พรรคสายพุทธเดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้ง 66 “แผ่นดินธรรม-ประชาภิวัฒน์” ยืนพื้น รอพลังหนุนจากชาวพุทธที่ไม่ชอบรัฐบาลและสายธรรมกาย ด้านพลังธรรมใหม่โดดร่วมวงดัน “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” นักการเมืองประเมินพรรคเล็กรอบนี้เหนื่อยฝ่าด่านเข้ามายาก อีกทั้งเรื่องใหญ่ด้านสงฆ์มีน้อย แรงหนุนอาจไม่มากพอ ชี้วัดใหญ่เขาหวังจากศิษย์ในเพื่อไทยมากกว่า
พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 เมื่อ 20 มีนาคม 2566 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกตั้งครั้งต่อไป หลังจากที่สัญญาณการเลือกตั้งมีมาตลอดเพียงแค่ยังไม่ประกาศออกมาเท่านั้น และครั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
วันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
ก่อนหน้านี้ นักการเมืองเริ่มลาออกขอย้ายไปพรรคที่ต้องการ หัวหน้าพรรคต่างลงพื้นที่หาเสียงกันมาระยะหนึ่งแล้ว พรรคใหญ่ที่มีความหวังในการจัดตั้งรัฐบาลเปิดตัวว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค เดินทางไปหาเสียงตามพื้นที่ต่างๆ แต่ละพรรคต่างออกนโยบายเพื่อดึงดูดใจให้คนเลือกพรรค และผู้สมัครของพรรค ส่วนนโยบายที่เสนอมาจะทำได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีพรรคเล็กที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เน้นชูนโยบายด้านพุทธศาสนา ซึ่งเคยลงสนามเลือกตั้งมาแล้วในปี 2562 ขณะนั้นมี 3 พรรค โดยผลคะแนนพรรค อย่างพรรคประชาภิวัฒน์ มาอันดับ 17 ด้วยคะแนน 69,417 คะแนน พรรคประชาชนปฏิรูป มาอันดับ 23 ด้วยคะแนน 45,508 คะแนน และพรรคแผ่นดินธรรม มาอันดับ 35 คะแนน 21,463 คะแนน
พรรคประชาภิวัฒน์ และพรรคประชาชนปฏิรูปได้เก้าอี้ ส.ส.1 ที่นั่ง ส่วนพรรคแผ่นดินธรรมไม่ได้เก้าอี้ในสภาฯ ทั้งนี้ พรรค
ประชาภิวัฒน์ และพรรคแผ่นดินธรรมเป็นพรรคเกิดใหม่ชูนโยบายด้านส่งเสริมพระพุทธศาสนา เป็นที่รับรู้กันว่าสนับสนุนแนวทางของพระผู้ใหญ่ และวัดใหญ่อย่างวัดพระธรรมกาย ขณะที่พรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อยู่ขั้วตรงข้าม ต่อมา ได้ยุบพรรคและย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ
แผ่นดินธรรมแนวเดิม
การเลือกตั้งปี 2566 ทั้ง 2 พรรคที่มุ่งเน้นนโยบายด้านส่งเสริมพระพุทธศาสนายังมุ่งเน้นแนวทางเดิมพรรคแผ่นดินธรรม นายกรณ์ มีดี เป็นหัวหน้าพรรค โพสต์บนเฟซบุ๊กของพรรคว่า พระพุทธศาสนากำลังเกิดภัยร้ายแรงทั้งภายนอกและภายใน ที่ผ่านมา พระพุทธศาสนาเกิดภัยหนัก ดังนี้ ภัยอันเกิดจากภายในคณะสงฆ์เอง ภัยจากศาสนิกอื่นที่มีอำนาจทางการเมือง ที่สำคัญที่สุด ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมานี้ พระพุทธศาสนาถูกรังแกจากผู้มีอำนาจรัฐ โดยการใช้กฎหมายเป็นข้ออ้างในการเล่นงานคณะสงฆ์
การจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ต้องมีอำนาจรัฐเช่นกัน การจะมีอำนาจรัฐนั้นต้องมีอำนาจทางการเมือง การจะมีอำนาจทางการเมืองต้องผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง จะเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้งก็ต้องผ่านพรรคการเมือง อดีตมหาเปรียญจึงรวมตัวกันออกมาปกป้องพระพุทธศาสนา และร่วมกันก่อตั้งพรรคแผ่นดินธรรม โดยนโยบายพรรคแผ่นดินธรรม คือ
1.ให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ
2.ตั้งธนาคารพุทธฯ
3.นำหลักสูตรศีลธรรม-หน้าที่พลเมืองคืนโรงเรียน
4.คืนความเป็นธรรมให้พระที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม
5.ปฏิรูปสำนักพุทธฯ ให้เป็นองค์กรอิสระ ไม่ให้การเมืองครอบงำ
6.ให้มรรคนายก และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานมีค่าตอบแทนเดือนละ 1,500 บาท
7.Metaverse University มหาวิทยาลัยในโลกเสมือนจริง เรียนฟรีปริญญาตรี/โท/เอก จบแล้วได้ปริญญาจริงจากรัฐ ใช้สมัครงานได้จริง
8.ลดจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเหลือ 1% ทั้งนายจ้างและลูกจ้างแบบสมัครใจ 3 ปี
พรรคศิษย์ธรรมกาย
ขณะที่พรรคประชาภิวัฒน์ ของนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรค ศิษย์วัดพระธรรมกายที่ได้ ส.ส.1 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วยังคงเดินหน้าในการหาเสียงด้วยนโยบาย
1.จัดตั้งสำนักงานเลขานุการพระสังฆาธิการ ไวยาวัจกร มีเงินเดือนและค่าตอบแทน
2.ให้มีวิชาพระพุทธศาสนาอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย
3.จัดทำพระราชบัญญัติสนับสนุนให้พุทธบริษัท 4 เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน 4 ตำบล
4.ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก
5.เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นอาสาสมัครพระวินยาธิการปกป้องพระ และเป็นโฆษกพระประจำจังหวัด
6.ให้มีธนาคารพระพุทธศาสนาบริการการเงินคณะสงฆ์
7.จัดตั้งกองทุนปกป้องพระภิกษุสงฆ์ต้องคดี
8.ให้มีพุทธอุทยานในทุกเขตอุทยานและป่าไม้
เสนอตั้งอาสาสมัครตำรวจพระ
ก่อนหน้านี้ นายสมเกียรติ ได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤตวงการสงฆ์ไทยด้วยการตั้งอาสาสมัครตำรวจพระขึ้นมา นับตั้งแต่ต้นปี มีกรณีเกี่ยวกับพระสงฆ์หลายกรณีที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชนจนทำให้สังคมตั้งคำถามถึงการหย่อนยานของพระธรรมวินัยและการประพฤติปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสม กระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของชาวพุทธ โดยเฉพาะ กรณีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ มีเพศสัมพันธ์กับชายฆราวาส อวดอิทธิปาฏิหาริย์ แย่งชิงผลประโยชน์ที่ได้มาจากแรงศรัทธาของประชาชน
ประเด็นสำคัญที่อยากจะเสนอคือใช้โครงสร้างปกครองของสงฆ์โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กล่าวคือ เจ้าคณะจังหวัดถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ แต่การจะเป็นหูเป็นตาให้นั้นต้องให้ฆราวาส หรือประชาชนเป็นอาสาสมัครพระวินยาธิการ (ตำรวจพระ) หรือเรียกง่ายๆ ว่า อาสาสมัครตำรวจพระ คอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของพระสงฆ์ในที่สาธารณะที่เข้าข่ายผิดพระธรรมวินัย โดยประชาชนที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครดังกล่าวจะต้องมีการอบรมและได้ใบประกาศนียบัตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยก็ได้
สำหรับบทบาทของอาสาสมัครตำรวจพระ สมเกียรติ เล่าว่า ตนเคยทำมาก่อนตอนเป็นผู้ช่วยพระสุเมธาธิบดี หรือเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่างเช่น หากพบพระสงฆ์บิณฑบาตในช่วงเวลาสายเกินไปสามารถให้ใบเหลืองว่าการบิณฑบาตในช่วงเวลานี้อาจเป็นโลกะวัชชะ หรือโลกติเตียนได้ และมีลายเซ็นของเจ้าคณะ กทม.กำกับอยู่ หรืออย่างกรณีพบพระเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าโดยไม่มีเหตุจำเป็น อาสาสมัครตำรวจพระสามารถจะเข้าไปตักเตือนได้เช่นกัน
“เชื่อว่าหากทำเช่นนี้จะลดปัญหาพระสงฆ์ประพฤติตนไม่เหมาะสมได้ระดับหนึ่ง” สมเกียรติ ระบุ
พลังธรรมใหม่ร่วมวงชูพุทธศาสนา
แหล่งข่าวจากวงการเมืองกล่าวว่า การเลือกตั้งรอบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพรรคเล็กที่ต้องทำคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้สูง อย่างครั้งนี้แล้วคะแนน 3 หมื่นกว่าถึงจะได้ ส.ส. ครั้งนี้อาจต้องสูงกว่าคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ปี 2562 ราว 10 เท่า เลือกตั้งรอบนี้พรรคใหญ่จึงค่อนข้างได้เปรียบ
พรรคการเมืองที่ชูเรื่องพระพุทธศาสนามาตั้งแต่แรก อย่างพรรคแผ่นดินธรรม และพรรคประชาภิวัฒน์ ทุกคนต่างทราบดีว่ามีที่มาจากฐานฆราวาสที่สนับสนุนการทำงานของมหาเถรสมาคมตั้งแต่ยุคสมเด็จช่วง และสายที่มาจากศิษย์วัดพระธรรมกาย โดยการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคประชาภิวัฒน์ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมา 1 ที่นั่ง และเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนพรรคแผ่นดินธรรม คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไม่เพียงพอ
รอบนี้ทั้ง 2 พรรคชูแนวทางเรื่องพุทธศาสนาไม่ต่างจากเดิม ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ หรือผลักดันประเทศไทยศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก ตั้งธนาคารพุทธฯ แต่ครั้งนี้มีพรรคพลังธรรมใหม่ของนายแพทย์ระวี มาศฉมาดล เข้ามาร่วมวงด้วยภายใต้นโยบายที่แทบจะเหมือนกัน เช่น ศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาประจำชาติ และประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาโลก เพื่อที่เราจะนำหลักการที่สำคัญของพระพุทธศาสนามาแก้การที่ประเทศไม่มีศีลธรรม ไม่มีสิ่งที่ดีงาม ทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยเราจะไม่ให้ไปรบกวนศาสนาอื่นใดทั้งสิ้น ซึ่งศาสนาอื่นที่อยู่ในประเทศไทยจะได้สิทธิทุกอย่างเหมือนเดิม เราสนใจแต่เพียงที่จะทำให้คนไทยและประเทศไทยมีคุณธรรมและศีลธรรมให้ดีขึ้น แล้วเกิดความเจริญก้าวหน้าทางพระพุทธศาสนา
ปลุกกระแสพระพรหมดิลก
ตอนนี้ นายกรณ์ มีดี หัวหน้าพรรคแผ่นดินธรรม Live หาเสียงด้วยการหยิบยกเอาเรื่องของพระพรหมดิลก ที่ถูกดำเนินคดีเงินทอนวัด 25 พฤษภาคม 2561 มาหาเสียง หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์เมื่อ 18 มีนาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
ตามที่พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา และได้มีพระบรมราชโองการถอดถอนสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2561 นั้น บัดนี้ คดีถึงที่สุดแล้ว โดยพฤติการณ์ถือได้ว่าไม่ใช่ความผิดอุกฉกรรจ์ หรือความผิดร้ายแรง หรือเป็นผู้ร้ายสำคัญ ประกอบกับไม่มีการกล่าวคำลาสิกขา และไม่มีการดำเนินการให้สละสมณเพศ ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ยังคงดำรงตนอย่างพระภิกษุโดยตลอดระหว่างถูกคุมขัง จึงมีสภาวะเป็นพระภิกษุ มีสถานะเป็นพระมหาเอื้อน หาสธมโม (เปรียญธรรม 9 ประโยค) ซึ่งมหาเถรสมาคมมีมติรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 ตรี แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561
จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาให้พระมหาเอื้อน หาสธมฺโม (เปรียญธรรม 9 ประโยค) ดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมดิลก ปริยัตินายกคณาทร บวรศาสนกิจวิธาน ศีลสมาจารนิวิฐ ตรีปีฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดสามพระยา พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร โดยให้ถือว่าไม่เคยถูกถอดถอนสมณศักดิ์ และราชทินนามมาก่อน
พรรคเล็กคราวนี้ไม่ง่าย
ถ้ามองถึง 2 พรรคทั้งแผ่นดินธรรม และประชาภิวัฒน์ที่ชูนโยบายด้านพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งนี้แล้วถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยทั้ง 2 พรรคมีฐานสนับสนุนจากผู้ที่นับถือพุทธศาสนาและศิษย์ของวัดพระธรรมกาย
ครั้งนั้นรูปแบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว อีกทั้งก่อนเลือกตั้งปี 2562 มีเหตุการณ์ทางด้านพุทธศาสนาหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จนนำไปสู่การปิดล้อมวัดพระธรรมกาย และขยายไปถึงเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ เรื่องเงินทอนวัด ทำให้มีพุทธศาสนิกชนบางส่วนที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐบาล คสช.ในขณะนั้น จึงมีแรงส่งให้ผู้คนจำนวนหนึ่งหันมาเลือกพรรคที่ชูนโยบายด้านพุทธศาสนา
หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับคดีของพระสงฆ์ อีกทั้งพรรคประชาภิวัฒน์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่ศิษย์วัดพระธรรมกายจำนวนไม่น้อยสังกัดพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมา ศิษย์ธรรมกายในเพื่อไทยก็คุมกรรมาธิการศาสนาอยู่ แม้จะมีความพยายามผลักดันบางเรื่องในวงการพระพุทธศาสนาแต่ทุกอย่างไม่เป็นผล
เลือกตั้งครั้งนี้โอกาสที่พรรคเล็กจะสอดแทรกเข้ามาเหมือนปี 2562 คงเหลือน้อย ไม่มีแรงกระตุ้นสำคัญในวงการพระพุทธศาสนาเป็นตัวหนุน ขณะที่ความคาดหวังต่างๆ ของวัดใหญ่ย่านปทุมธานียังคงให้น้ำหนักไปที่พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยมากกว่า
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv