“อดีต กกต.” ประเมิน 3 พรรคถูกยื่นยุบ ชี้ “เพื่อไทย” มีความเสี่ยงสูงสุด เหตุปรากฏชัด "ทักษิณ" ครอบงำพรรค ชี้ที่มาของเงินบริจาคคือจุดชี้เป็นชี้ตาย "พลังประชารัฐ" มั่นใจ “ก้าวไกล” ไม่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครอง ด้าน “รศ.ดร.พิชาย” ระบุวงในลือสนั่น ธุรกิจสีเทาบริจาคให้ พปชร. ที่แท้คนในปล่อยข่าวเองเพื่อให้พรรคระส่ำระสาย หวังดึง ส.ส.-สมาชิก ย้ายเข้าสังกัดพรรคใหม่ที่ตั้งไว้รองรับ "ผู้นำปริศนา" ลั่นพรรคเก่าไปต่อไม่ไหว!
ขณะที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ ได้เกิดปรากฏการณ์ “ยื่นยุบพรรค” หลายต่อหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกยื่นยุบพรรคเมื่อช่วงต้นปี 2565 นอกจากนั้น กลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านได้แถลงว่าเตรียมที่จะยื่นยุบพรรคภูมิใจไทยอันเนื่องจากนโยบายกัญชา แต่ได้เปลี่ยนใจในภายหลัง
ซึ่งหลายฝ่ายต่างอยากรู้ว่าพรรคการเมืองใดสุ่มเสี่ยงที่จะถูกยุบบ้าง? และหากถูกยุบจะส่งผลทางการเมืองอย่างไร?
ที่มาของเงินบริจาค
สุ่มเสี่ยงต่อการยุบ พปชร.
เริ่มจากการยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งยื่นเรื่องโดย นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ขอให้ กกต. ตรวจสอบกรณีที่พลังประชารัฐรับเงินบริจาค 3 ล้านบาท จากนายทุนชาวจีนเจ้าของบ่อนการพนันในรูปสถานบันเทิงย่านยานนาวา ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ใน 3 มาตรา คือ มาตรา 44 ที่ระบุว่า ห้ามพรรคการเมืองรับเงินหรือรับประโยชน์อื่นใดจากบุคคลที่ให้การสนับสนุนการทำลายความมั่นคงและทำลายเศรษฐกิจของชาติ มาตรา 72 ระบุว่า ห้ามพรรคการเมืองรับเงินหรือทรัพย์สินประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรรู้ว่าแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมาตรา 74 ระบุว่า ห้ามพรรคการเมืองรับเงินจากบุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย
ทั้งนี้ล่าสุด นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง เปิดเผยว่า จากการที่สำนักกิจการพรรคการเมืองได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า 1.ผู้บริจาคเป็นผู้มีสัญชาติไทย สามารถบริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้ 2.จำนวนเงินที่บริจาคอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด 3.ส่วนพรรคพลังประชารัฐ รู้หรือควรจะรู้ว่าแหล่งที่มาของเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นอยู่ในชั้นของการตรวจสอบและเสนอเรื่องมายังนายทะเบียนพรรคการเมือง
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า กรณีการยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐนั้น ผู้บริจาคได้สัญชาติไทยตั้งแต่ปี 2557 และบริจาคให้พลังประชารัฐในเดือน พ.ค.2564 ดังนั้น จึงไม่ขัด พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 74 แต่ประเด็นที่อาจจะเป็นปัญหาคือ มาตรา 72 คือ การที่พรรครับเงินบริจาคโดยที่รู้ หรือควรจะรู้ หรือมีข้อควรสงสัยว่าแหล่งที่มาของเงินมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันคนที่ประกอบธุรกิจสีเทา นำเงินซึ่งมีที่มามิชอบ เช่น จากบ่อน การค้าของเถื่อน การค้ายาเสพติดมาบริจาคให้พรรคการเมือง
