรภาพ รวดเร็วและราบรื่น หวั่นจะเกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจในระหว่างที่รอฟอร์มรัฐบาลใหม่ยันไม่ว่าขั้วไหนเป็นรัฐบาลก็ยินดีสนับสนุนและเชื่อมโยงการทำงาน ส่วน ‘นายกฯ’ ต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ประเทศไทย ย้ำนโยบายกระตุ้นศก.ต้องไม่เป็นภาระการคลังของประเทศ!

อีกเพียง 20 กว่าวันจะถึง 14 พ.ค.2566 ซึ่งเป็นวันที่ผู้มีสิทธิออกเสียงจะได้ออกไป ‘กาบัตร’ เพื่อชี้ชะตาทางการเมืองว่าขั้วไหนจะสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และถ้ารวมเสียงได้แล้วโอกาสที่พรรคนั้นจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมีความเป็นไปได้แค่ไหน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ขณะที่เวทีดีเบตทางการเมืองที่มีการจัดขึ้นในเวลานี้ได้เปิดโอกาสให้แต่ละพรรคที่ได้รับเชิญได้แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจที่มีการ ‘แจก’ ซึ่งหลายๆ พรรคมีการใช้เม็ดเงินหลายแสนล้านบาท ซึ่งแต่ละพรรคได้ส่งข้อมูลให้ กกต.ว่าเงินที่จะแจกมาจากที่ไหน อย่างไร?

ประเด็นสำคัญแต่ละเวทีดีเบต หรือการสัมภาษณ์เจาะลึกแต่ละพรรคก็ตาม มักจะมีคำถามที่สังคมไทยใคร่รู้ก่อนที่ผลเลือกตั้งจะออกมาคือ จุดยืนในการตั้งรัฐบาล พรรคไหนจะจับมือกับพรรคใด หรือจะอยู่ขั้วเดิมทั้งขั้วฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน หรือจะมีการผสมพันธุ์ข้ามขั้วเกิดขึ้นหรือไม่?

อีกทั้งผลโพลต่างๆ ที่แต่ละสำนักสำรวจและประกาศออกมาเป็นระยะๆ ทำให้รู้ว่าพรรคไหนมีคะแนนนิยมเป็นอย่างไร และพรรคไหนบ้างมีจุดเพลี่ยงพล้ำที่ต้องปรับตัวในพื้นที่ไหนอย่างไร รวมไปถึงนำไปสู่การประเมินได้ว่าโอกาสที่เพื่อไทยจะแลนด์สไลด์จริงไม่น่าจะเกิดขึ้น พร้อมๆ กับขั้วบิ๊กตู่ ยังมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้เช่นกัน

ขณะที่ภาคเอกชนได้สะท้อนและคาดหวังว่ารัฐบาล และนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งจะต้องทำอะไรเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวโดยเร็ว


ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะคะแนนเสียงของแต่ละพรรค ตัวผู้สมัคร และโอกาสพรรคไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล รวมไปถึงใครกันแน่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีที่มาจากฐานข้อมูลการสำรวจต่างๆ ที่นิด้าโพลทำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับจังหวัด เช่น ที่อุบลราชธานี นครราชสีมา สมุทรปราการ อุดรธานี สงขลา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการสำรวจศึกเลือกตั้ง ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่มีผลสำรวจออกมาเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าเวลานี้ฟันธงได้เลยว่าพรรคเพื่อไทยมาแน่นอน ทั้งคะแนนพรรค ตัวบุคคลที่มีคะแนนนำมาตลอด

ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล
แต่ก็มีตัวเลขในการสำรวจศึกเลือกตั้งครั้งที่ 2 และรายจังหวัด ที่พรรคเพื่อไทยคงต้องนำไปพิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดการกินกันเองในขั้วเดียวกัน เนื่องจากคะแนนของพรรคก้าวไกล และคะแนนของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ประชาชนให้การสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่พรรคเพื่อไทย และ ‘อุ๊งอิ๊ง’ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มีคะแนนลดลง

“คะแนนสนับสนุนเป็นนายกฯ ครั้งแรก อุ๊งอิ๊ง ได้ร้อยละ 38.20 แต่ครั้งที่ 2 ได้เพียง 35.70 คะแนนพรรคเพื่อไทย ครั้งที่ 1 ได้ 49.75 แต่ครั้งที่ 2 ได้ 47.20 ส่วนคะแนนนายพิธา ครั้งแรกได้ร้อยละ 15.75 ครั้งนี้ได้ 20.25 ซึ่งการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 สะท้อนให้เห็นกระแสในตัวนายพิธา อีกทั้งคะแนนพรรคก้าวไกลครั้งแรกได้ 17.40 ครั้งที่ 2 ได้ 21.20 ชี้ให้เห็นถึงความนิยมทั้งคนทั้งพรรคของก้าวไกล ไปเบียดที่อุ๊งอิ๊ง และพรรคเพื่อไทยโดยตรง”

ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ลดลงเช่นกัน (ดูตารางใน Manager 0nline @ Special Scoop)

ที่มา: นิด้าโพล

ที่มา : นิด้าโพล

ที่มา:  นิด้าโพล








นอกจากนี้ สิ่งที่สะท้อนจากข้อมูลทำให้ประเมินได้ว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีโอกาสแลนด์สไลด์ หรือเป็นการดับฝันแลนด์สไลด์อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากธรรมชาติการเมืองหากพรรคไหนมีคะแนนนำมากโอกาสจะถูกดึงลงมาก็เยอะตามมาเช่นกัน

“ดูดีๆ คะแนนจากโพล ทั้งพรรคทั้งคนของเพื่อไทยถูกดึงจากพวกกันเอง คือก้าวไกล คราวนี้โอกาสแลนด์สไลด์จะลำบาก ต้องมาดูการสำรวจครั้งที่ 3 ที่กำลังจะเริ่มลงมือทำ คาดว่าจะประกาศผลวันที่ 3 พ.ค.นี้ ต้องดูว่าเพื่อไทยจะไปต่อ หรือจะถอย หรือจะหยุดนิ่ง เพราะหากคะแนนลดลงอีก พูดได้คำเดียวว่าไปต่อยาก จะเหลือเพียงคงที่กับถอยเท่านั้น”

ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล” บอกอีกว่า จริงๆ แลนด์สไลด์ คือ 250 ขึ้น แต่เพื่อไทยต้องการ 310 หรือ 376 เสียง ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นไปไม่ได้ หากจะทำได้คือจะต้องกินพรรคก้าวไกลทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ปัจจุบัน ตัวเลขเพื่อไทย น่าจะอยู่ที่ 220-235 แต่การสำรวจครั้งที่ 3 ต้องดูว่าจะโดนดึงไปอีกหรือไม่

ดังนั้น หากเพื่อไทยต้องการจะจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลผสมเท่านั้น ซึ่งในมุมมองของ ผศ.ดร.สุวิชา สรุปว่า 3 Scenario ที่จะเกิดขึ้นในการตั้งรัฐบาล

Scenario ที่ 1 คือเพื่อไทยต้องจับมือกับพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เชื่อว่าต้องเป็นพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากต้องได้เสียง ส.ว.สนับสนุน ซึ่งเพื่อไทยรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ 310 เสียง เผลอๆ อาจไม่ถึง 250 เสียงด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้เพื่อไทยต้องมองเสียง ส.ว. มาหนุน ต้องมองพรรคพลังประชารัฐของบิ๊กป้อม

“รู้ว่าไม่แลนด์สไลด์ แต่ต้องการเสียง ส.ว.หนุน มีเพียง 2 พรรคคือพรรคบิ๊กตู่ กับพรรคบิ๊กป้อม ซึ่งเพื่อไทยไม่เลือกบิ๊กตู่แน่ ต้องมาลงที่บิ๊กป้อม แต่ถ้าถามใครจะเป็นนายกฯ อยู่ที่การเจรจาระหว่างเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ หากบิ๊กป้อม อยากจะเป็นนายกฯ ก็ต้องทำให้พรรคมีคะแนนเสียงเลือกตั้งเข้ามาเพียงพอที่จะมีอำนาจในการต่อรอง คือจะต้องได้มากกว่า 50 เสียงขึ้น แต่ถ้า 30 นิดๆ หรือ ต่ำกว่า 30 ก็ลำบาก บิ๊กป้อมคงเป็นได้แค่รองนายกฯ”

Scenario ที่ 2 เพื่อไทย จับมือกับพลังประชารัฐ ตามด้วยพรรคภูมิใจไทย เพื่อให้รัฐบาลมีความมั่นคงยิ่งขึ้น

Scenario ที่ 3 กรณีที่เพื่อไทย เพลี่ยงพล้ำ ได้ไม่ถึง 200 เสียง จะส่งผลให้ขั้วรัฐบาลเดิม สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ตรงนี้แหละสำคัญที่ทำให้ขั้วบิ๊กตู่ มีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาล

“เวลานี้โอกาสที่เพื่อไทยจะต่ำกว่า 200 เสียงเป็นไปได้น้อย แต่ก็ประมาทไม่ได้ ต้องดูใกล้ๆ ช่วงโค้งสุดท้าย เพราะสังคมไทย เต็มไปด้วยวาทกรรม และวาทกรรมบางอย่างจะฉุดคะแนนเพื่อไทยลงมาได้ ส่วนพรรคก้าวไกลไม่มีใครกล้าเอาไปร่วมรัฐบาล เป็นพรรคที่มีระเบิดเวลาติดมือ ไปไหนมาไหนก็เอาระเบิดเวลาไปด้วย ถ้าเป็นรัฐบาลเมื่อไหร่มีแนวโน้มเรียกรถถังออกมา”


ตัวอย่างวาทกรรมที่สังคมไทยนิยมใช้ เช่น ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’ หรือ ‘เลือกความสงบ เลือกลุงตู่’ หรือวาทกรรมที่เกี่ยวพันกับนายทักษิณ ชินวัตร จะเป็นตัวดึงคะแนนเพื่อไทยลงมาเช่นกัน โดยสังคมไทยต้องจับตาดู ตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป น่าจะมีการปล่อยวาทกรรมเด็ดๆ ออกมาฉุดคะแนนฝ่ายตรงข้ามได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งครั้งนี้ขั้วรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย พรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา มีโอกาสที่จะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลได้อยู่แล้ว แต่หากขั้วเดิมได้เพียง 220-230 เสียง ก็จะลำบากบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าสามารถทะลุ 240 เสียง มีโอกาสจัดตั้งได้สูง

“ผมว่าขั้วเดิมพยายามจับมือกัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้วิธีไหน ถ้าเขาทะลุ 240 ขึ้นมาได้ ขาดไปแค่ 10 เสียง จะได้ 250 ครึ่งหนึ่งของสภาล่าง แต่ถ้าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย คือต่ำกว่า 220 โอกาสยากที่จะตั้งรัฐบาลนะ เขาคงต้องหาวิธีในการตั้งรัฐบาลซึ่งก็ต้องดูคะแนนกันอีกครั้ง

ผศ.ดร.สุวิชา บอกอีกว่า หากประเมินกันในเวลานี้ พรรคบิ๊กตู่ และพรรคบิ๊กป้อม มีคะแนนเสียงอยู่ที่พรรคละ 50 ซึ่งคะแนนของพรรคบิ๊กตู่ น่าจะได้บัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 10 ที่นั่งและถ้าช่วงโค้งสุดท้ายมาแรงอาจจะถึง 15 ที่นั่ง แต่ต้องรักษา ส.ส.เขตในพื้นที่ภาคใต้ไว้ให้ได้คาดจะได้ถึง 20 ที่นั่ง ซึ่งเวลานี้ ปชป. พยายามจะดึงเสียงกลับ ซึ่งคะแนนของพรรคบิ๊กตู่ และ ปชป.จะผกผันกันเพราะเสียงจาก ส.ส.เขตจากภาคใต้นั่นเอง อีกทั้งบิ๊กตู่ อาจจะได้ในภาคกลาง และตะวันออกมาเสริมอีกเล็กน้อย

“ต้องดูภูมิใจไทยจะได้เท่าไหร่ มีบางคนให้ถึง 100 ขึ้น แต่ผมคาดประมาณ 65-75 ส่วนชาติไทยพัฒนา น่าจะเหมือนเดิม หวังจากบ้านใหญ่ของพรรคบิ๊กป้อม จะมาเติมอีกเท่าไหร่”

ส่วนพรรคที่จะได้คะแนนสูงสุดคือพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อชนะแล้วพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ต้องดูโค้งสุดท้ายหรือสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ว่าทำได้ดีแค่ไหน เพราะการได้นายเศรษฐา ทวีสิน เข้ามานั้น ไม่ได้ทำให้คะแนนพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแปลง แต่เป็นคะแนนที่ตัวนายเศรษฐา เท่านั้น


โดยนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งในความเห็นส่วนตัวต้องมีคุณลักษณะของความเป็นนักบริหาร รู้จักใช้คน รู้จักเลือกคน รู้จักวางคนให้เหมาะกับตำแหน่ง ไม่จำเป็นต้องเก่งเศรษฐกิจ หรือภาษาอังกฤษต้องเลิศ ประเทศไทยก็ขับเคลื่อนได้แล้ว

“บิ๊กตู่ เป็นนักบริหาร แต่หลายๆ เรื่องยังเป็นแบบข้าราชการทหารมาก ซึ่งการบริหารบางเรื่องมันบริหารแบบข้าราชการทหารไม่ได้ เพราะเราอยู่ในการบริหารแบบประชาธิปไตย มันเกี่ยวพันกับการถ่วงดุลอำนาจ แต่ละฝ่าย การบริหาร เพื่อให้ได้คะแนน ได้กระแสประชาชน”

สิ่งสำคัญบิ๊กตู่ ต้องปรับตัวให้มาก ต้องสร้างภาพตัวเองให้เป็นนักการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะหากไปเทียบกับบิ๊กป้อม จะเห็นว่าบิ๊กป้อม มีความเป็นนักบริหารแบบประชาธิปไตยมากกว่า คือรู้จักฟังคน ใช้คน ซึ่งลุงป้อม มีปัญหาเดียวคือสุขภาพ ที่ปรากฏให้สังคมเห็นคือการเดินที่ช้า แต่ถ้าไปเทียบสมองแล้ว บิ๊กป้อม มีความไว ฉลาดเฉียบคม

จากนี้ไปต้องจับตาดูโค้งสุดท้ายก่อนการ ‘กาบัตร’ เลือกตั้ง บรรดาวาทกรรมเด็ดๆ จะกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเอาชนะคู่ต่อสู้ พร้อมๆ กับการใช้ทรัพยากรในการเลือกตั้งแบบเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ระเบียบกฎหมาย หรือกระสุน เพื่อเอาชนะในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนพรรคไหนจะชนะและขั้วไหนจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่? หลัง 4 ทุ่ม วันที่ 14 พ.ค.นี้ได้รู้ชัดๆ ..

ประธานหอฯ ชี้สเปกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งที่ต้องการ!

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า นายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งในครั้งนี้ ภาคประชาชนเห็นว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการความท้าทายและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ประเทศ ดังนี้

ประการที่ 1 จะต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ประการที่ 2 จะต้องเป็นบุคคลที่สามารถดึงทุกสรรพกำลังของทุกภาคส่วน เชื่อมโยงการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในลักษณะ Connect the Dots มีทีมงานที่มีความรู้ ความสามารถ คอยสนับสนุนการทำงาน และที่สำคัญที่สุดต้องสามารถทำงานได้กับทุกพรรคการเมือง เพราะจากการคาดการณ์รัฐบาลชุดใหม่น่าจะเป็นรัฐบาลผสม เพื่อให้เกิด Action Plan ที่สามารถนำไปขับเคลื่อนและปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่ 3 ภายใต้การแข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีที่ภาคเอกชนอยากเห็นจึงต้องสามารถกำหนดจุดยืนและบทบาทของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงในเวทีระดับโลกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องเร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ประการที่ 4 เอกชนอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่รับฟังความคิดเห็น และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ซึ่งส่วนนี้จะช่วยลดความขัดแย้งและนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ

ขณะเดียวกัน หากหลังเลือกตั้งได้รัฐบาลขั้วเดิมนั้น นายสนั่น บอกว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชน มองเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักสำคัญ ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลภาคเอกชนมีความยินดีในการสนับสนุนและเชื่อมโยงกันทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะข้อเสนอจากสมุดปกขาว ที่หอการค้าฯ ได้จัดเวทีให้พรรคการเมืองรับฟังและตอบคำถามภาคธุรกิจใน 10 ประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ภาคเอกชนจะดำเนินการเอง และส่วนหนึ่งรัฐบาลชุดใหม่จะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนร่วมกับเอกชน ได้แก่ การส่งเสริมภาคธุรกิจเกษตร อาหาร และ BCG & ESG, Digital Transformation และการศึกษาไทย การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาแรงงานไทย การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โอกาสของไทยด้านการค้าข้ามแดนและชายแดน การสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และข้อเสนอจากตัวแทนนักศึกษา

รวมถึงประเด็นที่ภาคเอกชนผลักดันอย่างต่อเนื่องคือการแก้ไขและปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัยอย่างจริงจัง (Regulatory Guillotine) เพื่อเป็นแนวทางแก่พรรคการเมืองหรือรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาพิจารณากำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของภาคธุรกิจ ภายใต้ผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งต่อไป

นอกจากนี้ หอการค้าต้องการเห็นหลังการเลือกตั้งคือ การฟอร์มทีมรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเป็นไปด้วยความรวดเร็วและราบรื่น เพื่อที่จะเข้ามาดูแลการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการแก้ไขและฟื้นฟูเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่ต้องเร่งทำทันที เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงจังหวะที่เศรษฐกิจประเทศกำลังฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

“หอการค้าฯ มีความกังวลคือสุญญากาศทางเศรษฐกิจในระหว่างที่รอพรรคการเมืองฟอร์มรัฐบาลใหม่ และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเชื่อว่ารัฐบาลที่เข้ามาจะต้องมีการทบทวนการใช้งบประมาณ ทำให้เม็ดเงินที่ควรจะลงสู่แผนงานโครงการในพื้นที่ต่างๆ ชะลอออกไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งส่วนนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ จึงอยากฝากให้รัฐบาลหน้าเร่งดำเนินการโดยเฉพาะโครงการด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วตามศักยภาพ”

ประเด็นสำคัญที่หอการค้าอยากฝากไว้คือในการจัดทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องไม่เป็นการสร้างภาระทางการคลังของประเทศ ซึ่งนโยบายและมาตรการต่างๆ จะต้องระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน โดยเน้นความคุ้มค่าและสร้างประโยชน์ให้ประเทศเป็นหลักสำคัญที่สุด!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH




กำลังโหลดความคิดเห็น