“นพ.ธีระวัฒน์” ยืนยันการระบาดของโควิดในจีนไม่รุนแรง-ไม่ส่งผลต่อไทย เนื่องจากปัจจัย 4 ประการ ชี้เมื่อเชื้อเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ฉึดวัคซีนเกิน 3 เข็มอาจไม่เกิดประโยชน์ เหตุรายงานต่างประเทศพบทำให้ภูมิคุ้มกันเบี่ยงเบน กลายเป็นป้องกันโควิดอู่ฮั่นซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม อีกทั้งยังพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีน mRNA ขณะที่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังติดโควิดมีความแข็งแกร่งกว่าภูมิที่เกิดจากวัคซีน แนะทำร่างกายให้แข็งแรงคือภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด
หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาถึง 3 ปี มีแนวโน้มว่าในปี 2566 นี้โควิดจะลดความรุนแรงกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่อยู่ๆ ก็เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศจีน ขณะที่รัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศ คนจีนเริ่มจองทริปไปท่องเที่ยวประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวชาวจีน
ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าสถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลให้การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทยกลับมารุนแรงอีกครั้งหรือไม่? และวัคซีนที่คนไทยฉีดไปแล้วนั้นจะสามารถรับมือกับโควิดในปีนี้ได้หรือไม่?
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชี้ว่า กรณีการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ที่ประเทศจีนในขณะนี้นั้นถือว่าไม่น่าห่วง และไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจาก
1) เชื้อโควิดที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศจีนนั้นเหมือนกับเชื้อโควิดที่แพร่ระบาดในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานด้านสาธารณสุขของจีนได้มีการติดตามและถอดแบบพฤติกรรมของโรคอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลพบว่า จีนมีโควิดสายพันธุ์ย่อยอยู่ประมาณ 130 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นโอมิครอน และในจำนวนนี้สายพันธุ์เด่นๆ เป็นสายพันธุ์ที่ทางยุโรป อังกฤษ สหรัฐฯ รวมถึงประเทศไทยมีอยู่แล้ว ดังนั้น หากชาวจีนที่ติดโควิดในช่วงนี้จะเดินทางเข้าไทยไม่น่ามีปัญหามากนักเพราะเป็นเชื้อลักษณะเดียวกัน
2) ประเทศจีนโชคดี เมื่อตัดสินใจเปิดประเทศหลังจากที่ปิดประเทศมาตลอด 3 ปี เป็นช่วงที่โควิดเป็นสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งอาการไม่รุนแรง ดังนั้น คนที่ติดโควิดในช่วงเปิดประเทศจึงอาการไม่หนัก โดยคาดการณ์ว่าจีนจะมีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนวันละ 25 ล้านคน จีนจะติดโควิดทั้งประเทศซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 1,400 ล้านคน จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่วันละ 3,300-3,500 คน หรือคิดเป็น 0.00026% ของจำนวนประชากร ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับจำนวนประชากร จึงถือว่าไม่น่ากลัว ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรประมาณ 70 ล้านคน มีผู้ป่วยโควิดที่เสียชีวิตวันละ 100-200 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เยอะกว่ามาก
3) วัคซีนต้านโควิดที่จีนใช้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยจีนใช้วัคซีนเชื้อตายในการป้องกันโควิดซึ่งหลายคนออกมาด้อยค่าว่าไม่มีประโยชน์ แต่จริงๆ แล้ววัคซีนที่จีนฉีดให้ประชากรของเขาไป 2 เข็ม มากกว่า 90% ของประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปยังใช้ได้ผลอยู่ และจีนเร่งที่จะฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยที่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นวัคซีนเชื้อตาย หรือวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีอื่น
4) แม้จีนจะเปลี่ยนคำนิยามการเสียชีวิตจากโควิด แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการป้องกันโควิดของจีน เนื่องจากหลายประเทศวิตกต่อกรณีที่จีนเปลี่ยนคำนิยามใหม่ของกลุ่มคนที่เสียชีวิตด้วยโควิดว่า หากเสียชีวิตด้วยโรคอื่นที่ไม่ใช่ระบบทางเดินหายใจจะไม่นับรวมว่าเสียชีวิตด้วยโควิด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ และกรมการแพทย์กลางของจีนให้เหตุผลว่าขณะนี้เชื้อโอมิครอนไม่ได้รุนแรง ดังนั้น หากจะนับว่าเป็นการเสียชีวิตโดยตรงจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะนับเฉพาะผู้ที่เป็นโรคปอดและโรคทางเดินหายใจเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยโควิดที่เสียชีวิตจากโรคอื่นๆ เช่น คนที่เป็นโรคหัวใจ โรคสมอง แยกยากว่าจริงๆ แล้วเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว หรือเสียชีวิตจากผลของโควิดซึ่งทำให้โรคดังกล่าวมีอาการรุนแรงขึ้นและส่งผลให้เสียชีวิต จีนจึงเปลี่ยนคำจำกัดความใหม่ คือ นับเฉพาะผู้ป่วยโควิดที่เสียชีวิตด้วยโรคปอดและระบบทางเดินหายใจเท่านั้น ทำให้ตัวเลขดูน้อย แต่ถ้านับตามเกณฑ์ของตะวันตก คนจีนที่เสียชีวิตจากโควิดไม่เกินวันละ 3,500 คน ซึ่งถือว่าไม่มากหากเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ และส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนเปราะบางคือมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ขณะที่จีนยังมีมาตรการในการป้องกันโควิดที่เข้มงวด
ส่วนที่หลายฝ่ายอยากรู้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของคนไทยเหมาะสมกับภาวะของโรคหรือไม่ และสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบันได้หรือเปล่านั้น นพ.ธีระวัฒน์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากรายงานของคณะวิทยาศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และรายงานจากอังกฤษ ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ธ.ค.2565 พบว่า วัคซีน mRNA ซึ่งเป็นวัคซีนกลุ่มเดียวกับที่ไทยใช้อยู่ในขณะนี้ (ปัจจุบันวัคซีน mRNA ที่ไทยใช้อยู่มี 2 ยี่ห้อด้วยกัน คือ ไฟเซอร์-โมเดอร์นา) แม้แต่วัคซีนตัวใหม่ของสหรัฐฯ ที่ออกมาในเดือน ก.ย.2565 คือ ไบวาเลนท์ ก็เป็นวัคซีน mRNA ซึ่งสร้างจากต้นแบบโควิดบรรพบุรุษคืออู่ฮั่น บวกกับโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เมื่อฉีดเข้าไปแล้วมีการติดโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยใหม่ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะเบี่ยงหรือเบ้ไป กลายเป็นภูมิคุ้มกันที่ป้องกันโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมคืออู่ฮั่น ซึ่งภาษาวิชาการเรียกว่า immu imprint คือเมื่อมนุษย์เราได้รับวัคซีนหรือได้รับการติดเชื้อไปแล้วจะมีพิมพ์เขียวของความจำ เมื่อรับวัคซีนมากขึ้นเท่าไหร่มันจะเฮโลไปเป็นภูมิความจำของตัวเดิมซึ่งคือเชื้อของวัคซีนที่ฉีดเข้าไปครั้งแรก ซึ่งอธิบายในรายงานฉบับต่อมาซึ่งเพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่ายิ่งฉีดวัคซีนมากเท่าไหร่ ฉีดไป 3 เข็ม 4 เข็ม 5 เข็ม จะพบว่ามีการติดโควิดมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันถือว่าวัคซีน mRNA ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดได้แล้ว หรือหากป้องกันได้ก็ในระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น แต่เราหวังว่าเมื่อติดแล้วอาการจะไม่หนักหรือเสียชีวิต
นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานชิ้นที่ 2 ซึ่งรายงานในวารสารวิทยาศาสตร์ว่า ภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองที่เรียกว่า lgG ซึ่งสามารถยับยั้งไวรัสได้ และอีกด้านหนึ่งมันจะไปกระตุ้นระบบเซลล์นักฆ่าให้ทำงานด้วยซึ่งตรงนี้จะช่วยลดอาการหนักหรือการเสียชีวิต แต่เมื่อฉีดวัคซีนต้านโควิดเข็มที่ 3 เข้าไปแล้ว ตัวที่กระตุ้นเซลล์นักฆ่ากับระบบทำลายไวรัสกลับเบี่ยงเบนไป เปลี่ยนจาก lgG1 และ lgG3 เป็น lgG4 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวผู้วิจัยของสหรัฐฯ ก็ตกใจเหมือนกันเพราะไม่เคยมีปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อนในวัคซีน หรือการติดเชื้อของไวรัสตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส RSV หรือไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่ชัดเจนว่าถ้าแต่ละคนฉีดวัคซีนต้านโควิดหลายเข็มขึ้นจะสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ตามต้องการหรือเปล่า
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันถ้ามีการติดเชื้อโควิดภายในปี 2565 ช่วงต้นปีเชื้อโควิดจะเป็นโอมิครอน BA.1 และ BA.2 ถ้าติดตั้งแต่ มิ.ย.2565 เชื้อจะเป็นโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ส่วนถ้าติดโดวิดช่วงต้นปี 2566 เชื้อจะเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.5 ซึ่งการติดเชื้อตามธรรมชาติจะได้ประโยชน์มากว่าการฉีดวัคซีน เนื่องจากการติดเชื้อตามธรรมชาติไม่ได้ไม่ไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยตรงแบบการฉีดวัคซีน แต่จะไปกระตุ้นระบบการฆ่าไวรัสหรือการป้องกันไวรัสซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันระบบแรกที่มนุษย์ทุกคนต้องมี ซึ่งระบบนี้จะสามารถทำงานได้ทันทีทันใดไม่ว่าเชื้อโรคนั้นจะเป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์หลัก โควิดสายพันธุ์ย่อย หรือไข้หวัดใหญ่ ภูมิคุ้มกันจะทำงานทันที ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันปราการด่านแรกลักษณะนี้ ถ้าใครติดเชื้อตามธรรมชาติจะเกิดภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งมากไม่ว่าเวลาที่ติดเชื้อและเกิดภูมิคุ้มกันจะผ่านไปนานขนาดไหน
จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทำไมประชากรในทวีปแอฟริกาจึงไม่ถือว่าโควิดเป็นปัญหา ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของทวีปแอฟริกาและประเทศอูกันดา ระบุว่า จากการติดตามผู้ติดเชื้อโควิดในทวีปแอฟริกาพบว่าไม่ได้เป็นปัญหา แสดงว่าแอฟริกามีปัจจัยที่ทำให้ภูมิคุ้มกันปราการด่านแรกของคนแอฟริกาเข้มแข็งมาก ซึ่งมีบางคนวิเคราะห์ว่าเนื่องจากชาวแอฟริกาต้องสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ อยู่เสมอจึงเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งต่างจากญี่ปุ่นที่มีการใช้วัคซีนเยอะมาก แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมากและมีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมากและเสียชีวิตมหาศาล ดังนั้นวัคซีนจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแต่เป็นต้นทุนด้านสุขภาพมากกว่า ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเมื่อฉีดวัคซีนมากเข้า วัคซีนกลับไปกระตุ้นให้เกิดการเบี่ยงเบนระบบการป้องกันตัว
“เพราะฉะนั้น ปัจจุบันหากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 3 เข็มแล้วน่าจะเป็นจำนวนที่พอเหมาะ ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้ต่อต้านวัคซีนนะ แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นข้อควรระวังว่าหากฉีดวัคซีนต้านโควิดมากกว่า 3 เข็มอาจไม่สามารถป้องกันการติดโควิดได้ และไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะไม่มีอาการหนัก อย่างไรก็ดี โควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่ส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงอยู่แล้ว ดังนั้น การฉีดวัคซีนต้านโควิดเกินกว่า 3 เข็มอาจจะไม่ได้ประโยชน์อย่างที่หวังเพราะเชื้อโอมิครอนไม่ได้ทำให้เกิดอาการหนัก” นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ
ทั้งนี้ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด โดย นพ.ธีระวัฒน์ เปิดเผยว่า มีรายงานจากผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิแพทย์ชาวเยอรมนี เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2565 ที่ได้รายงานผลการชันสูตรพลิกศพในกรณีของผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA แล้วเสียชีวิตกะทันหัน หัวใจหยุดเต้น ซึ่งพบว่าคนที่ฉีดวัคซีน mRNA ไปภายในระยะเวลา 20 วัน แล้วหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิต มีการอักเสบเป็นกระจุกหรือเป็นหย่อมอยู่ที่กล้ามเนื้อหัวใจทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเส้นเลือดหัวใจตัน และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉียบพลันเพราะมันเข้าไปรบกวนเส้นใยประสาทที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจจึงทำให้เสียชีวิตกะทันหัน โดยใน 25 รายที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวนั้นอยู่ในช่วงอายุ 45-75 ปี แปลว่าผลข้างเคียงดังกล่าวไม่ได้เกิดกับเด็กหรือผู้สูงอายุเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีรายงานของวารสารวัคซีนระดับโลก เมื่อเดือน ก.ย.2565 ซึ่งเปิดเผยข้อมูลว่าจากการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยในมนุษย์ของวัคซีน mRNA นั้นพบลักษณะไม่พึงประสงค์ที่ค่อนข้างรุนแรงมากพอสมควร ในอัตรา 1 ต่อ 800 คน ถึง 1 ต่อ 1,000 คนของผู้รับวัคซีน ซึ่งก่อนหน้านี้รายงานดังกล่าวไม่ได้ถูกเปิดเผย แต่ภายหลังได้มีการฟ้องศาลให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชากรโลก
“ตอนนี้วัคซีนอาจไม่ได้ช่วยป้องกันไม่ให้คนไทยเสียชีวิตจากโควิดเพราะเชื้อที่ระบาดอยู่ในไทยตอนนี้คือโอมิครอน ซึ่งอาการไม่รุนแรง แต่ขณะเดียวกัน ผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA อาจสุ่มเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของวัคซีน ซึ่งสถานการณ์โควิดปี 2566 คนไทยสบายใจได้แต่ต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพราะสุขภาพที่แข็งแรงคือภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด และเสริมด้วยการฉีดวัคซีนที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป แต่ถ้าเกิดติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติและไม่ได้เป็นลองโควิดจะทำให้มีภูมิคุ้มกันโควิดตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันชนิดที่เป็นปราการด่านหน้าซึ่งมีความเข้มแข็งมาก” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว