xs
xsm
sm
md
lg

เปิดนโยบาย...พรรคไหน? “ลดค่าไฟฟ้า” ได้สูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แข่งเดือด “นโยบายไฟฟ้า” 6 พรรคการเมือง “ม.ล.กรกสิวัฒน์” เผยพลังประชารัฐดัน “ค่าไฟ 0 บาท” ผ่านโครงการโซลาร์ประชารัฐ อัดงบ อบต.ละ 30 ล้าน สร้างโรงไฟฟ้าประชาชน พร้อมรับซื้อถุงพลาสติกเพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันขายเกษตรกรลิตรละ 20 บาท ด้าน “เพื่อไทย” ประกาศลดค่าไฟตามราคาต้นทุนพลังงานที่แท้จริง เร่งเจรากับกัมพูชานำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ “ประชาธิปัตย์” มุ่งส่งเสริมโซลาร์เซลล์ ลดปริมาณสำรองไฟฟ้าเหลือ 15% เพื่อตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น “ภูมิใจไทย” ฟรีหลังคาโซลาร์เซลล์ ขณะที่ “เสรีรวมไทย” ลั่นปราบทุจริต เตรียมรื้อสัญญาซื้อไฟจากเอกชน ส่วน “ไทยสร้างไทย” กดค่าไฟไม่เกินหน่วยละ 3.50 บาท

กล่าวได้ว่านโยบายพลังงานเป็นประเด็นที่ทุกพรรคการเมืองต่างหยิบยกขึ้นมาเพื่อเรียกคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับ “ค่าไฟฟ้า” ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ดังนั้น ทุกคนจึงเฝ้าดูว่านโยบายไฟฟ้าของพรรคการเมืองใดจะสามารถแก้ไขให้พวกเขาได้

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการจัดทำนโยบายพรรคพลังประชารัฐ
พลังประชารัฐดัน 4 โครงการ
ตั้งเป้าค่าไฟฟ้า 0 บาท


พรรคการเมืองแรกที่น่าจับตาอย่างยิ่งคือ "พลังประชารัฐ" ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้กลุ่มนักวิชาการด้านพลังงานได้ยกทีมเข้าร่วมสังกัดพรรค และได้รับการแต่งตั้งให้รับหน้าที่ “ทีมยกร่างนโยบายพลังงาน” ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนำโดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน และนักวิชาการเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน เช่น นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี โดยล่าสุดได้ร่างนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการจัดทำนโยบายพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า เนื่องจากค่าไฟฟ้าของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียนและแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยต้นทุนค่าฟ้าของไทยสูงถึง 5 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ต้นทุนของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 2 บาทต่อหน่วยเท่านั้น เราจึงมีนโยบายที่จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลงโดยใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า โดยจะดำเนินโครงการต่างๆ ดังนี้

1.“โครงการโซลาร์ประชารัฐ” ซึ่งจะสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง ส่วนไฟฟ้าที่เหลือขายให้แก่การไฟฟ้าฯ โดยใช้ระบบระบบเน็ตมิเตอริ่ง (Net Metering) คือ ระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา และไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ ที่เจ้าของบ้านใช้ ซึ่งจะคำนวณเป็นรายเดือนว่าหักลบกลบลบหน่วยแล้วประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟให้การไฟฟ้าฯ เท่าไหร่ หรือมีรายได้จากการจากการขายไฟให้การไฟฟ้าฯ เท่าไหร่ โดยราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนและการไฟฟ้าฯ ผลิตจะต้องเป็นอัตราเดียวกัน ส่วนเงินทุนที่ใช้ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้นรัฐจะจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ประชาชนที่ร่วมโครงการ โดยเริ่มแรกจะจัดทำโครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน จากนั้นจึงขยายไปหัวเมืองในแต่ละภาค และขยายไปจังหวัดต่างๆ ต่อไป

“วิธีนี้อาจทำให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟรีโดยไม่ต้องจ่ายค่าไฟเลยก็ได้ คือการคำนวณค่าไฟจะใช้วิธีหักลบกลบหน่วย ถ้าในเดือนนั้นเราดึงไฟจากการไฟฟ้าฯ มาใช้มากกว่าที่โซลาร์เซลล์ผลิตได้เราก็จ่ายค่าไฟส่วนต่าง แต่ถ้าดึงไฟมาใช้น้อยกว่าที่ผลิตได้ก็มีรายได้กลับมา ส่วนค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่ได้แพงอย่างที่หลายคนคิด คือ ปกติโซลาร์เซลล์จะแพงที่แบตเตอรี่ เช่น ถ้าติดโซลาร์เซลล์ 5 กิโลวัตต์ (ประหยัดไฟได้ 2,500-4,000 บาท/เดือน) จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 150,000 บาท แต่ถ้ามีแบตเตอรี่จะเสียค่าใช้จ่าย 30,000 บาท ดังนั้น เราจะเลือกระบบที่ไม่มีแบตเตอรี่ ซึ่งจากสถิติพบว่าขั้นต่ำจะสามารถประหยัดค่าไฟได้ประมาณเดือนละ 2,500 บาท ดังนั้น 5 ปีก็คืนทุนแล้ว และโดยทั่วไปโซลาร์เซลล์จะมีอายุการใช้งาน 25 ปี ส่วนอินเวอร์เตอร์ (อุปกรณ์แปลงไฟ) อายุการใช้งาน 10 ปี แปลว่าเราได้ใช้ไฟฟรีถึง 10 ปี และใช้ไฟในราคาที่ถูกมากอีก 10 ปี” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

2.“โครงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า” เนื่องจากหากบ้านที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน แต่ปัญหาคือปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาแพง อีกทั้งคนส่วนใหญ่มีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอยู่แล้วอาจไม่ต้องการซื้อรถพลังงานไฟฟ้าเพิ่มอีกคัน พรรคพลังประชารัฐจึงคิดโครงการ EV conversion หรือการแปลงรถที่ใช้น้ำมันเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งวิธีการง่ายมาก โดยเป็นอุปกรณ์สำเร็จรูป เมื่อถอดเครื่องยนต์ของระบบน้ำมันออกก็สามารถใส่แบตเตอรี่กับมอเตอร์เข้าไปก็ใช้ได้เลย โดยรัฐจะช่วยสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการแปลงระบบพลังงานของรถยนต์ ส่วนจะเป็นวงเงินเท่าไหร่นั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

ทั้งนี้ ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งของโครงการนี้คือจะเกิดคลัสเตอร์รถ EV ในประเทศไทย แทนที่จะนำเข้ารถพลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์จากต่างประเทศเหมือนปัจจุบัน นอกจากนั้นรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนโครงการโซลาร์เซลล์และโครงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไปพร้อมๆ กัน

พรรคพลังประชารัฐเปิดตัวทีมเศรษฐกิจ
3."โครงการ 1 อบต. 1 โรงไฟฟ้า" ซึ่งจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์เซลล์ในชุมชนขึ้นมาโดยความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) การไฟฟ้าฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยสร้างโซลาร์ฟาร์มขนาด 500 K-1 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฯ โดยกำไร 50% จะคืนให้ชาวบ้านในชุมชนในรูปของส่วนลดค่าไฟให้แก่บ้านแต่ละหลัง

4.“โครงการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน” โดยรับซื้อถุงพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนต่างๆ มาผ่านกระบวนการความร้อนเพื่อเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมัน ที่เรียกว่า Pyrolysis คือการกำจัดขยะพลาสติกด้วยการเผาที่อุณหภูมิสูงมากจนเป็นการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ในภาวะไร้อากาศ และได้เป็นน้ำมันดิบซึ่งเป็นพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง ส่วนแนวทางในการก่อตั้งโรงงานแปรรูปพลาสติกเป็นน้ำมันนั้นจะใช้วิธีร่วมทุนระหว่าง อบต.3-4 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ร่วมกันสร้างโรงกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติก 1 แห่ง ซึ่งใช้งบก่อสร้างประมาณ 100 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ อบต.แห่งละ 30 ล้านบาท (พรรคพลังประชารัฐมีโครงการให้เงินสนับสนุน อบต. แห่งละ 30 ล้านบาทต่อปี โดยให้ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี) โดย อบต.จะรับซื้อขยะถุงพลาสติกจากประชาชนในพื้นที่ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อนำมาใช้ในการผลิตน้ำมัน ซึ่งจะได้เป็นน้ำมันดีเซลเกรดเกษตรกร โดยน้ำมันที่ผลิตได้จะนำมาขายให้แก่เกษตรกรที่ใช้เครื่องยนต์รอบต่ำ เช่น รถอีแต๋น เครื่องสูบน้ำ ในราคาลิตรละ 20 บาท

“หากทั้ง 4 โครงการ คือ โครงการโซลาร์ประชารัฐ โครงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โครงการ 1 อบต. 1 โรงไฟฟ้า และโครงการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมันได้รับการขับเคลื่อน ไม่ว่าน้ำมันหรือไฟฟ้าจะขึ้นราคาไปขนาดไหนประชาชนคนไทยจะไม่ได้รับผลกระทบอีกต่อไป ประชาชนจะเสียค่าไฟถูกลง หรือไม่เสียเลย และมีเงินเข้ากระเป๋า รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าน้ำมันเพราะใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานที่แต่ละบ้านผลิตเองได้ ขณะที่เกษตรกรไทยจะได้ใช้น้ำมันราคาถูก ส่งผลให้ไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงาน เพราะเรามีพลังงานจากแสงอาทิตย์และขยะพลาสติกซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด ที่สำคัญการไฟฟ้าภาคประชาชนจะเป็นกำลังหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ ขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนที่ขายไฟแพงจะกลายเป็นพลังงานสำรอง สิ่งแวดล้อมดีขึ้นเพราะไม่มีมลพิษทางอากาศที่เกิดจากเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และปริมาณขยะจากถุงพลาสติกจะลดลงอย่างรวดเร็ว” ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุ

นอกจากนั้น ม.ล.กรกสิวัฒน์ ยังชี้ว่า รัฐต้องจัดลำดับในการรับซื้อไฟฟ้าใหม่ โดยรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งขายไฟในราคาถูกกว่าค่าไฟฐานก่อน (ค่าไฟฐานอยู่หน่วยละ 5 บาท) ส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนที่ขายไฟราคาแพงควรจะรับซื้อเป็นอันดับท้ายๆ หรือหากมีปริมาณไฟเพียงพอแล้วก็ไม่ต้องซื้อ และสิ่งแรกที่ต้องทำคือ กฟผ.ต้องลดการซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ LNG ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้ขายไฟให้ กฟผ.ในราคาถึงหน่วยละ 7-9 บาท แต่ราคาที่ กฟผ.ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อยู่ที่หน่วยละ 5 บาท ทำให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระขาดทุนหน่วยละ 2-4 บาท

ดังนั้น โรงไฟฟ้าเอกชนที่ขายไฟแพงจึงควรหยุดผลิต เป็นแค่โรงไฟฟ้าสำรอง และถึงแม้จะหยุดผลิตเอกชนก็ไม่ขาดทุนเพราะ กฟผ.จ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ให้โรงไฟฟ้าฟรีๆ อยู่แล้ว ขณะที่ไฟฟ้าที่ได้จากโรงไฟฟ้าที่ใช้กากปาล์มในการผลิต ราคาค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 2.60 บาทเท่านั้น ซึ่งน่าแปลกว่าทำไม กฟผ.ซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเหล่านี้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้ซื้อเต็มกำลังการผลิต

“ที่ตลกมากคือ กฟผ.ซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในราคาที่สูงกว่าค่าไฟฐาน ซึ่งอยู่ที่หน่วยละ 5 บาท แต่รับซื้อไฟจากเอกชนในราคาหน่วยละ 7-10 บาท เราอาจยกเลิกสัญญากับโรงไฟฟ้าเหล่านี้ไม่ได้เพราะทำสัญญาไปแล้ว แต่เราสามารถให้เขาหยุดผลิต และเลือกซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าที่ขายในราคาถูกกว่า เช่น ซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าที่ใช้กากปาล์มในการผลิต ในราคาหน่วยละ 2.60 บาท บวกกับค่าความพร้อมจ่ายที่จ่ายให้โรงไฟฟ้าที่หยุดผลิตหน่วยละ 2 บาท ต้นทุนค่าไฟจะอยู่ที่หน่วยละ 4.60 บาท ซึ่งถูกกว่าค่าไฟฐาน และถูกกว่าราคาค่าไฟของโรงไฟฟ้าเอกชนมาก” ม.ล.กรกสิวัฒ์ กล่าว

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
“เพื่อไทย” เร่งขุดก๊าซในพื้นที่ทับซ้อน
หวังลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า


ส่วนพรรคการเมืองใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” ก็ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าเช่นกัน โดย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่จะผลักดันให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง ดังนี้

1.ปรับลดราคาค่าไฟฟ้าตามต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริง เนื่องจากขณะนี้ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

2.เร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตสอดคล้องกับปริมาณไฟฟ้าสำรองที่สั่งซื้อจากเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งเป้าว่า GDP ของไทยจะเติบโตถึง 5% ต่อปี จึงต้องผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริง GDP ของไทยขยายตัวแค่ 1% กว่าต่อปี แต่ปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าที่กำหนดยังเท่ากับการคาดการณ์เดิม ทำให้ไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ บางส่วนต้องให้โรงงานไฟฟ้าเอกชนหยุดผลิตซึ่งต้องเสียค่าความพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชน และเกิดเป็นต้นทุนที่เสียเปล่า

3.เร่งจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อที่จะนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง โดยอย่างน้อยก็เท่ากับก๊าซที่ขุดจากอ่าวไทย ซึ่งต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2-3 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

4.ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก โดยลดขั้นตอนขออนุญาตและการขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ให้ กฟผ. รวมทั้งจัดหาแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ที่คุณภาพดีและราคาถูกให้ประชาชน

5.มีนโยบายให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้ราคาค่าไฟลดลง อีกทั้งสามารถจำหน่ายไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้ประเทศที่มีความต้องการเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ซึ่งแจ้งความจำนงมาแล้ว

“การเจรจาเพื่อนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชามาใช้นั้นนอกจากจะได้ก๊าซธรรมชาติในราคาถูกแล้ว รัฐบาลยังมีรายได้จากค่าภาคหลวงนับแสนล้าน อีกทั้งก๊าซธรรมที่ขุดขึ้นมายังสามารถนำมาแยกเป็นปิโตรเคมีเพื่อขายต่อไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อีกด้วย” นายพิชัย กล่าว

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค และหนึ่งในทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์
“ประชาธิปัตย์” ส่งเสริมโซลาร์เซลล์
ลดปริมาณสำรองไฟฟ้าเหลือ 15%


สำหรับ "พรรคประชาธิปัตย์" ซึ่งเพิ่งเปิดตัวทีมเศรษฐกิจของพรรคเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานั้นก็ไม่ได้ละเลยเรื่องพลังงานไฟฟ้า โดย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค และหนึ่งในทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์มีมาตรการที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนลดลง โดยจะดำเนินการตามแนวทางต่างๆ ดังนี้

1.ลดปริมาณการสำรองไฟฟ้าของ กฟผ.ลง เหลือ 15% โดยต้องทบทวนการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งการตั้งสำรองพลังงานไฟฟ้าไว้ประมาณ 15% เท่านั้น จะทำให้ลดค่าพร้อมจ่ายที่ต้องเสียให้โรงไฟฟ้าเอกชนได้ไม่น้อยทีเดียว

2.ส่งเสริมให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน

3.ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ส่งเสริมการติดแผงโซลาร์ (Solar- Rooftop) ของบ้านเรือนประชาชน โดยทำให้โซลาร์เซลล์ถูกลง

“รัฐบาลจำเป็นต้องหาทางช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา และทำให้แบตเตอรี่สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้ามีราคาถูกลง พร้อมกับกำหนดรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ภาคประชาชน โดยพยายามหาทางปรับรูปแบบจาก Net Billing เป็น Net Metering เพื่อความสะดวกในการขายไฟที่เหลือใช้ให้ กฟผ.” ดร.สามารถ กล่าว

น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
“ภูมิใจไทย” ฟรีหลังคาโซลาร์เซลล์

ด้าน “พรรคภูมิใจไทย” ประกาศว่าจะผลักดัน “โครงการฟรีหลังคาโซลาร์เซลล์” ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้หลังคาเรือนละ 450 บาท โดยรัฐบาลจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แก่ประชาชนที่นำบ้าน หรือที่พักอาศัย สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฟรีทุกบ้าน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และนำไฟฟ้ามาใช้ในบ้านเรือนของตนเอง และรัฐจะรับซื้อกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่เหลือใช้ผ่านระบบของการไฟฟ้าฯ ซึ่งการไฟฟ้าฯ จะต้องปรับบทบาทหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้ของรัฐบาล

“เสรีรวมไทย”
เตรียมรื้อสัญญาซื้อไฟจากเอกชน


ในขณะที่นโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าของ "พรรคเสรีรวมไทย" ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดย น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เปิดเผยว่า พรรคเสรีรวมไทยมีนโยบายจะรื้อระบบสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างโรงไฟฟ้าเอกชนกับ กฟผ. และปราบการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชนเป็นเวลายาวนานทั้งที่ราคาแพงมาก ทำให้บางบริษัทได้กำไรมหาศาลจนคืนทุนไปแล้ว แต่ยังขายไฟฟ้าราคาแพงให้ กฟผ.ต่อไป โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า

“หากพรรคเสรีรวมไทยได้เป็นรัฐบาลจะเข้าไปตรวจสอบสัญญา ไปดูต้นทุน สืบสวนหาหลักฐาน หากพบว่ามีการทุจริตเราจะดำเนินคดีและยกเลิกสัมปทานซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมด หากจะมีข้อพิพาทกับเอกชนก็สามารถร้องอนุญาโตตุลาการได้ แต่อย่าลืมว่าคู่กรณีคือคนไทยทั้งประเทศ” รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าว

“ไทยสร้างไทย” ลั่น
ค่าไฟต้องไม่เกินหน่วยละ 3.50 บาท


ส่วน “พรรคไทยสร้างไทย” โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคได้ประกาศว่าจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือไม่เกิน 3.5 บาท/หน่วย พร้อมสโลแกนว่า “เรามั่นใจเราพูดจริง ทำได้ เลือกไทยสร้างไทย ค่าไฟถูกลงแน่” พร้อมทั้งชี้ว่าที่ผ่านมาคนไทยทั้งประเทศถูกปล้นค่าไฟฟ้าเพื่อไปสร้างความร่ำรวยให้นายทุน ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าความเป็นจริง โดยรัฐเอื้อนายทุนโรงไฟฟ้า ทำสัญญาผลิตไฟล่วงหน้าถึง 53,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสูงเกินความจำเป็น ขณะที่จากสถิติประชาชนใช้ไฟฟ้าจริงไม่เกิน 33,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยมีการสำรองไฟฟ้าเกินความต้องการใช้จริงสูงถึง 20,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือเกือบ 60% โดยที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ประโยชน์ แต่ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ให้นายทุนเหล่านี้ไปฟรีๆ ถึงปีละ 26,000 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น