xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “นโยบายพลังงาน!” 6 พรรคการเมือง พรรคไหนโดนใจที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชัน “นโยบายพลังงาน” ของ 6 พรรคการเมือง “ชาติพัฒนากล้า” เตรียมรื้อโครงสร้างพลังงาน เลิกผูกขาดสายส่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกใช้ไฟราคาถูก ด้าน “ไทยสร้างไทย” ประกาศลดค่าไฟ เหลือหน่วยละ 3.5 บาท ขณะที่ “ภูมิใจไทย” แจกหลังคาโซลาร์เซลล์ฟรี และให้สิทธิซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในราคาแค่ 6 พันบาท “เพื่อไทย” เผยจะลดราคาทั้งค่าไฟ แก๊สหุงต้ม และน้ำมัน พร้อมเจรจากัมพูชาเพื่อขุดก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ ฝ่าย “พลังประชารัฐ” เร่งลดราคาพลังงานเช่นกัน อีกทั้งจะผลักดันโครงการโซลาร์ประชารัฐ และโรงไฟฟ้าประชารัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประชาชน ส่วน “พรรคก้าวไกล” ลั่นลดประโยชน์ให้กลุ่มทุน เพื่อกดค่าไฟลงหน่วยละ 70 สตางค์

ปี่กลองเลือกตั้งเริ่มโหมประโคมขึ้นทุกที พรรคการเมืองน้อยใหญ่ต่างลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างคึกคัก ซึ่งนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงถือเป็นหัวใจสำคัญที่ใช้ในการช่วงชิงคะแนน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นโยบายด้านพลังงาน” ซึ่งประชาชนต่างจับตาว่านโยบายของพรรคการเมืองใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานที่สูงลิ่ว และเป็นภาระอันหนักอึ้งของประชาชนอยู่ในขณะนี้

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า
“ชาติพัฒนากล้า”
รื้อโครงสร้างพลังงาน-เลิกผูกขาดสายส่ง


สำหรับ “พรรคชาติพัฒนากล้า” ที่มี นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค ถือเป็นพรรคการเมืองที่มีการเสนอนโยบายด้านพลังงานที่ชัดเจนที่สุด โดยเสนอ 2 แนวทางเพื่อให้ราคาพลังงานของไทยถูกลง ได้แก่

1.รื้อโครงสร้างพลังงาน ทั้งธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า เนื่องจากพรรคชาติพัฒนากล้าเชื่อในเรื่องของการแข่งขัน เชื่อว่าภาคเอกชนมีประสิทธิภาพในการแข่งขันและดูแลประชาชนได้ดีที่สุด ตราบเท่าที่มีการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพราะปัญหาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นจากกลไกที่มีความบกพร่อง เรียกว่าเป็นโครงสร้างที่บิดเบี้ยว ฉะนั้นภาครัฐต้องปลดล็อกให้เกิดการแข่งขันในรูปแบบที่ประชาชนได้ประโยชน์ โดยแก้ปัญหาการผูกขาดให้หมดไป ต้องทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งในเรื่องน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า อะไรคือต้นทุนแฝงที่ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นควรยกเลิก เช่น กรณีราคาน้ำมัน ควรยกเลิกการอ้างอิงราคาสิงคโปร์ และมาดูว่าต้นทุนของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร และควรกำหนดราคาขายเท่าใดถึงจะเหมาะสม

2.เลิกผูกขาดกิจการสายส่งไฟฟ้า สืบเนื่องจากพรรคชาติพัฒนากล้ามีแนวคิดว่ารัฐจำเป็นต้องปรับโครงสร้างวัตถุดิบในการผลิต
ไฟฟ้าที่ไม่สมดุล เนื่องจากปัจจุบันไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติกว่า 70% และใช้พลังงานหมุนเวียนเพียง 20% จึงต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนให้มากขึ้น เช่น ในกรุงเทพฯ มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาได้อีก 6,000 เมกะวัตต์ แต่โมเดลนี้ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะติดปัญหาสายส่ง และติดแนวคิดว่าการผลิตไฟฟ้าต้องสงวนไว้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น ทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมีโอกาสน้อยมาก ดังนั้น จึงต้องเลิกผูกขาดกิจการสายส่ง โดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาโดยยังคงให้ กฟผ.ถือหุ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ให้ กฟผ. รวมถึงสามารถเลือกใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกได้ ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นทันที ราคาพลังงานจะถูกลง


“พรรคไทยสร้างไทย”
ลดค่าไฟเหลือหน่วยละ 3.5 บาท


พรรคต่อมาที่มีการประกาศนโยบายพลังงานในการหาเสียงเลือกตั้งคือ “พรรคไทยสร้างไทย” โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ได้ประกาศในการลงพื้นที่หาเสียงที่ จ.กาฬสินธุ์ ว่าถ้าไทยสร้างไทยได้เป็นรัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือไม่เกิน 3.5 บาท/หน่วย พร้อมสโลแกนว่า “เรามั่นใจเราพูดจริง ทำได้ เลือกไทยสร้างไทย ค่าไฟถูกลงแน่”

โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ชี้ว่า ที่ผ่านมาคนไทยทั้งประเทศถูกปล้นค่าไฟฟ้าเพื่อไปสร้างความร่ำรวยให้นายทุน ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าความเป็นจริง โดยรัฐเอื้อนายทุนโรงไฟฟ้า ทำสัญญาผลิตไฟล่วงหน้าถึง 53,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสูงเกินความจำเป็น ขณะที่จากสถิติประชาชนใช้ไฟฟ้าจริงไม่เกิน 33,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงเท่านั้น

“ประเทศไทยมีการสำรองไฟฟ้าเกินความต้องการใช้จริงสูงถึง 20,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือเกือบ 60% โดยที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ประโยชน์ แต่ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ให้นายทุนเหล่านี้ไปฟรีๆ ถึงปีละ 26,000 ล้านบาท ทั้งที่โรงไฟฟ้าของนายทุนใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตจริงแม้แต่เมกะวัตต์เดียว” คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุ


“ภูมิใจไทย” ฟรีหลังคาโซลาร์เซลล์
ซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคันละ 6 พันบาท


ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาอย่าง “ภูมิใจไทย” ได้ประกาศนโยบายพลังงานสะอาด ลดรายจ่ายให้ประชาชน โดยดำเนินการผ่าน 2 โครงการหลัก คือ

1.โครงการฟรีหลังคาโซลาร์เซลล์ ลดค่าไฟฟ้าหลังคาเรือนละ 450 บาท โดยรัฐบาลจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แก่ประชาชนที่นำบ้าน หรือที่พักอาศัย สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ ฟรีทุกบ้าน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำไฟฟ้ามาใช้ในบ้านเรือนของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถลดค่าฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 450 บาทต่อเดือน และรัฐจะรับซื้อกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่เหลือใช้ผ่านระบบของการไฟฟ้าฯ ซึ่งการไฟฟ้าฯ จะต้องปรับบทบาทหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้ของรัฐบาล

2.โครงการให้สิทธิซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแก่ประชาชนในราคาคันละ 6,000 บาท โดยผ่อนจ่ายเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 60 งวด โดยจะให้สิทธิในการซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแก่ประชาชนที่นำบ้าน ที่พักอาศัยเข้าร่วมโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ บ้านละ 1 คัน และสามารถใช้เครดิตพลังงานเติมกระแสไฟฟ้าสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าพลังงาน ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายให้แก่ประชาชนทั้งการซื้อรถราคาถูก และไม่ต้องเสียเงินค่าพลังงาน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
“เพื่อไทย” ลดค่าไฟ-ราคาแก๊ส-น้ำมัน
เร่งขุดก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อน


ส่วนพรรคการเมืองใหญ่ที่ประกาศแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่าง “เพื่อไทย” ก็ประกาศนโยบายพลังงานในการหาเสียงเลือกตั้งเช่นกัน โดย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยจะผลักดันนโยบายพลังงาน 2 เรื่องหลักๆ คือ

1.จะลดราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาแก๊สหุงต้ม และราคาน้ำมัน ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

2.จะมีการเจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อที่จะนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยมีการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ควรนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ มี 8 ประการ คือ

1) ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา มีปริมาณมากกว่าแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี

2) ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากพม่าลดลง ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาสูงมาก

3) การนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวมาใช้จะช่วยให้ไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง

4) ในอนาคตเทรนด์โลกจะนิยมใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ทำให้ในอนาคตก๊าซธรรมชาติจะไม่มีราคา จึงจำเป็นต้องรีบนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้และขายนำรายได้เข้าประเทศ

5) ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนสามารถเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ โดยไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่ 6 โรง และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า

6) รัฐจะได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่างไทย-กัมพูชา และมีรายได้จากภาษีจำนวนมหาศาล

7) รัฐจะได้ค่าภาคหลวงในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม

8) การสำรวจและขุดเจาะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี จึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่ตอนนี้

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ
“พลังประชารัฐ” ลดราคาพลังงาน
ดันโครงการโซลาร์-โรงไฟฟ้าประชารัฐ


สำหรับพรรคการเมืองที่ตั้งเป้าจะเป็นแกนนำรัฐบาลอีกสมัยอย่าง “พลังประชารัฐ” นั้น ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า พลังประชารัฐมีนโยบายพลังงานทั้งนโยบายระยะสั้นและระยะยาว โดยนโยบายระยะสั้นนั้นหากได้เป็นรัฐบาลพลังประชารัฐจะลดราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้ม และราคาน้ำมัน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตัวเลขว่าจะลดเท่าไหร่ อีกทั้งจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อลดภาระของประชาชน

ส่วนนโยบายระยะยาวนั้นพรรคพลังประชารัฐจะผลักดันโครงการโซลาร์ประชารัฐ โดยจะติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปให้ประชาชน โดยกำลังศึกษาว่าจะใช้แหล่งเงินจากส่วนไหน อย่างไร นอกจากนั้น ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้พลังงานจากพืชในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยรัฐและประชาชนจะเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าร่วมกัน

“ชาวบ้านในพื้นที่จะมีรายได้จากการปลูกพืชที่ใช้เป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้โรงไฟฟ้าประชารัฐ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ถือหุ้นในโรงไฟฟ้า ส่วนไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ก่อน หากเหลือจึงขายให้การไฟฟ้าฯ ซึ่งต้องไปศึกษาว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร นอกจากนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาราคาพลังงานในระยะยาวเราศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันซึ่งปัจจุบันรัฐบาลต้องไปกู้เงินมาอุดหนุน โดยนโยบายพลังงานทั้งหมดของพรรคพลังประชารัฐน่าจะออกมาเป็นรูปธรรมไม่เกินเดือน มี.ค.นี้” ศ.ดร.นฤมล กล่าว

นายวรภพ วิริยะโรจน์  ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งดูแลนโยบายด้านพลังงาน
“ก้าวไกล” ชูนโยยายลดค่าไฟ
ผลักดันการใช้โซลาร์เซลล์


ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” มีนโยบายด้านพลังงานที่น่าสนใจเช่นกัน โดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งดูแลนโยบายด้านพลังงานของพรรค เปิดเผยว่า พรรคได้วางนโยบายพลังงานไว้ 2 เรื่องหลักๆ คือ ลดค่าไฟฟ้า และผลักดันให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์

1) สำหรับการดำเนินการเพื่อ “ลดค่าไฟฟ้า” นั้น รัฐต้องยกเลิกการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ซึ่งจะส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย

โดยจะเห็นได้ว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนั้นมีเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าให้แก่คนทั้งประเทศ อีกทั้งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยราคาค่อนข้างถูก ถ้าใช้ในการผลิตไฟฟ้าต้นถูกจะอยู่ที่ 2 บาทต่อหน่วย แต่ กฟผ.ใช้ก๊าซ LNG ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนสูงถึง 10 บาทต่อหน่วย เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่อนุญาตให้ ปตท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ได้สิทธินำก๊าซจากอ่าวไทยซึ่งมีราคาถูกไปเข้าโรงแยกก๊าซก่อนเพื่อผลิตออกมาเป็นปิโตรเคมีซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกที่มีมูลค่าสูง และก๊าซอีกส่วนนำไปขายให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใช้เป็นเชื้อเพลิง จากนั้นก๊าซธรรมชาติส่วนที่เหลือจึงจำหน่ายให้ กฟผ. ทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ กฟผ.ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้ากาซ LNG มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นถึง 5 เท่า ค่าไฟที่จัดเก็บจากประชาชนจึงสูงขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงมีนโยบายในการจัดสรรก๊าซธรรมชาติใหม่ โดยให้สิทธิ กฟผ.ในการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ควรหันไปใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาปริมาณก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอ

2) “ผลักดันให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์” โดยการไฟฟ้าฯ ต้องใช้ระบบ NET METERING ในการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากประชาชน คือใช้วิธีการหักลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตจากโซลาร์บนหลังคาใช้เอง กับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ โดยคิดค่าไฟในอัตราที่เท่ากัน แทนการรับซื้อไฟ้ฟ้าโซลาร์เซลล์ด้วยระบบ Net-billing หรือระบบที่แยกไฟที่ประชาชนซื้อจากการไฟฟ้าฯ (จำนวนหน่วยที่ใช้คูณด้วยเรตราคาไฟฟ้าซื้อ) กับไฟที่ประชาชนขายให้การไฟฟ้าฯ (จำนวนหน่วยที่ขายคูณด้วยเรตของไฟฟ้าที่ขาย) แล้วนำค่าเงินทั้งสองที่คำนวณได้มาหักลบกัน โดยอัตราค่าไฟที่ประชาชนผลิตได้อยู่ที่ 2.2 บาทต่อหน่วย ขณะที่อัตราค่าไฟที่ประชาชนซื้อจากการไฟฟ้าอยู่ที่ 2.3-4.2 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้เพื่อลดความยุ่งยากในการขายไฟคืนให้การไฟฟ้าฯ ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น