xs
xsm
sm
md
lg

3 สลากออมทรัพย์-รางวัลใหญ่ถูกยาก ออมสินหินสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารรัฐเสนอขายสลากออมทรัพย์รุ่น 2 ปีพร้อมกัน ออมสินเป็นตัวเดิมที่เพิ่มเงินรางวัล 10 ล้าน ธ.ก.ส.ออกสลากดิจิทัล หมุนเพิ่มเน้นกระจายรางวัล มอบรางวัลพิเศษปีละ 5 แสน 2 รางวัล ส่วน ธอส.เพิ่มรางวัลรอง แต่หน่วยละ 5 พันบาทเป็นอุปสรรคในการเข้าถึง คนออมสลากยอมรับรางวัลใหญ่ถูกยาก ต้องชิงกับอีกหลายคน แนะเลือกค่ายที่ชอบ บางทีเป็นเรื่องของดวง ซื้อค่ายนี้ถูกง่ายกว่าอีกค่าย

นอกเหนือจากการช่วงชิงเงินฝากของธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่เสนอโปรโมชันเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ไม่เสียภาษี ดอกเบี้ยสูง ออกมาพร้อมๆ กัน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เอกชนรายใหญ่ยังไม่ร่วมเปิดศึกชิงเงินฝาก

3 แบงก์รัฐพร้อมใจกันออกเงินฝากสำหรับวัยเกษียณ ด้วยระยะเวลาและดอกเบี้ยที่แตกต่างกันไป ออมสินออก 7 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.21% ธ.ก.ส.ออก 4 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.5% ธอส.ออก 2 ปีเศษ ดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.125%

ผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับเงินฝากและได้รับความนิยมจากผู้ที่ต้องการออมเงินแบบไร้ความเสี่ยงได้ลุ้นโชค แถมไม่กินทุน อย่างสลากออมทรัพย์ 3 ธนาคารรัฐก็พร้อมใจเสนอขายให้ผู้มีเงินออมได้เลือกลุ้นไปพร้อมๆ กัน

3 ค่ายพร้อมใจออกรุ่น 2 ปี

สลากออมสินเริ่มเปิดขายสลากได้สะดวกขึ้น จากเดิมในช่วงสถานการณ์โควิด เปิดขายเป็นรอบๆ หมดแล้วต้องรอรอบใหม่ เนื่องจากธนาคารไม่มีความจำเป็นการในการใช้เงิน ผลตอบแทนและเงินรางวัลปรับลดลง ตอนนี้ทุกอย่างคลี่คลายสามารถซื้อขายได้สะดวกขึ้น ผลตอบแทนสลากหรือดอกเบี้ยเป็นไปตามทิศทางตลาด เริ่มมีการเพิ่มรางวัลและดอกเบี้ยบ้าง เพิ่มเงินรางวัลที่ 1 เลขท้าย 4 ตัวและเพิ่มดอกเบี้ยสลาก

สลาก ธอส.มีรุ่นเกล็ดดาวพลัสออกมาตั้งแต่ 17 ตุลาคม 2565 เป็นการออกมาเพื่อทดแทนเกล็ดดาวรุ่นเดิมที่จะครบอายุ ค่าย ธ.ก.ส.เพิ่มปิดการขายสลากชุดเกษตรมั่งคั่ง 7 ไปรอบเดือนมิถุนายนและเดือนกันยายน 2565 เต็มอย่างรวดเร็ว แม้ไม่มีการปรับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ล่าสุด ธ.ก.ส. ออกสลากดิจิทัลอายุ 2 ปีออกมา เตรียมเปิดจำหน่าย 17 พฤศจิกายน 2565


เพิ่มลูกเล่นล่อใจ

ถือว่าสลากของ 3 ธนาคารรัฐออกมาเสนอขายพร้อมๆ กัน และเป็นสลากที่มีอายุ 2 ปีเหมือนกัน ทำให้เปรียบเทียบได้ค่อนข้างชัดกว่าสลากที่มีอายุต่างกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของรายละเอียดของสลากแต่ละค่าย

สลากออมสิน 2 ปีมีทั้งรุ่นดิจิทัลและปกติ ทุกอย่างเหมือนกัน ได้ปรับรางวัลที่ 1 เป็น 10 ล้านบาท (เดิม 5 ล้านบาท) เพิ่มเงินรางวัลเลขท้าย 4 ตัวเป็น 200 บาท (เดิม 50 บาท) และเพิ่มดอกเบี้ยสลากเป็น 0.075% (เดิม 0.05%) ตั้งแต่ 12 ตุลาคม 2565 ขายหน่วยละ 100 บาท ต้องซื้อสลาก 1 แสนบาท หากต้องการถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวทุกงวด รางวัลละ 20 บาท 1 ปี ได้เงิน 240 บาท

สลาก ธอส.รุ่นเกล็ดดาวพลัส ตัวนี้เปลี่ยนจากตัวเดิมคือ ดอกเบี้ยสลากเป็น 0.65% (เดิม 0.4%) เพิ่มรางวัลที่ 2 เป็น 1 แสนบาท (เดิม 5 หมื่นบาท) เพิ่มรางวัลที่ 3 เป็น 1 หมื่นบาท (เดิม 5 พันบาท) เพิ่มรางวัลที่ 4 เป็น 1 พันบาท (เดิม 500 บาท) เลขท้าย 3 ตัว 200 บาท (เดิม 100 บาท) เลขท้าย 2 ตัว 100 บาท (เดิม 50 บาท)

จุดเด่นของสลากรุ่นนี้คือรางวัลเลขท้ายสลับทั้ง 2 และ 3 ตัว ซึ่งทาง ธอส.ได้อธิบายถึงรางวัลเลขสลับไว้ว่า เลขสลับเลขท้าย 3 ตัว หมายถึงเลขที่สลับตำแหน่งกันจากเลขท้าย 3 ตัว ที่ออกในงวดนั้นๆ เช่น หากรางวัลเลขท้าย 3 ตัว ออก 345 รางวัลเลขสลับ 3 ตัว ได้แก่ 354 435 453 534 543 หรือหากรางวัลเลขท้าย 3 ตัว ออก 334 รางวัลเลขสลับ 3 ตัว ได้แก่ 343 433 เป็นต้น ทั้งนี้ หากรางวัลเลขท้าย 3 ตัวในงวดใดออกเป็นเลขซ้ำ 3 ตัว เช่น 555 ลูกค้าที่มีหมายเลขสลากตรงตามเลขท้ายที่ออกจะได้ทั้งรางวัลเลขท้าย 3 ตัว และรางวัลเลขสลับเลขท้าย 3 ตัวอีก 1 รางวัลด้วย

เลขสลับเลขท้าย 2 ตัว หมายถึงเลขที่สลับตำแหน่งกันจากเลขท้าย 2 ตัว ที่ออกในงวดนั้นๆ เช่น หากรางวัลเลขท้าย 2 ตัว ออก 12 รางวัลเลขสลับ 2 ตัว ได้แก่ 21 ทั้งนี้ หากรางวัลเลขท้าย 2 ตัว ในงวดใดออกเป็นเลขซ้ำ เช่น 55 ลูกค้าที่มีหมายเลขสลากตรงตามเลขท้ายที่ออกจะได้ทั้งรางวัลเลขท้าย 2 ตัว และรางวัลเลขสลับเลขท้าย 2 ตัวอีก 1 รางวัลด้วย

ถือว่าค่าย ธอส.ปรับรางวัลและดอกเบี้ยสูงกว่าเดิม แต่สลาก ธอส.มีข้อจำกัดในการเข้าถึง เนื่องจากกำหนดมูลค่าต่อหน่วยสูงมาก อย่างเกล็ดดาว หน่วยละ 5 พันบาท ถ้าต้องการถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัวทุกงวด (100 บาท+เลขสลับ 50 บาท) ต้องใช้เงินในการซื้อสลาก 5 แสนบาท

คนที่ซื้อสลากออมทรัพย์ส่วนใหญ่ถือว่าเป็นคนมีเงินออมในระดับหนึ่ง มูลค่าหน่วยละ 50 หรือ 100 บาทถือว่าเป็นตัวเลขที่เข้าถึงได้ง่าย สลากบางรุ่นยังเสนอขายกันที่ 20 บาทต่อหน่วยก็มี


ธ.ก.ส.เพิ่มรางวัลพิเศษ

ธ.ก.ส. เตรียมเปิดรับฝาก “สลากดิจิทัล ธ.ก.ส.” ผ่านแอปพลิเคชัน A-Mobile Plus เพื่อสนับสนุนการออมเงินและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เงินฝาก และสลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. แก่ลูกค้า และประชาชนทั่วไป ในราคาหน่วยละ 50 บาท วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท

เมื่อฝากครบ 2 ปี ได้รับดอกเบี้ยหน่วยละ 0.070 บาท หรือ 0.07% ต่อปี พร้อมลุ้นรางวัลที่ 1 สูงสุด 5 ล้านบาท และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 16 ล้านบาทต่อเดือน โดยจะเปิดรับฝากตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป สลาก ธ.ก.ส. ออกเป็นสลากดิจิทัล (ไม่มีใบสลาก) ซื้อผ่านแอปธนาคาร

พิเศษ ลุ้นรางวัลพิเศษมูลค่า 5 แสนบาท ปีละ 2 รางวัลในเดือนธันวาคม 2565 และธันวาคม 2566 รวมมูลค่า 2 ล้านบาท เงินรางวัลรวมสูงสุด 16.917 ล้านบาทต่องวด

รางวัลใหญ่หินสุดๆ

คราวนี้ลองมาพิจารณาเรื่องเงินรางวัลของสลากทั้ง 3 ค่ายยังคงให้ความสำคัญสูงสุดที่รางวัลที่ 1 ยกให้เป็นรางวัลที่มีมูลค่ามากที่สุด ออมสิน 10 ล้านบาท ธ.ก.ส. 5 ล้านบาท ธอส. 1 ล้านบาท ความแตกต่างของรางวัลที่ 1 แต่ละค่ายมีความแตกต่างกัน เกล็ดดาวของ ธอส. 1 ล้านบาทเป็นการออกรางวัลแบบหมวดต่อหมวด

สลาก ธ.ก.ส. จะมีการสุ่มหมวดกับอื่นอีก 59 หมวด ท่านจะได้ 5 ล้านบาทเมื่อหมายเลขสลากตรงกับเลขรางวัลที่ 1 และหมวดที่ท่านถือตรงกับหมวดที่สุ่ม แต่สลาก ธ.ก.ส.ยังมีรางวัลปลอบใจผู้ที่เลขสลากตรงกับรางวัลที่ 1 แต่หมวดไม่ตรง มูลค่า 3,000 บาท

สลากออมสิน เงินรางวัลสูงถึง 10 ล้านบาท และรางวัลที่ 2 เงินรางวัล 1 ล้านบาท แต่มีข้อกำหนดเรื่องงวดและหมวดอักษร ดังนั้น รางวัลใหญ่ของออมสินต้องลุ้นทั้งหมวดอักษรและงวด แน่นอนว่าต้องลุ้นมากกว่าค่าย ธ.ก.ส.หลายเท่า และไม่มีรางวัลต่างหมวดให้

เป็นเรื่องที่ตอบยากว่าสลากของค่ายใดคุ้มค่าหรือให้ผลตอบแทนสูงกว่ากัน เพราะสลากแต่ละค่ายออกมาแบบมาเพื่อหลบกันและกัน แต่ที่เหมือนกันทั้งหมดคือ การคุมต้นทุนในการออกสลาก ที่เหลือเป็นการใส่ลูกเล่นเข้าไป

ทั้ง 3 ค่ายให้รางวัลที่ 1 หลักล้านบาท มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่เงื่อนไขที่กำหนด รางวัลที่ 1 ที่ต้องสุ่มหมวดมี ธ.ก.ส. สลากออมสินสุ่มทั้งหมดและงวด (รางวัลที่ 1 และ 2) ธ.ก.ส.มีรางวัลต่างหมวดให้ 3 พันบาท ออมสินไม่มี ค่าย ธอส.ไม่สุ่มหมวดเพราะออกตรงหมวดต่อหมวด

อย่างรางวัลที่ 2 ค่าย ธ.ก.ส. หมุน 3 ครั้ง รางวัลละ 2 พันบาท ธอส.หมุน 4 ครั้ง รางวัลละ 1 แสนบาท มูลค่ารางวัล 2 ค่ายนี้ต่างกันมาก แต่ตัวรางวัลที่ 1 ของ ธ.ก.ส.สูงกว่า (สุ่มหมวด) และให้รางวัลที่ 1 ต่างหมวด

คนที่อยู่ในวงการสลากออมทรัพย์มาคงพอจะได้ยินเสียงบ่นเรื่องโอกาสในการถูกรางวัลที่ 1 กันมาบ้างว่ายากสุดๆ ยากยิ่งกว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล แถมคนที่ถูกรางใหญ่ไม่มีการเปิดเผยตัว บางคนซื้อมาหลายปีอย่างมากก็ถูกแค่รางวัลเลขท้าย และจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนการออมไปในรูปแบบอื่น

ที่จริงตัวสลากออมทรัพย์เป็นการผสมระหว่างการฝากเงินกับการลุ้นโชค เงินต้นไม่สูญเหมือนซื้อสลากกินแบ่ง แต่เงินรางวัลหรือผลตอบแทนอาจได้น้อยกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่มีทั้งผู้ที่เริ่มต้นเก็บออมและผู้ที่มีเงินออมอยู่แล้วแค่แบ่งมาลงทุนในสลากบ้าง

ที่ผ่านมา การกำหนดเงินรางวัลเป็นเรื่องของแต่ละธนาคารที่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของต้นทุนในการออกสลาก คนที่เข้ามาซื้อสลากออมทรัพย์ส่วนใหญ่ไม่เน้นเรื่องการถูกรางวัลใหญ่เพราะทราบกันดีว่าเป็นเรื่องยาก แต่หลายคนหวังที่จะถูกเลขท้ายพอให้รู้สึกดีแม้จะได้เพียง 10 หรือ 20 บาทก็ตาม


สนอเพิ่มโอกาสถูกรางวัล

ที่จริงผู้ออกสลากน่าจะลองลดเงินรางวัลสลากลง แล้วเพิ่มจำนวนครั้งในการหมุนรางวัลให้เพิ่มขึ้น เช่น รางวัลที่ 2 เดิมหมุน 1 ครั้ง รางวัลละ 1 แสนบาท น่าจะลองปรับมาเป็นหมุน 5 ครั้ง รางวัลละ 2 หมื่นบาท จากเดิมจะมีคนถูก 1 คน ก็จะกลายเป็นถูก 5 คน ถือเป็นการกระจายรายได้กันไป

อย่างตอนนี้เริ่มสังเกตเห็นว่าสลากของ ธ.ก.ส.ตัวล่าสุดออกแบบมากระจายรางวัลมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่รางวัลที่ 2 ลงมา หมุน 2 ครั้ง รางวัลละ 2,000 บาท รางวัลที่ 3 หมุน 10 ครั้ง รางวัลละ 1,000 บาท รางวัลที่ 4 หมุน 20 ครั้ง รางวัลละ 400 บาท รางวัลที่ 5 หมุน 100 ครั้ง รางวัลละ 300 บาท รูปแบบนี้จะช่วยให้คนซื้อมีโอกาสถูกรางวัลมากขึ้น แม้ว่าจะได้เงินรางวัลค่อนข้างน้อยก็ตาม

ทุกอย่างอยู่ที่การออกแบบว่าเป้าหมายต้องการอะไร สลากออมทรัพย์ของธนาคารรัฐเป้าส่งเสริมการออม รัฐได้เงินต้นทุนต่ำในไปปล่อยสินเชื่อ ในเมื่อการออกรางวัลสลากไม่ได้เพิ่มต้นทุนให้สูงไปกว่าที่กำหนด เทคนิคการกระจายรางวัลเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสของการถูกรางวัลให้มากขึ้น แม้ผลตอบแทนต่อรางวัลจะน้อยลงไปบ้าง แต่จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยกระจายรายได้ให้ผู้ฝากมากยิ่งขึ้น

รูปแบบนี้อาจถูกใจลูกค้าสลากบางกลุ่มและอาจไม่ถูกใจบางกลุ่ม เพราะบางคนก็ชอบสลากที่ให้เงินรางวัลสูง แม้ว่าจะมีโอกาสถูกน้อยก็ตาม การที่สลากแต่ละรุ่นมีเงินรางวัลสูงแต่กระจุกตัวหรือให้รางวัลต่ำแต่กระจายออกไป ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ออม

ดวงสมพงษ์

หนึ่งในผู้เน้นลงทุนในสลากออมทรัพย์ของธนาคารรัฐกล่าววว่า บางทีก็เป็นเรื่องแปลกสำหรับผู้ที่ซื้อสลาก บางคนมีดวงกับค่ายนี้ ถูกบ่อย แต่พอไปซื้อค่ายอื่นไม่เคยถูกรางวัลดีๆ แม้ว่าสลากบางรุ่นของค่ายที่เขาชื่นชอบจะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าค่ายอื่น แต่ยังเลือกที่จะออมผ่านสลากเจ้าเดิมอยู่ กลายเป็นเรื่องของดวงที่สมพงษ์กันระหว่างผู้ซื้อกับธนาคารที่ออกสลาก

สลากออมทรัพย์เป็นสลากที่ไม่กินทุน หลายคนจึงชอบ แม้ผลตอบแทนทั้งดอกเบี้ยและเลขท้ายจะต่ำ แต่ไปหวังรางวัลใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถูก สลากประเภทนี้ล้วนเป็นของธนาคารรัฐด้วยกัน การออกแบบและรายละเอียดของสลากมักจะหลบกัน ไม่มีใครเด่นกว่าใครมากนัก

ดังนั้น จะกวาดทั้ง 3 ค่าย หรือจะเลือกซื้อบางค่ายก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคล บางคนมีดวงกับค่ายใดค่ายหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ยอมย้ายค่ายก็มี ทั้งๆ ที่ผลตอบแทนและโอกาสในการถูกรางวัลต่ำกว่า แต่อย่าลืมว่าเรื่องสลากมักมีเรื่องของดวงเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH





กำลังโหลดความคิดเห็น