xs
xsm
sm
md
lg

“เคลมโบเดีย” เลยเถิดลามถึงสถาบันฯ วอนรัฐบาลเร่งยุติปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เคลม” กันไปมาระหว่างไทยกับกัมพูชาชักหนักขึ้น มวยไทย-กุน ขแมร์จุดชนวน รีพอร์ตกันถึงขั้นปิดเพจเจ็บกันทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มลามไปถึงสถาบันฯ “หมอวรงค์” เรียกร้องรัฐบาลลงมาแก้ปัญหาหวั่นบานปลายแอดมินเพจฝั่งไทยชี้กัมพูชาเลือกตั้ง 23 กรกฎาคมนี้ กรณีของกบ-สุวนันท์ ยังถูกปลุกกระแสจนถึงวันนี้

มองเผินๆ ดรามาเรื่องเคลมโบเดียหลายฝ่ายอาจมองเป็นเรื่องขบขัน เป็นการโต้กันไปมาบนโลกโซเชียล เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรทางกัมพูชาก็สามารถโยงได้หมดว่าสิ่งที่เขาหยิบยกขึ้นมานั้นต้นกำเนิดมาจากกัมพูชา แต่เป้าหมายหลักมุ่งมาที่ประเทศไทย เนื่องจากทั้งสภาพภูมิศาสตร์พรมแดนที่ติดกัน รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เกี่ยวโยง

เมื่อไล่เรียงการเคลมหลายเรื่องติดๆ กันจากฝั่งกัมพูชา ประกอบด้วย "มวยไทย" ถูกเคลมว่าต้นตำรับมาจากกุน แขมร์ จนกลายเป็นดรามาอันโด่งดังข้ามประเทศ

“มวยไทย” ถูกเคลมว่าคือ “โบกาตอร์” (BOKATOR) ศิลปะการต่อสู้โบราณของเขมร โดยมีการนำภาพมวยไทยและครูมวยไทยซึ่งเป็นคนไทยมากล่าวอ้างก่อนถูกชาวเน็ตแฉจนนักเคลมแหกไปตามๆ กัน

"บัวชาว บัญชาเมฆ" นักมวยไทยชื่อก้องโลก ถูกเคลมว่าเป็นคนเขมร ก่อนที่บัวขาวจะออกมายืนยันว่าตนคือ “ไทยแท้” แต่มีเชื้อสาย “กูย”

“ชุดไทย” ถูกเคลมว่าเป็นชุดประจำชาติเขมร ไม่ว่าจะเป็นชุดไทยจักรี ชุดไทยประยุกต์ร่วมสมัย หรือชุดไทยจากละครจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งปัจจุบันคนเขมรนิยมแต่งชุดไทยถ่ายรูปตามโบราณสถานโพสต์ลงโซเชียลกันเป็นจำนวนมาก

“โขนไทย” ถูกเคลมว่าเป็น “โขนเขมร” ซึ่งโขนของทั้ง 2 ประเทศมีทั้งส่วนที่เหมือนและรายละเอียดที่แตกต่างกัน ต่างก็ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโก แต่ในเรื่องความอ่อนช้อยงดงามวิจิตร และการแสดงอันตระการตาน่าตื่นตาตื่นใจนั้นโขนไทยกินขาด


ลิซ่า-หลุยส์วิตตอง

"สงกรานต์" ประเพณีปีใหม่ไทยและการเล่นน้ำอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยก็ถูกเขมรนำไปเคลม โดยปัจจุบันเขมรใช้คำว่า “สงกรานต์” ตามคำไทยแทนคำเดิม คือ “โจล-ชนัม-ทเม็ย” ซึ่งอันที่จริงประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีร่วมของคนในพื้นที่อุษาคเนย์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย แต่ถ้าถามว่าสงกรานต์ชาติไหนที่มีชื่อเสียงโด่งดังระบือไกล และเป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลก คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าคือ “สงกรานต์เมืองไทย” เพราะแม้แต่คนเขมรจำนวนมากก็อยากมาเล่นน้ำสงกรานต์ในบ้านเรา

"สถาปัตยกรรมไทย" หลายแห่งของไทยถูกชาวเน็ตเขมรนำไปเคลมว่าเป็นของประเทศตน ไม่ว่าจะเป็นวัดโพธิ์ ปราสาทสัจธรรม โดยเฉพาะส่วนยอดของ “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในสถาปัตยกรรมเขมร

“เรือสุพรรณหงส์” ที่สร้างด้วยความวิจิตรประณีตหนึ่งเดียวในโลกก็ถูกเขมรนำไปสร้างตามและเคลมอีกเช่นกัน โดยเรือสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งประธานที่สำคัญสูงสุดของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของไทย และอีกบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สวีเดน พม่า และกัมพูชา ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมที่ไม่ควรนำไปเคลมเป็นส่วนตัวเฉพาะของชาติตนแต่อย่างใด

"การบินไทย" สายการบินแห่งชาติไทยที่โดดเด่นไปด้วยสีม่วงและมี “เจ้าจำปี” เป็นสัญลักษณ์ วันนี้ได้กลายเป็นดรามาขึ้น เมื่อ โลกโซเชียลได้นำภาพเครื่องบินกับพนักงานต้อนรับของ “แคมโบเดีย อังกอร์แอร์” (Cambodia Angkor Air) สายการบินประจำชาติกัมพูชา มาเปรียบเทียบกับการบินไทย ซึ่งพบว่า มีบางอย่างคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย นี่อาจไม่ใช่การเคลม แต่เป็นบังเอิญที่คล้ายกันอย่างร้ายกาจ ชนิดที่หากผู้โดยสารบางคนกำลังง่วงงัวเงีย หรือมึนอาจขึ้นผิดเครื่องได้

"ลิซ่า BLACKPINK" ซุปตาร์สาวผู้ทรงอิทธิพลเบอร์ต้นๆ ของโลก จากวงเกิร์ลกรุ๊ปสุดฮอต “BLACKPINK” ลิซ่า เป็นคนไทยแท้ มีชื่อไทยว่า “ลลิษา มโนบาล” เกิดที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ แต่ถูกชาวเน็ตกัมพูชานำไปเคลมว่าเธอเป็นคนเขมร ไม่ว่าจะเป็น “ลิซ่า” ขอบคุณที่รักวัฒนธรรมเขมร ลิซ่ามีเลือดเขมร 100% และลิซ่าคือความภาคภูมิใจของชาวเขมร เป็นต้น แถมชาวเน็ตเขมรบางคนยังเคลมต่อไปอีกว่า ฉากปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นฉากหลักในเพลง LALISA อันสุดปังของลิซ่า คือ “ปราสาทพระวิหาร” ที่ปรากฏเป็นสัญลักษณ์บนธงชาติกัมพูชา ว่าไปโน่น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายอย่างที่มีการเคลมว่ามีต้นกำเนิดมาจากกัมพูชา ไม่เฉพาะเรื่องในประเทศไทยเท่านั้น บางประเทศหรือสินค้าบางอย่างก็ถูกเคลมเช่นเดียวกัน เช่น เพจ "Ebook Cambodia" โพสต์ภาพกระเป๋ายี่ห้อหรูอย่างหลุยส์วิตตอง ซึ่งได้นำลายบนกระเป๋าที่เรียกว่าลายโมโนแกรมซึ่งเป็นลายคลาสสิกของแบรนด์นำมาเปรียบเทียบกับลายผ้าของนางอัปสรา

"แบรนด์ LV บางทีก็หนีไม่พ้นความคิดศิลปะของบรรพบุรุษชาวเขมร ประติมากรรมเก่าแก่หลายพันปี แต่ยังคงมีความศิวิไลซ์ บรรพบุรุษชาวเขมรช่างน่าทึ่ง"

“มวยไทย-กุน ขแมร์” ปลุกกระแส

Admin เพจของไทยที่รายงานและตอบโต้การเคลมของฝ่ายกัมพูชากล่าวว่า เรื่องการเคลมจากฝ่ายกัมพูชานั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องชุดประจำชาติ แต่ที่เป็นกระแสจนเรียกคนไทยทั้งประเทศให้หันมามองปัญหานี้คือเรื่อง “มวยไทย”

สืบเนื่องจากกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ระหว่าง 5-17 พฤษภาคม 2566 ได้ประกาศว่า ไม่มีการแข่งขันกีฬา “มวย” (มวยไทย) แต่เปลี่ยนเป็นการแข่งขัน “กุน ขแมร์” (Kun Khmer) กฎกติกานั้นเหมือนกับการแข่งขันมวย (มวยไทย) แทบทั้งหมด จากนั้นจึงอ้างเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง

เรื่องมวยถือว่าเป็นตัวจุดประเด็นได้มาก โดยเฉพาะเรื่องของบัวขาวที่ถูกอ้างว่าเป็นคนเขมร จนบัวขาวออกมาตอบปฏิเสธและทวงค่าตัว 2.2 ล้านบาทเมื่อครั้งที่ไปชกที่กัมพูชาที่ยังไม่จ่าย จากนั้นเพจ History&Culture/Hari-Kambujendra ที่มีสมาชิกกว่า 3 หมื่นราย โพสตฺ์สอนวิธีการรีพอร์ตเพจของบัวขาวให้ชาวกัมพูชาเพื่อให้เฟซบุ๊กถูกปิด ทำให้เกิดคนไทยรวมตัวกันรีพอร์ตเพจดังกล่าวของกัมพูชาจนถูกปิดกั้น ล่าสุดได้กลับมาเปิดใหม่


สงคราม Cyber เริ่มลามสถาบันฯ

เรื่องการตอบโต้กันไปมานั้นไม่ต่างกับการทำสงคราม หลายเพจไทยถูกฝ่ายนั้นรายงาน อย่างเพจของเราก็ถูกรายงานไม่น้อย จนต้องขึ้นข้อความกลุ่มนี้ระงับกิจกรรมในกลุ่มชั่วคราวเป็นเวลา 42 วัน ผู้ดูแลพักกลุ่มนี้ชั่วคราวเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2023 กิจกรรมในกลุ่มจะดำเนินการต่อเมื่อ 30 มีนาคม 2026 เวลา 18.30 น. ตอนนี้ได้เปิดกลุ่มสำรองไว้แล้ว

ไม่ต่างกับอดีตดีเจชื่อดังอย่างโจ มณฑานี ตันติสุข ก็ถูกรายงานถูกปิดกั้นการมองเห็น 27 วัน และอีกหลายเพจก็ถูกทีมงานจากฝ่ายกัมพูชารีพอร์ตเช่นกัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า การตอบโต้จากฝั่งไทยส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันตอบโต้ แน่นอนว่าทุกฝ่ายก็ต้องตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีการต่างๆ การแจ้งปิดเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ใช้ทำกัน คนนอกอาจมองว่าเป็นการตอบโต้กันของบุคคล ในฝั่งไทยนั้นใช่เพราะเกือบทั้งหมดเป็นบุคคลธรรมดา

แต่ในฝั่งกัมพูชาเท่าที่ดูข้อมูลบางกรณีแล้ว พบว่ามีการนำข้อมูลจากฝ่ายรัฐที่เคยเข้ามาตรวจสอบบางสถานที่ที่ถูกร้องเรียน เช่น วัดภูม่านฟ้า รูปภาพที่เข้ามาตรวจถูกนำไปเผยแพร่ในเพจที่ไม่ใช่ของทางการแล้วโจมตีไทย

เพจเราเปิดเผยชาวกัมพูชาก็เข้ามาคอมเมนต์ได้ ไม่ต่างกัน เราก็เข้าไปในเพจของกัมพูชาเช่นกัน แต่การปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปแบบนี้ ตอบโต้กันไปมา เพิ่มประเด็นความขัดแย้งให้มากขึ้น จะเป็นการขยายวงความขัดแย้งให้มากขึ้น ที่น่าห่วงคือความเท็จที่ดูเหมือนการสร้างความขัดแย้งจากฝั่งเพื่อนบ้านอาจไม่ได้มาจากบุคคลธรรมดา

“ตอนนี้เริ่มลามเข้าไปถึงเรื่องของสถาบันฯ ของไทยแล้ว ตอนเรื่องกุนขแมร์ก็เฉยๆ นะ แต่พอมาแตะเรื่องชุดไทยของบุคคลสำคัญที่คนไทยเคารพรักแล้วจึงต้องออกมาตอบโต้ เพจส่วนตัวจึงถูกรายงาน ถูกลดการมองเห็นจนถึงวันนี้” โจ มณฑานี ตันติสุข เล่าให้ฟัง


