xs
xsm
sm
md
lg

เช็กที่มา “แหล่งเงิน” 5 พรรคการเมือง งบมาจากไหน...“นโยบายประชานิยม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แจงที่มางบประมาณที่พรรคการเมืองต่างใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย “เพื่อไทย” เผยงบโครงการ “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” มาจาก 3 ส่วน “สุทิน คลังแสง” ยัน พท.เน้นกระตุ้น ศก. สร้างรายได้ ไม่ “กู้มาแจก” ด้าน “ไทยสร้างไทย” ระบุโครงการ “บำนาญประชาชน 3,000 บาท” โอนงบจากเบี้ยผู้สูงอายุ ภาษีบาป และโครงการที่ไม่จำเป็น “ภูมิใจไทย” เตรียมออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อดึงเงินที่อยู่ในระบบมาใช้ในโครงการเพื่อประชาชน ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ใช้ความเก๋าเกมด้านการเงินการคลังหยิบงบที่ “นอนนิ่ง” ออกมาใช้ ทั้งกองทุนบำนาญชราภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินนอกงบประมาณ ส่วน “ก้าวไกล” เร่งรื้อระบบงบประมาณ รีดไขมันส่วนเกิน ปรับลดโครงการที่ไม่จำเป็น ผนวกกับรายได้จากภาษีรูปแบบใหม่

นับว่าเป็นประเด็นที่ประชาชนกำลังจับตามองเลยทีเดียวสำหรับ “นโยบายประชานิยม” ต่างๆ ของบรรดาพรรคการเมือง ซึ่งแม้ว่าผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากนโยบายเหล่านี้จะดูล่อตาล่อใจ แต่ขณะเดียวกัน ก็อดเคลือบแคลงไม่ได้ว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ และที่สำคัญจะนำเงินจากไหน? มาใช้ในการดำเนินโครงการ!

ดังนั้น เพื่อไขข้อข้องใจ Special Scoop Manager Online จะไล่เรียงและตรวจสอบ “แหล่งเงิน” ที่ใช้ในการดำเนินนโยบายของแต่ละพรรคว่ามาจากที่ใด และมีความเป็นไปได้หรือไม่?


“เพื่อไทย”
ใช้เงินภาษี+งบประมาณ


พรรคแรกที่ถูกจับตาอย่างมากคือ “พรรคเพื่อไทย” อันเนื่องมากจากนโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ซึ่งหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่อาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งยังท้วงติงว่าหากกำหนดเกณฑ์ว่าแจกเงินให้คนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป เท่ากับว่าต้องแจกเงินให้คนไทย 55 ล้านคน คนละ 10,000 บาท ซึ่งรวมเป็นเงินถึง 5.5 แสนล้านบาท จะเอาเงินมากมายขนาดนั้นมาจากไหน?

ซึ่งเรื่องนี้ “นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ประธานคณะทำงานนโยบาย และประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า งบที่ใช้ใน “โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” นั้นจะมาจาก 3 ส่วนด้วยกัน คือ

1.มาจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท

2.มาจากภาษีต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณแสนกว่าล้านบาท เช่น ภาษีนิติบุคคล

3.มาจากงบประมาณของโครงการต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็น เช่น สวัสดิการรัฐที่จะลดน้อยลง

แต่ทั้งนี้แนวทางที่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทยคือจะ “ไม่กู้เงิน” เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ อย่างเด็ดขาด โดย “นายสุทิน คลังแสง” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ในส่วนนโยบายหรือโครงการอื่นๆ นั้นพรรคเพื่อไทยจะใช้วิธีเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนมีรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่มากขึ้น และนำรายได้ดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินโครงการ ขณะเดียวกัน บางโครงการรัฐสามารถใช้กลไกของรัฐในการดำเนินการโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน

เช่น นโยบายลดรายจ่ายให้ประชาชนด้วยการลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้ม รัฐสามารถใช้อำนาจสั่งการได้ทันที นโยบายพักหนี้เกษตรกร ทั้งต้นและดอก 3 ปี รัฐบาลสามารถมอบนโยบายไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ให้ดำเนินการ นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ในปี 2570 เมื่อรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนดีขึ้น ประชาชนจะมีรายได้มากขึ้น ส่งผลให้มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจจะมีรายได้มากขึ้นและสามารถจ่ายค่าแรงให้พนักงานได้มากขึ้น ดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ผู้สูงอายุสามารถใช้บริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวและไม่มีค่าใช้จ่าย

“พรรคเพื่อไทยจะไม่มีการกู้เงินมาแจกเหมือนที่บางพรรคทำ แต่เราจะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจโดยจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของประเทศเติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำ ปีละ 5% เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐจะจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นและสามารถนำรายได้เหล่านี้ไปทำโครงการต่างๆ” นายสุทิน กล่าว


“ไทยสร้างไทย”
มีงบจากหลายแหล่ง


พรรคต่อมาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการเช่นกันก็คือ “พรรคไทยสร้างไทย” ซึ่งมี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เป็นหัวหน้าพรรค เนื่องจากทันทีที่พรรคไทยสร้างไทยประกาศนโยบาย “บำนาญประชาชน 3,000 บาท” ซึ่งจะแจกเงินให้ผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก ส่งผลให้กระแสนิยมของพรรคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งพรรคการเมืองบางพรรคออกมาปรามาสว่าจะเอาเงินจากไหนมาแจก?

คุณหญิงสุดารัตน์ จึงออกมาชี้แจงว่า โครงการบำนาญประชาชน 3,000 บาท/เดือน ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 3 แสนล้านบาท/ปีนั้น ทางพรรคไทยสร้างไทยได้ศึกษาไว้แล้วว่าจะใช้งบประมาณจากส่วนใด โดยเงินที่ใช้ในโครงการจะมาจาก 3 ส่วน คือ

1.เงินจากกองทุนที่ใช้ในโครงการเบี้ยผู้สูงอายุ ประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท/ปี

2.เงินจากภาษีบาป คือภาษีสุราและบุหรี่ 5-6 หมื่นล้านบาท/ปี

3.ตัดมาจากงบประมาณที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่ได้สร้างจีดีพีให้ประเทศ ประมาณ 1 แสนล้านบาท/ปี เช่น งบในการจัดซื้ออาวุธ งบก่อสร้างอาคารราชการที่ไม่มีความจำเป็น งบดูงานและสัมมนาของข้าราชการ

“งบประมาณแผ่นดินปัจจุบัน 3 ล้านล้านบาท หมดไปกับงบประจำ 2 ล้านล้าน ส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านล้านนั้นใช้กันอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ ถ้าเราตัดงบประมาณที่ไม่มีความจำเป็นลงแค่ 10% จะได้เงินกลับคืนมา 3 แสนล้านบาทแล้ว” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าว

“ภราดร ปริศนานันทกุล” โฆษกพรรคภูมิใจไทย
“ภูมิใจไทย”
เตรียมออกพันธบัตรระดมทุน


ขณะที่พรรคซึ่งวางเป้าหมายชัดเจนว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นอย่าง “ภูมิใจไทย” ได้วางแผนในการจัดหางบประมาณเพื่อใช้ในโครงการต่างๆ ตามที่ได้หาเสียงไว้เช่นกัน “ภราดร ปริศนานันทกุล” โฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า สำหรับโครงการที่ใช้งบประมาณไม่มาก เงินที่ใช้จะมาจากงบประมาณแผ่นดิน เช่น โครงการกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป ซึ่งให้ผู้สูงอายุสามารถกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ในวงเงิน 20,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และหากผู้สูงอายุเสียชีวิตทายาทและครอบครัวจะได้เงินประกันรายละ 100,000 บาท

ส่วนโครงการขนาดใหญ่ งบที่ใช้ในการดำเนินโครงการจะใช้วิธีออกพันธบัตรระยะสั้นเพื่อระดมทุน เช่น “โครงการแจกหลังคาโซลาร์เซลล์” 21 ล้านหลังคาเรือนทั่วประเทศ และโครงการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งให้ประชาชนซื้อในราคา 6,000 บาท และผ่อนชำระเดือนละ 100 บาท จะใช้วิธีระดมทุนโดยออกพันธบัตรรัฐบาลที่เรียกว่า “Thai Power” หรือพันธบัตรคนไทยรวมพลัง เพื่อระดมเงินจากประชาชนที่มีเงินฝาก โดยให้ดอกเบี้ย 3-4% ซึ่งโครงการหลังคาโซลาร์เซลล์นั้นรัฐจะมีรายได้จากการขายไฟส่วนเกินให้การไฟฟ้าฯ เราจะนำรายได้ตรงนี้มาใช้คืนเงินทุนจากการออกพันธบัตร

หรือ “นโยบายพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท” จะใช้วิธีออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนเช่นกัน โดยโครงการนี้ลูกหนี้จะไม่มีดอกเบี้ยทบต้น-ทบดอก ซึ่งหนี้ที่สามารถพักชำระได้นั้นคือหนี้ในระบบที่มีการทำสัญญาอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับเจ้าหนี้ที่รัฐบาลรับรองให้ปล่อยเงินกู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน สหกรณ์ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนหมู่บ้าน บัตรเครดิต ไฟแนนซ์ หรือลีสซิ่ง

“เฉพาะเงินฝากในประเทศไทยนั้นมีอยู่ประมาณ 15 ล้านล้านบาท เราจะออกพันธบัตรระยะสั้น 3-5 ปี เพื่อดึงเงินในระบบมาใช้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ ประชาชนผู้ฝากเงินจะมีรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จากที่ฝากเงินกับธนาคารได้ดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 0.5-1 บาทต่อปี แต่ซื้อกองทุนได้ดอกเบี้ยร้อยละ 3-4 บาทต่อปี ขณะที่รัฐบาลมีแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในโครงการขนาดใหญ่โดยไม่ต้องกู้จากต่างประเทศ” โฆษกพรรคภูมิใจไทย ระบุ

“ดร.พิสิฐ  ลี้อาธรรม” ประธานนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์
“ประชาธิปัตย์” บริหารงบ
โดยใช้ประสบการณ์ด้านการเงินการคลัง


ส่วนพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ ดูจะมีวิธีบริหารงบประมาณที่โดดเด่นโดยใช้ความเก๋าเกมด้านการเงินการคลังเป็นกลไกในการจัดสรรงบประมาณ “ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม” ประธานนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ อธิบายว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์นั้นมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยใน 3 ส่วน ในกรอบวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยเราแยกวิธีบริหารและจัดสรรงบประมาณเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ

1.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากหญ้า วงเงินรวมไม่เกิน 2 แสนล้านบาท โดยการจัดสรรงบประมาณผ่านระบบ “ธนาคารหมู่บ้าน” ซึ่งมีมีกฎหมายรองรับ หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท

2.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการปลดล็อกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วงเงินรวมกันราว 3 แสนล้านนบาท โดยทั้ง 2 กองทุนมีสมาชิกรวมกันกว่า 4 ล้านกว่าราย มีเงินรวมไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านล้านบาท แต่วงเงินลงทุนดังกล่าวที่ผ่านมาถูกล็อกไว้เฉพาะการลงทุนในตราสารทางการเงินเท่านั้น และมีความพยายามนำเงินไปลงทุนต่างประเทศซึ่งมีความเสี่ยงสูง

ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์มองว่าจำเป็นต้องปลดล็อกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งมีวงเงินลงทุนของสมาชิกข้าราชการ 1.2 ล้านคน และปลดล็อกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีสมาชิกกองทุน 3 ล้านคน เพื่อให้สมาชิกของแต่ละกองทุนสามารถนำเงินลงทุนในกองทุนไปซื้อบ้าน ลดหนี้บ้าน ผ่อนบ้าน วางดาวน์บ้าน เพื่อช่วยลดภาระหนี้บ้านซึ่งเป็นภาระหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดให้หมดไป โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้บ้านมีสัดส่วนสูงถึง 90% ของจีดีพี

3.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการบริหารเงินนอกงบประมาณ วงเงิน 3 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งสามารถเปิดช่องให้นำเงินส่วนนี้มาใช้ในการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีผ่านระบบธนาคาร โดยชักชวนเอสเอ็มอีเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน และกองทุนนี้จะเข้าไปถือหุ้น โดยสัญญาว่าจะคืนให้เมื่อเอสเอ็มอีมีเงินมาซื้อคืนไป โดยจะไม่เข้าไปแทรกแซงการบริหารงาน

“บางพรรคไม่มีความรู้ด้านการเงินการคลังก็กู้มาแจกอย่างเดียว ซึ่งสร้างภาระให้ลูกหลานต้องมาช่วยใช้หนี้ แต่ประชาธิปัตย์เรามีประสบการณ์ด้านการเงินการคลัง เรารู้ว่ามีเงินนอนนิ่งๆ อยู่ตรงไหนและเราสามารถจะเอาเงินส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง สำหรับวงเงินทั้ง 3 ส่วน ราว 1 ล้านล้านบาทนี้ จะสามารถนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่สร้างหนี้สาธารณะและไม่เป็นภาระรัฐบาลมากเกินไป แต่สร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่ ทำให้จีดีพีกลับมาขยายตัวระดับ 5-7%” ดร.พิสิฐ ระบุ

“น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล
“ก้าวไกล”
รื้อวิธีจัดทำงบประมาณ


พรรคที่มีวิธีจัดสรรงบประมาณที่น่าสนใจอีกพรรคหนึ่งคือ “พรรคก้าวไกล” ที่มุ่งปฏิวัติวิธีบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินใหม่ โดย “น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคก้าวไกลจะทำการยกเครื่องระบบราชการและวิธีการจัดทำงบประมาณใหม่ทั้งหมด เพื่อผลักดันให้นโยบายของพรรคสามารถขับเคลื่อนได้จริง ดังนี้

“นโยบายสวัสดิการก้าวหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย” ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์ของพรรค โดยต้องใช้งบประมาณ 650,000 ล้านบาท จะเป็นนโยบายที่ครบถ้วนมากกว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะไม่ต้องมีการพิสูจน์รายได้ของครัวเรือน เช่น ให้ของขวัญแรกเกิดถึง 6 ขวบ คนละ 3,000 บาท ใช้งบประมาณ 2,100 ล้านบาท ให้เงินเลี้ยงดูเด็กเล็กคนละ 1,200 บาทต่อเดือน ใช้งบประมาณ 32,000 ล้านบาท และให้แม่ลาคลอดได้ 6 เดือน โดยได้เงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งตรงนี้ต้องแก้ไขระบบของกองทุนประกันสังคม พร้อมกับจัดทำประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย ได้ค่าเดินทางหาหมอ โดยให้ทุกคนจ่ายเงินสมทบเพื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 40 ส่วนใครที่ไม่มีกำลังจ่ายเองได้ รัฐบาลจะจัดสรรงบจ่ายให้แทน โดยตั้งวงเงินไว้ปีละ 35,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีนโยบายเด็กได้เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง ใช้งบประมาณ 33,000 ล้านบาท

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท โดยรัฐเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีใน 6 เดือนแรก ใช้งบประมาณ 16,000 ล้านบาท ผู้สูงวัยได้เงินเดือนละ 3,000 บาท และสร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ใช้งบ 420,000 ล้านบาท คนพิการได้เดือนละ 3,000 บาท ใช้งบ 72,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการบ้านตั้งตัว โดยรัฐช่วยค่าเช่าบ้าน 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้ 15,000 บาท และต้องการซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รัฐจะช่วยผ่อนบ้านให้ 2,500 บาทต่อเดือน รวม 350,000 หลัง ใช้งบ 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวข้างต้นจะต้องใช้งบประมาณรวม 650,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งการจะจัดสรรงบได้จะต้องไปรีดไขมันจากงบประมาณรายจ่าย ซึ่งจากวงเงินงบประมาณปีละกว่า 3 ล้านล้านบาท ตัดลดโครงการที่ไม่จำเป็นลงได้ 100,000 ล้านบาท เช่น ลดขนาดกองทัพลง 30-40% และเรียกคืนธุรกิจกองทัพมาให้กระทรวงการคลังบริหารซึ่งจะทำให้ได้เงินประมาณ 50,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน งบกลางตัดลดลงได้ 30,000 ล้านบาท และมีรายได้จากเงินปันผลรัฐวิสาหกิจ 30,000 ล้านบาท ส่วนงบที่จะเพิ่มมาใหม่ ได้แก่ การเก็บภาษีความมั่งคั่งกับคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท เก็บภาษีที่ดินรายแปลงและรวมแปลง 150,000 ล้านบาท เก็บภาษีบุคคลทุนใหญ่ 92,000 ล้านบาท การปฏิรูปสิทธิประโยชน์บีโอไอ 8,000 ล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี 100,000 ล้านบาท และรายได้จากหวยบนดิน 50,000 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น