xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อบิ๊กตู่ไม่เอา 21 พ.ค.เป็นวันเลือกตั้ง ชี้ไม่เป็นวันมงคล จับตาปลุกกระแสเลือกข้างอีกครั้ง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาบิ๊กตู่จะเลือกยุบสภาวันไหนจึงจะส่งผลดีต่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้าน ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ อดีตกรรมการ กกต.ระบุ มั่นใจบิ๊กตู่ไม่เลือก 21 พ.ค.เป็นวันเลือกตั้ง เพราะจะเป็นวัน ‘ไม่ดี’ ที่จะถูกโจมตีได้ง่ายทำให้คนหวนรำลึกถึงรัฐประหาร 2557 พร้อมภาวนาขอให้ ‘บิ๊กตู่’ อยู่ครบวาระ 4 ปีที่จะทำให้บิ๊กตู่ ได้วันเลือกตั้ง 7 พ.ค.สมใจ พร้อมสร้างคุณูปการต่อบ้านเมือง โละนักการเมืองไร้จุดยืนหมดสิทธิเข้าสภา ส่วนพรรค รสทช.ไม่เสียประโยชน์ เพราะคนเลือก ‘บิ๊กตู่’ ไม่ได้เลือกพรรค ส่งเสาไฟฟ้าก็มีโอกาสได้ ชี้จุดขายวันใกล้เลือกตั้งจะมีแค่ 2 ฝั่งคือ ‘เอาประยุทธ์ กับไม่เอาประยุทธ์’ แนะบิ๊กตู่ แสดงบทบาทเป็นผู้นำฝ่ายอนุรักษ์ให้ชัดเจน!

หนึ่งในประเด็นคำถามยอดฮิตที่บรรดานักการเมืองต้องการคำตอบโดยเร็วคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะยุบสภาวันไหน หรือจะอยู่ครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.นี้ เนื่องจากมีผลต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองที่ยังแทงกั๊ก ขาข้างหนึ่งยังอยู่พรรคเดิม แต่ขาอีกข้างหนึ่งไปอยู่พรรคใหม่ หรือที่กำลังถูกจับตาเวลานี้คือ กลุ่มสามมิตร ทั้งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จะอยู่พลังประชารัฐ หรือจะไปสังกัดเพื่อไทยกันแน่

ที่สำคัญยังมีเสียงร่ำลือว่าการตัดสินใจยุบสภา หรืออยู่ครบวาระของบิ๊กตู่ เป็นการเดินหมากที่ชาญฉลาดใช้คอนเซ็ปต์ลับ ลวง พราง แบบทหารที่เหนือกว่าการเมือง จะส่งผลให้ผู้สมัครของพรรคบิ๊กตู่ มีโอกาสได้เป็น ส.ส.ถึงขั้นเปรียบเปรยว่า ‘ส่งเสาไฟฟ้า’ ก็ยังได้เข้ามานั่งในสภา



นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หากสภาผู้แทนราษฎรอยู่จนครบวาระ 4 ปี คือหลังเที่ยงคืนของวันที่ 23 ม.ค.2566 การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องดำเนินการภายในกรอบ 45 วัน นับแต่วันครบอายุของสภา (มาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญ 2560) และผู้สมัคร ส.ส.จะต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 97 (3)) ของรัฐธรรมนูญ 2560

แต่หากเป็นกรณียุบสภา การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา (มาตรา 103 วรรคสาม รัฐธรรมนูญ 2560) ส่วนในเรื่องคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองสำหรับผู้ต้องการสมัครเป็น ส.ส.นั้น ลดระยะเวลาจากไม่น้อยกว่า 90 วัน เหลือเพียง 30 วัน

“การยุบสภาเป็นแนวทางที่บรรดา ส.ส.ที่ยังลังเลใจจะย้ายพรรค ย้ายค่ายต้องการที่สุด แต่เวลานี้บิ๊กตู่ ยังไม่ประกาศชัดเจน ก็ให้ระวังถ้าเกิดนายกฯ ลืมยุบสภาจะเกิดอะไรขึ้นตามมา”

ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนฯ บอกอีกว่า หากนายกฯ อยู่จนครบวาระคือเลยเที่ยงคืนของวันที่ 23 มี.ค.นี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญคือ จะต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน ตามปฏิทินที่ กกต.กำหนดไว้เป็นวันที่ 7 พ.ค.2566 และหากรัฐบาลบิ๊กตู่อยู่ครบวาระจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่อยู่ครบวาระ 4 ปี

“เมื่อครบวาระก็ต้องเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค. อาจจะตรงตามความตั้งใจเดิมก็ได้ เพราะอาจมีเรื่องของไสยาศาสตร์ ไปดูดวงว่าวันนี้เป็นวันดีมาเกี่ยวข้องก็เป็นได้”

สำหรับนักการเมืองที่ยังลังเลไม่ย้ายพรรคจนนายกฯ อยู่ครบวาระจะได้รับผลกระทบ เพราะผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง อย่างน้อย 90 วัน คือ นับย้อนหลังจาก 7 พ.ค.มา 90 วัน นั่นคือวันที่ 7 ก.พ.

หลัง 7 ก.พ.ใครอยู่พรรคไหนต้องอยู่พรรคนั้น จะย้ายไม่ได้แล้ว!

“การย้ายพรรคจะเกิดขึ้นได้กรณีเดียว คือมีการยุบสภา ซึ่งมีเงื่อนไขสังกัดพรรคกำหนดไว้ 30 วัน และกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วัน ทำให้มีช่วงเวลาเพียงพอ 1-2 สัปดาห์ที่จะย้ายพรรคได้ทัน แต่ถ้าอยู่จนครบวาระที่จะยุบสภาได้แล้ว ผลก็คือ บรรดาคนเหล่านี้ตายหมู่”

ยกตัวอย่างบรรดา ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ต้องการจะย้ายไปเพื่อไทย หรือ ส.ส.ประชาธิปัตย์ จำนวนหนึ่งที่ตั้งใจจะย้ายไปอยู่กับพรรค รทสช. ต่างก็ย้ายไปไม่ได้ แต่ถ้าจะถามว่าก็กลับไปอยู่พรรคเดิมได้หรือไม่? ก็เชื่อว่าไม่ได้เพราะเมื่อแสดงความจำนงว่าจะออกจากพรรคเดิม ผลที่ตามมาคือ พรรคเดิมต้องวางแผนหาคนใหม่มาทดแทน ทั้งผู้สมัครแบบเขต และบัญชีรายชื่อ

“ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ยิ่งยาก เพราะแต่ละพรรคจัดระบบเข้าแถวเรียงกันไว้แล้ว ส่วนตัวผมภาวนาขอให้ลุงตู่ ลืม (จริง) หรือเพลิน จนอยู่ครบวาระ จะเป็นผลดีต่อบ้านเมืองแน่ๆ ส.ส.ที่ไม่มีอุดมการณ์ หรือไม่มีจุดยืนที่แท้จริงจะไม่มีโอกาสเข้าสู่การเมือง ส่วนคนที่ย้ายก่อน 7 ก.พ.ถือว่ามีคุณสมบัติครบ 90 วัน ก่อนการเลือกตั้ง”

ดังนั้น บรรดา ส.ส.ที่ไม่ตัดสินใจย้ายให้เด็ดขาด เช่น อยู่ระหว่างต่อรองผลประโยชน์ หรือยังเจรจาต่อรองผลประโยชน์จนวินาทีสุดท้ายว่าพรรคไหนจะให้ผลประโยชน์มากที่สุดจึงจะย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ บรรดานักการเมืองประเภทนี้จะหายไปในการเลือกตั้งครั้งนี้

อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่า ในส่วนของกลุ่มสามมิตร อาจจะได้เปรียบ เพราะเป็นการเล่นการเมืองแบบ 2 หน้า คือจะอยู่ทั้งพลังประชารัฐและเพื่อไทย ด้วยการส่ง “พรรณสิริ กุลนาถศิริ’ น้องสาวแท้ๆ ของสมศักดิ์ และลูกน้องคนสนิทไปสังกัดพรรคเพื่อไทยแล้ว แสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทรและมีน้ำใจต่อกันกับพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ ‘สมศักดิ์-สุริยะ’ และคนในกลุ่มสามมิตรที่เหลือ ถ้ามีการยุบสภาเกิดขึ้นอาจจะย้ายพรรคก็ได้ แต่ถ้าไม่ยุบสภา และรัฐบาล บิ๊กตู่ อยู่จนครบวาระ ก็อยู่พลังประชารัฐต่อไปได้ เพราะ พปชร.ไม่ได้ตัดสามมิตร และเพื่อไทยยังเว้นที่ไว้ให้สามมิตร คือเรียกว่าอ้าแขนรอรับเช่นกัน

“ดูดีๆ สามมิตร เล่นการเมืองแบบตลกขบขันใช่หรือไม่ ถ้าจำกันได้ ช่วงพิจารณากฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะมีแนวโน้มปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 ซึ่งจะทำให้เพื่อไทยเสียเปรียบ และพรรคอื่นได้เปรียบ ใช่คุณสมศักดิ์ หรือไม่ที่เป็นคนจุดประเด็นหาร 100 ดีกว่า ซึ่งทำให้การลงมติในสภากลับทิศทางจากเคยหนุนหาร 500 ในการพิจารณาวาระ 2 ถึงขึ้นล้มไปเลย และหันกลับมาหาร 100 ตามร่างเดิม”

กลุ่มสามมิตร




ว่าไปแล้วการพูดของนายสมศักดิ์ ทั้งที่อยู่พรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่ที่ทำให้กลับเป็นหาร 100 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทย ถามว่าวิธีการแบบนี้จะเรียกว่าคนเหล่านี้เป็นไส้ศึกตั้งแต่ตอนนั้นได้หรือไม่ และพรรคไหนที่ต้องเสียค่าโง่ครั้งใหญ่

หากจะถามอีกว่าระหว่างการยุบสภา กับการอยู่จนครบวาระ วิธีไหนที่พรรค รทสช.จะได้ประโยชน์มากกว่ากัน นายสมชัย ระบุว่า จริงๆ การยุบสภาควรจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะพรรคยังมีโอกาสจะได้ ส.ส.จำนวนหนึ่งไหลเข้าพรรค แต่ถ้ารอจนครบวาระอาจจะไม่ได้คนเพิ่มเติม แต่ต้องดูว่าคนที่อยู่ในปัจจุบัน พรรค รทสช.เพียงพอหรือพอใจในเรื่องคุณภาพหรือยัง เพราะถ้าเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องง้อคนเข้ามาใหม่

“เท่าที่ติตตามดู พรรคบิ๊กตู่ ยังรอคนเข้ามาใหม่ ทั้งจากพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ ซึ่งถ้าไม่เลือกยุบสภาก็หมดโอกาสได้คนเหล่านี้”

ส่วนที่มีการพูดว่าพรรค รทสช. ที่ได้รับความสนใจเพราะมี ‘บิ๊กตู่’ เป็นจุดขาย ไม่ใช่อยู่ที่ตัวพรรค ทำให้ไม่ว่าจะส่งใครสมัคร หรือจะส่งเสาไฟฟ้าก็ได้นั้น ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ยอมรับว่า จริงส่วนหนึ่ง เพราะเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐขายบิ๊กตู่ ก็ได้เป็น ส.ส. ครั้งนี้จึงเชื่อบิ๊กตู่ ไปไหนบรรดาสาวกก็ต้องตามไปด้วย

“ค่าย ปชป. คะแนนนิยมในตัวพรรคลดน้อยลง ถ้าอยู่พรรคเดิมก็ตายอย่างเดียว ต้องออกมาอยู่ในสิ่งที่ดี มีโอกาสที่สุดคือมาอยู่ รทสช. ซึ่งมีแสงของ บิ๊กตู่ เป็นองค์ประกอบสำคัญ”

อีกทั้งยังเชื่อว่าระหว่าง ส.ส.เก่าที่เคยเป็น ส.ส.ปัจจุบันแล้วย้ายพรรคมาอยู่ รทสช.กับผู้สมัครหน้าใหม่ก็ไม่ได้มีความแตกต่าง ไม่ว่าดึงใครมาก็ใกล้เคียงกัน เพราะเชื่อว่าท้ายที่สุดในสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง จุดขายทางการเมืองจะเน้นไปที่ ‘จะเอาประยุทธ์ หรือไม่เอาประยุทธ์’ เป็นหลัก

“พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ก็จะเน้นรวมไทยสร้างชาติเป็นหลัก ซึ่งได้ ส.ส.จากการขายบิ๊กตู่ ที่เป็นตัวแทนของฝั่งอนุรักษนิยม และฝั่งไม่เอาประยุทธ์ จะเลือกเพื่อไทย ก้าวไกล เป็นหลัก ดังนั้น บิ๊กตู่ ต้องแสดงบทบาทความเป็นผู้นำ ฝ่ายอนุรักษนิยมที่ชัดเจน และแสดงให้เห็นว่าบิ๊กตู่เป็นตัวเลือกเดียวของฝั่งนี้”


นายสมชัย  บอกด้วยว่า หากบิ๊กตู่เลือกที่จะยุบสภาในวันที่ 15-21 มี.ค.นี้จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 และถ้ายุบสภาวันที่ 22-23 มี.ค.จะมีการเลือกตั้งวันที่ 21 พค.2566 แต่เชื่อว่า บิ๊กตู่ ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเป็นวันที่ 21 พ.ค.ด้วยเหตุผลที่ว่าวันที่ 21 พ.ค.เป็นวันที่มีความหมายในทางที่ไม่ดี และอาจถูกนำมาโจมตีในการหาเสียงได้ด้วย

“ย้อนระลึกวันที่ 21 พ.ค.ปี 2557 เป็นวันก่อนรัฐประหารหนึ่งวัน ถ้าหากบิ๊กตู่จัดให้มีการเลือกตั้งใกล้วันที่ 22 พ.ค. จะเป็นจุดอ่อนของบิ๊กตู่ที่สุด เพราะจะถูกโจมตี ดึงเอาความหลังที่กระทำต่อบ้านเมืองด้วยการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 22 พ.ค. บิ๊กตู่จะอยู่ในจุดที่เสียเปรียบทันที เพราะสิ่งนี้คือบาดแผลที่อยู่ในใจคน รวมทั้งบิ๊กตู่ด้วย ว่าบิ๊กตู่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมจึงเชื่อว่าการเลือกตั้งจะไม่ใช่วันที่ 21 พ.ค.2566 และได้แต่บอกเพี้ยงขอให้บิ๊กตู่ลืมยุบสภา และอยู่จนครบวาระจะเป็นผลดีกับบ้านเมืองแน่ๆ”

โดยหากอยู่ครบวาระจะได้วันเลือกตั้งที่ตรงกับที่บิ๊กตู่ ตั้งใจไว้คือ 7 พ.ค.2566 และยังเป็นวันที่ห่างไกล วันที่ 22 พ.ค.2566 ที่จะทำให้ไม่ไปกระตุกให้คนหวนคิดถึงเหตุการณ์ 22 พ.ค.2557 น่าจะดีที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของบิ๊กตู่

อย่างไรก็ตาม หากได้วันเลือกตั้งชัดเจนแล้ว การเมืองก่อนและหลังเลือกตั้งยังมีประเด็นให้ต้องติดตาม โดยเฉพาะเรื่องการร้องเรียนให้ยุบพรรค ทั้งพลังประชารัฐ เพื่อไทย ก้าวไกล และประชาธิปัตย์ ที่กำลังเข้มข้นขึ้น ซึ่งหากมีการสั่งยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองเหล่านี้ ‘ตายหมด’ เพราะไม่สามารถย้ายพรรคได้ แต่ถ้าหลังเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.แล้วมีการสั่งยุบพรรคจะสามารถย้ายพรรคใหม่เพื่อโลดแล่นในสนามการเมืองต่อไป!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH



กำลังโหลดความคิดเห็น