“หมอวรงค์” เรียกร้องรัฐแก้ปัญหา

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ที่ชัดเจนในเรื่องการปกป้องสถาบันฯ มาโดยตลอดกล่าวถึงเหตุการณ์ที่มีการตอบโต้กันทางโซเชียลมีเดียระหว่างไทยกับกัมพูชาว่า ความขัดแย้งเชิงศิลปวัฒนธรรม ระหว่างไทยกับเขมรในหลายๆ ประเด็น เช่น มวยไทยกับกุน ขแมร์นั้น และเรื่องอื่นๆ เป็นความขัดแย้งทางความคิดของประชาชน ซึ่งถือว่ามีวงจำกัดของความขัดแย้ง ทางฝ่ายไทยมีนักวิชาการหลายท่านออกมายืนยันข้อมูลทางประวัติศาสตร์

แต่ประเด็นล่าสุดที่ดูแล้วเหมือนจะลามไปกันใหญ่ นั่นคือการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง รวมทั้งการแต่งธนบัตร เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่ควรนิ่งนอนใจ สิ่งแรกควรจะให้กระทรวงดีอีเอสตรวจสอบให้แน่ชัดว่าผู้โพสต์เรื่องดังกล่าวเป็นคนเขมร หรือคนไทยที่สวมรอย

ถ้าเรื่องดังกล่าวเป็นคนเขมรทำ ถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้รัฐบาลเขมรได้ทราบ และหาทางหยุดยั้งการลามปามในเรื่องดังกล่าว เพราะถ้ายิ่งปล่อยไว้จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่นำไปสู่ความขัดแย้งบานปลาย

ในทางกลับกันมีความเป็นไปได้อาจเป็นคนไทยที่ไม่หวังดีแอบอ้างว่าเป็นคนเขมรทำ ซึ่งการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก และรัฐบาลต้องดำเนินการ ไม่ควรปล่อยให้เรื่องเหล่านี้ผ่านไปเช่นกัน

เราขอยืนยันว่า การถกเถียงเรื่องมวยไทยกับกุนขแมร์ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ความจริงก็คือความจริง มองในมุมกลับ บางครั้งก็เหมือนเด็กเกเรที่ชอบจับจองข้าวของไปทั่ว ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ของตนเอง

แต่การเกเรก็ไม่ควรลามปามไปถึงเบื้องสูง แต่เพื่อความรอบคอบ รัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉย ควรใช้เครื่องมือที่มีอยู่ เอาข้อเท็จจริงออกมาว่าใครกันแน่ที่ดำเนินการ ผมเชื่อว่าถ้าเป็นคนเขมรมาวุ่นวาย คนไทยคงไม่ยอมแน่ๆ


กัมพูชาใกล้เลือกตั้ง

ถ้าใครที่เคยติดตามสถานการณ์การเมืองในกัมพูชาจะพบว่า มักมีการโจมตีไทยถี่เป็นพิเศษในช่วงก่อนเลือกตั้ง ซึ่งประเทศกัมพูชาจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) พรรครัฐบาลสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรี ก็ลงรับสมัคร

ต้นเดือนธันวาคม 2565 รัฐบาลกัมพูชาได้จัดระเบียบพื้นที่ในเขตนครวัด ประชาชนที่อาศัยอยู่ในและรอบๆ นครวัดราว 10,000 คน ได้รับแจ้งว่าพวกเขาต้องย้ายออกจากพื้นที่ก่อนปีใหม่ ตามมาด้วยการถอดใบอนุญาตสำนักข่าว Voice of Democracy (VOD) เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2566

ส่วนจะเป็นวิธีการหาเสียงของฝั่งนั้นเพื่อกลบกระแสด้านลบหรือไม่ คงไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์ได้ การสร้างกระแสชาตินิยม ตอบโต้คู่กรณีที่อุปโลกน์ขึ้นมาบนข้อมูลที่ไม่มีการตรวจทาน อาจเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ได้ผลมาแล้วแทบทุกครั้ง เพียงแต่เรื่องแบบนี้จะหายไปหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นเสมอ เรื่องของคุณกบ-ดาราไทย ก็ยังถูกขุดนำมาปลุกความเป็นชาตินิยมอยู่จนถึงวันนี้

“เราอยากให้ระดับรัฐบาลเข้ามายุติปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวง DEs กระทรวงต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นการตอบโต้กันจะยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” แหล่งข่าวกล่าว

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH



กำลังโหลดความคิดเห็น