xs
xsm
sm
md
lg

พบแล้ว! เหตุที่คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพง ชี้ไม่แก้ที่ ‘ต้นตอ’ ประชาชนตายหยังเขียด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เบื้องหลังคนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพง! กลุ่มวิศวกรไฟฟ้า กฟผ.ตีแผ่ข้อมูลตัวเลขของกระทรวงพลังงาน พบปมปัญหาที่ทำให้ค่าไฟแพงและจะแพงต่อเนื่องไปอีก ระบุราคา LNG ของไทยแพงกว่าของญี่ปุ่นถึง 1.28 เท่า หากยังนำเข้าจากแหล่งเดิมชาตินี้ค่าไฟไม่มีทางถูกลงได้! ชี้นี่คือการบริหารที่ผิดพลาด? แจง ‘5ปัจจัย’ ชี้ชัดว่าประชาชนต้องเตรียมรับมือกับค่าไฟปี 2566 จะสูงขึ้นแน่นอน แนะทุกภาคส่วนต้องฝากความหวังไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คาดจะวินิจฉัยชี้ขาด กฟผ.’ ผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 51% ขัด รธน.หรือไม่? ในช่วงต้นเดือน ม.ค.ปี 2566 เพราะจะมีผลต่อราคาค่าไฟสูงขึ้นหรือถูกลงนั่นเอง

ปัญหาคนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงซึ่งทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า โดยเฉพาะในปี 2566 ว่ากันว่าถ้าไม่แก้ไขที่ ‘ต้นเหตุ’ จะยิ่งทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น แพงขึ้นต่อไป แม้ว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยในระดับเท่าเดิมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.69 บาทต่อหน่วย ในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ก็ตาม

แต่วิธีการดังกล่าวยังไม่ใช่ทางออกในการแก้วิกฤตพลังงานที่ถูกต้องและเหมาะสมใช่หรือไม่!?

ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค สหภาพแรงงานและเครือข่ายต่างๆ รวม 133 หน่วยงานทั่วประเทศ ได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานเร่งแก้วิกฤตค่าไฟแพง รวมไปถึงภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางแก้ไขในเรื่องนี้ เพราะค่าพลังงานเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะในช่วงปี 2566 ที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการการลงทุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจแน่นอน

“หากปล่อยเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ และคาดว่าต่างชาติคงไม่อยากเข้ามาลงทุน ส่วนบริษัทต่างชาติในไทยก็อาจจะเลือกย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนามค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 2.88 บาทต่อหน่วย”

ราคาค่าไฟทุกภาคส่วนจะสูงขึ้นหรือถูกลงนั่นเอง!

 133 องค์กรยื่นหนังสือถึง รมว.พลังงาน เรียกร้องเร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ย้ำทวงคำตอบหลังปีใหม่
ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่ 133 องค์กรยื่นต่อกระทรวงพลังงาน ระบุให้เห็นว่าสาเหตุของค่าไฟแพงมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1.การวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่อง เพราะคำนึงถึงความมั่นคงจนเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจพลังงานไฟฟ้าของภาคเอกชนบางกลุ่มเกินสมควร โดยปล่อยให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งขนาดเล็กและใหญ่เพิ่มมากขึ้นตามลําดับ อีกทั้งมีแผนการนําเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นอีก จนภาคผลิตไฟฟ้าเอกชนมีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าสูงเกือบร้อยละ 70 ของกําลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ขณะที่กําลังผลิตไฟฟ้าของภาครัฐโดยตรงเหลือเพียงร้อยละ 30 และรัฐบาลยังปล่อยให้มีกําลังการผลิตไฟฟ้าสํารองสูงถึงร้อยละ 50 ขณะที่กําลังการผลิตสํารองไฟฟ้าที่สามารถรองรับความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศควรกําหนดอยู่ที่ร้อยละ 15 เท่านั้น นับเป็นปัญหาสำคัญที่นํามาสู่ภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในขณะนี้

2.ค่าไฟฟ้าแพงเพราะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ที่มีกําลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการใช้ ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ที่เกิดจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจเอกชนเกินสมควรและไม่สอดคล้องกับพัฒนาการพลังงานไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน ในลักษณะการคงสัญญา “ไม่ซื้อ ไม่ใช้ไฟ ประชาชนก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) ประมาณการว่าที่ผ่านมา มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 8 ใน 12 แห่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย คาดว่าเป็นเงินมากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี

3.ค่าไฟฟ้าแพงเพราะการที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มศักยภาพ เพราะกําลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบ ได้มีการผ่องถ่ายการผลิตไฟฟ้าไปให้โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPPs) ซึ่งส่วนใหญ่มากถึงร้อยละ 66 ของกําลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จึงทําให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แพงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่เสียด้วยซํ้า โดยค่าไฟฟ้าของโรงฟ้าขนาดเล็กมีอัตราสูงถึง 4-5 บาทต่อหน่วย

4.ค่าไฟฟ้าแพงเพราะพลังงานภาคไฟฟ้าไม่ได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยที่มีราคาตํ่าที่สุดเมื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซจากแหล่งอื่นๆ แต่ต้องใช้ราคา POOL ก๊าซ หรือราคาผสมจากทุกแหล่ง ทั้งก๊าซที่ออกจากโรงแยกก๊าซ ก๊าซนําเข้าจากประเทศพม่าและก๊าซธรรมชาติ LNG ที่นําเข้าจากต่างประเทศที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซํ้ายังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าสถานีบริการและค่าผ่านท่อที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ขณะที่มีเพียงกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติและกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่านั้นที่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยตามราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ไม่ต้องไปรวมในราคา POOL ก๊าซ จึงเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาที่ตํ่า และไม่มีการร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกับประชาชน

ทั้ง 4 ปัจจัยคือตัวอย่างสาเหตุค่าไฟแพงที่ 133 องค์กรได้ยื่นต่อกระทรวงพลังงาน!




ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มวิศวกรไฟฟ้า กฟผ. ระบุว่า ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เมื่อนำข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (EPPO) ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลออกมานั้นมาพิจารณา จะพบว่า ราคาก๊าซจากอ่าวไทย จากพม่า และการนำเข้า LNG (รูปที่ 1 และตารางที่ 1 ประกอบ) จะพบว่ามีสิ่งที่น่าสังเกตและพอจะตอบได้ในเบื้องต้นว่าค่าไฟฟ้าแพงมีสาเหตุจากการบริหารงานผิดพลาดของหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องคือการคำนวณ Gas Pool Price ที่ใช้ราคา LNG สูงกว่าราคาสากลที่อ้างอิงคือราคา LNG ของประเทศญี่ปุ่น (รูปที่ 2 และตารางที่ 2) ซึ่งทำการ Simulate ราคา LNG นำเข้าของไทยที่เดือน พ.ย.65 และ ธ.ค.65 ที่ยังไม่มีข้อมูล โดยให้มีราคานำเข้าที่ 1,000 และ 950 บ./ล.บีทียู และของญี่ปุ่นที่เดือน ธ.ค.65 ที่ยังไม่มีข้อมูลเช่นกัน โดยให้มีราคานำเข้าที่ 21.50 USD/ล.บีทียู และใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 23 ธ.ค.65) ที่สำคัญข้อมูลในตารางที่ 2 ที่กลุ่มวิศวกรนำมาอธิบาย พบว่า ราคา LNG ของไทยแพงกว่าของญี่ปุ่นถึง 1.28 เท่า (842.44/659.05) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้ค่าไฟฟ้าแพง (ดูตารางที่ 1-5 ประกอบ จาก https://mgronline.com/specialscoop)

“เราศึกษาโครงสร้างราคา Pool Gas Price ซึ่งจะนำไปเป็นปัจจัยการคำนวณค่า Ft พบว่าการบริหารงานผิดพลาดทำให้ราคาค่า Pool Gas Price สูงเกินกว่าที่ควรเป็น”




อย่างไรก็ดี จากการศึกษาโดยสมมติว่าปริมาณการใช้ก๊าซตลอดทั้งปีของไทยในปี 2565 ใกล้เคียงกับปี 2564 เพื่อการผลิตไฟฟ้า คือ 450,348.00 พัน-ล้านบีทียู และจากข้อมูลปัจจุบันพบว่ามีการใช้ LNG มาผลิตไฟฟ้าสูงถึงประมาณ 20% ที่เหลือเป็นก๊าซจากอ่าวไทย และจากพม่าประมาณ 64% และ 16% ตามลำดับ เมื่อนำมาคำนวณเป็นปริมาณการใช้ก๊าซแต่ละชนิดจะได้ตามที่แสดงในข้อ 2 (ตารางที่ 3) และเมื่อนำราคาค่าเนื้อก๊าซแต่ละชนิดจากตารางที่ 1 จะสามารถคำนวณราคาก๊าซแต่ละชนิด และราคารวมได้ในข้อ 4 และ 4.1 ของตารางที่ 3 และได้ราคาก๊าซเฉลี่ยรวมประมาณ 347.5148 บาท/ล.บีทียู แต่ราคาเฉลี่ยรวมของ Pool ตามตารางที่ 1 เท่ากับ 451.3368 บาท/ล.บีทียู เท่ากับมีส่วนต่างของราคา 1.299 เท่า (ดูตารางที่ 3 ประกอบ)

ตรงนี้อาจหมายถึงค่าบริหารจัดการ และกำไรของหน่วยงานภาครัฐซึ่งนับว่าสูงมากเกินไป และเมื่อกระจายราคาไปตามประเภทของก๊าซจะพบว่าราคา LNG ที่ปรากฏใน Pool นั้นสูงถึง 1059.69 บ/ล.บีทียู

แหล่งข่าวจากกลุ่มวิศวกรไฟฟ้า กฟผ. ย้ำว่าเมื่อใช้สมมติฐานเดียวกันแต่ใช้ราคา LNG นำเข้าของญี่ปุ่นจะพบว่าราคาของปี 2565 ตามตารางที่ 2 อยู่ที่ประมาณ 659.05 บ./ล.บีทียู และนำมาคำนวณจะได้ราคาเนื้อก๊าซเท่ากับ 316.1399 บาท/ล.บีทียู และหากให้ค่าบริหารจัดการ และกำไรตามมาตรฐานสากลที่ 20 บาท/ล.บีทียู ก็จะได้ราคา Pool ใหม่เท่ากับ 336.140 บาท/ล.บีทียู เท่านั้น ตามที่แสดงในตารางที่ 4




สำหรับค่า Ft ที่เรียกเก็บจากประชาชนควรเรียกเก็บจากค่าก๊าซที่สูงขึ้นบวกค่าการดำเนิน คือ ค่าเก็บ และค่า Regas (สำหรับ LNG) บวกค่าส่งผ่าน และกำไรพอสมควรที่ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนมากเกินความจำเป็น เพราะโดยที่ กฟผ. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากราคาก๊าซที่สูงขึ้น และค่าซื้อไฟฟ้าที่จะชำระค่าก๊าซให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปแบบค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) และนำมารวมกันเป็นค่าใช้จ่ายที่สะท้อนถึงค่า Ft ซึ่งสามารถคำนวณได้ดังนี้

ข้อที่ 1 คำนวณหาราคาค่าก๊าซ Pool สำหรับปี 2563 และ 2564 ที่ผ่านมาพบว่าอยู่ที่ประมาณ 222.0149 บ./ล.บีทียู

ข้อที่ 2 ราคาค่าก๊าซ Pool ในปี 2565 ที่ควรเป็นคือ 336.140 บาท/ล.บีทียู ตามตารางที่ 4

ข้อที่ 3 เมื่อกำหนดให้ค่า Heat Rate หรือค่าใช้เชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าเท่ากับ 7000 บีทียู/หน่วย จึงสามารถคิดค่าใช้จ่ายของก๊าซ หรือ ค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) ที่เพิ่มขึ้นได้เท่ากับ 7000 x (336.140-222.0149) /1,000,000 เท่ากับ 0.80 บ./หน่วย

เมื่อพิจารณาค่า Ft ที่ผ่านมาในปี 2564-2565 มีค่าติดลบมาตลอด แต่เมื่อราคา LNG สูงขึ้น แม้จะมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่มาก ยังอยู่ในระดับ 20% ของปริมาณการใช้รวม เมื่อคำนวณแล้วค่า Ft ไม่ควรเพิ่มสูงกว่า 0.80 บ./หน่วยสำหรับปี 2565 และในปีต่อไป เพราะจากนี้ไปคาดว่าราคา LNG จะทรงตัวและเข้าสู่ขาลง


แหล่งข่าวบอกอีกว่า จากข้อมูลทั้งหมดของกระทรวงพลังงานสะท้อนให้เห็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงมากจึงเกิดจากประเด็นต่างๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การบริหารก๊าซผิดพลาดคือ

1.1 การจัดหาให้ได้มาของปริมาณก๊าซในอ่าวไทยไม่เหมาะสมคือ มีปริมาณลดลงจึงต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

1.2 ราคา LNG ที่นำเข้าในปี 2565 มีราคาที่แพงเกินไป (แพงกว่า LNG ญี่ปุ่น 1.28 เท่า)

1.3 การคำนวณค่า Pool Gas มีการบวกค่าดำเนินการ และกำไรสูงถึง 30% จากราคาเนื้อก๊าซหรือประมาณ 103 บ./ล.บีทียู ในขณะที่ราคามาตรฐานสากลอยู่ที่ 16-20 บ./ล.บีทียู (เฉลี่ย 0.5 USD/ล.บีทียู) เท่านั้น

ประเด็นที่ 2 การที่ภาครัฐไม่ควบคุมให้ กฟผ. มีกำลังผลิตที่เหมาะสม โดยปัจจุบัน กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากเอกชนประมาณ 70% และผลิตเองประมาณ 30% โดย กฟผ.จ่ายค่าก๊าซให้เอกชนในรูปแบบของค่าซื้อพลังงานไฟฟ้า (ค่า EP) ทั้งหมด โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแทบไม่มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคา เมื่อมีการบริหารที่ผิดพลาดทั้งปริมาณ และราคาที่สูงเกินจากราคาที่ควรเป็น ราคาค่าก๊าซที่จ่ายไปในรูปค่าพลังงานไฟฟ้าที่เอกชนมีสัดส่วนสูงกว่าของ กฟผ. จึงถูกส่งผ่านทั้งหมดมาที่ประชาชนในรูปของค่า Ft การที่เอกชนได้ข้อผูกพันต้องคงสถานะกำลังผลิตให้เป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เอกชนจึงได้ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ซึ่งในกรณีนี้ กฟผ. ก็ได้เช่นกัน แต่โรงไฟฟ้าของเอกชนสามารถเดินเครื่องได้โดยมี Capacity Factor (CF) อยู่ที่ประมาณ 80% สูงกว่าของ กฟผ.ที่ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 36% ก็เท่ากับภาครัฐบริหารนโยบาย และกำกับการดูแลที่ผิดพลาด

“รัฐบริหารผิดพลาดซึ่งขัดต่อ รธน. 60 มาตรา 56 ที่เขียนไว้ว่ากำลังผลิตของ กฟผ. ต้องไม่ต่ำกว่า 51% ของกำลังผลิตรวม แต่เรื่องนี้คงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดออกมา คาดว่าประมาณสัปดาห์แรกๆ ของเดือน ม.ค.ปี66 ซึ่งในกระทรวงพลังงานลือกันว่าศาลน่าจะตัดสินประมาณวันที่ 9 ม.ค.2566 มีความเป็นไปได้สูง ประชาชนต้องติดตามเพราะการชี้ขาดของศาลจะมีผลต่อค่าไฟฟ้าในอนาคตของพวกเราทุกคน”


ส่วนในปี 2566 ประชาชนจะต้องรับภาระค่าไฟฟ้าแพงต่อไปอีกหรือไม่ กลุ่มวิศวกรไฟฟ้า กฟผ.บอกว่าต้องพิจารณาจากประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.หากยังบริหารแหล่ง และที่มาของก๊าซผิดพลาด โดยต้องนำเข้า LNG ที่มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นค่าไฟก็จะแพงขึ้นอีก

2.หากจัดหาและนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงกว่า LNG ญี่ปุ่น ถึง 1.28 เท่าต่อไปอีกค่าไฟก็จะไม่มีทางถูกลง

3.หากภาครัฐที่จัดหาและหน่วยงานนโยบาย และกำกับดูแลยังให้มีราคา Pool มีส่วนต่างของเนื้อก๊าซสูงถึง 30% หรือสูงถึง 103 บ./ล.บีทียู ในขณะที่ราคามาตรฐานสากลอยู่ที่ไม่เกิน 20 บ./ล.บีทียู ค่าไฟก็จะไม่มีทางถูกลง

4.หากกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งกำลังลดลงไปเรื่อยๆ และจะต้องซื้อไฟจากเอกชนมาขายต่อ ภาระค่าไฟฟ้าจะตกแก่ประชาชนไปตลอด เพราะรัฐขาดเครื่องมือให้ โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ถ้า กฟผ. สามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยมี Capacity Factor เพิ่มขึ้น 2 เท่า ค่าไฟฟ้าก็จะถูกลง เพราะผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นในขณะที่ต้นทุนการผลิตเท่าเดิม และมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะสามารถส่งกำไรให้ภาครัฐได้เพิ่มขึ้นปีละหลายหมื่นล้าน เพราะรัฐเป็นเจ้าของ 100% แต่หากยังคงสถาณการณ์เช่นนี้กำไรต่างๆ ก็ตกเป็นของเอกชนทั้งสิ้น

5.ภาครัฐในส่วนบริหารนโยบาย และกำกับ ควรให้ กฟผ. ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเพียงผู้เดียว เพราะยิ่งทำขนาดใหญ่เท่าไร กฟผ. ก็สามารถทำได้ถูกลง และถูกกว่าของเอกชน เพราะมีความพร้อมเรื่องสถานที่ และจุดเชื่อมโยง และการเดินสายส่งไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อบริหารกำลังผลิตสำรองของ กฟผ. ที่มีเหลือมากมาย เมื่อได้ต้นทุนที่ถูก และบริหารการจ่ายไฟฟ้า และกำลังสำรองที่เหมาะสมได้ จะสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้า LNG ภาระหนักก็จะไม่ตกแก่ประชาชน

จากนี้ไปต้องจับตาเปิดศักราชใหม่ 2566 เครือข่าย 133 องค์กรจะขับเคลื่อนปัญหาค่าไฟแพงให้พี่น้องประชาชนอย่างไรต่อไป รวมไปถึงการชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี ‘กฟผ.’ ผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 51% ขัด รธน.หรือไม่? เพราะจะมีผลต่อราคาค่าไฟทุกภาคส่วน จะสูงขึ้นหรือถูกลงนั่นเอง!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH




กำลังโหลดความคิดเห็น