ธนาคารรัฐดาหน้าออกเงินฝากไม่เสียภาษี เน้นกลุ่มเข้าวัยเกษียณฝากยาว ชิงจังหวะล็อกเงินก่อน ดอกเบี้ยขยับเรื่อยๆ นักการเงินเตือนออมทรัพย์ไม่เสียภาษี สรรพากรให้ไม่เกิน 2 หมื่นบาท ตอนนี้หลายโปรฯ เกิน 2% ถ้าฝากหลายๆ บัญชีดอกเบี้ยรับอาจเกิน โดนเก็บภาษี 15% คาดแบงก์พาณิชย์ลงสนามปีหน้า แบ่งเงินออม-กระจายให้ดี
สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีนัดพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายของปี 2565 จากการปรับดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง 10 สิงหาคม 2565 นับเป็นครั้งแรกที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเริ่มขยับเป็นขาขึ้น ตามมาด้วย 28 กันยายน 2565 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 0.5% ขยับขึ้นครั้งละ 0.25% จนมาอยู่ที่ 1% คาดว่า 30 พฤศจิกายนนี้ กนง.น่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นอีก 0.25% จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปี 2565 นี้จะอยู่ที่ 1.25%
นับเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนสำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงและค่าเงินในประเทศอ่อน จากการสู้รบในยุโรป ราคาพลังงาน สินค้าหลายชนิดขาดแคลน
สถาบันการเงินต่างๆ ก็คาดการณ์ในลักษณะเดียวกัน ทุกแบงก์เริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 ขาทั้งฝากและกู้ หลายแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยน้อยกว่ารายใหญ่ เพื่อเป็นทั้งการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ประคองให้ลูกหนี้ที่เพิ่งผ่านวิกฤตโควิด แถมมาเจอปัญหาค่าครองชีพให้ฝ่ามรสุมร่วมกันไปให้ได้ และช่วยลดโอกาสของการเป็นหนี้เสียของแบงก์ลงได้
ฝั่งเงินฝากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเลือกที่จะปรับดอกเบี้ยหลักที่มีอยู่ เช่น อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ฝากประจำ และดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่างๆ ส่วนโปรโมชันเรื่องระดมเงินฝากนั้นมีเพียงธนาคารรัฐที่เริ่มมีให้เห็น ส่วนธนาคารพาณิชย์เอกชนมีเพียงธนาคารเล็กที่พอจะมีโปรโมชันออกมาบ้าง
ปรับขึ้นผลตอบแทนสลาก
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลักของธนาคารรัฐคือสลากออมทรัพย์ อย่างสลากออมสินได้ประกาศปรับเพิ่มเงินรางวัลที่ 1 ของสลาก 2 ปีเป็น 10 ล้านบาท (เดิม 5 ล้านบาท) เพิ่มเงินรางวัลเลขท้าย 4 ตัว เป็น 200 บาท (เดิม 50 บาท) ดอกเบี้ยกรณีไม่ถูกรางวัลจาก 0.05% เพิ่มเป็น 0.075% ฟังแล้วดูดี
คนเล่นสลากออมทรัพย์ย่อมพอจะทราบดีว่าสลากของ ธ.ก.ส.รางวัลที่ 1 ก็ให้ 10 ล้านบาทอยู่แล้ว ต่างแค่เป็นสลาก 3 ปี แต่ถ้าไปเทียบกับรางวัลเลขท้าย 4 ตัวและดอกเบี้ย ตอนนี้ออมสินให้มากกว่า เพราะสลาก ธ.ก.ส.ยังเป็นรุ่นเดิมที่ออกมาก่อนดอกเบี้ยจะปรับขึ้น
หลายคนอาจกล่าวถึงสลากของธนาคารอาคารสงเคราะห์น้อย ทั้งๆ ที่ค่ายนี้มักให้ดอกเบี้ยกรณีไม่ถูกรางวัลสูงกว่าอีก 2 เจ้า เช่น สลากวิมานเมฆ PLUS ให้ดอกเบี้ย 1.45% แต่เนื่องจากมูลค่าต่อหน่วยของสลาก ธอส.สูง ทำให้หลายคนเข้าถึงยากหรือหากต้องการถูกรางวัลเลขท้ายต่ำสุดต้องใช้เงินที่สูงกว่าสลาก 2 เจ้า
พร้อมใจเงินฝากวัยเกษียณ
ในช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสของผู้ที่มีเงินออม หลังจากที่ต้องอดทนกับสภาพดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาหลายปี เริ่มมีโปรโมชันเงินฝากเสนอดอกเบี้ยที่สูงกว่าเดิม เท่าที่เห็นตอนนี้เป็นโปรโมชันเงินฝากของธนาคารรัฐเป็นหลัก ธนาคารพาณิชย์เอกชนมีบ้าง ส่วนใหญ่เป็นธนาคารขนาดเล็ก ธนาคารออมสินน่าจะมีโปรโมชันเงินฝากออกมามากที่สุดในเวลานี้
น่าสังเกตว่าธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่ง มีบัญชีเงินฝากสำหรับคนกลุ่มเข้าสู่วัยเกษียณ อายุ 55 ปีขึ้นไปทั้ง 3 แห่ง
เริ่มที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “เงินฝากออมทรัพย์ Freshy 55 Plus” รับดอกเบี้ยเป็นขั้นบันไดเป็นรายเดือนแบบจัดเต็มสูงสุดถึง 3.10% ต่อปี สำหรับคนรักการออมที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป เพียงเปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท
ตั้งแต่วันที่เปิดบัญชีถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 1.30% ต่อปี และตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566-31 ตุลาคม 2567 จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 3.10% ต่อปี รับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยรวมสูงถึง 2.125% ต่อปี (คำนวณจากวันสุดท้ายของการรับเปิดบัญชีและรับฝากเพิ่ม) พิเศษ!! ไม่เสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก
เงินฝากตัวนี้ออกมาช่วงวันที่ 9 กันยายน 2565 และหมดเขตไปเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระยะเวลาฝากราว 26 เดือน แต่ ธอส.มีเงินฝากออมทรัพย์ New Freshy ออกมาต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายน 2565 ลักษณะใกล้เคียงกับเงินฝาก 55 Plus สำหรับเงินฝากออมทรัพย์ New Freshy ให้ผลตอบแทนสูงสุดถึง 4.00% ต่อปี แบ่งเป็น ตั้งแต่วันเปิดบัญชี-วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566-1 ธันวาคม 2567 จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี และตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2567-2 มีนาคม 2568 จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 4.00% ต่อปี โดยรับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยรวมสูงถึง 2.11% ต่อปี (คำนวณจากวันสุดท้ายของการรับเปิดบัญชีและรับฝากเพิ่ม) เพียงเปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เปิดบัญชีและฝากเพิ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2565
ออมสินเกษียณ 7 ปี
ธนาคารออมสินออกผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อเกษียณมาหลายรุ่น ล่าสุดคือ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพื่อการเกษียณ 7 ปี เป็นเงินฝากระยะยาว รับฝาก 7 ปี สำหรับเก็บออมไว้ใช้ในยามเกษียณ รับฝากเฉพาะบุคคลธรรมดา เริ่มต้นฝากขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบ Step Up จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาที่ธนาคารกำหนด สูงสุด 10.00% ต่อปี ในปีที่ 7 คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.21% ต่อปี (ดอกเบี้ยไม่เสียภาษี) เทียบเท่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3.77% ต่อปี
ก่อนหน้านี้ ออมสินเคยออกเงินฝากเพื่อเกษียณ 10 ปีออกมาดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.45%(ไม่เสียภาษี) เริ่มที่ 1 แสนบาท สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท หมดลงอย่างรวดเร็ว ผู้สนใจต้องลงทะเบียนจองสิทธิก่อนเมื่อได้สิทธิแล้วจึงไปฝากเงินตามวัน สาขา และจำนวนเงินที่กำหนด
ส่วนเงินฝากทั่วไปออมสินมีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 13 เดือน มีระยะเวลาฝาก 13 เดือน รับฝากบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลทุกประเภท เปิดบัญชีขั้นต่ำ 10,000 บาท ไม่จำกัดวงเงินฝาก อีกทั้งยังให้ผลตอบแทนจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบ Step Up จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาที่ธนาคารกำหนด สูงสุด 4.50% กำหนดอัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1-6 = 0.75% ต่อปี เดือนที่ 7-12 = 1.00% ต่อปี และเดือนที่ 13 = 4.50% ต่อปี คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.15% ต่อปี (ผู้ฝากบุคคลธรรมดาดอกเบี้ยไม่เสียภาษี) ซึ่งเทียบเท่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1.35% ต่อปี
ธ.ก.ส.เกษียณมั่งคั่ง
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผลิตภัณฑ์ “เงินฝากเกษียณมั่งคั่ง 2565” เงินฝาก 4 ปีที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 4.75% ต่อปี บุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี รับดอกเบี้ยรายเดือน อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เป็นเงินฝากที่รองรับลูกค้าเดิม “โครงการเงินฝากเกษียณมั่งคั่ง 2561” (4 ปี) และเปิดรับกลุ่มที่เกษียณอายุและบุคคลธรรมดาที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ลูกค้ารายใหม่ เริ่มรับฝากตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 หรือธนาคารแจ้งปิดการรับฝาก ระยะเวลาโครงการ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เฉลี่ยทั้งโครงการร้อยละ 2.50 ต่อปี แยกเป็น
- ช่วงปีที่ 1 วันที่ 27 กันยายน 2565-วันที่ 30 กันยายน 2566 ร้อยละ 1.25 ต่อปี
- ช่วงปีที่ 2 วันที่ 1 ตุลาคม 2566-วันที่ 30 กันยายน 2567 ร้อยละ 1.50 ต่อปี
- ช่วงปีที่ 3 วันที่ 1 ตุลาคม 2567-วันที่ 30 กันยายน 2568 ร้อยละ 2.50 ต่อปี
- ช่วงปีที่ 4 วันที่ 1 ตุลาคม 2568-วันที่ 30 กันยายน 2569 ร้อยละ 4.75 ต่อปี
เตือนสติออมทรัพย์ไม่เกิน 2 หมื่น
ทีมงานวิจัยด้านเศรษฐกิจกล่าวว่า ตอนนี้โปรโมชันเงินฝากดอกเบี้ยสูงส่วนใหญ่ออกโดยธนาคารรัฐ แถมชูจุดขายไม่เสียภาษี เท่าที่เห็นธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีเงินฝากไม่เสียภาษีทุกแห่ง ในอนาคตธนาคารอื่นๆ ก็จะออกเงินฝากในลักษณะไม่เสียภาษีเช่นเดียวกัน
ผู้มีเงินออมจะต้องคำนึงถึงเรื่องของเกณฑ์กรมสรรพากรในการยกเว้นภาษีสำหรับเงินฝากออมทรัพย์ ไม่เกิน 2 หมื่นบาทให้ดี ไม่ใช่เพลินไปกับการหาแหล่งออมเงินแล้วดอกเบี้ยจากบัญชีออมทรัพย์รวมกันแล้วเกิน 2 หมื่นบาท ท่านจะต้องเสียภาษี 15%
ก่อนหน้านี้ ดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 0.25% หรือต่ำกว่านี้ ต้องมีเงินฝากออมทรัพย์รวมทุกบัญชีเกิน 8 ล้านบาท ส่วนใหญ่แล้วมักไม่มีใครแช่เงินในบัญชีออมทรัพย์มากขนาดนี้ จึงไม่มีเรื่องที่ต้องกังวลดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาท
แต่ตอนนี้แบงก์รัฐทั้ง 3 แห่งออกโปรโมชันเงินฝากออมทรัพย์ไม่เสียภาษี ให้ดอกเบี้ยสูง จึงต้องออกมาย้ำผู้มีเงินออมว่า ดอกเบี้ยจากบัญชีออมทรัพย์อาจเกินเกณฑ์ยกเว้นของกรมสรรพากรได้
“ง่ายๆ เงินฝากออมทรัพย์ไม่เสียภาษี ธนาคารให้ดอกเบี้ย 2.1% ระยะเวลาฝาก 2 ปี ผู้ออมมีเงินฝาก 1 ล้านบาท คำนวณออกมาแล้วก็เกิน 2 หมื่นบาท”
สำหรับผู้ที่แบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ เลือกฝากตามโปรโมชันที่มี หลักหมื่นบ้างหรือหลักแสนบ้าง ควรจดบันทึกไว้ว่าฝากบัญชีออมทรัพย์ที่ใดบ้าง เป็นเงินเท่าไหร่ เมื่อรวมทุกบัญชีแล้วดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาทหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจต้องเข้าเกณฑ์เสียภาษี 15% เช่นเดียวกับบัญชีเงินฝากประจำ ทำให้ท่านเสียประโยชน์ที่พึงได้ไป
แบ่งเงินออมไว้ปีหน้าบ้าง
เงินฝากที่ออกมานั้น ผู้มีเงินออมควรศึกษาเงื่อนไขและรายละเอียดให้ดีว่าท่านสามารถทำตามเงื่อนไขเหล่านั้นได้หรือไม่ เช่น ห้ามถอนก่อนกำหนด ไม่เช่นนั้นผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้สูง อาจลดลงได้หากการฝากเงินของท่านทำผิดเงื่อนไข
เงินฝากบางตัวกำหนดเงินฝากขั้นต่ำว่าเริ่มต้นที่เท่าไหร่ คุมเพดานเงินฝากว่าไม่เกินเท่าไหร่ หรือเรื่องการจ่ายดอกเบี้ย 1 ปี 2 ครั้ง หรือ 3 เดือนครั้ง หรือจ่ายทุกเดือน ตรงนี้ขึ้นอยู่กับผู้ออมว่าให้ความสำคัญแค่ไหน
นี่ยังเป็นเพียงแค่ธนาคารรัฐที่ออกโปรโมชันออกมา เชื่อว่าอาจมีความคึกคักในการระดมเงินฝากในปีหน้าของธนาคารพาณิชย์ และมีความเป็นไปได้ว่าดอกเบี้ยในปีหน้าอาจสูงกว่าปีนี้ (65)
ทิศทางของดอกเบี้ยยังปรับขึ้นได้อีก การออกมาแข่งขันกันชิงเงินฝากนั้นน่าจะเป็นการทยอยออกโปรโมชันเงินฝากออกมา ตอนนี้ธนาคารรัฐชิงจังหวะก่อน ในทางปฏิบัติแล้วธนาคารที่ออกโปรโมชันก่อนย่อมได้เปรียบที่ชิงลูกค้าและกำหนดดอกเบี้ยที่ไม่สูงนักได้ก่อน ส่วนจะได้ต้นทุนต่ำจริงหรือไม่ต้องไปว่ากันในอนาคต หากดอกเบี้ยตลาดในวันที่ครบกำหนดฝากสูงกว่าก็ถือว่าคุ้ม ส่วนโปรโมชันเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อาจต้องรอปีหน้า
ดังนั้น การแบ่งเงินออมทยอยฝากเงินตามโปรโมชันต่างๆ เพื่อเฉลี่ยให้ได้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนที่เริ่มฝากตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมย่อมทราบดีว่าตอนนั้นดอกเบี้ยที่เห็นถือว่าสูงจูงใจให้ฝากเงิน อย่างตอนนี้ต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 โปรโมชันเงินฝากเสนอดอกเบี้ยที่สูงกว่าเดือนกรกฎาคมอยู่พอควร
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv