ใกล้ถึงวันที่ศาล รธน.จะวินิจฉัยชี้ขาด ‘กฟผ.’ ผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 51% ขัด รธน.หรือไม่? ลือสะพัดต่างฝ่ายต่างวิ่งฝุ่นตลบ ขณะที่ตุลาการศาล รธน.ระมัดระวังตัว ไม่ยอมให้กลุ่มใดพบ ทั้งที่ปิดลับ-สนามกอล์ฟ แต่แสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงรอบด้าน ส่วนสหภาพรัฐวิสาหกิจ ไฟฟ้า-ประปา เตรียมรวมพลเคลื่อนไหวถึงศาล รธน.-ประชาชน เพื่อรู้ถึงปัญหาหากปล่อยให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่อไป เป็นการขัด รธน. แถมซ้ำเติมประชาชนต้องเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเพราะค่าไฟฉุดไม่อยู่!
เรื่องกำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำกว่า 51% เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรค 2 หรือไม่? กำลังเป็นเผือกร้อนในมือศาลรัฐธรรมนูญ ว่ากันว่าจะมีการวินิจฉัยชี้ขาดในราวสิ้นเดือนธันวาคมนี้ หรือในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค.2566 ซึ่งหลังจากที่ศาล รธน.ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาล รธน.2561 มาตรา 27 วรรค 3 สั่งการให้ รมว.พลังงาน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ.และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำความเห็นตามประเด็นที่ศาล รธน.กำหนดเสนอมาแล้วนั้น เริ่มมีข่าวลือกันในแวดวงพลังงานและในไลน์กลุ่มวิศวกรไฟฟ้าที่สังกัด กฟผ. กฟน. กฟภ. กระทรวงพลังงาน และภาคเอกชน ว่าผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.จะออกมาในทิศทางเสียงข้างน้อย 6 ต่อ 3 ‘ขัด รธน.’
ตรงนี้ก็แปลว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 แม้ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐจะลดลง ปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังผลิตอยู่ที่ 32% จนเหลือ 1% ก็ตาม เนื่องเพราะเป็นการตีความแบบแยกส่วน นั่นคือกำลังผลิตไม่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างหรือโครงข่ายสาธารณูปโภคไฟฟ้าตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่หน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ กกพ.ได้ส่งความเห็นไปศาลแล้ว
“ในความเป็นจริง ยิ่งกำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลง แต่สัดส่วนไปเพิ่มให้ภาคเอกชนมากเท่าใด จะเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนจะต้องจ่ายค่าใช้ไฟแพงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องรับรู้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา”
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน บอกว่า ศาล รธน.ได้มีการสอบถามความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับแวดวงพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะศาล รธน.ต้องการพิจารณาด้วยความรอบคอบ และต้องอธิบายถึงเหตุผลต่างๆ ว่าทำไม? ถึงวินิจฉัยเช่นนี้ ส่งผลให้กลุ่มวิศวกรไฟฟ้าเริ่มมีความหวังที่จะพลิกมติจากเสียงข้างน้อยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ให้มาเป็นเสียงข้างมากว่าขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการขอข้อมูลตัวเลขที่เกี่ยวข้องย้อนหลังเรื่องกำลังผลิต โครงสร้างการลงทุน และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้ง กฟผ.เป็นต้น
“ใครเป็นเพื่อนกับใครที่เป็นตุลาการศาล รธน. ก็พยายามจะต่อสาย พูดง่ายๆ วิศวกร กฟผ.คอยเช็กว่าแนวโน้มตุลาการจะตัดสินไปทางไหน บริษัทเอกชนเองก็วิ่งกันให้วุ่น เพราะข่าวลือมันมีหลายทิศทาง เอกชนกลัวว่าถ้าเสียงส่วนใหญ่บอกว่าขัด รธน.จะมีปัญหามากมายตามมา ซึ่งกำลังจะมีการประมูลอีก 5 พันเมกะวัตต์ จะเป็นปัญหาได้ แต่ถ้าไม่ขัด เอกชนไม่เดือดร้อน มีแต่จะสดใสเพิ่มขึ้น ส่วน กฟผ. กฟน. กฟภ.ทำตามหน้าที่กันต่อไป ประชาชนก็ใช้ไฟแพงขึ้นเท่านั้นเอง”
แหล่งข่าวบอกอีกว่า จากการพูดคุยทำให้รู้ว่าตุลาการศาล รธน.ระมัดระวังตัวมากๆ จะไม่ไปพูดคุยกับใคร หรือให้กลุ่มใดพบในที่ปิดลับ หรือไปตีกอล์ฟกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเด็ดขาด โดยเฉพาะบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน เพราะหากใครไปเห็นหรือนำเรื่องนี้ไปเปิดเผยจะทำให้ภาพลักษณ์ของตุลาการเสียหายอย่างยิ่ง ว่ากันว่าในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ตุลาการทั้ง 9 ท่าน จะมีการหารือกันภายในและอาจมีการส่งสำนวนความเห็นของแต่ละคนให้อ่านกัน แต่จะยังไม่มีการลงมติ
“อาจจะมีการลงมติในวันที่ 30 ธ.ค.หรือในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค.ปี 66 ช่วงเวลาตรงนี้ยิ่งทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเร่งใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อโน้มน้าวศาลตัดสินไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตัวเอง”
นอกจากนี้ การที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้เสวนา ประกอบด้วย นายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ นิด้า รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จากสถาบันนานาชาติสิรินธร ผศ.ประสาน มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค และนายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โดยในเวทีเสวนาได้ข้อสรุปชัดว่า การบริหารจัดการกิจการไฟฟ้าของรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีความผิดพลาด เอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน ปล่อยให้เอกชนมีสัดส่วนการผลิตมากขึ้นตามลำดับ จนถึงปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนทั้งที่ผลิตในประเทศและจากการนำเข้ามีกำลังผลิตไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 68 ขณะที่ กฟผ. ซี่งเป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการผลิตไฟฟ้าของรัฐกลับมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียงร้อยละ 32 ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 56
ที่สำคัญประเด็นความเห็นของ ศ.ดร.บรรเจิด ในวงเสวนา ว่าไปแล้วทำให้กลุ่มวิศวกรและประชาชนที่รับฟังรู้สึกมีความมั่นใจว่าศาล รธน.จะวินิจฉัยไปในมุมเดียวกับ ศ.ดร.บรรเจิด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและตีความแบบตรงไปตรงมาตามหลักกฎหมายมหาชน ว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ โดย ศ.ดร.บรรเจิด ตีความในประเด็นการบริหารจัดการกิจการไฟฟ้าว่า การพิจารณาความหมายของโครงสร้างและโครงข่ายต้องพิจารณาองค์ประกอบของกิจการสาธารณูปโภคนั้นๆ ควบคู่ไปกับเนื้อความ ตามมาตรา 56 ของ รธน.ปี 2560 วรรค 2 ที่ระบุว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้
ดังนั้น การดำเนินการของรัฐบาลที่ส่งผลให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในส่วนของระบบการผลิตไฟฟ้าเกินกว่าร้อยละ 51 ซึ่งกระทบต่อหลักประกันในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มวิศวกร กฟผ.บอกว่า จากข้อมูลเรื่องโครงสร้าง โครงข่ายโรงไฟฟ้าทุกประเภท รวมไปถึงกำลังผลิตไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิงที่เรามีอยู่ในมือทั้งของ กฟผ.และบริษัทเอกชนทั้งหมด ทำให้กลุ่มคนดังกล่าวเชื่อว่าจากนี้ไปพวกเราจะหยุดนิ่ง รอศาล รธน.วินิจฉัยชี้ขาดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะความเห็นของ ศ.ดร.บรรเจิด จุดประกายที่ทำให้กลุ่มวิศวกรกล้าและมีความหวังเพิ่มมากขึ้นว่าคำวินิจฉัยของศาล รธน.มีโอกาสจะเป็นไปในทิศทางที่ขัดรัฐธรรมนูญได้
“เราคุยกันแล้วว่าจะร่วมเคลื่อนไหวโดยกลุ่มสหภาพรัฐวิสาหกิจทั้งไฟฟ้า ประปา และอาจมีรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เข้ามาร่วมอีก เพื่อส่งข้อมูลและสัญญาณไปให้ศาลได้รับรู้ ก่อนจะมีคำวินิจฉัยออกมาว่าจะปล่อยให้สาธารณูปโภครัฐต้องกลายเป็นของเอกชนไม่ได้ เพราะนอกจากจะขัด รธน.แล้ว ยังจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน สาหัสมาก”
จากนี้ไปต้องจับตาการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันศาล รธน.ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ว่ากันว่าจะมีทั้งม็อบสหภาพลงถนน และขบวนการแบบใต้ดิน บนดิน เพื่อให้ตุลาการศาล รธน. มีคำวินิจฉัยออกมาว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญเรื่องกำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำกว่า 51% เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับพวกพ้องหรือประชาชนกันแน่ เพราะข่าวลือล่าสุดทุกฝ่ายยังพอมีความหวังจะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการได้อีก...จริงหรือไม่!?
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv