xs
xsm
sm
md
lg

ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 อีกหนึ่งบทเรียนที่ต้องเร่งแก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 แม้ได้มาแบบฉิวเฉียด แต่ทุกอย่างไม่จบ ดรามาการเมือง แถมคนดังอยากดูแบบ HD ขอออกอากาศแบบคู่ขนาน สบช่องสมาคมทีวีดิจิทัลร้อง กสทช.ต้องเท่าเทียม  ขอจับสลากถ่ายแบบคู่ขนานอีกรอบ เมื่อทุกอย่างลงตัวเงียบกริบ คนในวงการเผยทุกฝ่ายอ้างประชาชนทั้งนั้น แนะ กสทช.ถอดบอลโลกออกจาก Must Have ไม่งั้นมีปัญหาทุกครั้ง

กลายเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นระทึกสำหรับการที่ประเทศไทยจะได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เป็นเจ้าภาพมาแบบฉิวเฉียดก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้จะเปิดฉากเพียง 3 วัน โดยก่อนหน้านั้น ค่อนข้างชัดเจนว่าเรายังไม่สามารถหาเงิน 1,600 ล้านบาทมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ครั้งนี้ได้    ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าไทยอาจจะไม่ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในครั้งนี้

ท่ามกลางการรายงานข่าวของสื่อหลายสำนักว่า ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหลือเพียงไทยประเทศเดียวที่ยังไม่ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ แต่กลับพบว่าลาว และติมอร์ก็ไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก

ท้ายที่สุดประเทศไทยก็ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้มาได้ ทราบผลเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2565 ไทยได้ส่วนลดราว 400 ล้านบาท ต้องจ่ายราว 1,200 ล้านบาท ไม่รวมภาษีอีกราว 200 ล้านบาท

โต้โผหลักคือ พล อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานบอร์ดกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และประธานบอร์ดการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าฯ กกท. เงินก้อนหลัก 600 ล้านบาทได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.)

ที่เหลือเป็นภาคเอกชน กลุ่ม TRUE 300 ล้านบาท แยกเป็น TV Right 200 ล้านบาท สำหรับการออกอากาศทางช่อง True4U แบบ Exclusive (32 นัด) และอีก 100 ล้านบาท OTT Right สำหรับสิทธิในการออกอากาศทางเคเบิลทีวี True Vision และ OTT ผ่าน True ID

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มช้าง และ ปตท. รายละ 100 ล้านบาท บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ 50 ธนาคารกสิกรไทย 50 ล้านบาท บางจาก 50 ล้านบาท ปตท.โออาร์ 20 ล้านบาท ไทยออยล์ 20 ล้านบาท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ 10 ล้านบาท


สรยุทธ ขอ HD

หลายฝ่ายโล่งอกที่คนไทยได้ดูฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้ พร้อมด้วยสิ่งที่อยากรู้ว่าช่องไหนถ่ายทอดบ้าง ตามมาด้วยการจับสลากว่าช่องใดถ่ายทอดคู่ใดบ้างในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 แน่นอนว่าหลายๆ ช่องยังไม่ค่อยพอใจกับผลการจับสลากนัก

จากนั้นตามมาด้วยเรื่องของระบบในการออกอากาศแบบ SD และ HD ที่ให้ความคมชัดของภาพแตกต่างกัน โดยเพจสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ที่มีผู้ติดตามกว่า 3.5 ล้านคน ได้โพสต์เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2565 ว่า ซื้อแพงขนาดนี้ก็ควรได้ดูคุณภาพดีๆ หรือว่าไงครับ

ในฐานะประชาชนคนดูบอล เมื่อ กสทช.อนุมัติเงินกองทุน 600 ล้าน ให้การกีฬาฯ ซื้อลิขสิทธิ์ ‘บอลโลก 2022’ ก็น่าจะหาทางเจรจาให้ประชาชนได้รับชมการถ่ายทอด ‘ทุกนัด’ ด้วยคุณภาพระดับ HD (High Definition : ความคมชัดสูง)

การที่ ‘ทรูช่อง 24’ ได้สิทธิถ่ายทอดสด 32 คู่ เป็นช่อง SD (Standard Definition) ซึ่งการได้สิทธิถ่ายทอดสดแบบ Exclusive ช่องเดียว ก็เท่ากับคนทั่วไปจะได้ดูถ่ายทอดในคุณภาพความคมชัดระดับ SD เท่านั้น เช่นเดียวกับคู่ที่ช่อง SD อื่นๆ ได้ถ่ายทอดช่องละ 2 นัด

ถ้าเกรงเป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้งกับ ‘ทรู’ สปอนเซอร์ใหญ่ ก็ให้ถ่ายสดคู่ขนานกับช่อง HD ของรัฐก็ได้ ทั้ง NBT ททบ.5 หรือไทยพีบีเอส (ซึ่งกำลังจะทดลองระบบ 4K พอดี)

ส่วนกรณี TrueVisions ได้ถ่ายทอดทุกคู่ในระบบ HD (หรืออาจจะมี 4K ด้วย) อันนี้คนเป็นสมาชิกอยู่แล้วก็ดูได้โดยไม่เสียเงินเพิ่ม แต่คนไม่ได้เป็นสมาชิกล่ะ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องดู SD

คงไม่มีใครบอกนะครับว่ามีให้ดูฟรี ยังไงก็ดูไปเถอะ

ทั้งนี้ ผู้โพสต์ได้เข้ามาโพสต์ข้อความในช่องความคิดเห็นว่า โพสต์นี้ผมเสนอให้ใช้ช่อง HD ความคมชัดสูงของรัฐถ่ายคู่ขนาน เพื่อประโยชน์คนดูฟรี ไม่เกี่ยวอะไรกับช่อง 3 เพราะผมไม่ใช่เจ้าของช่อง และนี่เป็นเพจส่วนตัว ถ้าใครพูดถึงช่อง 3 ทำไมไม่จ่ายอีก ผมบล็อก เพราะถือว่าไม่ได้ถกตามหัวข้อครับ

โพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง

อดิศักดิ์ เนชั่น-เท่าเทียม

ความคิดเห็นของผู้ประกาศข่าวคนดังถูกสานต่อโดยนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการสมาคมทีวีดิจิทัล และที่ปรึกษา บริษัท เนชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง เมื่อ กกท.กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ทำให้เรื่องต่อๆ มาผิดไปกันใหญ่ เช่น 17 ช่องที่แสดงความจำนงถ่ายทอดสด จับสลาก 32 คู่หลังจากทรูเลือกแล้ว แต่การจับแบ่งเป็นรอบๆ ทำให้สุดท้ายที่แย่ที่สุดคือช่อง 7 PPTV 9MCOT ที่เป็น HD ได้สิทธิถ่ายทอดสดช่องละ 1 คู่เท่านั้น ในขณะที่มีบางช่องได้ 3 คู่ 2 คู่

รวมๆ แล้วมีช่อง HD รวมทีวีสาธารณะ 10 ช่องที่ได้สิทธิถ่ายทอดสด รวมๆ กันไม่น่าเกิน 20 คู่จาก 64 คู่ ทั้งที่ถ้าใช้เกณฑ์ 64 คู่กับช่องแจ้งความจำนงแบบ HD 10 ช่อง (ทีวีธุรกิจ 7 ช่องช่อง 3 ช่อง 7 9MCOT One31 AmarinTV PPTV Thairath TV และทีวีสาธารณะ 3 ช่อง NBT TPBS Ch5) ช่องแบบ HD น่าจะได้ถ่ายช่องละ 3-4 คู่ รวมๆ แล้วจะเกินครึ่ง

พร้อมเดินทางไปยื่นเรื่องให้ กสทช.เพื่อวินิจฉัยว่า กกท.ได้มอบสิทธิการถ่ายทอดสดให้ช่องทีวีดิจิทัลอย่าง "ทั่วถึง-เท่าเทียม" หรือไม่ เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565


ขอถ่ายคู่ขนาน

การได้ลิขสิทธิ์มาไม่ได้ทำให้ทุกอย่างจะราบรื่น เนื่องจากที่มาของเงินที่ใช้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากหลายส่วน โดยเฉพาะเงินจาก กสทช. 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสมทบจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการในฐานะเจ้าของเงินออกมาทวงสิทธิดังกล่าว เริ่มจากความคมชัด เข้ามาสู่ความเท่าเทียม

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อ 21 พ.ย. ได้รับหนังสือจากสมาคมทีวีดิจิทัล แล้ว กสทช.ได้หารือกับ กกท. ในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ และขอความร่วมมือ ‘ทรู’ ให้คืนโควตาถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 16 นัด จาก 32 นัด กลับมาให้ กกท. นำมาจัดสรรให้ทีวีดิจิทัล ถ่ายทอดสดแบบ ‘คู่ขนาน’ กับช่องทรู ซึ่งทรูไม่ขัดข้อง และทาง กสทช.ได้แจ้งสมาคมทีวีดิจิทัล ซึ่งทางสมาคมพอใจกับข้อสรุปนี้

ทรูยอมให้ก่อนรอบ 16 ทีม

22 พฤศจิกายน 2565 ทรูออกแถลงการณ์ ดร.ธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูตระหนักถึงเจตนารมณ์ของภาครัฐที่ต้องการให้คนไทยได้รับชมฟุตบอลโลก ซึ่งต้องขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง กกท. และ กสทช. ที่ให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ พร้อมเปิดให้ภาคเอกชนในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขัน เพื่อนำความสุขมาให้คนไทยได้สนุกเต็มอรรถรสกับการรับชมฟุตบอลโลก 2022 ครบทั้ง 64 แมตช์

กลุ่มทรูยังยินดีที่จะมอบสิทธิถ่ายทอดสดการแข่งขัน 16 แมตช์ของฟุตบอลโลก 2022 ให้ช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ สามารถออกอากาศคู่ขนานกับช่องทรูโฟร์ยูในระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน

เมื่อทรูเปิดทางให้ทีวีดิจิทัลรายอื่นได้เข้าร่วมถ่ายทอดแบบคู่ขนาน ทางสมาคมทีวีดิจิทัลจึงจับสลากใหม่เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งทางทรูเปิดทางให้ถ่ายได้คู่ขนานได้ตั้งแต่ก่อนรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยเริ่มตั้งแต่นัดที่ 14 คู่อุรุกวัยพบกับเกาหลีใต้ เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565

เป็นอันว่าคลื่นลมในเรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเริ่มสงบลง ขณะที่ช่องทางในการรับชมรูปแบบอื่นเริ่มมีการปล่อยสัญญาณในบางช่องทาง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับอำนาจในการต่อรอง ถ้ารวมตัวกันและเป็นรายใหญ่อำนาจต่อรองย่อมสูงกว่า ซึ่งการเรียกร้องเน้นไปที่โทรทัศน์ภาคพื้นดินเป็นหลัก แต่เท่าที่ทราบกล่องดาวเทียมหลายแห่งเริ่มให้คำแนะนำผู้ใช้ว่าต้องรีสตาร์ทเครื่องเพื่อการรับชม


ฟุตบอลโลก 2022 อีกหนึ่งบทเรียน

แหล่งข่าวจากวงการทีวีดิจิทัลกล่าวว่า ที่เรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้วุ่นๆ จนมาถึงเรื่องการถ่ายทอดของแต่ละช่อง เพราะทุกฝ่ายมองเห็นช่องว่างที่มีอยู่ ฝ่ายการเมืองก็มองว่าการทำให้คนไทยได้ดูบอลโลกฟรีเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างคะแนนนิยม เงินที่ใช้ก็มาจากภาครัฐส่วนหนึ่ง และขอความร่วมมือจากเอกชนอีกส่วนหนึ่ง การเมืองฝ่ายตรงข้ามก็ต้องแสดงความไม่เห็นด้วย ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่ตัวเลือกนายกฯ จากเพื่อไทย หรือ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ก็ไม่เห็นด้วย

ขณะที่ กสทช.มีแผลจากการออกกฎ Must Have ที่เคยสร้างปัญหามาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2014 จนถึงปี 2022 ก็ยังไม่แก้ไขกฎเกณฑ์ที่เคยสร้างปัญหา จนถูกฝ่ายการเมืองใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดในอดีต ต้องรับผิดชอบต่อมติเดิมที่ผิดพลาดด้วยเม็ดเงินอุดหนุน แถมการไปดึงเอาเงินของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมาใช้ 600 ล้านบาท ทำให้มีการทวงสิทธิในเงินดังกล่าว รวมถึง Must Carry ที่ต้องออกทุกช่องทาง

รอบนี้ กสทช.ให้เงิน แต่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ปล่อยให้เอกชนทำข้อตกลงกันเอง และถ้าไม่ยกเลิกมติเรื่อง Must Have ที่ใส่รายการฟุตบอลโลกลงไปด้วยแล้ว กสทช.ต้องตามใส่เงินให้ฟุตบอลโลกทุกครั้ง กลายเป็นช่องทางของฝ่ายการเมือง

ขณะเดียวกัน ช่องทางในการรับชมรายการทีวีก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กฎระเบียบต่างๆ ที่เคยมีทันต่อยุคสมัยหรือไม่ เพราะการรับชมทุกวันนี้มีทั้งภาคพื้นดิน ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ กฎเดิมที่มีอยู่อาจไม่ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

ทุกฝ่ายอ้างประชาชนทั้งนั้น ไม่ว่าประชาชนที่อ้างมาจะชอบดูฟุตบอลหรือไม่ก็ตาม เพราะการได้ถ่ายทอดฟุตบอลโลกแต่ละคู่ย่อมมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั่นคือโฆษณา การแบ่งสัดส่วนกันมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่จะต้องไปทำข้อตกลงกัน

ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ปัญหาและอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้น ที่จริงถ้า กสทช.ถอดรายการฟุตบอลโลกออกจาก Must Have ทุกอย่างก็จบ ปล่อยให้ลิขสิทธิ์ครั้งต่อไปเป็นเรื่องของเอกชน ยิ่งประมูลล่วงหน้านานๆ ค่าลิขสิทธิ์จะยิ่งถูก

ที่จริงเอกชนที่ประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกหรือยูโรในครั้งต่อไป สามารถออกแบบได้ว่าจะเน้นไปที่ชมฟรีหรือเก็บเงิน สำหรับในประเทศไทยแล้ว Pay TV มีผู้ที่พร้อมจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วนิยมชมฟรี ดังนั้น หากรวมสปอนเซอร์หลายๆ รายแล้วประมูลลิขสิทธิ์มาแล้วทำตลาดร่วมกันน่าจะเป็นอะไรที่ลงตัวที่สุด

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH






กำลังโหลดความคิดเห็น