ชี้ช่องทำงาน-สร้างตัวที่ออสเตรเลีย กับสารพัดอาชีพขาดแคลน รายได้หลักแสน พยาบาล โปรแกรมเมอร์ ดูแลเด็ก-ผู้สูงอายุ ก่อสร้าง พีกสุด เผยผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง เงินเดือนสูงถึง 3 แสนบาท ขณะที่ค่าครองชีพถูกมากหากเทียบกับรายได้ ทำงานไม่ถึง 15 นาที ซื้อไก่ได้ 1 กก. เปิด 3 ประเภทวีซ่ายอดนิยมทำงานได้ถูกกฎหมาย และปูทางสู่การเป็นพลเมืองออสเตรเลีย ล่าสุด รัฐบาลแดนจิงโจ้ประกาศรับผู้อพยพในปี 66 ถึง 195,000 คน
กล่าวได้ว่า "ออสเตรเลีย" เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่คนไทยอยากไปทำงานและอยู่อาศัย เนื่องจากรายได้หรือค่าแรงค่อนข้างสูง ขณะที่ค่าครองชีพเมื่อเทียบกับรายได้แล้วยังถือว่าต่ำ แม้ค่าที่พักและภาษีจะแรง แต่ส่วนต่างหลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ถ้าไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็ยังมีเงินเหลือเก็บเกือบครึ่งต่อครึ่ง เช่น บางคนหารายได้ได้เดือนละ 2 แสนบาท สามารถเก็บเงินได้เดือนละเกือบ 1 แสนบาทเลยทีเดียว
และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการทักษะแห่งชาติออสเตรเลีย ได้ออกมาเปิดเผยว่ามีอาชีพที่ประเทศออสเตรเลียกำลังขาดแคลนแรงงาน จำนวนถึง 286 อาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพที่ใช้ทักษะเฉพาะด้าน โดยอาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุด 5 อาชีพ ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ วิศวกรซอฟต์แวร์ ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ดูแลเด็ก และช่างกล ขณะที่รัฐบาลกลางออสเตรเลียได้ออกมาประกาศว่าจะเพิ่มโควตาการรับผู้อพยพถาวร ซึ่งมีทักษะงานเฉพาะด้าน จาก 160,000 คน เป็น 195,000 คน เพื่อแก้ไขภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ
จึงนับเป็นช่องทางที่คนไทยจะได้ไปหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำงาน สร้างรายได้ สร้างอนาคตที่มั่นคง
5 อาชีพที่ขาดแคลนในออสเตรเลีย
โดยอาชีพที่ออสเตรเลียขาดแคลนอย่างมาก มีรายละเอียด ดังนี้
1.พยาบาล อัตราเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 137,462 บาท เป็นอาชีพอันดับ 1 ซึ่งออสเตรเลียต้องการที่สุด และต้องการทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ยิ่งห่างไกลตัวเมืองยิ่งมีความต้องการสูง โดยในปี 2566 ออสเตรเลียขาดแคลนพยาบาลอยู่ประมาณ 9,260 ตำแหน่ง ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าไปทำงานพยาบาลในออสเตรเลียนั้นแม้จะประกอบอาชีพพยาบาลที่ไทยและมีใบรับรองวิชาชีพอยู่แล้ว ก็ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพออสเตรเลียใหม่ เพราะใบประกอบวิชาชีพพยาบาลที่ไทยไม่สามารถใช้ที่ออสเตรเลีย เนื่องจากข้อกฎหมายต่างกัน และองค์ประกอบอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ทำให้พยาบาลไทยบางคนอาจต้องเรียนเพิ่มเติมที่ออสเตรเลีย เพื่อให้สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพพยาบาลที่ออสเตรเลียได้
2.โปรแกรมเมอร์ซอฟต์แวร์ เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 191,129 บาท เป็นตำแหน่งงานที่ออสเตรเลียขาดแคลนอยู่ประมาณ 7,840 อัตรา ขณะที่สมาคมคอมพิวเตอร์ออสเตรเลีย (Australian Computer Society) คาดการณ์ว่าจะมีตำแหน่งงานหลายแสนตำแหน่งรออยู่ในปี 2024 อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะด้าน ผู้ที่จะเข้าไปประกอบอาชีพโปรแกรมเมอร์ในออสเตรเลียจึงต้องใช้วีซ่าทำงาน แต่การจะได้วีซ่าทำงานนั้นจะต้องผ่านการศึกษาจากสถาบันที่ออสเตรเลียยอมรับ ผู้ที่จะทำงานในสายงานนี้จึงมักลงเรียนที่ออสเตรเลียโดยใช้วีซ่านักเรียนก่อน โดยคอร์สที่จะเรียนแล้วผ่าน Skill Assessment หรือได้อยู่ต่อทำงาน และมีโอกาสขอเป็นพลเมืองถาวรคือระดับ ปริญญาตรี (Bachelor) ขึ้นไป ถึงแม้ค่าเล่าเรียนสาขานี้ในออสเตรเลียอาจจะสูงแต่เงินเดือนที่ได้รับถือว่าคุ้มค่า แม้จะเป็นอีกหนึ่งสาขาที่คนเรียนเยอะมาก แต่ตลาดแรงงานก็ไม่เคยเต็ม
ทั้งนี้ พยาบาลและโปรแกรมเมอร์เป็นอาชีพที่เมื่อเข้าไปทำงานในออสเตรเลียระยะหนึ่งแล้วสามารถยื่นขอ Permanent Residence (PR) หรือสิทธิในการอยู่อาศัยแบบถาวร ซึ่งขึ้นอยู่กัยระยะเวลาและประสบการณ์ในการทำงานรวมถึงทักษะภาษาอังกฤษ โดยพยาบาลจะต้องสอบทักษะภาษาอังกฤษ หรือไอเอลส์ (IELTS : International English Language Testing System) ได้คะแนนระดับ 7 ส่วนโปรแกรมเมอร์ต้องได้ไอเอลส์ระดับ 8
3.งานด้าน Aged Care หรือเจ้าหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ เงินเดือนสูงสุดอาจสูงถึง 115,700 บาท เป็นหนึ่งในอาชีพที่ออสเตรเลียขาดแคลน โดยในปี 2566 ขาดแคลนอยู่ประมาณ 5,100 อัตรา ขณะที่ในปี 2024 อาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุจะมีความต้องการสูงกว่า 230,000 ตำแหน่ง ซึ่งผู้ที่จะทำงานด้าน Age Care ในออสเตรเลียจะต้องมี Certificate หรือใบรับรองในการประกอบวิชาชีพนี้โดยเฉพาะ จึงต้องลงเรียนที่ออสเตรเลียโดยใช้วีซ่านักเรียนก่อน
4.ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 300,691 บาท เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในออสเตรเลียเป็นจำนวนมากทำให้ความต้องที่พักมีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์ คอนโดฯ หรือบ้าน ส่งผลให้ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้างเป็นตำแหน่งงานซึ่งเป็นที่ต้องการของทุกพื้นที่ในประเทศ โดยในปี 2566 ออสเตรเลียขาดแคลนตำแหน่งงานดังกล่าวถึง 4,980 อัตรา โดยจะจ้างคนที่มีประสบการณ์การทำงาน หรือจบวิศวะด้านนี้โดยตรง ยิ่งมีสกิลในการประสานงาน คุมงาน ภาษาอังกฤษดี เช็กงานได้แม่นยำ บริษัทซึ่งเป็นนายจ้างในออสเตรเลียก็พร้อมยื่นวีซ่าทำงานให้ นอกจากนั้น ช่างก่อสร้างต่างๆ ทั้งช่างไม้ ช่างปูนก็เป็นอาชีพที่ขาดแคลนในออสเตรเลียเช่นกัน
5.คนดูแลเด็ก รายได้เฉลี่ย 121,485 บาท/เดือน เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ขาดแคลนในออสเตรเลีย โดยทั่วประเทศขาดแคลนถึง 4,500 อัตรา ซึ่งผู้ที่จะทำงานด้านนี้จะต้องได้ Certificate III ด้าน Child care หรือ Diploma (หลักสูตรสายวิชาชีพ คล้ายหลักสูตร ปวช. ปวส.) ด้าน Child care จึงต้องลงเรียนที่ออสเตรเลียโดยใช้วีซ่านักเรียน ซึ่งงานด้านนี้มีทั้งฟูลไทม์ พาร์ตไทม์ (ทำงาน 2-3 วันต่อสัปดาห์) และแคชชวล (casual) หรือพนักงานที่มาแทนพนักงานประจำ พนักงานอะไหล่ โดยพาร์ตไทม์อัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 26 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อชั่วโมง ส่วนแคชชวล หากยังไม่มีประสบการณ์จะได้ 30 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อชั่วโมง แต่ถ้ามีประสบการณ์จะได้ 33-34 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อชั่วโมงเลยทีเดียว
ปี 2023 ตำแหน่งงานเพียบ
นอกจากนั้น หน่วยงาน Labour Market Infomation Portal ของรัฐบาลออสเตรเลียคาดการณ์ว่าการจ้างงานในออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้น 17-19% ในภาคธุรกิจ 19 สาขากว้างๆ ในช่วง 5 ปีตั้งแต่ปี 2020-2025 โดย sector ที่จะมีการจ้างงานมากที่สุด คือ
- Health Care and Social Assistance (การแพทย์และการช่วยเหลือทางสังคม) ซึ่งจะมีงานมากกว่า 252,600 ตำแหน่งในปี 2023
- Professional, Scientific and Technical Services (งานด้านวิทยาศาสตร์และงานบริการเชิงเทคนิค) จะมีตำแหน่งงาน 172,400 ตำแหน่งในปี 2023
- Education and Training (งานด้านการศึกษา) จะมีงานตำแหน่ง 113,700 ตำแหน่งในปี 2023
- Construction (งานด้านการก่อสร้าง) ทั้งช่างไม้ ช่างปูน จะมีงานตำแหน่ง 118,800 ตำแหน่งในปี 2023 ยังไม่นับรวมงานในร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านนวด พนักงานส่งอาหาร (Uber Eat) ซึ่งเปิดรับอยู่ตลอดเวลา และงานภาคการเกษตรซึ่งเปิดรับตามฤดูกาลอีกเป็นจำนวนมาก โดยต่างชาติที่จะเข้าไปทำงานเหล่านี้ในออสเตรเลียมักใช้ “วีซ่านักเรียน” ซึ่งสามารถทำงานพาร์ตไทม์ในออสเตรเลียได้ ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ หรือ “วีซ่า work and holiday” ซึ่งสามารถทำงานในออสเตรเลียได้อย่างเต็มที่
วีซ่า 3 รูปแบบที่นิยม
การขอวีซ่าเพื่อเข้าไปทำงานในออสเตรเลียนั้นมีอยู่ 3 รูปแบบที่ได้รับความนิยม คือ วีซ่านักเรียน วีซ่า work and holiday และวีซ่าทำงาน ซึ่งแม้วีซ่าเหล่านี้จะสามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ถ้าทักษะภาษอังกฤษดีพอหรือเคยมีประสบการณ์ในการเรียนและทำงานในต่างประเทศ แต่การดำเนินการผ่านเอเยนซีที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและมีความน่าเชื่อถือก็เป็นวิธีที่สะดวกและมั่นใจได้มากกว่า
โดยวีซ่าแต่ละแบบมีรายละเอียดดังนี้
วีซ่านักเรียน สามารถทำงานได้สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ โดยต้องลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรที่เปิดสอนในประเทศออสเตรเลียและมีระยะเวลาเรียนไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ระยะเวลาของวีซ่าขึ้นอยู่กับหลักสูตรที่เรียนและระยะเวลาเรียนของหลักสูตร โดยลงทะเบียนเรียนได้สูงสุด 5 ปี สามารถเดินทางเข้าและออกประเทศออสเตรเลียได้ไม่จำกัดครั้ง ซึ่งวิชาที่ลงเรียนมีหลากหลายมาก ทั้งเรียนภาษา เรียนสายวิชาชีพ มีทั้งระดับ Diploma (หลักสูตรสายวิชาชีพ คล้ายหลักสูตร ปวช. ปวส.) ปริญญาตรี ปริญญาโท หรือจะเรียนทักษะฝีมือเป็นคอร์สสั้นๆ ก็สามารถทำได้ ซึ่งคนที่ไปเรียนและทำงานในออสเตรเลียเมื่อมีประสบการณ์ในการทำงานก็สามารถพัฒนาไปสู่การขอวีซ่าทำงาน และขอ PR หรือสิทธิในการอยู่อาศัยแบบถาวรได้ในอนาคต
วีซ่าทำงานและพักอาศัย (work and holiday) สามารถทำงานในออสเตรเลียได้ไม่จำกัดชั่วโมง เป็นวีซ่าที่ดำเนินการภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างไทยและออสเตรเลียเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนหรือบุคคลที่สนใจได้ไปเรียนรู้และทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างผ่านการศึกษาต่อ ท่องเที่ยว พร้อมทั้งหาประสบการณ์การทำงานเป็นเวลา 1 ปี และสามารถต่อเป็นรายปีได้อีก 2 ปี โดยผู้ที่จะยื่นขอวีซ่า work and holiday ต้องมีอายุตั้งแต่ 18-30 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีผลคะแนน IELTS ระดับ 4.5 ขึ้นไป มีใบรับรองหรือใบสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากสถาบันที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอนอย่างต่ำ 2 ปี Statement เงินในบัญชีประเภทออมทรัพย์โดยมีชื่อเราเป็นเจ้าของอย่างต่ำ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 120,000 บาท
อย่างไรก็ดี วีซ่า work and holiday จะมีโควตาต่อปี เช่น โครงการ Work and Holiday 2022 ไทย-ออสเตรเลีย ให้โควตาคนไทย 2,000 คน โดยผู้ที่จะขอ work and holiday ของออสเตรเลียจะต้องลงทะเบียนออนไลน์เพื่อรับ Username และ Password ผ่านเว็บไซต์ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องเตรียมเอกสารให้ครบล่วงหน้าก่อนวันลงทะเบียนออนไลน์ และรอกดโควตาในวันสมัครจริงเพื่อขอหนังสือรับรองคุณสมบัติเพื่อประกอบการขอวีซ่าออนไลน์ ดังนั้น ผู้ที่จะได้วีซ่า work and holiday จึงไม่ใช่แค่มีคุณสมบัติครบเท่านั้น แต่ต้องมีโชคด้วย
“วีซ่าทำงาน”
เส้นทางสู่การเป็นพลเมืองออสเตรเลีย
วีซ่าทำงาน (Temporary Skill Shortage visa (TSS) subclass 482) เป็นวีซ่าที่ยากที่สุด แต่หากได้แล้วก็มีโอกาสที่จะได้ขอ Permanent Residence (PR) หรือสิทธิในการอยู่อาศัยแบบถาวรในฐานะพลเมืองของออสเตรเลียมากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากวีซ่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางในออสเตรเลีย โดยเปิดโอกาสให้นายจ้างในออสเตรเลียที่ไม่สามารถหาลูกจ้างในสาขาอาชีพที่ต้องการ สามารถจ้างลูกจ้างชาวต่างชาติที่มีทักษะเหมาะสมได้ด้วยการสปอนเซอร์ให้ลูกจ้างต่างชาตินั้นทำงานในออสเตรเลียได้ ภายใต้วีซ่า 3 รูปแบบคือ
1.Short-Term stream ลูกจ้างจะได้วีซ่าทำงานไม่เกิน 2 ปี และสามารถต่อวีซ่าในประเทศได้อีกไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น วีซ่ารูปแบบนี้จะเปิดรับทักษะอาชีพที่ค่อนข้างหลากหลายแต่ไม่ได้เป็นที่ขาดแคลนในระยะยาว จึงไม่สามารถใช้เป็นสะพานไปสู่การเป็น PR ได้ในอนาคต โดยสาขาอาชีพที่สามารถขอวีซ่ารูปแบบนี้ได้ต้องอยู่ใน STSOL ลิสต์ ซึ่งปัจจุบันได้แก่ ผู้จัดการร้านอาหารหรือคาเฟ่ (Cook หรือกุ๊กผู้ประกอบอาหาร) Pastrycook (กุ๊กปรุงขนม) ช่างทำผม Massage Therapist (นักนวดบำบัด)
2.Medium-Term Stream เปิดการโอกาสให้นายจ้างสปอนเซอร์ลูกจ้างต่างชาติผู้ที่มีสาขาอาชีพอยู่ใน MLTSSL หรือ Regional Occupation List (ROL) ในระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี โดยหลังจาก 3 ปีผ่านไป นายจ้างสามารถสปอนเซอร์ลูกจ้างคนเดิมในตำแหน่งเดิม ให้อยู่ทำงานต่อในกิจการเดิมด้วยวีซ่า PR ประเภท ENS หรือ RSMS วีซ่ารูปแบบนี้จึงเป็นสะพานไปสู่การเป็นพลเมือง สาขาอาชีพที่อยู่ในลิสต์ดังกล่าวได้แก่ นักบัญชี ช่างซ่อมแอร์หรือเครื่องทำความเย็น สถาปนิก ช่างเดินสายไฟในยานพาหนะ ช่างไม้ เชฟที่มีฝีมือปรุงอาหารในระดับสูง ผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก วิศวกร พยาบาลวิชาชีพ ผู้วางแผนและจัดการการก่อสร้าง นักสังคมสงเคราะห์
3.Labour Agreement เป็นการตกลงกันระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียและนายจ้าง จึงเป็นการออกวีซ่าแบบที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ไม่ได้ปรากฏทั่วไป
ดังนั้น งานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก เช่น งานด้านการเกษตร รัฐบาลออสเตรเลียจะไม่มีการออกวีซ่าทำงานให้อย่างแน่นอน อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่โพสต์รับสมัครคนไปทำงานด้านการเกษตรที่ออสเตรเลีย หรือรับจ้างทำวีซ่าทำงานเกษตร แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวว่ารัฐบาลออสเตรเลียมีโครงการจะให้โควตาวีซ่าเกษตรกรรมแก่คนไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน แต่ภายหลังเมื่อออสเตรเลียเปลี่ยนรัฐบาลก็ได้ประกาศยกเลิกโครงการดังกล่าวไป
ทั้งนี้ ผู้ที่จะยื่นขอวีซ่าแบบ Short-Term stream ต้องมีผลสอบ IELTS แบบ General Module โดยได้คะแนน Overall 5.0 และแต่ละพาร์ทไม่ต่ำว่า 4.5 ส่วนผู้ที่ต้องการยื่นวีซ่าแบบ Medium-Term Stream ต้องมีผลสอบ IELTS แบบ General Module โดยได้คะแนน Overall 5.0 และแต่ละพาร์ทไม่ต่ำกว่า 5.0 อีกทั้งต้องมีประสบการณ์ทำงานในสาขาอาชีพที่ใช้ยื่นวีซ่าอย่างน้อย 2 ปี โดยประสบการณ์ 2 ปีนี้เริ่มนับหลังจากจบการศึกษาในระดับที่กำหนดโดย ANZSCO ของออสเตรเลีย ผู้ซึ่งจะขอวีซ่าทำงาน (TSS) จึงมักลงเรียนในสถานศึกษาของออสเตรเลียก่อน
ค่าครองชีพถูกเมื่อเทียบกับค่าแรง
สำหรับค่าใช้จ่ายที่ประเทศออสเตรเลียนั้นคนไทยที่ไปเรียน ไปทำงาน หรืออยู่อาศัยที่นั่นล้วนยืนยันตรงกันว่าเมื่อเทียบรายได้กับค่าใช้จ่ายแล้วถือว่า “ของค่อนข้างถูก” โดยค่าแรงขั้นต่ำของออสเตรเลียอยู่ที่ชั่วโมงละ 21.38 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทย 494 บาท (ปัจจุบัน 1 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือที่เรียกกันว่า 1 เหรียญ เท่ากับ 23.14 บาท) หากทำงานวันละ 8 ชั่วโมง จะได้เงินวันละ 171.04 เหรียญ หรือตกวันละ 3,957 บาท หากทำงานในวันเสาร์จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น และถ้าทำงานในวันอาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เช่น วันปีใหม่ วันชาติออสเตรเลีย จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ปกติแล้วที่ออสเตรเลียจะจ่ายค่าแรงเป็นสัปดาห์ ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ตกค่าแรง 1,026.24 เหรียญ/สัปดาห์ หรือประมาณ 23,747 บาท/สัปดาห์
ซึ่งหากทักษะด้านภาษาและทักษะในการทำงานเพิ่มขึ้นก็สามารถหางานที่ได้ค่าแรงมากขึ้นตามไปด้วย เช่น ภาษาอังกฤษยังไม่ดี ทำงานล้างจานในร้านอาหารที่คนไทยเป็นเจ้าของ ได้ค่าแรงชั่วโมงละ 10 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำซึ่งอยู่ที่ 21.38 เหรียญ) งานเสิร์ฟในร้านอาหารซึ่งเจ้าของเป็นชาวออสเตรเลีย จะให้ค่าแรงชั่วโมงละ 25-26 เหรียญ (578-601 บาท) เป็นบาริสต้าในร้านกาแฟ ได้ค่าแรงชั่วโมงละ 30 เหรียญ (694 บาท) เป็นผู้จัดการฝ่ายขายในบริษัทขนาดใหญ่ในออสเตรเลีย หลังได้ PR หรือสิทธิในการอยู่อาศัยแบบถาวร มีรายได้ชั่วโมงละ 1,323 บาท หรือเดือนละ 254,000 บาท ซึ่งฐานรายได้ขนาดนี้ไม่แปลกที่จะมีเงินเก็บปีละเป็นล้าน
ขณะที่ราคาอาหารสดและสินค้าจำเป็นซึ่งซื้อในซูเปอร์มาร์เกตค่อนข้างถูก เช่น ครัวซอง ราคาเฉลี่ยชิ้นละ 0.6 เหรียญ (เท่ากับ 14 บาท) แครอท กิโลกรัมละ 2 เหรียญ (46 บาท) องุ่น กิโลกรัมละ 10 เหรียญ (231 บาท) ข้าวสาร 5 กิโลกรัม 20 เหรียญ (463 บาท) เนื้อหมูสำหรับทำสเต๊ก กิโลกรัมละ 18 เหรียญ (426 บาท) น่องไก่ กิโลกรัมละ 4 เหรียญ (92.50 บาท) ซึ่งเท่ากับว่าทำงานไม่ถึง 15 นาที ก็สามารถซื้อน่องไก่ได้ 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ เนื่องจากออสเตรเลียเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากสินค้าเกษตร จึงทำให้อาหารการกินต่างๆมีราคาถูก
ไม่เพียงเท่านั้นราคาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆเมื่อเทียบกับค่าแรงแล้วก็มีราคาถูกจนน่าตกใจเช่นกัน เช่น เสื้อยืด 2.75 เหรียญ (64 บาท) เสื้อกันหนาว 8 เหรียญ (185 บาท) กางเกงยีนส์ 12 เหรียญ (278 บาท) ผ้าห่ม 15 เหรียญ (347 บาท) เตารีด 7 เหรียญ (162 บาท) แก้วกาแฟ 2 เหรียญ (46 บาท) ครีมอาบน้ำ 5.2 เหรียญ (120 บาท) น้ำยาซักผ้า 20 เหรียญ (463 บาท) เรียกว่าหากเพิ่งย้ายไปเรียนหรือทำงานที่ออสเตรเลีย มีเงินไปเดินห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาเกต 100 เหรียญ (2,314 บาท) ก็สามารถซื้อข้าวของเครื่องใช้ได้ครบหมดแล้ว ยังไม่นับช่วงลดราคาซึ่งลดกันถึง 30-50% เลยทีเดียว
ค่าที่พัก-ภาษีแพง
ส่วนค่าที่พักหรือค่าเช่าบ้าน (รวมค่าน้ำค่าไฟ) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดในบรรดาค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้น หากอยู่นอกเมือง เช่น ทำงานฟาร์ม ค่าเช่าจะถูกกว่าอยู่ในเมือง โดยอยู่ที่ 80-120 เหรียญ/สัปดาห์ แต่ถ้าอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น เมลเบิร์น ซิดนีย์ ค่าที่พักจะอยู่ที่ 150-300 เหรียญ/สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าพักคนเดียวหรือพักรวม ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำ (ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน) อยู่ที่ 1,026.24 เหรียญ/สัปดาห์ จึงถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่พอรับได้ โดยอยู่ที่ 10-20% ของรายได้
สำหรับอัตราภาษีของออสเตรเลียนั้นค่อนข้างสูง โดยกำหนดอัตราภาษีดังนี้
ถ้ารายได้ไม่ถึง 18,200 เหรียญ/ปี ไม่ต้องจ่ายภาษี
ถ้าได้ 18,201-45,000 เหรียญ/ปี ต้องจ่ายภาษีตามรายได้ที่ได้ คือทุกๆ 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียที่เกินกว่ารายได้ขั้นต่ำ (18,200 เหรียญ) ต้องจ่าย 19 เซนต์
ถ้าได้ 45,001-120,000 เหรียญ/ปี ต้องจ่ายภาษี 5,092 ดอลลาร์ออสเตรเลีย+จ่ายเพิ่มตามรายได้ที่ได้ คือทุกๆ 1 เหรียญที่เกินกว่า 45,000 เหรียญ ต้องจ่าย 32.5 เซนต์
ถ้าได้ 120,001-180,000 เหรียญ/ปี ต้องจ่ายภาษี 29,467 เหรียญ+จ่ายเพิ่มตามรายได้ที่ได้ คือทุกๆ 1 เหรียญ ที่เกินกว่า 120,000 เหรียญ ต้องจ่าย 37 เซนต์
180,001 เหรียญ/ปี ขึ้นไป ต้องจ่ายภาษี 51,667 เหรียญ+จ่ายเพิ่มตามรายได้ที่ได้ คือทุกๆ 1 เหรียญ ที่เกินกว่า 180,000 เหรียญ ต้องจ่าย 45 เซนต์
