xs
xsm
sm
md
lg

6 ปี”ธรรมกาย”สูญเปล่า-ไร้สังคายนา“นิพพาน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วัดพระธรรมกายจัดกิจกรรมบุญต่อเนื่องฮือฮาธรรมยาตราครั้งแรกในรอบพันปี ที่บรมพุทธโธ อินโดนีเซีย งานสวดมนต์ข้ามปีอวดใช้โดรนสอนธรรมะกลางอากาศ ตักบาตรปีใหม่พระ 3 พันรูป ต่อด้วยธรรมยาตราปีที่ 11 สัญจร 7 สถานที่สำคัญของหลวงพ่อสด นักวิชาการเสียดาย 6ปีที่ผ่านมาไม่สังคายนาคำสอน“นิพพาน”เหตุพระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่โตมาจากสายบาลีไม่ใช่สายธรรมวินัยจึงไม่แตกฉานปล่อยเช่นนี้ธรรมกายรอวันคืนชีพ

หลายคนอาจลืมเรื่องราวของวัดพระธรรมกายไปแล้ว เป็นวัดทางพุทธศาสนาที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีสิ่งปลูกสร้างใหญ่โตระดับโลก มีพระในวัดมากที่สุด ว่ากันว่าเป็นวัดที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย อดีตเจ้าอาวาสอย่างพระธัมมชโยถูกกล่าวถึงทั้งทางบวกและทางลบ

แต่เหตุการณ์ที่รับรู้กันทั่วประเทศและทั่วโลกคือ อดีตเจ้าอาวาสมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จนถูกออกหมายจับ เมื่อไม่มารับทราบข้อกล่าวหาจึงมีการใช้มาตรา 44 ของรัฐบาล คสช.ในขณะนั้น เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ปิดล้อมวัดเพื่อนำตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดี แต่ไม่พบจึงยกเลิกเมื่อ 11 เมษายน 2560

จากวันนั้นถึงวันนี้วัดพระธรรมกายยังสามารถกิจกรรมบุญได้ตามปกติ เหมือนก่อนเกิดเหตุการณ์ที่พระธัมมชโยถูกดำเนินคดี
กิจกรรมบุญที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวัดพระธรรมกายไปแล้วนั่นคือ ธรรมยาตรา ครั้งนี้ก็เช่นกัน กิจกรรมธรรมยาตราจัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ในช่วงต้นปี 2566

Event อินโดฯ-ใช้โดรนสอนธรรมะ

ในช่วงท้ายปีเช่นนี้ทางวัดจะมีกิจกรรมทั้งเพื่อเตรียมงานเพื่อธรรมยาตรา ไม่ว่าจะเป็นการหาบุคคลมาบวชเนื่องในวันครบรอบอายุ 82 ปีของหลวงพ่อทัตตชีโว ช่วงปลายปี 2565 ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงการจัดเตรียมพระและสามเณรในกิจกรรมธรรมยาตราช่วงเดือนมกราคม 2566

นอกจากนี้ทางวัดได้ปลูกดอกไม้ไว้เพื่อโปรยบนทางเดินของพระในกิจกรรมธรรมยาตรา ได้แก่ดอกเบญจทรัพย์(เบญจมาศ)และทรัพย์บานชื่น(บานชื่น) นัดผู้ที่ศรัทธาเข้าร่วมปลูกจนถึงร่วมตัดดอกไม้เหล่านี้เพื่อใช้ในพิธี ตัดดอกไม้จนถึง 29 ธันวาคม 2565
อีกกิจกรรมหนึ่งที่ตื่นตาตื่นใจ โดยสำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกายได้โพสต์เมื่อ 24 ธันวาคม 2565 เป็นกิจกรรม ธรรมยาตราครั้งแรกในรอบ 1,000 ปี ณ ประเทศอินโดนีเซีย บรมพุทธโธ สถานมรดกโลกกับสามเณร 500 รูป เพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ขออนุโมทนาบุญกับผู้สนับสนุนโครงการพระอาจารย์และทีมงานทุกท่าน อาสาสมัครจากทั่วโลกที่ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์อันงดงามแห่งการสร้างบารมี ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ณ ประเทศอินโดนีเซีย

ก่อนที่จะถึงกิจกรรมสำคัญยังมีพิธีสวดมนต์ข้ามปี ต้นรับศักราชใหม่ ปี 2566 วันที่ 31 ธันวาคม 2565-1 มกราคม 2566 ณ วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ซึ่งระหว่างนี้ทางวัดพระธรรมกายจะใช้โดรน “สอนธรรมะกลางอากาศ”ระหว่างพิธีสวดมนต์ข้ามปี
รุ่งเช้า 1 มกราคม 2565 มีพิธีตักบาตรพระใหม่ ตักบาตรปีใหม่ 3,000 กว่ารูป วันอาทิตย์ต้นเดือนที่ 1 มกราคม 2566 หน้าพระมหาธรรมกายเจดีย์ วัดพระธรรมกาย เวลา 6.30-7.30 น. ติดต่อรับบัตรที่นั่งกล่องอาหารตักบาตร และใบอนุโมทนาบัตรได้ที่ห้องรับบริจาค โดยมีบริการอาหารตักบาตรสาธุชน


ธรรมยาตรา ปี 11

เมื่อข้ามสู่ปี 2566 เข้าสู่โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 11 โดยแจ้งต่อผู้ที่ศรัทธาว่า ขอเชิญพุทธศาสนิกชน ร่วมโปรยกลีบดอกเบญจทรัพย์และดอกทรัพย์บานชื่นต้อนรับพระภิกษุธรรมยาตรา 1,139 รูป ในโครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 11 กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เสริมความเป็นสิริมงคล สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน ในวันที่ 2-31 เดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ในเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ ด้วยกิจกรรม “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5”
เส้นทางพระผู้ปราบมาร คือ เส้นทางซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวประวัติของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายของท่าน จึงพร้อมใจสถาปนาสถานที่ 7 แห่ง ขึ้นเป็นสถานที่สำคัญในเส้นทางพระผู้ปราบมาร

1. มหาวิหารบ้านเกิดพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) : สถานที่เกิดด้วยรูปกายเนื้อ ตั้งอยู่บนแผ่นดินรูปดอกบัว อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

2. อนุสรณ์สถานคลองบางนางแท่น : สถานที่ตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต ตั้งอยู่ริมคลองบางนางแท่น อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

3. พระอุโบสถวัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง) : สถานที่เกิดใหม่ในเพศสมณะ ตั้งอยู่วัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

4. อนุสรณ์สถานวัดโบสถ์บน : สถานที่เกิดใหม่ด้วยกายธรรม ตั้งอยู่วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

5. อนุสรณ์สถานบางปลา : สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก ตั้งอยู่บนแผ่นดินตรงข้ามวัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

6. วัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) : สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ตั้งอยู่วัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

7. มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) : สถานที่ขยายวิชชาธรรมกาย ตั้งอยู่วัดพระธรรมกาย ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

รวมถึง วัด โรงเรียน ชุมชน ในเส้นทางและพื้นที่วงรอบของอนุสรณ์สถานฯ ทั้ง 7 แห่ง

(ภาพ:จากสำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย)
กิจกรรมบุญคือเงิน

นักวิชาการด้านศาสนากล่าวว่า อันนี้พูดกันตามหลักการ งานบุญเหล่านี้คือแหล่งที่มาของรายได้จากผู้ศรัทธา วัดนี้ต้องใช้เงินเยอะในการดูแลเรื่องต่าง ๆ ภายในวัด หากลดงานบุญลงไปย่อมส่งผลต่อรายรับรายจ่ายของวัด

วัดพระธรรมกายต้องจัดงานบุญเกือบตลอดทั้งปี ทั้งงานตามวันสำคัญทางพุทธศาสนาและงานบุญพิเศษตามที่วัดกำหนดขึ้นมา เช่น งานที่ยกย่องครู-อาจารย์ผู้ค้นพบวิชาธรรมกายท่านต่าง ๆ และที่ถือเป็นงานประจำปีไปแล้วคือกิจกรรมธรรมยาตราถือเป็นกิจกรรมใหญ่ เนื่องจากต้องมีการเตรียมทั้งจัดหาคนมาบวช ปลูกดอกไม้ใช้โปรยทางเดิน จัดกิจกรรมตามจุดต่าง ๆ 7 ที่
แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าในระยะหลังนี้ ทางวัดพระธรรมกายไม่มีกิจกรรมพิเศษที่หวือหวาหรือแหวกแนวเหมือนในอดีต ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมเดิม ๆ ที่เคยจัดกันมา ส่วนธรรมยาตราก็ได้ปรับลดเป็นการสัญจรไปตามสถานที่สำคัญของหลวงพ่อสด ผู้ค้นพบวิชาธรรมกาย ไม่ได้เดินตามถนนเหมือนช่วงแรก ๆ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เป็นการเดินภายในสถานที่ที่กำหนดเท่านั้น

หวือหวามากไม่ได้-เปลี่ยนสงฆ์ปกครอง

ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะมติของมหาเถรสมาคม 30 กันยายน 2564 ที่มีการเปลี่ยนตัวพระปกครองอย่างเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีจากพระธรรมรัตนาภรณ์ วัดเขียนเขต ที่ดูแลวัดพระธรรมกายมานาน มาเป็นพระราชสุทธิธรรมาจารย์ วัดประยูรธรรมาราม ปทุมธานี

เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เปลี่ยนเป็นสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี วัดไตรมิตรวิทยาราม จากเดิมที่พระพรหมบัณฑิต วัดประยูรวงศาวาส เป็นรักษาการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ทำหน้าที่ต่อจากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม ที่มรณภาพ ซึ่งเคยดูแลคดีวัดพระธรรมกาย จนมีการเปลี่ยนตัวเจ้าอาวาสจากพระธัมมชโยมาเป็นพระครูสังฆรักษ์รังสฤษฏ์เมื่อ 1 ธันวาคม 2560
“อาจเป็นส่วนหนึ่งที่วัดพระธรรมกายไม่กล้าขยับอะไรมาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนพระปกครองที่ถือเป็นสายตรงที่ดูแลวัดพระธรรมกายอย่างเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีและเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ที่ไม่ใช่สายอำนาจเดิมที่เคยอิงอยู่กับสายวัดปากน้ำที่เคยเรืองอำนาจในมหาเถรสมาคมมาก่อนหน้านี้”

นิพพาน“อัตตา”ยังอยู่

สิ่งที่น่าเสียดายมากที่สุดคือ หลังจากเกิดเหตุการณ์กับวัดพระธรรมกายตั้งแต่ช่วงปี 2559 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งตัวกฎหมายและตัวบุคคลที่เข้ามานั่งในมหาเถรสมาคม รวมถึงคณะสงฆ์ชั้นปกครองในระดับล่างลงไป ซึ่งทุกคนต่างทราบดีว่าแนวคำสอนของวัดพระธรรมกายนั้นก่อให้เกิดปัญหาที่ถกเถียงกันคือเรื่องนิพพาน

แต่คณะสงฆ์ปกครองไม่ได้เข้าไปดำเนินการกับแนวคำสอนที่เคยเป็นข้อถกเถียงกันมาตลอดเรื่องนิพพานว่าเป็นอัตตาหรืออนัตตา ทุกอย่างปล่อยเหมือนเดิม ไม่มีการสังคายนาให้ได้ข้อยุติเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคณะสงฆ์ชั้นปกครองของไทยไม่มีความรู้ในเรื่องพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้ง แม้กระทั่งพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมเอง ส่วนใหญ่เติบโตมาจากสายบาลี จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปจัดระเบียบในเรื่องแนวคำสอนที่ขัดแย้งกัน

พุทธศาสนาส่วนใหญ่ตีความว่านิพพานเป็นอนัตตา แต่บางวัดตีความว่าเป็นอัตตาจึงเป็นที่มาของบุญกุศลซื้อได้ด้วยเงินทอง มีสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ให้เลือก คนมีเงินทำบุญมากได้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงกว่า สิ่งเหล่านี้ถูกออกแบบมาตั้งแต่ชื่อเรียก เช่น กัลยาณมิตร ผู้นำบุญ มีระดับชั้นของผู้ที่ศรัทธาแตกต่างกันออกไป ไม่ต่างไปจากหลักการขายตรงของภาคธุรกิจ

รอวันกลับมาใหญ่

ไม่มีใครตอบได้ว่าในวันข้างหน้าคำสอนเรื่องนิพพานนี้จะได้ข้อยุติลงอย่างไร ทุกอย่างอาจถูกปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ หัวใจหลักของคำสอนยังไม่ถูกแก้ไขให้ถูกต้อง รอให้พระปกครองชราภาพไปเรื่อย ๆ รอให้เปลี่ยนตัวพระปกครองชุดใหม่ขึ้นมา รอให้ความเข้มแข็งของวัดพระธรรมกายเพิ่มขึ้น ทั้งตัวสถานการณ์ ปัจจัยทางการเงินและปัจจัยทางการเมือง

สิ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้ไม่มีพระธัมมชโยผู้ก่อตั้งวัดปรากฎตัวให้เห็น แต่พลังของผู้ศรัทธาในวัดพระธรรมกายยังคงมีอยู่ไม่น้อย ทุกอย่างขับเคลื่อนไปด้วยโครงสร้างที่วางไว้ หลักธรรมถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัยในโลกทุนนิยม พระในวัดต่างให้พรว่าทำบุญแล้วได้ผลบุญร่ำรวยเกินกว่าเงินที่ทำบุญ ถือว่าตรงจริตกับคนในยุคนี้ ส่วนจะได้บุญจริงตามนั้นหรือไม่ ไม่มีใครกล้าให้คำตอบเนื่องจากเป็นเรื่องที่ยากต่อการพิสูจน์

แถมวัดและพระในสายที่ทางวัดพระธรรมกายเคยสนับสนุนช่วยเหลือ ย่อมจะกลายมามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคต วันนั้นธรรมกายจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH





กำลังโหลดความคิดเห็น