xs
xsm
sm
md
lg

คลังชี้ ‘กคช.’ มี DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า ต้นเหตุจาก ‘ทุจริตบ้านเอื้ออาทร’ กว่า 3 หมื่นล้าน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา 4 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วน DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า แต่ ครม.ยังอนุมัติแผนการก่อหนี้ใหม่ พร้อมจัดทำแผนการบริหารหนี้ ทั้งหนี้ใหม่ หนี้เดิม และแผนการชำระหนี้ เพื่อสร้างสภาพคล่องในอนาคต ขณะที่การเคหะแห่งชาติซึ่งเป็น 1 ใน 4 หน่วยงาน พบเหตุที่ DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า เป็นผลมาจากหนี้เน่าสะสมตั้งแต่ยุคโครงการเอื้ออาทร มูลค่าความเสียหายถึง 3 หมื่นล้านบาท แจงที่ดินกว่า 30 แปลง ซื้อแพงสุดๆ จนถึงวันนี้ผ่านมากว่า 16 ปี ราคาซื้อขายในตลาดยังไล่ไม่ทัน ชี้ทางรอด กคช.เสนอแผนพลิกฟื้นแก้ปัญหาที่ดิน Sunk Cost ปิดโครงการเอื้ออาทรทั้งหมดเพื่อสะสางบัญชีที่มีการหมกเม็ดไว้ อีกทั้งต้องกล้าผ่าตัดใหญ่ กคช.แบบเดียวกับการบินไทย เจ็บแต่จบ’ หวังทำให้ กคช.เป็นบริษัทแม่ที่มีความโปร่งใส เป็นที่พึ่งของคนที่อยากมีบ้าน!

4 หน่วยงานรัฐสำคัญที่ประชาชนต้องเฝ้าติดตาม เนื่องจากในรายงานแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีการเสนอผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงปลายปี 2565 นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงิน และการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR ) ต่ำกว่า 1 เท่า

ทั้งที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวินัยการเงินการคลังของรัฐและการบริหารหนี้สาธารณะ มีการกำหนดหลักเกณฑ์การกู้เงินของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ ต้องมีสัดส่วน DSCR ไม่ต่ำกว่า 1 เท่า แต่กรณีทั้ง 4 หน่วยงานนี้มีความจำเป็นต้องกู้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้ จึงต้องเสนอเหตุผลความจำเป็น แนวทางแก้ไขปัญหา และแผนการบริหารหนี้ที่ชัดเจนเพื่อขออนุมัติการกู้เงินต่อคณะรัฐมนตรี



โดยทั้ง 4 หน่วยงานต้องนำความเห็นของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะไปดำเนินการด้วย โดยเฉพาะการเร่งรัดดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้และเพื่อทำให้ฐานะทางการเงินของหน่วยงานดีขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ดี แผนการบริหารหนี้สาธารณะนั้น ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ แผนการบริหารหนี้เดิม และแผนการชำระหนี้ ต้องมีการนำเสนอที่ชัดเจน

ในแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของ 4 หน่วยงาน เป็นหนี้ในประเทศซึ่งกระทรวงการคลังค้ำประกัน ดังนี้ เป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา รฟท. กู้ 3,273.95 ล้านบาท กคช.กู้ 850 ล้านบาท ส่วน ธพส.กู้ 6,000 ล้าน กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน

สำหรับการกู้เพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินกิจการ ในส่วนของ รฟท.16,700,00 ล้านบาท และ ขสมก.กู้ 7,516.91 ล้านบาท กระทรวงการคลังค้ำประกัน ส่วนการกู้ของ กคช. 1,940.00 ล้านบาท และ ธพส.กู้ 2,930.00 ล้านบาท กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน

“แผนบริหารหนี้เดิม กคช. 4,000 ล้านบาท รฟท.42,490.44 ล้านบาท ขสมก. 35,123.76 ที่คลังค้ำประกันอยู่ แต่ ธพส.มีหนี้เดิม 2,480.00 ล้านบาท ซึ่งคลังไม่ค้ำประกันให้”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า แม้ DSCR ของทั้ง 4 หน่วยงานจะต่ำกว่า 1 เท่า แต่ถ้าเราย้อนมาดูปัญหาต่างๆ และโอกาสหากหน่วยงานนั้นๆ กล้าที่จะผ่าตัดใหญ่หรือจัดทำแผนฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ โดยนำทุกปัญหา ทรัพย์สินต่างๆ ที่มีอยู่ออกมาวางกองบนโต๊ะด้วยความโปร่งใส อย่าหมกเม็ด หรือสร้างผลประโยชน์ให้พวกพ้อง โดยนึกถึงองค์กรในระยะยาว จะทำให้หน่วยงานนั้นมีโอกาสพลิกฟื้นและสร้างผลกำไรต่อไปได้

“ตัวอย่างของ กคช. น่าเสียดายปัญหาหมักหมมมานาน รัฐบาลบิ๊กตู่ ได้ส่งคนเข้าไปตรวจสอบ ให้ สตง.เข้าไปดูปัญหาที่มีการร้องเรียนไปที่รัฐบาล พบการทุจริตเกิดขึ้นภายใน ทั้งเรื่องการจัดซื้อที่ดิน การก่อสร้างโครงการต่างๆ การขายที่ดินในทำเลดีๆ ของ กคช.ให้เอกชน แล้วใครล่ะได้ประโยชน์ การนำอาคารไปปล่อยเช่า การทำบัญชีทรัพย์สินก็ไม่ชัดเจน ที่ดินเสื่อมสภาพ (Sunk Cost) จำนวนมากที่รัฐมนตรีที่กำกับดูแลบอร์ด และผู้บริหาร กคช.ต้องคิดให้ออกว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างรายได้ให้ กคช. ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะมองออกว่าถ้า กคช.กล้าผ่าตัด ทำให้เหมือนการบินไทย เชื่อเถอะ กคช.จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อพนักงานของ กคช.โดยตรง”


ส่วนปัญหาของ กคช.นั้น จุดเริ่มต้นที่ใหญ่ที่สุดมาจากโครงการบ้านเอื้ออาทรที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยการลงทุนมีหลากหลายรูปแบบ ทั้ง กคช.ดำเนินการจัดทำเอง การร่วมลงทุนกับหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนต่างๆ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการผลักดันโครงการนี้ คือ การระดมซื้อที่ดินของ กคช.ไปทั่วประเทศ และการเร่งผุดโครงการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยทั้งแนวสูงและแนวราบมากมาย ซึ่งบางพื้นที่ก่อสร้างยังไม่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งในด้านการตลาด กลุ่มลูกค้า หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในที่ดินแปลงนั้น เช่น กฎหมายผังเมือง เป็นต้น

ที่น่าประหลาดคือ ที่ดินบางแปลงถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจัดซื้อไปได้อย่างไร เพราะมีสภาพเป็นป่า ห่างไกล เป็นหลุม เป็นบ่อ การคมนาคมเข้าไม่ถึง และบางทำเล กคช. ยังอุตส่าห์ผุดโครงการอาคารสูง 4-5 ชั้นไปหลายอาคารโดยไม่มีลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อหรืออยู่อาศัย มีการกินหัวคิวในโครงการนี้ และบางบริษัทเป็นของนักการเมืองและเครือญาติเป็นคู่สัญญารับเหมาหลายโครงการ

โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้ามาตรวจสอบการเคหะฯ พบว่า มีการทุจริตเป็นขบวนการ และคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาสั่งจำคุกนักการเมืองและพวกไปแล้ว

“มีข้อมูลที่ได้รายงานรัฐบาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ที่ดินที่ กคช.จัดซื้อยุคเอื้ออาทร เป็นทรัพย์สิน Sunk Cost 94 แปลง รวมพื้นที่ 4,571 ไร่ มีการประเมินศักยภาพ ทำเลที่ตั้ง สภาพอาคารที่มีการก่อสร้างไปแล้วและยังไม่แล้วเสร็จ พบว่ามูลค่าความเสียหายจากโครงการบ้านเอื้ออาทรถึง 29,866 ล้านบาท” 

แบ่งเป็นประเภทที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ขายได้บางส่วน และที่ขายไปแล้ว ผู้ซื้อที่ผ่อนชำระต่อไม่ไหว กคช. ต้องไปซื้อคืนจากแบงก์ตามสัญญาที่ กคช.ทำไว้กับแบงก์ในยุคนั้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแล การซ่อมแซมบำรุง ค่าทรัพย์สินส่วนกลาง ค่าดอกเบี้ยอีกมากมาย

อีกประเภทคือสร้างแล้วไม่เสร็จ กคช. ต้องมาแบกรับดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ผู้บริหารต้องวางแผนจะทำอย่างไรต่อเพื่อสร้างรายได้เข้า กคช. เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายต่อรัฐ และ กคช.ต้องแบกภาระดอกเบี้ยไว้ด้วย จึงส่งผลถึงสถานะการเงินของ กคช.โดยตรง

นอกจากนี้ ยังมีประเภทที่เป็นที่ดินเปล่าที่ไม่มีศักยภาพจำนวนมาก มีสภาพเป็นหลุม เป็นบ่อ อยู่ห่างไกลชุมชน คมนาคมเข้าไม่ถึง ที่สำคัญมูลค่าราคาตลาดในปัจจุบันทั้งที่ผ่านมากว่า 16 ปี ยังต่ำกว่าราคาซื้อที่ดินในยุคนั้น บวกด้วยดอกเบี้ยที่ต้องชำระมาจนถึงปัจจุบันกว่า 30 แปลง

“ครม.รู้ว่าสภาพหนี้ที่เกิดจากเอื้ออาทรมันเป็นมรดกตกทอดมาก่อนที่รัฐบาลชุดบิ๊กตู่จะเข้ามา และทำให้สถานะ กคช.แย่ลง ครม.บิ๊กตู่ จึงอนุมัติให้ผู้บริหาร กคช.นำทรัพย์สินเอื้ออาทรไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดรายได้ หากไม่ทำหนี้จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี”






แหล่งข่าวบอกว่า กคช.ได้นำที่ดินโครงการเอื้ออาทรมาดู และถ้ามีการก่อสร้างไปแล้ว แต่ยังมีห้องว่างหรืออาคารว่างทั้งหลังก็นำไปจัดทำโครงการรีบด่วนตามนโยบายรัฐบาลบิ๊กตู่ เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่เป็นของตัวเอง เช่น โครงการบ้านประชารัฐ ราคาเช่าที่ถูก 999-1,500 บาท เป็นต้น และยังมีโครงการบ้านเคหะสุขประชา ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเช่า มีการสร้างอาชีพให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการ หรือที่เรียกว่า ‘บ้านเช่าพร้อมอาชีพ’ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตต่อไป

“ภาระหนี้จากเอื้ออาทรสาหัสมากๆ เห็น กคช.เสนอคลัง และรัฐบาลจะขอปิดโครงการเอื้ออาทรไปเลย เพื่อ กคช.จะได้เดินต่อไปได้ หากไม่ปิดตัวเลขดอกเบี้ยจากภาระหนี้จะพุ่งขึ้นไปอีก ถ้าปิดไปเลยต้องมาเคลียร์หนี้ กำไร ขาดทุนอย่างไรก็ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง รู้ปัญหาหนี้ที่แท้จริงเท่าไหร่ จะต้องคืนเงินอุดหนุนที่รัฐให้จัดทำโครงการนี้หรือไม่อย่างไร หรือรัฐจะให้เงินอุดหนุนนี้ไปดำเนินการฟื้นฟู กคช.ต่อไป ก็ต้องรอดูว่า ครม.จะว่าอย่างไร”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังย้ำว่า ปิดเอื้ออาทรดีหรือไม่ดีนั้น หากมีอำนาจเด็ดขาดอยากทำแบบเดียวกับที่ กคช.นำเสนอ เพราะมันอาจจะเจ็บบ้าง แต่ทำให้รู้สภาพขององค์กรการเคหะฯ แท้จริง เปรียบได้กับการแก้ปัญหาในการฟื้นฟูการบินไทยนั่นเอง คือจะต้องกล้าที่จะเข้าไปรื้อทั้งระบบ เมื่อรู้ว่าเครื่องบินลำนี้ใช้ไม่ได้ก็ต้องตัดขายทิ้ง แม้จะขาดทุนก็ต้องยอม เพื่อไม่ให้มีหนี้ที่หลบซ่อนไว้อีก

“คลังรอดูแผนพลิกฟื้นองค์กรที่ กคช.จะเสนอมาว่าเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเขาตั้งบริษัทลูกชื่อ บมจ.เคหะสุขประชา ขึ้นมาช่วยแก้ปัญหารับซื้อที่ดินหรืออาคารไปดำเนินการต่อ กคช.จะได้เงินเข้ามา ถ้าทำสำเร็จแม่ก็คือ กคช.จะได้เริ่มต้นใหม่ มีความโปร่งใส เป็นที่พึ่งให้คนอยากมีบ้าน”


ดังนั้น ในแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2566 ของ กคช.จะประกอบด้วยแผนก่อหนี้ใหม่วงเงิน 2,790.00 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อลงทุน 850.00 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปแบบ Credit Line วงเงิน 1,940.00 ล้านบาท และแผนบริหารหนี้เดิม วงเงิน 4,000.00 ล้านบาท

แหล่งข่าวบอกอีกว่า ด้วยภาระหนี้ที่ กคช.มีอยู่จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนดซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะเป็นผู้ติดตามประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และสภาพัฒน์จะพิจารณางบลงทุนของ กคช.ให้รัดกุมยิ่งขึ้น ขณะที่ กคช.ต้องเร่งรัดการบริหารจัดการทรัพย์สิน (Sunk Cost) ให้เป็นไปตามแผนอย่างเป็นรูปธรรมและโดยเร็ว เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กำกับติดตามเงินกู้และสภาพคล่องของ กคช.ได้ เพื่อนำไปสู่ประมาณการ DSCR ในปีงบประมาณ 2568 ของ กคช. มากกว่า 1 เท่าตามที่คาดการณ์ไว้ต่อไป

จากนี้ไปต้องติดตามแผนการพลิกฟื้น กคช.ว่าจะสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ และใครบ้างจะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH



กำลังโหลดความคิดเห็น