นอกจากนั้น คนที่ทำงานในออสเตรเลียยังต้องมีประกันรักษาสุขภาพ Medicare ซึ่งจ่ายอยู่ที่ประมาณ 2% ของรายได้
ทั้งนี้ ฐานรายได้ของคนไทยส่วนใหญ่ที่ไปทำงานในออสเตรเลียช่วงแรกน่าจะอยู่ที่อยู่ในเรต 45,001-120,000 เหรียญ/ปี
ยกตัวอย่าง ถ้ามีรายได้ชั่วโมงละ 23 เหรียญ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน ใน 1 ปี (52 สัปดาห์) จะมีรายได้ 57,408 เหรียญ (1,328,421 บาท)
รายได้ส่วนแรก 45,000 เหรียญ เสียภาษี 5,092 เหรียญ
บวกกับรายได้ส่วนที่เกิน 45,000 เหรียญ (57,408-45,000) คือ 12,408 เหรียญ ซึ่งต้องเสียภาษีเหรียญละ 32.5 เซนต์ (12,408 x 32.5 ÷ 100) ซึ่งเท่ากับ 4,032.6 เหรียญ
รวมเป็นภาษีที่ต้องเสียทั้งหมด (5,092 + 4,032.6) 9,124.6 เหรียญ/ปี (245,677 บาท) หรือตก 175.47 เหรียญ/สัปดาห์
มีเงินเหลือเก็บ
หากคำนวณรายรับรายจ่ายเป็นรายสัปดาห์
ถ้าได้ค่าแรงชั่วโมงละ 23 เหรียญ จะมีรายได้ 1,104 เหรียญ/สัปดาห์
รายจ่าย ภาษี 175.47 เหรียญ/สัปดาห์ ค่าเช่าบ้าน+ค่าน้ำค่าไฟ เฉลี่ย 150 เหรียญ/สัปดาห์ ค่าประกันสุขภาพ (2% ของรายได้) 22 เหรียญ/สัปดาห์ ค่าเดินทาง (ขึ้นอยู่กับระยะทาง) เฉลี่ย 35 เหรียญ/สัปดาห์ ค่าอินเทอร์เน็ต เฉลี่ยสัปดาห์ละ 10 เหรียญ/สัปดาห์ ค่าอาหาร (ซื้ออาหารสดมาทำกินเอง 50% ซื้อกินนอกบ้าน 50%) เฉลี่ยประมาณ 150 เหรียญ/สัปดาห์ ค่าของใช้จิปาถะ เฉลี่ย 10 เหรียญ/สัปดาห์ รวมเป็น 552.47 เหรียญ/สัปดาห์
จึงน่าจะมีเงินเหลือ (1,104-552.47) 551.53 เหรียญ/สัปดาห์ (12,762 บาท/สัปดาห์) หรือตกเดือนละ 2,206.12 เหรียญ (51,050 บาท/เดือน) หรือเท่ากับปีละ 28,679.56 เหรียญ (663,645 บาท)
แต่ก็มีคนไทยที่ไปทำงานในออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยที่ได้ค่าแรงสูงถึงชั่วโมงละ 35 เหรียญ (809 บาท) มีรายได้วันละ 280 เหรียญ (6,479 บาท) สัปดาห์ละ 1,680 เหรียญ (38,875 บาท) หรือเดือนละ 6,700 เหรียญ (155,500 บาท) ขึ้นอยู่กับทักษะภาษา ประสบการณ์ในการทำงาน และลักษณะงานที่ทำ ดังนั้น การจะมีเงินเดือนหลักแสนจึงมีความเป็นไปได้ และเมื่อหักค่าใช้จ่าย (ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นจากภาษีที่สูงขึ้นตามรายได้) เฉลี่ยสัปดาห์ละ 600 เหรียญ ก็จะมีเงินเหลือสัปดาห์ละ 1,080 เหรียญ หรือเดือนละ 4,320 เหรียญ คิดเป็นเงินไทย 99,965 บาท ซึ่งแปลว่าการจะมีเงินเก็บเดือนละ 1 แสนบาท ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี หากไปเรียนหรือทำงานในออสเตรเลียแล้วมีปัญหาสามารถติดต่อไปยังสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ โทร.61 02 9241 2542 หรือเพจ Royal Thai Consulate-General,Sydney เพื่อขอคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือได้