xs
xsm
sm
md
lg

ทัวร์ญี่ปุ่นเกือบถูกลอยแพ-โฮลเซลทิ้งงาน “เอเยนต์ทัวร์” ควักเงินล้านอุ้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกือบได้เห็นลอยแพลูกทัวร์ที่สนามบินแล้วหลังโฮลเซลรายใหญ่ยกเลิกงานก่อนบินเพียงไม่กี่วัน เอเยนต์ทัวร์ได้กลิ่นไม่ดี ยอมควักเงินล้านแก้ปัญหาจนลูกค้าได้บิน แจ้งความตำรวจกองปราบเอาผิด คนวงการเผยโฮลเซลรายนี้มีคดี โอดเอเยนต์ทัวร์แค่ตัวแทนขายได้เงินหลักพันแต่ต้องรับผิดชอบหลักล้าน ร้องแก้กฎระเบียบแยกความรับผิดชอบ จับตามีนาคมอาจมีอีก 2 กรุ๊ปที่โดน

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านบริษัททัวร์ ที่ได้รับบริการเรื่องความสะดวกสบาย ด้วยการจ่ายเงินครั้งเดียว เตรียมตัวเที่ยวได้เลย ไม่ต้องยุ่งยากเหมือนกับไปเที่ยวเองที่ต้องวางแผนเดินทาง ซื้อตั๋วโดยสาร เตรียมเอกสารเข้าเมืองของประเทศปลายทาง สำรวจหรือเช่าพาหนะระหว่างท่องเที่ยว จองที่พักและร้านอาหาร แถมบางครั้งหลงทางเสียเวลากันไปบ้าง

แต่ในบางครั้งผู้ที่ได้เดินทางท่องเที่ยวกับทัวร์สมใจแล้ว อาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังของการได้เดินทางนั้นยังมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบและตามแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบริษัททัวร์ จนสามารถได้เดินทางตามกำหนด โดยที่เราไม่ได้เห็นภาพการลอยแพลูกทัวร์ที่สนามบินมาตั้งแต่ปี 2560

ล่าสุด เกิดปัญหาขึ้นวงการทัวร์อีกครั้ง เมื่อบริษัททัวร์ผู้ออกโปรแกรมยกเลิกสัญญากับผู้ประสานงานกะทันหัน จนเกิดการแจ้งความดำเนินคดีที่กองปราบปราม

คนออกทัวร์ยกเลิกงาน

15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความและประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วยนายทินกร วัฒนกุลเทพ ตัวแทนจากบริษัทโซร่า แทรเวล และ ตัวแทนผู้เสียหายจากบริษัทนำเที่ยวรายย่อยจำนวนกว่า 10 แห่ง ยื่นหนังสือถึง พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง หลังมีพฤติกรรมหลอกขายทัวร์พาไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายกลับไม่สามารถเดินทางได้ตามที่กล่าวอ้าง ก่อนจะบริษัทดังกล่าวจะเชิดเงินหนีไปกว่า 14 ล้านบาท

นายทินกร เล่าถึงเหตุการณ์ว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ได้มีบริษัทของรุ่นน้องที่รู้จักกันอยากจะไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น จำนวน 30 คน แต่มีงบประมาณจำกัดแค่คนละ 25,000 บาท ส่วนตัวดูแล้วว่าไม่สามารถทำให้ได้ เนื่องจากในช่วงนี้ตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่นราคาสูงมาก แต่ทางบริษัทของรุ่นน้องบอกมาว่าพนักงานอยากไปกันมาก ไปไหนก็ได้ในประเทศญี่ปุ่น

จึงหาโปรแกรมท่องเที่ยวจากบริษัทโฮลเซลเจ้าหนึ่ง ตั้งอยู่ตำบลคูคต ปทุมธานี เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและทำทัวร์ มีราคาที่ถูก โดยจัดเป็นโปรแกรมไปเที่ยวที่ Fukuoka ประเทศญี่ปุ่น และได้ราคาตามที่ต้องการ คือ 25,000 บาท แต่ต้องรีบจองและวางเงินทั้งหมด

จากนั้นแจ้งลูกค้าทำการเก็บเงิน พร้อมทั้งโอนเงินทั้งหมดไปให้ทางบริษัทดังกล่าวกว่า 6 แสนบาท และแจ้งให้ลูกค้าเตรียมตัวเดินทางในวันที่ 29 มกราคม 2566 จนกระทั่งใกล้วันเดินทาง ตนได้ติดต่อไปเพื่อขอใบเตรียมตัวจากบริษัทดังกล่าว ขอชื่อโรงแรมเพื่อจะใช้ในการลงทะเบียนเข้าประเทศญี่ปุ่น ทางบริษัทกลับส่งใบเตรียมตัวมาให้ แต่กลับไม่มีชื่อ-เบอร์โทร.ของมัคคุเทศก์ รวมถึงชื่อคนมารับส่งลูกทัวร์ของตนที่สนามบินก็ไม่มี มีแต่ชื่อโรงแรม ตนจึงโทร.ไปเช็กกับทางโรงแรมที่ญี่ปุ่นตามชื่อโรงแรมที่ทางบริษัทให้มา ผลปรากฏว่า ทางโรงแรมที่ญี่ปุ่นแจ้งว่าไม่มีการจองใดๆ ทั้งสิ้น

ตนได้พยายามโทร.ติดต่อเจ้าของบริษัทดังกล่าว ซึ่งมีการรับสายครั้งหนึ่ง จึงแจ้งปัญหาไป แต่โดนบ่ายเบี่ยงทุกอย่าง ถามถึงเบอร์ไกด์ก็บอกว่าไกด์อยู่ญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นตนเองก็อยู่ญี่ปุ่น เขาบอกว่าเขาขับรถอยู่ แล้วก็รีบวางสายไป หลังจากนั้นไม่รับโทรศัพท์อีกเลย ตนพยายามติดต่อไปทั้งวัน แต่ก็ไม่รับสาย

ต่อมา ตนได้สอบถามไปในกลุ่มไลน์ ซึ่งในกลุ่มนี้มีลูกค้าคนอื่นๆ อยู่ด้วย ปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวเกิดความไม่พอใจที่ทางตนไปทวงถามในกลุ่ม อ้างว่าทำให้เขาเสียหาย ทำให้ลูกค้าหลายรายไม่ยอมโอนเงินให้ เลยขอยกเลิกทัวร์ของตนเอง ซึ่งอีกเพียง 2-3 วัน จะถึงวันที่ออกเดินทางอยู่แล้ว ตนเองจึงขอเงินคืน แต่ทางบริษัทกลับบอกว่าจะคืนเงินให้ภายใน 7 วัน แต่ตนกับภรรยาต้องเซ็นสัญญาว่า “บริษัทคุณเป็นฝ่ายผิดที่ไปทำให้บริษัทเขาเสียหาย รวมถึงห้ามไม่ให้ไปโพสต์ข้อความใดๆ กล่าวหาบริษัทเขาอีกด้วย”

ตนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง จึงไม่ได้เซ็นให้เขา ต่อมาตนกับภรรยาโดนเตะออกจากไลน์กลุ่ม ตนมาทราบอีกว่ามีคนที่ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกันกับตนอีกหลายสิบบริษัท มีผู้เสียหายกว่า 400 คน สูญเงินกว่า 10 ล้านบาท จึงได้รู้ว่าบริษัทแห่งนี้น่าจะทำแบบนี้กับกลุ่มลูกค้าหลายๆ บริษัทมาแล้ว

“ตอนนี้ตนเองกับภรรยาต้องออกเงินเองเพื่อซื้อตั๋วท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้เพื่อนของตนที่พาพนักงาน 30 คน ไปเที่ยวญี่ปุ่นโดยสำรองออกเงินไปแล้วเกือบ 1 ล้านบาท ซึ่งเพื่อนของตนได้พาพนักงานทั้ง 30 คน ไปเที่ยวญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยากฝากเตือนถึงเพื่อนๆ ในธุรกิจวงการท่องเที่ยวว่า ให้ระวัง เพราะตั๋วถูกโปรแกรมท่องเที่ยวดีคงไม่มีอยู่จริง”


ระบบทัวร์ : ลูกทัวร์-เอเยนต์-โฮลเซล

สำหรับระบบทัวร์ในประเทศไทยรูปแบบที่ให้บริการพานักท่องเที่ยวไปต่างประเทศจะแบ่งออกเป็น 3 ภาคส่วน คือ ลูกทัวร์ เอเยนต์ทัวร์ทำหน้าที่ขายโปรแกรมทัวร์ และโฮลเซลที่ออกโปรแกรมทัวร์

ลูกทัวร์ที่ต้องการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศผ่านบริษัททัวร์สามารถเลือกประเทศปลายทางและโปรแกรมที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวของตนเองได้ผ่านเอเยนต์ทัวร์ต่างๆ ที่มีประเทศให้เลือกหลากหลาย และมีโปรแกรมย่อยของแต่ละประเทศอีก ส่วนใหญ่ทำการตลาดบนสื่อออนไลน์

เอเยนต์ทัวร์ทำหน้าที่ขายโปรแกรมทัวร์ต่างๆ ที่รับมาจากโฮลเซลผู้ออกโปรแกรม ช่องทางหลักเป็นการทำตลาดผ่านเว็บไซต์ Facebook รวมถึงทำตลาดผ่าน Line โดยมีค่าตอบแทนจากการขายโปรแกรมได้ เช่น 800-1,500 บาทต่อลูกค้า 1 คน ค่าตอบแทนดังกล่าวขึ้นอยู่กับเส้นทางและราคาทัวร์ตามที่ตกลงกับโฮลเซล

โฮลเซลคือผู้ออกโปรแกรมทัวร์ ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานทั้งเรื่องตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก อาหาร พาหนะในการเดินทาง รวมถึงไกด์ เลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นจุดเด่นบรรจุลงในโปรแกรม แต่โฮลเซลอาจมีข้อจำกัดในการขาย จึงมอบหมายให้เอเยนต์ทัวร์นำไปจำหน่ายแทน

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้วโฮลเซลบางรายก็ทำหน้าที่เป็นเอเยนต์ขายโปรแกรมท่องเที่ยวให้เจ้าอื่นด้วยในบางเส้นทาง หรือบางเอเยนต์ก็กลายเป็นโฮลเซลด้วยในบางเส้นทางเช่นเดียวกัน

โฮลเซลรายเดิมไม่รับผิดชอบ

เอเยนต์ทัวร์รายใหญ่เล่าให้ฟังว่า ถ้านับเฉพาะช่วงโควิด-19 เนื่องจากเป็นโรคระบาดที่รุนแรง (ในขณะนั้น) ทำให้เกิดปัญหาระหว่างลูกทัวร์กับคนขายทัวร์ คนที่ซื้อโปรแกรมทัวร์ไว้แล้วมีทั้งไม่กล้าเดินทางเอง ตรงนี้การคืนเงินเป็นไปตามเงื่อนไข ไม่มีปัญหาเรื่องคดีความ อีกกรณีคือทั้งประเทศปลายทางและประเทศไทยคุมเข้มเรื่องการเดินทางหรือไม่มีเที่ยวบิน ตรงนี้บริษัททัวร์ต้องคืนเงินลูกทัวร์

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานั้นคือผู้ขายโปรแกรมทัวร์ส่วนใหญ่มีสถานะเป็นแค่เอเยนต์ทัวร์ ทุนในการทำธุรกิจค่อนข้างน้อย แต่ในฐานะที่เป็นผู้ขายโปรแกรมทัวร์กับลูกค้าโดยตรง จึงต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องแก้ปัญหาให้ลูกทัวร์เป็นลำดับแรก จากนั้นจึงจะไปไล่เบี้ยเอากับโฮลเซลอีกต่อหนึ่ง

เอเยนต์ทัวร์หลายบริษัทต้องสำรองเงินจ่ายคืนให้ลูกทัวร์ไปก่อน แล้วจึงไปไล่เบี้ยฟ้องเอากับโฮลเซล ส่วนเอเยนต์ที่ไม่สามารถคืนเงินให้ลูกค้าได้ เช่น ไม่มีทุนพอ ก็ต้องยอมโดนลูกค้าฟ้องดำเนินคดี หรือบางรายก็ปิดตัวเองลง

บริษัทโฮลเซลที่มีปัญหาในช่วงโควิดคือบริษัทเดียวกับบริษัทที่เพิ่งถูกแจ้งความดำเนินคดี


เตือนคนไม่ได้-ติดกฎหมาย

คนในวงการธุรกิจทัวร์กล่าวว่า ตอนนี้มีแค่คนในวงการจำนวนหนึ่งรู้ว่าโฮลเซลรายนั้นชื่อบริษัทอะไร แต่บุคคลภายนอกไม่รู้ ไม่มีการเปิดเผยชื่อบริษัทแห่งนั้น ทั้งหมดเป็นเพราะเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท ทำให้ไม่มีใครกล้าเปิดเผยชื่อบริษัทนั้นเพื่อเป็นการเตือนภัยได้ แม้กระทั่งทนายความยังไม่กล้าพูดชื่อบริษัทนี้แบบตรงๆ

เราเข้าใจว่าด้านหนึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ถ้าไม่เปิดชื่อย่อมเป็นโอกาสให้มีผู้เสียหายเกิดขึ้นได้อีก นี่ขนาดคนที่อยู่ในวงการทัวร์ด้วยกันยังโดน แล้วถ้าเป็นลูกค้ารายย่อยยิ่งไม่มีทางทราบ ตรงนี้เลยอยากฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลองนำไปทบทวนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้

สุดท้ายตัวกฎหมายอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนที่ทำธุรกิจที่ไม่ซื่อตรงในการปกปิดความผิดหรือใช้ตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามก็ได้ นอกจากนี้ การคนที่ไม่ซื่อสัตย์ในอาชีพยังไม่ถูกลงโทษ อาจมาจากกระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลานานในการพิสูจน์ สมมติบริษัท A ถูกร้องเรียนจนถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้บริหารเดิมไม่สามารถกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ พวกเขาก็ตั้งบริษัทใหม่เปลี่ยนชื่อ ใช้นอมินีเข้ามาสวม แต่ระบบบริหารจัดการทั้งหมดยังเป็นร่างเดิม ตรงนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้

กฎระเบียบไม่สอดคล้องความจริง

นอกจากนี้ ในวงการทัวร์แล้วยังมีเรื่องของกฎระเบียบหรือข้อบังคับของกรมการท่องเที่ยว ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นคือเรื่องระดับความรับผิดชอบของประเภทธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ตอนนี้คนที่รับผิดชอบกับลูกค้าโดยตรงคือเอเยนต์ทัวร์ ซึ่งไม่ใช่คนออกโปรแกรม รายได้หลักคือผลตอบแทนจากการขายโปรแกรมทัวร์ได้ แต่กลับต้องรับผิดชอบเรื่องเงินทั้งหมด 100% กับลูกค้าหากทัวร์ล่มไม่สามารถเดินทางได้ เมื่อลูกค้าซื้อโปรแกรมทัวร์ โอนเงินจอง รวมไปถึงชำระค่าทัวร์ให้เอเยนต์ เอเยนต์จะส่งต่อไปให้โฮลเซลที่ออกโปรแกรม เอเยนต์ได้ผลตอบแทนตามที่ตกลงกันในแต่ละโปรแกรม เช่น 800-1,500 บาทหรืออาจสูงกว่านี้ในบางเส้นทาง

ในทางปฏิบัติแล้วลูกทัวร์ไม่มีทางรู้เลยว่าใครเป็นผู้ออกโปรแกรมตัวจริง ดังนั้น เวลาเกิดปัญหาผู้ประกอบการโฮลเซลจึงมักรอดตัว เว้นแต่ถูกเอเยนต์รวมตัวกันฟ้องเช่นกรณีที่เกิดขึ้นนี้

เดิมทางกรมการท่องเที่ยวกำหนดให้คนจะทำธุรกิจนี้ต้องวางเงินประกัน 2 แสนบาท เพื่อรองรับกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเอเยนต์หรือโฮลเซล ช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด ได้ลดการวางเงินลงเหลือ 6 หมื่นบาท แต่กำไรหรือรายได้โฮลเซลรับมากกว่าหลายเท่าตัว แถมไม่ต้องปะทะหรือรับผิดชอบกับลูกค้าโดยตรง

ขณะนี้กำลังเสนอให้มีการแยกระหว่างเอเยนต์กับโฮลเซลออกจากกัน การวางเงินประกันของโฮลเซลย่อมต้องสูงกว่าเอเยนต์ เช่น 10 ล้านบาท เพราะโฮลเซลต้องมีเงินทุนในการทำธุรกิจสูงกว่า รับรายได้มากกว่า จึงควรกำหนดให้มีความรับผิดชอบสูงกว่า และควรเป็นผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

วิธีตรวจสอบคือไม่มี

หลายคนอยากรู้ว่าจะมีวิธีดู หรือตรวจสอบอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงทัวร์ล่ม ในที่นี้ขออนุญาตใช้เฉพาะกับกรณีการจ่ายเงินแล้วไม่ได้เดินทาง ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์จากภัยธรรมชาติหรือเรื่องปัญหาความไม่สงบในประเทศนั้นๆ

ถ้าว่ากันตามหลักการ มักแนะให้ตรวจสอบเรื่องของใบอนุญาตต่างๆ นั่นเป็นเรื่องแค่หลักการเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันทัวร์ล่มได้จริง ถ้าให้ตอบตรงๆ คือไม่มีวิธีการดูว่าทัวร์ไหนจะล่มหรือไม่ เพราะขนาดเอเยนต์ทัวร์ยังแยกไม่ออกเลย แถมเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องรับภาระแทนโฮลเซล ไม่มีใครรู้ว่าโฮลเซลที่ออกโปรแกรมทัวร์จะมีปัญหาอะไร ขาดสภาพคล่องหรือจงใจเทลูกค้าแล้วหอบเงินหนี ตรงนี้ไม่มีใครรู้

แต่การเลือกซื้อกับเอเยนต์ที่มีชื่อเสียงถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา เขายังสามารถหาเงินมาจ่ายคืนลูกทัวร์ให้ก่อน ไม่ต้องรอให้ลูกทัวร์ต้องฟ้องร้อง จากนั้นจึงไปไล่ฟ้องกับโฮลเซลที่ออกโปรแกรมอีกขั้นตอนหนึ่ง อีกประการหนึ่งเอเยนต์ดังๆ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วมักจะไม่นำเอาโปรแกรมของโฮลเซลที่มีปัญหามาขายอีก เท่ากับเป็นการช่วยทั้งลูกค้าและตัวของเอเยนต์เอง

เราไม่ได้พูดให้เกิดความตระหนก แต่พูดจากความจริง ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าซื้อทัวร์กับเอเยนต์รายเล็กจะมีความเสี่ยง ในวงการเอเยนต์ด้วยกันมีการส่งข่าวกันทางกลุ่มไลน์อยู่เสมอ แต่การระบุชื่อบริษัทที่คาดว่าจะมีปัญหาในกลุ่มไลน์ บางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา ส่วนใหญ่จะทักไปสอบถามกันเป็นการส่วนตัว เท่าที่รู้ตอนนี้ต้นเดือนมีนาคมมีอีก 2 กรุ๊ปที่จองกับโฮลเซลรายนี้ ไม่แน่ใจว่าจะมีรายการเทลูกทัวร์อีกหรือไม่

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH





กำลังโหลดความคิดเห็น