นักเศรษฐศาสตร์จากกระทรวงการคลัง สะท้อนนโยบายแจกเหรียญดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย หากได้เป็นรัฐบาลจะบรรลุ 2 ข้อคือ กระตุ้นเศรษฐกิจและประชาชนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล เตือนประชาชนต้องรู้และเข้าใจว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” เพราะรัฐบาลต้องเตรียมเงินบาทจริงๆ 5 แสนล้านบาท ไว้ให้พ่อค้าแม่ค้านำเหรียญดิจิทัลไปแลกเป็นเงินบาทในสภาวะที่งบประมาณมีจำกัด และประชาชนกลุ่มยากจนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำนโยบายเหรียญดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ และคนไทยทุกคนจึงจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้จริง ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและฝันกลางวันได้เช่นกัน ด้าน ‘บุญยอด’ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคลุงตู่ แจงบัตร "ลุงตู่ 1,000 บาทต่อเดือน 1 ปีได้หมื่นสอง! ใช้ตามปกติ ดีกว่าเงินดิจิทัลเพื่อไทยซึ่งแบงก์ชาติยังไม่อนุญาต!"
หากพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจที่นำเสนอโดยพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้าแล้ว นโยบายที่เป็นกระแสและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในเวลานี้คงจะหนีไม่พ้นนโยบายเงิน หรือเหรียญดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย ที่จะทำการแจกเหรียญดิจิทัลให้คนไทยทุกคนที่มีอายุมากกว่า 16 ปี รายละ 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไขหลักคือเหรียญดิจิทัลนี้จะหมดอายุใน 6 เดือน ซึ่งหากไม่ใช้เหรียญดิจิทัลนี้จะหายไป ต้องใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ในบัตรประชาชน ซึ่งในทางปฏิบัติอาจปรับปรุงระยะทางได้ เช่น ในพื้นที่ห่างไกลอาจกำหนดให้ใช้ในรัศมีที่ไกลกว่า 4 กิโลเมตร โดยไม่สามารถนำไปใช้จ่ายกับสินค้าอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ และไม่สามารถนำไปชำระหนี้นอกระบบได้
โดยมีทั้งเสียงเชียร์และเสียงคัดค้าน ตามมาด้วยคำถามมากมายจากกลุ่มต่างๆ ที่มีความข้องใจและห่วงใยในนโยบายนี้ ทั้งเรื่องจะนำเงินมาจากไหน มั่นใจว่าจะต้องใช้เงินกู้ ซึ่งจะสร้างภาระให้คนรุ่นหลังตามมา ทำไมต้องกำหนดแจกเด็ก 16 ปีขึ้นไป ถือเป็นการตกเขียวใช่หรือไม่? รวมไปถึงความสุ่มเสี่ยงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจจะพัวพันกับนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เพราะเคยเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนก็ตาม
อย่างไรก็ดี ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์จากกระทรวงการคลัง กลุ่มเล็กๆ ที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนนโยบายเติมเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย จากการติดตามพบว่า วัตถุประสงค์หลักๆ ของนโยบายการแจกเหรียญดิจิทัลนี้คงจะมีด้วยกัน 2 ประการคือ
ประการที่หนึ่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น ดังเห็นได้จากการกำหนดให้เหรียญนี้หมดอายุใน 6 เดือนทำให้คนต้องรีบใช้จ่ายให้หมด และเมื่อพิจารณาเม็ดเงินที่จะอัดฉีดเข้าไปมากกว่า 5 แสนล้านบาท (ประชากรอายุมากกว่า 16 ปีมีมากกว่า 50 ล้านคน และแต่ละคนได้รับแจกเงินคนละหนึ่งหมื่นบาท) เทียบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งมีขนาดประมาณ 17 ล้านล้านบาทในปัจจุบันแล้วน่าจะทำให้เห็นการขยายตัวอย่างเฉียบพลันของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้อย่างแน่นอน (เงิน 5 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของ GDP)
ประการที่สอง เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคุ้นเคยกับเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยคาดว่าเหรียญดิจิทัลที่จะนำมาแจกให้ประชาชนตามนโยบายนี้น่าจะเป็นเหรียญดิจิทัลซึ่งใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเช่นเดียวกับกับเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC : Central Bank Digital Currency) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาภายใต้ชื่อโครงการอินทนนท์
หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งคงจะเร่งดำเนินนโยบายการแจกเหรียญดิจิทัลดังที่ได้หาเสียงไว้ และหากทำสำเร็จจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักทั้ง 2 ประการข้างต้นได้ ซึ่งเมื่อดูเพียงผิวเผินเหมือนจะเป็นนโยบายที่เต็มไปด้วยข้อดี ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างรวดเร็ว และเป็นการทำให้คนคุ้นเคยกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและการใช้เงินดิจิทัล
แต่หากนึกถึงคำกล่าวที่ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” ซึ่งคล้ายคลึงกับคำพูดของนักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “No Free Lunch หรือ ไม่มีใครให้เราทานมื้อเที่ยงฟรีๆ” แล้วนโยบายที่เรากำลังพูดถึงนี้ไม่ใช่นโยบายที่จะได้มาฟรีๆ เช่นกัน เพราะในท้ายที่สุดพ่อค้าแม่ค้าที่รับเหรียญดิจิทัลจะต้องนำเหรียญดิจิทัลออกมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อนำไปใช้ทำทุนกันต่อไป ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องเตรียมเงินบาทจริงๆ ในจำนวนประมาณ 5 แสนล้านบาท เพื่อไปแลกกับเหรียญดิจิทัลที่อยู่ในมือของพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการ
คำถามที่สำคัญคือ แล้วเงิน 5 แสนล้านบาทนี้จะมาจากไหน เท่าที่ติดตามคำชี้แจงจากบุคลากรของพรรคเพื่อไทยได้คำตอบว่า น่าจะมาจากงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งไม่ได้ซับซ้อนอะไร หากรัฐบาลเก็บรายได้ (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาษี) บวกตัดลดงบประมาณส่วนอื่นๆ ได้ไม่พอกับวงเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ก็ใช้วิธีการกู้เพิ่ม หนี้สาธารณะอาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจเต็มที่จะทำได้อยู่แล้ว
ดังนั้น คำถามว่าโครงการนี้จะทำได้จริงหรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็น!
แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณ (ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด) ไปกับนโยบายนี้หรือไม่ เพราะประเทศมีงบประมาณอย่างจำกัด หากไม่ใช้เงินกับโครงการนี้สามารถนำเงินไปใช้กับโครงการอื่นได้ ก่อนที่จะตอบคำถามว่ารัฐบาลควรใช้งบประมาณให้โครงการแจกเงินดิจิทัลนี้หรือไม่นั้นเราควรที่จะมาดูกันก่อนว่าปัญหาหลักๆ ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบันคืออะไร และนโยบายนี้ตอบโจทย์หรือไม่
ปัญหาแรกคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแม้ว่าโดยภาพรวมประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีปัญหาในหลายมิติ รวมถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
สำหรับการดำเนินนโยบายเหรียญดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย จากรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10% ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในขณะที่มีเพียงประมาณ 1 ใน 10 ของครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ยิ่งไปกว่านั้นครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10% ยังต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมากกว่า 70 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2564 เทียบกับปี 2563 ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% จ่ายเพิ่มขี้นไม่ถึง 4 บาทในช่วงเวลาเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวดูจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหากพิจารณามิติเรื่องสังคมสูงวัยด้วย
จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2563 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยพบว่ามีเพียงร้อยละ 12.9 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อติดตามและรับฟังข่าวสารในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นที่น่าขบคิดว่านโยบายการแจกเหรียญดิจิทัลให้คนอายุมากกว่า 16 ปีทุกคนนั้นในทางปฏิบัติแล้วน่าจะมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึง
ดังนั้น การสร้างหลักประกันว่าคนไทยทุกคนจะได้ประโยชน์จากนโยบายการแจกเหรียญดิจิทัลนี้อย่างเท่าเทียมจึงเป็นเรื่องที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน ซึ่งควรจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ (และควรจะได้รับมากกว่ากลุ่มผู้มีฐานะดี) แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงโครงการได้เพราะเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้นไปอีก
ปัจจุบันภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบชี้เป้ารายครัวเรือนครอบคลุมทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านรายได้ ด้านการศึกษา และการเข้าถึงบริการภาครัฐ จึงเป็นที่น่าขบคิดว่าระหว่างการเพิ่มงบประมาณมาใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนไปที่ครัวเรือนที่ต้องการแบบพุ่งเป้า กับการแจกเหรียญดิจิทัลแบบปูพรมให้คนอายุเกิน 16 ปีทุกคนนั้นโครงการใดจะมีประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำมากกว่ากัน
ปัญหาที่สองคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศไทย หากพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจะพบว่าส่วนใหญ่ยังเป็นภาคการผลิตและบริการแบบดั้งเดิมซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่มากนักในยุคปัจจุบัน ดังนั้น การที่จะยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งและควรจะต้องทำให้เกิดการลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจสมัยใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของโลกในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดเพื่อสอดรับกับการพัฒนายุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนธุรกิจการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งหากประเทศไทยสามารถปรับตัวไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกในยุคปัจจุบันแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจของไทยสามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพ (ซึ่งสูงกว่าที่จะเป็นในปัจจุบัน) และทำให้ไทยสามารถกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วเต็มตัวได้
นโยบายการแจกเหรียญดิจิทัลจึงดูเหมือนว่าจะแก้ไขปัญหาที่สองนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะการอัดฉีดงบประมาณถึงประมาณ 3% ของ GDP พร้อมทั้งมีข้อกำหนดให้ต้องรีบใช้ให้หมดภายใน 6 เดือนจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวถึงระดับศักยภาพได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังเป็นการทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รู้จักกับเงิน หรือเหรียญดิจิทัลที่ถูกพัฒนาจากเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน
สิ่งที่เราควรจะต้องให้ความสำคัญคือความยั่งยืนของการเติบโต หรือนั่นก็คือเศรษฐกิจไทยจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ไว้ได้หรือไม่ หากรัฐบาลไม่มีเหรียญดิจิทัลมาเติมเพิ่ม หรือมีนโยบายแจกเงินประชาชนในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติม และที่สำคัญคือเราจะมีกลไกอย่างไรที่จะสามารถต่อยอดให้ประชาชนทั่วไปจากผู้ที่เพียงแค่รู้วิธีการรับหรือจ่ายเงินหรือเหรียญดิจิทัล ให้เป็นผู้ที่สามารถสร้างรายได้จากเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ซึ่งถ้าดูเพียงนโยบายการแจกเงินดิจิทัลนี้ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนว่าจะยกขีดความสามารถระยะยาวในการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างไร
ความจริงแล้วในปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเองต่างพยายามปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ดังเห็นได้จากนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนการสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 4.0 แต่ยังประสบปัญหาในหลายด้าน เช่น ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศยังขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจสมัยใหม่ ข้อจำกัดด้านการลงทุนของ SME ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาฝั่งอุปทานหรือด้านการผลิตและการลงทุนซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ยกตัวอย่างเช่น การสร้างทักษะที่จำเป็นให้ทรัพยากรมนุษย์ต้องเริ่มจากระบบการศึกษา การอบรมพัฒนาทักษะ ตลอดจนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งไม่สามารถทำได้เพียงใช้การแจกเงินหรือเหรียญดิจิทัล แต่ต้องเป็นการขับเคลื่อนนโยบายที่มีเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน
สรุปคือ นโยบายการแจกเงินหรือเหรียญดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นนโยบายที่ทำได้ และเมื่อทำแล้วจะส่งผลให้เศรษฐกิจระยะสั้นขยายตัวแน่นอน แต่ประสิทธิภาพของการใช้จ่ายทรัพยากรถึงประมาณ 15% ของงบประมาณแผ่นดินปี 2567 สำหรับโครงการนี้โครงการเดียวยังเป็นประเด็นที่ต้องขบคิด รวมถึงความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจภายหลังจากเงินดิจิทัลหมดอายุภายใน 6 เดือน ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้กำหนดนโยบายต่อไป
ด้านนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรค รทสช.บอกว่า หากจะเปรียบเทียบระหว่างการเติมเงิน "ลุงตู่” ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (พลัส) ให้คนที่มีรายได้น้อยคนละ 1,000 บาทต่อเดือน ถ้าคิด 12 เดือนจะได้ 12,000 บาท มากกว่าของพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน ซึ่งเงินนี้เป็นเงินจริงๆ ไม่ใช่ token หรือเงินดิจิทัล จึงสามารถใช้ได้ตามปกติ ไม่ต้องห่วงเรื่อง 4 กิโลเมตร หรือ 6 เดือน สามารถใช้จ่ายหนี้สินที่มีอยู่ก็ได้ หรือนำไปซื้อสินค้าในร้านหาบเร่แผงลอยในตลาดสดก็ได้ ไม่เห็นต้องสร้างระบบให้ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อหาช่องว่างให้บริษัทใหญ่หรือใครได้ประโยชน์จากระบบ "เพื่อไทย”
“ลุงตู่ เติมเงินให้คนที่มีรายได้น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ประมาณ 14-15 ล้านคน ซึ่งจะได้คนละ 12,000 บาทต่อปี แต่เพื่อไทยแจกไปทั่ว คนรวยอยู่แล้วก็ได้ ข้าราชการก็ได้ คนมีบัญชีเงินฝากธนาคารสูงๆ มีบ้าน มีรถได้กันหมด จึงไม่ถูกต้องที่จะนำภาษีของประชาชนไปละเลงแบบนี้”
ทั้งที่เงินดิจิทัลแบงก์ชาติยังไม่อนุมัติให้ใช้แลกเปลี่ยนในชีวิตจริง เพื่อไทย เสนอนโยบายที่เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบันเพื่ออะไร? ขายฝัน หรือให้ระบบปฏิเสธ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้?”
อีกทั้งการที่เด็ก 16 ปี ได้เงิน 10,000 บาท ไปแล้วถามว่าเขาจะนำไปซื้ออะไร? สุดท้ายคงเป็นค่าอินเทอร์เน็ต หรือค่ามือถือเครื่องใหม่ใช่หรือไม่ และใครรอรับเม็ดเงินนี้
นายบุญยอด ถามอีกว่าเหตุใดจึงให้เด็กอายุ 16 ขึ้นไป พรรคเพื่อไทยมีเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร ทำไมถึงไม่เป็นอายุ 20 หรือเท่าไรถึงจะเหมาะสม หรือเป็นเพราะเพื่อไทย หวังว่าอีก 2 ปี จะมาโหวตเลือกพรรคนี้ด้วยการ "ซื้อเสียงล่วงหน้า" มันก็ไม่ต่างจาก "ตกเขียว" ข้าว หรือค้ามนุษย์ใช่หรือไม่?
"ผมขอเรียกร้องให้ กกต.ตรวจสอบนโยบายนี้อย่างละเอียด ต้องรู้เท่าทัน และต้องบอกประชาชนคนมีสิทธิเลือกตั้งว่า ทำได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่ให้เหตุผลว่านำเงินงบประมาณมาใช้จึงทำได้ ตัวเลขเท่าไหร่?? ไม่เป็นจริงแล้วยังไง?? อย่าลืมนโยบายอื่นๆ อีกเช่น top up ครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน อีก 4 ล้านครอบครัวต้องใช้เงินอีกกี่แสนล้าน (ไม่น้อยกว่า 4 แสนล้าน!!!) ยังไม่รวม/1 นักเรียน 1 ครู 1 แท็บเล็ต ใช้เงินเท่าไหร่ ของเก่าหมดเงินไปเท่าไหร่ ได้อะไรกลับมา และนโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย!?!? ใช้งบประมาณส่วนไหน เท่าไหร่ มาเคลียร์หนี้เก่าให้ค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสายได้หรือไม่"
ถึงวันนี้นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะเป็นนโยบายขายฝัน จะเกิดได้หรือไม่ยังต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จในเวลานี้คือสามารถดึงประชาชนหันมาสนใจจดจำพรรคเพื่อไทยเบอร์ 29 ใช่หรือไม่!!!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv