xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น!! ปัญหาเก่าตามหลอน ‘ฟุตบอลโลก 2026’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วุ่นไม่จบการรับชมบอลโลก 2022 ต้นกำเนิดจากกฎ Must Have ของ กสทช. แถม Must Carry บังคับใช้ไม่ได้ผล ครอบครัวจานดำ-จอดำ 4 นัดสุดท้ายเปิดทาง IPTV ถ่าย แต่ติดปัญหาศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ คุ้มครอง นักวิชาการอิสระหวั่นบอลโลกครั้งหน้าปี 2026 มี 48 ทีม เตะ 80 นัด หากไม่เร่งแก้ปัญหาจะมากกว่านี้  ทุกฝ่ายควรถกให้จบ

การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เดินทางมาถึงรอบชิงชนะเลิศระหว่างทีมชาติอาร์เจนตินากับทีมชาติฝรั่งเศส ในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ไม่ว่าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งนี้จะเป็นชาติใด แต่ถือว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้จบลงแล้ว และประเทศไทยได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้มาก่อนแข่งเพียง 3 วัน (17 พฤศจิกายน 2565) กับการรับชม 64 นัด ด้วยเงินราว 1,200 ล้านบาท

นับว่าเป็นเรื่องที่กระท่อนกระแท่นมากกว่าจะได้ชมการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้ เนื่องจากไม่มีเจ้าภาพในการเข้าประมูลลิขสิทธิ์ ครั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย เข้ามาผลักดันผ่านทาง ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

เงินประเดิมจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 600 ล้านบาท กลุ่มทรู 200+100 ล้านบาท ที่เหลือเป็นสปอนเซอร์จากกลุ่ม ปตท. ธนาคารกสิกรไทย และรายอื่นๆ

ปัญหาที่ตามมาคือ สถานีโทรทัศน์ช่องใดจะได้ถ่ายทอดบ้าง มีการจับสลากกันเพื่อร่วมถ่ายทอดการแข่งขัน จากนั้นเริ่มมีเสียงเรียกร้องว่า กสทช.ต้องสร้างความเท่าเทียมในการถ่ายทอดเนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเป็นเจ้าของเงิน 600 ล้านบาท และเรียกร้องให้ออกอากาศแบบคู่ขนานในระบบความคมชัดสูง (HD) เนื่องจากช่องหลักที่ถ่ายทอดสดบนฟรีทีวีคือ True4u ช่อง 24 ออกอากาศแบบ SD ซึ่งทำได้ก่อนรอบ 16 ทีมสุดท้าย

จานดำ-IPTV-จอดำ

จากนั้นเกิดปัญหาเรื่องสัญญาณภาพหลุดออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ทางเจ้าของลิขสิทธิ์จึงเตือนมาหลายครั้ง ทำให้ผู้ที่รับชมผ่านจานดาวเทียมประเภทตะแกรง หรือ C Band ไม่สามารถรับชมได้ เนื่องจากไม่สามารถเข้ารหัสในขั้นสูงได้ ส่วนคนที่รับชมผ่านจานทึบ KU Band ต้องทำการรีเซตเครื่องใหม่

ส่วนผู้ที่รับชมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต IPTV นั้นไม่สามารถรับชมได้เช่นกัน ยกเว้นค่ายทรูผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์ จนเกิดปัญหามีทั้งเรื่องการขอความคุ้มครองจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง รวมทั้ง กสทช.มีมติที่จะเรียกเงิน 600 ล้านบาทคืนจาก กกท. เพราะไม่สามารถทำตามกฎ Must Carry ได้


เปิดทาง IPTV ถ่าย 22 ล้าน

จากนั้น 13 ธันวาคม 2565 กกท.แจ้งว่าทรูได้ปล่อยสัญญาณในรอบ 4 ทีมสุดท้ายให้ IPTV รายอื่นแล้ว และทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) หรือรู้กันในนาม AIS Play Box ตามที่ กกท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสัญญาณการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) (FIFA World Cup Final 2022) ระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค.2565 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยขณะนี้เป็นการแข่งขันในรอบรองชนะเลิศ 4 ทีมสุดท้าย เพื่อให้ประชาชนชาวไทย รวมถึงผู้ด้อยโอกาสมีโอกาสรับชมการแข่งขันกีฬารายการนี้อย่างทั่วถึง ซึ่งกีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่ประชาชนชาวไทยให้ความนิยมเป็นอย่างมากนั้น

การนี้ กกท. ขอแจ้งให้ทราบว่า หากท่านมีความประสงค์ร่วมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลรายการดังกล่าว กกท. จึงขอให้ท่านเสนอสิทธิประโยชน์ตามความเหมาะสมให้ กกท. ในการร่วมการถ่ายทอดสัญญาณการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) (FIFA World Cup Final 2022) ภายในวันที่ 13 ธ.ค.2565 รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

เอกสารที่แนบมานั้นมีข้อความระบุว่า กสทช. ร่วมกับกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และการกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ถือสิทธิ มอบสิทธิถ่ายทอดสดการแข่งขัน FIFA World Cup Qatar 2022 ในประเทศไทยให้แก่สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมถ่ายทอดการแข่งขัน ดำเนินการรับและกระจายสัญญาณถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านศูนย์ถ่ายทอดสด ณ การกีฬาแห่งประเทศไทย ชั้น 4 ให้แก่ช่องสถานีต่างๆ

พิจารณาขอรับการสนับสนุนการถ่ายทอดสดทาง IPTV ดังต่อไปนี้ 1.การแข่งขันรอบรองชนะเลิศ 4 ล้านบาท/แมตช์ จำนวน 2 แมตช์ 2.การแข่งขันรอบรองชนะเลิศ 6 ล้านบาท/แมตช์ จำนวน 1 แมตช์ และ 3.การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ Final 8 ล้านบาท/แมตช์ จำนวน 1 แมตช์ รวมมูลค่า 22 ล้านบาท


ถ่ายไม่ได้ศาลมีคำสั่งคุ้มครอง

จากนั้นทาง SBN ได้ออกจดหมายถึงผู้ว่าการ กกท. ในวันเดียวกัน ตามที่ กกท. ได้แจ้งให้ SBN ทราบว่า หากบริษัทฯ มีความประสงค์ร่วมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก (FIFA World Cup Final 2022) ขอให้เสนอสิทธิประโยชน์ให้ กกท. ภายในวันที่ 13 ธ.ค.2565 นั้น

บริษัทขอเรียนว่า บริษัทฯ เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีหน้าที่ต้องนำรายการการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ออกอากาศโดยผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปมาให้สมาชิกของบริษัทฯ ได้รับชมตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ประกาศ Must Carry)

ในวันที่ 21 พ.ย.2565 บริษัทฯ ได้รับแจ้งจาก กกท. ว่า กกท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงการสนับสนุนการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัท ทรูฯ) โดยบริษัท ทรูฯ ได้สนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน 300 ล้านบาท และ กกท.ให้สิทธิประโยชน์ตอบแทนด้วยการให้สิทธิในการถ่ายทอดสดการแข่งขันรายการดังกล่าว

เมื่อได้พิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับความเห็นของที่ประชุม ร่วมกับ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแล้ว เห็นว่าบริษัทฯ ในฐานะให้ผู้ให้บริการโครงข่ายระบบไอพีทีวี (IPTV) สามารถติดต่อขอรับสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 (รอบสุดท้าย) ได้จากบริษัท ทรูฯ

ต่อมา ในวันที่ 25 พ.ย.2565 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของกลุ่มทรู ห้ามบริษัทฯ แพร่เสียงแพร่ภาพถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก (FIFA World Cup Final 2022) นับตั้งแต่ได้รับแจ้งคำสั่งเป็นต้นไป โดยในวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งห้ามฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2565 เช่นเดิม โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มทรูเป็นผู้ใด้รับสิทธิเด็ดขาดจาก กกท. ให้ใช้สิทธิงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022

ขณะนี้ บริษัทฯ ยังคงไม่สามารถแพร่เสียงแพร่ภาพถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก (FIFA World Cup Final 2022) ได้ ตามคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ที่กลุ่มทรูได้ยื่นคำร้องขอห้ามไว้ ซึ่งในปัจจุบันศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ยังไม่มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้ง กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ของบริษัทฯ ก็ยังมิได้มีคำสั่งในประการอื่นใดภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มีคำสั่งห้ามดังกล่าว

Must Carry ทำไม่ได้

เล่นเอาเกิดข้อถกเถียงกันของคนที่ติดตามเรื่องวุ่นๆ ของลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในครั้งนี้ได้ไม่น้อย แค่รอบ 4 ทีมสุดท้ายซึ่งใกล้จะจบฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็ยังมีเรื่องออกมาให้ต้องพูดถึงกัน กกท.แจ้งว่าทรูปล่อยให้ IPTV สามารถถ่ายทอดสดได้ แถม กกท.ขอรับการสนับสนุน 4 แมตช์ รอบรองชนะเลิศ ชิงที่ 3 และชิงชนะเลิศ มูลค่า 22 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ IPTV ยังติดคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ คุ้มครองอยู่ จึงไม่สามารถถ่ายทอดได้ หรือจะเรียกว่าคงไม่สามารถถ่ายทอดได้จนการแข่งขันครั้งนี้จบก็ว่าได้

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ากฎระเบียบของ กสทช. อย่าง Must Carry ไม่สามารถบังคับใช้ได้ทุกอย่าง เช่น จานดำที่ไม่สามารถเข้ารหัสป้องกันการลักลอบดูดสัญญาณกลายเป็นจอดำ หรือเรื่องของสิขสิทธิ์ที่มีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาคุ้มครองอยู่ตรงนี้ กสทช.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้เช่นกัน อย่างกรณี IPTV


ต้องแก้ Must Have

ที่จริงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั่นคือ กฎ Must Have ของ กสทช. ครั้งแรกเกิดปัญหาขึ้นกับ บริษัท อาร์เอส ซึ่งได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 ก็ใช้เงินกองทุนชดเชยให้อาร์เอสกว่า 427 ล้านบาท เมื่อรวมกับครั้งนี้มีการอนุมัติเงินจากกองทุน กทปส. ให้ กกท. ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 อีก 600 ล้านบาท รวมใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาจากประกาศ Must Have ไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นการใช้เงินในการแก้ไขปัญหาหรือไม่?

ที่จริงหลายฝ่ายไม่ได้คัดค้านเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ที่ไม่เห็นด้วยนั่นคือเอาเงินของ กทปส.มาใช้ผิดประเภท เพราะวัตถุประสงค์ของกองทุนที่มุ่งเน้นในเรื่องของการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการให้เข้าถึงบริการ

ฟุตบอลโลกครั้งต่อไป 2026 ที่สหรัฐ แคนาดา เม็กซิโก เป็นเจ้าภาพ ครั้งนี้มี 48 ทีม (กาตาร์ 32 ทีม) เตะกัน 80 นัด ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาจะตามมาอีกมาก การแก้ปัญหาหาเรื่อง Must Have สามารถทำได้ดังนี้

1.สามารถยกเลิกได้และปล่อยให้กลไกการตลาดเป็นไปแบบเสรี โดยใช้กฎระเบียบและกฎหมายข้ออื่นๆ มีทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์ หรือเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา กสทช. ทำหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

2.ปรับหรือแก้ไขกฎ Must Have ให้เข้ากับบริบททางการตลาด และระบบนิเวศของสื่อ ณ ปัจจุบัน หากจะแก้ไขสามารถกำหนดได้ว่าให้ถ่ายทอดเฉพาะนัดพิธีเปิด รอบก่อนรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อลิขสิทธิ์ทั้ง 64 นัด

3.คงสภาพไว้ เป็นกรณีที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะจะเกิดการใช้วิธีพิเศษในการแทรกแซงเข้ามาใช้งบประมาณจากฝ่ายการเมืองอยู่ตลอดเวลา และทำให้มูลค่าที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ดร.สิขเรศ เสนอแนวคิดว่า หากจะรัฐต้องการจะเข้ามาอุดหนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬา ควรตั้งงบประมาณของกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปเลย เพราะทราบอยู่แล้วว่าในแต่ละรอบปีจะมีมหกรรมกีฬาอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือจะใช้เป็นนโยบายหาเสียงก็สามารถทำได้ เพราะหากตั้งเป็นงบประมาณจะเป็นกลไกที่ถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา หรือมีการมอบหมายให้ชัดไปเลยในหน่วยงานบริการสาธารณะของรัฐ กำหนดให้มีหน้าที่ไปประมูลหรือทำสัญญาในการซื้อลิขสิทธิ์ป้องกันการสับสน

ถกกันให้ได้ข้อยุติ

ไม่ต่างไปจากมุมมองของนักวิชาการด้านสื่ออีกรายที่กล่าวว่า เชื่อว่าฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้สำหรับประเทศไทยคงเป็นไปแบบนี้จนจบการแข่งขัน และต้องยอมรับความจริงว่ากฎ Must Carry ของ กสทช.ไม่สามารถบังคับใช้ได้ทุกกรณี รวมไปถึงการให้เงิน 600 ล้านบาทแล้วขอคืน ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นกับหน่วยงานของ กสทช.

สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือเมื่อฟุตบอลโลกครั้งนี้จบ เกรงว่าเรื่องจะเงียบเหมือนครั้งก่อนๆ รอใกล้ฟุตบอลโลกครั้งใหม่ใกล้มาถึงค่อยมาพูดกันอีกที ถ้าเป็นแบบนี้ปัญหาก็จะกลับมาเหมือนเดิม

อย่าลืมว่าปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2014 ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงวันนี้ ฟุตบอลโลกครั้งหน้า 2026 เพิ่มทีมเป็น 48 ทีมเตะ 80 นัด ค่าลิขสิทธิ์จะเป็นเท่าไหร่

เรื่องแบบนี้ต้องชัดว่าจะเอาอย่างไร กสทช.ก็ต้องมาถกกันว่าบอลโลกต้องถ่ายหรือไม่ ต้องอยู่ใน List ของ Must Have หรือไม่ ถ้าตัดเรื่องบอลโลกออกได้เรื่อง Must Carry ก็จะไม่เป็นปัญหา แล้วทุกอย่างจะเดินไปตามแนวทางที่ควรจะเป็น คือเอกชนสามารถเข้ามาร่วมประมูลลิขสิทธิ์ได้เหมือนเดิม ไม่มีอุปสรรคในการทำตลาดอีกต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่การประมูลลิขสิทธิ์อาจไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดครบทุกนัด โดยอาจเลือกเฉพาะรอบน็อกเอาต์เป็นต้นไปก็ได้

ที่จริงเรื่องนี้มันอยู่ที่วิธีบริหารจัดการ เอกชนซื้อมั้ย หรือรัฐจะซื้อเอง ต้องครบทุกนัดมั้ย หรือเริ่มที่นัดสุดท้ายของรอบแรก การเลือกแพกเกจต่างๆ จะมีผลต่อราคาทั้งสิ้น เดิมเรามี TV Pool แต่ดูเหมือนระยะหลังนี้ระบบนี้ไม่ค่อยแข็งแรง ถ้าไม่แข่งกันซื้อลิขสิทธิ์ หรือซื้อเนิ่นๆ ราคาก็จะไม่แพง

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH





กำลังโหลดความคิดเห็น