“อดีต กกต.” ชี้วิธีรายงานผลการเลือกตั้งของ กกต. ล้าหลังไป 20 ปี ที่สำคัญยังเปิดช่องให้เกิดการทุจริต เปลี่ยนแปลงผลคะแนน เพราะไม่มีใครรู้ว่าตัวเลขจริงคืออะไร ขณะที่การยกเลิกงบสนับสนุนผู้สังเกตการณ์จากพรรคการเมือง เป็นการทำลายระบบตรวจสอบ ด้าน “ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน” 102 องค์กร ผนึกกำลังต้านโกงเลือกตั้ง ขับเคลื่อนกลไกตรวจสอบ เร่งระดมอาสาสมัครภาคประชาชน 1 แสนคน ทำหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้ง และรายงานผลแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บไซต์ Vote62.com อีกทั้งอาจไลฟ์สดหน้าหน่วย จับมือ ‘thai startup’ พัฒนาระบบประมวลผลแบบ OCR แปลงภาพบนบอร์ดเลือกตั้งเป็นข้อมูล
นับว่าสร้างความกังขาให้ประชาชนอย่างยิ่งสำหรับการออกระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเฉพาะการยกเลิกการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบแอปพลิเคชัน หรือที่เรียกว่าการรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีความไม่ชอบมาพากลเพราะยิ่งใช้เวลาประมวลผลการเลือกตั้งนานเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสให้เกิดการทุจริตมากขึ้นเท่านั้น!
ส่วนว่าช่องทางการทุจริตจะเป็นอย่างไร? คงต้องฟังความเห็นจากผู้ที่มีประสบการณ์ในการวางหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อธิบายว่า การรายงานผลการนับคะแนนการเลือกตั้งที่ กกต.ออกระเบียบมาล่าสุดนั้นจะไม่มีการรายงานผลแบบเรียลไทม์ แต่เป็นระบบที่ต้องส่งใบรวมคะแนนของหน่วยเลือกตั้งไปที่เขตก่อน จากนั้นเขตจึงคีย์คะแนนเข้าระบบ และส่งคะแนนจากระบบของเขตไปที่ส่วนกลาง ซึ่งคะแนนแรกที่จะรายงานให้สื่อมวลชนได้น่าจะอยู่ที่ 21.30-22.00 น. ของวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยผลคะแนนดังกล่าวจะเรียกว่าผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ
ซึ่งต่างจากระบบการรายงานผลคะแนนในอดีตที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทั้ง 90,000 กว่าหน่วย จะใช้วิธีคีย์ข้อมูลผลการเลือกตั้งลงในแอปพลิเคชันของ กกต.ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะวิ่งตรงเข้าสู่ส่วนกลางโดยตรง ไม่ต้องส่งผลคะแนนไปเขตก่อน จากนั้นส่วนกลางจะเสนอผลคะแนนทั้ง 400 เขตเลือกตั้งต่อประชาชนและสื่อมวลชนได้เลย เราจึงเห็นผลคะแนนขยับขึ้นตลอดเวลา ผู้สมัครบางคนที่คะแนนสูสีกันจะอาจจะสลับกันขึ้นนำ คือการรายงานผลแบบไม่เป็นทางการ เราไม่ได้ต้องการความถูกต้อง 100% แต่เราต้องการข้อมูลที่บ่งชี้ว่าใคร? พรรคไหน? มีแนวโน้มจะได้รับเลือกเป็น ส.ส. ซึ่งผลคะแนนอย่างเป็นทางการที่ตามมาภายหลังมักจะสอดคล้องกับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ
รศ.สมชัย กล่าวต่อว่า ที่สำคัญวิธีรายงานผลคะแนนที่ กกต.ใช้ในการเลือกตั้งในปี 2566 นี้ มีช่องที่จะทำให้เกิดการทุจริตในการนับคะแนนได้ เนื่องจากรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งหน้าหน่วย ที่เรียกว่า ส.ส. 5/18 จะถูกทำขึ้น 3 ชุด โดยชุดที่ 1 กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะติดไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง ชุดที่ 2 จะถูกใส่ไว้ในหีบเลือกตั้งและปิดผนึก โดยไม่มีการเปิดจนกว่าจะมีคำสั่งศาลในกรณีมีผู้ร้องว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้ง และชุดที่ 3 จะถูกส่งไปเขตเพื่อป้อนข้อมูลเข้าสู่ส่วนกลางต่อไป ซึ่งที่ผ่านมารายงานชุดที่ 1 ที่ติดอยู่หน้าหน่วยจะหายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการหลุดหาย มีคนดึงออกไป หรือหายไปพร้อมกับการรื้อถอนหน่วยเลือกตั้ง ส่วนรายงานชุดที่ 2 ไม่มีใครเห็น นอกจากศาลจะสั่งให้เปิดเผย ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก
ดังนั้น ในขั้นตอนที่เขตนำข้อมูลจากรายงานชุดที่ 3 มาบันทึกลงใน Excel เพื่อส่งไปส่วนกลางจึงมีโอกาสที่จะทุจริตโดยใส่ตัวเลขที่ไม่ตรงกับคะแนนจริง หรือในกรณีที่เกิดความผิดพลาดในการคีย์ข้อมูลก็ไม่มีใครรู้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลจากรายงานชุดอื่นมายืนยัน หรือแม้แต่ข้อกำหนดที่ให้เขตแสดงข้อมูลของรายงานชุดที่ 3 ลงในเว็บไซต์ของ กกต.จังหวัดเพื่อให้สาธารณชนรับทราบภายใน 5 วัน ก็มีช่วงเวลาให้เขตสามารถทำเอกสารปลอมขึ้นมาได้ ทั้งนี้ หากต้องการให้ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการมีความน่าเชื่อถือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งควรถ่ายภาพผลคะแนนบนบอร์ดที่อยู่ในแต่ละหน่วยเลือกตั้งส่งมาด้วย และมีการแสดงภาพถ่ายดังกล่าวในเว็บไซต์ของ กกต.จังหวัด พร้อมกับรายงานชุดที่ 3 ด้วย
“วิธีการรายงานผลคะแนนที่ กกต.จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้ในการเลือกตั้งตอนที่มี กกต.เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2544 คือถอยหลังไป 20 กว่าปี และเป็นวิธีที่มีช่องให้ทุจริต เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผลคะแนนที่เขตบันทึกลงใน Excel และส่งไปยังส่วนกลางตรงกับคะแนนที่นับในหน่วยเลือกตั้งหรือเปล่า” รศ.สมชัย ระบุ
นอกจากนั้น รศ.สมชัย ยังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีการเปลี่ยนแปลงระเบียบเกี่ยวกับผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง ว่า จากเดิม กกต.จะมีระเบียบให้ตัวแทนพรรคการเมืองซึ่งเป็นอาสาสมัครของภาคเอกชนมาร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง โดย กกต.จะมีค่าใช้จ่ายให้ประมาณ 700 บาทต่อคน เพื่อเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าอบรม แต่ล่าสุด กกต.ได้ยกเลิกระเบียบเรื่องค่าใช้จ่ายออกไป ส่งผลให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จะส่งตัวแทนมาสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้งต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นแต่ละพรรคอาจเลือกนำงบที่ใช้ในการเลือกตั้งซึ่งกำหนดว่า “ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องไม่เกินคนละ 1.9 ล้านบาท” ไปใช้ในการหาเสียงมากกว่าจะจ้างคนไปสังเกตการณ์ในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง เนื่องจากแต่ละเขตเลือกตั้งมีหน่วยเลือกตั้งเกือบ 100 หน่วย หรือมากกว่านั้น ดังนั้นค่าใช้จ่ายของผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจึงสูงไม่น้อยทีเดียว พรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงเห็นว่านำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการหาเสียงน่าจะคุ้มค่ากว่า
“เมื่อพรรคการเมืองไม่ส่งคนไปสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริตในหน่วย ทั้งทุจริตในการลงคะแนนและทุจริตการนับคะแนน” รศ.สมชาย กล่าว
ส่วนกรณีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้น ระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 ไม่ได้กำหนดเรื่องการเข้าร่วมสังเกตการณ์ของประชาชนในการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้เช่นกัน
ซึ่งเรื่องนี้ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw หน่วยตรวจสอบภาคประชาชน ชี้ว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งบริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้งมาตลอดแม้ กกต.จะไม่มีข้อกำหนดเรื่องนี้ แต่ปัญหาที่พบคือเมื่อไม่มีข้อกำหนด เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งก็ไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนแจ้งกับประชาชนที่ร่วมสังเกตการณ์ว่าไม่สามารถทำได้จึงทำให้เกิดการโต้เถียงกันจนนำไปสู่ความวุ่นวาย ดังนั้น ภาคีเครือภาคเอกชนจึงอยากเรียกร้องให้ กกต.เขียนข้อกำหนดเรื่องการให้ประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งให้ชัดเจนเพื่อป้องกันข้อขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจากที่มีโอกาสได้พูดคุยกับท่านเลขาธิการ กกต. (นายแสวง บุญมี) ก็ได้เสนอเรื่องนี้ไปแล้ว
ส่วนกรณีการรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ซึ่ง กกต.ยกเลิกไปนั้น ผู้จัดการไอลอว์ มองว่า การรายผลแบบเรียลไทม์เป็นสิ่งที่ทั่วโลกปฏิบัติกัน และที่ผ่านมา การเลือกตั้งของไทยก็ใช้ระบบนี้ โดยระเบียบเดิมกำหนดให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยต้องรายงานผลการเลือกตั้งผ่านแอปพลิเคชันหลังนับคะแนนเสร็จ อย่างไรก็ดี แม้ระเบียบใหม่จะไม่ได้ให้ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้งรายงานผลแบบเรียลไทม์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ ยังสามารถทำได้อยู่ เพียงแต่ไม่ได้บังคับให้ทำ แต่ปัญหาคือหากก่อนเลือกตั้ง กกต.คิดวิธีการในการรายงานเรียลไทม์ได้ เช่น ให้รายงานผ่านระบบไลน์ แต่ข้อกำหนดตามระเบียบใหม่ซึ่งไม่ได้กำหนดให้รายงานผลแบบเรียลไทม์ก็อาจทำเกิดความลักลั่นในการปฏิบัติ เจ้าหน้าที่บางหน่วยอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องรายงาน
“กรณีนี้อาจเกิดปรากฏการณ์การรายงานผลการเลือกตั้งมีปัญหา และอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น แต่ถ้าเขียนระเบียบให้ชัดเจนเลยว่ากรรมการประจำหน่วยมีหน้าที่ต้องรายงานผลการเลือกตั้งด้วยวิธีการใด ผ่านระบบใด ทั้งประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ จะเข้าใจระเบียบปฏิบัติตรงกันและสามารถติดตามตรวจสอบได้ โอกาสที่จะเกิดการทุจริตก็ยากขึ้น” นายยิ่งชีพ กล่าว
และเนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้มีสัญญาณบ่งชี้ถึงความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะการรายงานผลคะแนนที่กฎเกณฑ์บางอย่างเปลี่ยนไป เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมรวม 101 องค์กร จึงได้ผนึกกำลังกันขับเคลื่อนกลไกเพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ในนาม “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” โดยล่าสุดสมาคมการค้าสตาร์ทอัปไทย หรือ ‘thai startup’ ได้เข้าร่วมด้วยในฐานะผู้สนับสนุนระบบปฏิบัติการ รวมเป็น 102 องค์กร ที่สำคัญยังได้เชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งและรายงานผลแบบเรียลไทม์เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
โดย นายยิ่งชีพ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายได้เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 การเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563 และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2565 ซึ่งถือว่าเป็นระบบทดลอง แต่เนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในปี 2566 นี้ มีความชัดเจนว่า กกต.ไม่มีความพร้อม ทางเครือข่ายภาคเอกชนจึงเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง นอกจากนั้น เรายังได้หารือกับสมาคมการค้าสตาร์ทอัปไทยที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบการบันทึกและรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อให้การรายงานผลการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม
สำหรับภารกิจของอาสาสมัครสังเกตการณ์ในวันเลือกตั้งนั้น มีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1) อาสาสมัครร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยหากพบความผิดพลาด เช่น ขานว่าบัตรใบนี้ลงคะแนนให้ผู้สมัครหมายเลข 3 แต่บันทึกคะแนนบนบอร์ดให้ผู้สมัครหมายเลข 2 อาสาสมัครมีหน้าที่ทักท้วงให้แก้ไข 2) เมื่อหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ นับคะแนนแล้วเสร็จและรวมคะแนนถูกต้องสมบูรณ์แล้ว อาสาสมัครจะถ่ายภาพบอร์ดที่รวมคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว และอัปโหลดมายังเว็บไซต์ Vote62.com และ 3) ให้อาสาสมัครกรอกข้อมูลตัวเลขดังกล่าวให้เป็นตัวเลขดิจิทัลเพื่อให้ระบบประมวลผลการเลือกตั้งของแต่ละเขต ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่เข้ามาดูผลการเลือกตั้งทางเว็บไซต์ Vote62.com เห็นผลคะแนนแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ หากผลคะแนนอย่างเป็นทางการที่ กกต.ประกาศออกมาไม่ตรงกับฐานข้อมูลที่เราบันทึกไว้ เรามีหลักฐานภาพถ่ายที่อาสาสมัครถ่ายไว้เพื่อใช้ในการทักท้วงได้
“ช่วงใกล้วันเลือกตั้งเราจะเปิดเว็บไซต์ Vote62.com ให้ประชาชนเข้าไปสมัครเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยตรวจสอบว่าพื้นที่ของตนเองอยู่ใกล้หน่วยเลือกตั้งใด และหน่วยนั้นมีอาสาสมัครหรือยัง ถ้ายังไม่มีก็สามารถลงชื่อสมัครเป็นผู้สังเกตการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้งนั้น หรือหากมีอาสาสมัครเข้าร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก อาจมีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งแต่ละหน่วยมากกว่า 1 คน โดยทั่วประเทศมีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 90,000 กว่าหน่วย เราจึงตั้งเป้าเชิญชวนประชาชนให้เข้ามาเป็นอาสาสมัครร่วมสังเกตการณ์ให้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 คน เราขอให้อามาสมัครบันทึกตัวเลขและถ่ายภาพผลคะแนนไว้ หรือหากสามารถบันทึกเป็นวิดิโอ หรือไลฟ์รายงานสดผ่าน facebook หรือ TikTok ได้ก็ยิ่งดี คือถ้านึกภาพว่าต่างคนต่างออกจากบ้านไปไลฟ์การนับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งก็คงเป็นกระแสที่ดี” ผู้จัดการไอลอว์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัปไทย หรือ ‘thai startup’ เปิดเผยถึงความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในการรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ว่า เรามีสตาร์ทอัปที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนภาคีเครือข่ายที่ทำเรื่องการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะการวางระบบการรายงานผลการเลือกตั้งของเว็บไซต์ Vote62.com เช่น ประชาชนที่เป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งบริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้งสามารถอัปข้อมูลและถ่ายรูปผลการเลือกตั้ง โดยรูปที่ถ่ายจะถูกแปลงเป็นตัวอักษรที่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้เราเรียกว่า OCR (Optical Character Recognition คือตัวช่วยอ่านข้อความจากไฟล์รูปภาพ หรือเอกสาร PDF) ไม่ว่าจะเป็นเลขไทยหรือเลขอาระบิก จะเป็นลายมือหรือตัวพิมพ์ระบบก็อ่านและแปลงข้อมูลได้ ซึ่งเทคโนโลยีตรงนี้จะช่วยให้การประมวลผลการเลือกตั้งแม่นยำและรวดเร็วขึ้น