ทั้งนี้ กกต.ต้องตรวจสอบว่าในปี 2564 นักธุรกิจจีนที่บริจาคเงินให้พลังประชารัฐทำธุรกิจอะไรบ้าง เพราะเท่าที่ทราบนักธุรกิจดังกล่าวมีบริษัทในประเทศไทยอยู่ 10 บริษัท ซึ่งในปี 2563-2564 บริษัทเหล่านี้ขาดทุนมาโดยตลอด ขาดทุนสะสมรวมแล้วเกือบ 200 ล้านบาท ดังนั้น การบริจาคเงินถึง 3 ล้านบาทให้พรรคการเมืองในช่วงที่บริษัทขาดทุนอย่างหนักจึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติ กกต.ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเงินที่บริจาคนั้นเป็นเงินที่มาจากธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดย กกต.สามารถขอข้อมูลบัญชีเงินเข้า-ออกจากธนาคารที่นักธุรกิจรายนี้เปิดบัญชีอยู่ หรือขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินของนักธุรกิจรายนี้
“ถ้าการตรวจสอบพบว่าเป็นเงินบริสุทธิ์ ในปี 2564 นักธุรกิจดังกล่าวประกอบอาชีพสุจริต การรับเงินบริจาคของพลังประชารัฐก็ไม่มีปัญหา ไม่เข้าข่ายที่จะถูกยุบพรรค แต่ถ้าพบว่าเป็นเงินที่มิชอบด้วยกฎหมาย มีการทำบ่อนมาตั้งแต่ปี 2564 กกต.อาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐได้ ซึ่งพรรคจะอ้างว่าไม่รู้ที่มาของเงินไม่ได้ เป็นหน้าที่ของกรรมการพรรคที่จะต้องตรวจสอบ เพราะหากเป็นเงินที่มิชอบด้วยกฎหมายคุณจะเดือดร้อน ต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ส่งผลให้ทั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2564 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต” รศ.สมชัย ระบุ
คนใน "พลังประชารัฐ" ปล่อยข้อมูล
กดดัน ส.ส. ย้ายเข้าพรรคใหม่
ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า กรณีของพลังประชารัฐนั้นประเด็นอยู่ที่ว่านักธุรกิจที่บริจาคเงินนั้นบริจาคก่อนการเปลี่ยนแปลงสัญชาติเป็นไทย หรือบริจาคหลังการเปลี่ยนแปลงสัญชาติเป็นไทย ถ้าเปลี่ยนสัญชาติแล้วจึงบริจาคก็ไม่เป็นไร ส่วนประเด็นที่มาของเงินบริจาคนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างคลุมเครือ ยากที่จะตรวจสอบพิสูจน์เนื่องจากแต่ละพรรคมีผู้บริจาคเงินสนับสนุนพรรคเป็นจำนวนมาก และจำนวนเงิน 3 ล้านบาทที่บริจาคก็ยังไม่ถึงเพดานสูงสุดที่กฎหมายกำหนด (10 ล้านบาท) อีกทั้งกฎหมายไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องตรวจสอบที่มาของเงินบริจาค
“ประเด็นนี้จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ากรรมการบริหารพรรครู้อยู่แล้วว่าคนที่บริจาคนั้นได้เงินมาจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.หรือผู้ที่ร้องให้ยุบพรรคที่จะพิสูจน์ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะกรรมการบริหารพรรคอาจจะบอกว่าเขาไม่รู้เพราะมีคนมาบริจาคเยอะ คือปกติแต่ละพรรคมีคนมาบริจาคนับพันนับหมื่นคน เขาไม่สามารถระบุได้หรอกว่าเงินที่บริจาคมาจากไหน แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่รับบริจาครู้อยู่แล้วว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบก็จะเป็นเงื่อนไขให้ถูกยุบพรรคได้ จึงยังฟันธงไม่ได้ว่าพลังประชารัฐจะถูกยุบหรือไม่” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือเรื่องที่มาของข้อมูลเกี่ยวกับเงินบริจาคที่นำไปสู่การยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหลายฝ่ายอดสงสัยไม่ได้ว่าข้อมูลนี้หลุดออกมาได้อย่างไร ใครเป็นคนเปิดประเด็นเรื่องนักธุรกิจจีนเจ้าของสถานบันเทิงซึ่งเกี่ยวพันกับการเปิดบ่อนเคยบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐถึง 3 ล้านบาท และเหตุใดข้อมูลนี้จึงถูกเปิดออกมาทันทีที่มีการจับบ่อนของนักธุรกิจรายนี้
รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า มีกระแสข่าวว่าเรื่องนี้เป็นเกมการเมืองภายในรัฐบาลเอง โดยมีเป้าประสงค์ทางการเมืองเพื่อจะยุบพรรคพลังประชารัฐ และบีบให้ ส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อสนับสนุนผู้นำทางการเมืองบางคน ไม่แน่ การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะอยู่ๆ เรื่องเงินบริจาคที่พัวพันกับธุรกิจสีเทาก็โผล่ขึ้นมาแบบกะทันหัน จึงเป็นเงื่อนไขให้คนตั้งข้อสงสัยได้
“ไม่รู้ว่าต้นตอของข้อมูลนี้มาจากไหน อยู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาเป็นข่าว ซึ่งคนที่รู้ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นคนในพรรคนั่นแหละ เพราะคนนอกจะรู้ได้ยังไงว่าใครบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐบ้าง บริจาคเท่าไหร่ เป็นไปได้ว่าจะปล่อยข่าวเพื่อเขย่าให้ ส.ส.และสมาชิกพรรครู้สึกว่าพลังประชารัฐไม่มั่นคง เพราะถ้ายื่นยุบพรรคแล้วศาลรัฐธรรมนูญเกิดรับเรื่องขึ้นมาก็ไม่แน่ใจว่าพรรคจะถูกยุบหรือเปล่า เพราะฉะนั้นย้ายไปพรรคที่กำลังตั้งขึ้นใหม่ดีกว่า พรรคนี้ตั้งขึ้นเพื่อเตรียมรองรับผู้นำการเมืองที่จะชูขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่เขายังไม่ตัดสินใจ” รศ.ดร.พิชาย ระบุ
เชื่อพรรคไปต่อไม่ไหว
รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า ตอนนี้ภายในพรรคพลังประชารัฐมีความเห็นเป็นสองทาง สมาชิกบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ มองว่าตอนนี้พรรคพลังประชารัฐขายไม่ได้แล้ว เพราะคะแนนนิยมลดลงเยอะ โดยคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าจะดีกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตกลงไปมาก จากปี 2562 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับคะแนนนิยมถึง 30-40% และคะแนนของ ส.ส.กว่าครึ่งหนึ่งในพลังประชารัฐก็ได้มาเพราะคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ปัจจุบันคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ลดลง เฉลี่ยทั้งประเทศเหลือแค่ 10% เท่านั้น ถ้าอยากกลับมาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องหาพรรคใหม่ที่ภาพลักษณ์ยังดีอยู่เพื่อรักษาฐานคะแนนของชนชั้นกลางที่เป็นกลุ่มอนุรักษนิยม การจะดึง ส.ส.หรือสมาชิกพลังประชารัฐให้ย้ายไปอยู่พรรคใหม่ต้องเขย่าพรรคเก่าให้สั่นสะเทือนเสียก่อน
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร คิดว่าพลังประชารัฐยังไปได้อยู่เลยเดินสายหาเสียงภายในพรรค ซึ่งเหตุที่เชื่อมั่นว่าพลังประชารัฐยังไปได้เพราะ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้สนใจคะแนนนิยมของผู้นำพรรค แต่สนใจแค่คะแนนของ ส.ส.เขต ก็จะมุ่งไปที่เครือข่ายหัวคะแนนและการหาเสียงในพื้นที่ โดยถ้าได้ ส.ส.เขตจำนวนหนึ่ง พลังประชารัฐอาจเป็นพรรคขนาดกลาง อันดับ 2 หรืออันดับ 3 ก็ถือว่ายังดีอยู่ เพราะในการจัดตั้งรัฐบาลและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นพลังประชารัฐยังมีแต้มต่อเนื่องจากมี ส.ว.อยู่ในมือ ดังนั้นความหวังที่พลังประชารัฐจะได้เป็นนายกฯ ก็ยังมี
ฟันธง “ก้าวไกล” ไม่ถูกยุบ
ส่วนกรณีการยื่นยุบพรรคก้าวไกล โดยพรรคไทยภักดี ซึ่งยื่นหนังสือให้ กกต.ตรวจสอบและดำเนินการยุบพรรค เหตุเพราะพรรคก้าวไกลนำเสนอนโยบายเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ เนื่องจากมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองพระประมุขของรัฐ อีกทั้งเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นโจทก์แจ้งความดำเนินคดีผู้ที่กระทำความผิดมาตรา 112 ถือเป็นการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนในอนาคตข้างหน้า ขณะที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ระบุไว้ชัดเจนพรรคการเมืองต้องไม่ปฏิบัติการใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
รศ.สมชัย เห็นว่า กรณีของพรรคก้าวไกลเป็นเพียงนโยบายที่จะเสนอแก้ไขกฎหมาย ซึ่งที่ผ่าน ม.112 เคยถูกแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง และขั้นตอนที่พรรคก้าวไกลจะแก้ไข ม.112 ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของสภา หากสภาไม่เห็นชอบก็ตกไป ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์หรือล้มล้างการปกครอง จึงไม่น่าจะเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ชี้ “เพื่อไทย” เสี่ยงที่สุด
ขณะที่กรณีการยื่นยุบพรรคเพื่อไทย โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา ซึ่งขอให้ กกต.ไต่สวน กรณี ส.ส.และอดีตผู้บริหารพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งเดินทางจากประเทศไทยไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอาจเข้าข่ายการให้บุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคเข้ามาชี้นำหรือครอบงำพรรค ตามมาตรา 28 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และเป็นความผิดตามมาตรา 92 (3) ที่นำไปสู่การยุบพรรค
รศ.สมชัย มองว่า กรณีนี้มีความสุ่มเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา นายทักษิณ ค่อนข้างจะมีอิทธิพลในการชี้นำความคิดของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเพื่อไทยนั้นน่ากลัวกว่าพรรคก้าวไกล เพราะหากมองอย่างตรงไปตรงมาจะเห็นภาพชัดเจนว่าหลายครั้งที่ นายทักษิณได้ให้ความเห็นพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการหรือคล้อยตาม อย่างไรก็ดี เรื่องขึ้นอยู่กับการหาหลักฐานของ กกต.
“ถ้าให้ผมวิเคราะห์ความเสี่ยงในการถูกยุบพรรคโดยมองจากหลักฐานที่น่าจะนำไปประกอบกับเนื้อหาของกฎหมายซึ่งเป็นข้อห้ามในการกระทำความผิดของพรรคการเมือง ผมมองว่าพรรคเพื่อไทยมีความเสี่ยงอันดับ 1 เนื่องจากเป็นการครอบงำจากบุคคลภายนอกอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด อันดับ 2 ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริจาคจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่มิชอบด้วยกฎหมาย อันดับที่ 3 คือ พรรคก้าวไกล ซึ่งน้ำหนักที่จะชี้ว่ามีความผิดน่าจะเบาที่สุด” อดีต กกต. กล่าว
ชี้วุ่นแน่หากยุบพรรคใกล้เลือกตั้ง
ส่วนหากพรรคหนึ่งพรรคใดถูกตัดสินยุบพรรคจะมีผลต่อการเมืองไทยอย่างไรบ้างนั้น รศ.สมชัย มองว่า ขณะนี้แต่ละพรรคคงจะมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้วว่าหากถูกยุบจะไปไหน อย่างไร แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมส่งผลให้พรรคที่ถูกยุบมีเอกภาพน้อยลง เนื่องจากแม้จะมีการตั้งพรรคสำรองไว้เพื่อให้ ส.ส.และสมาชิกพรรคสามารถย้ายเข้าไปสังกัดหากพรรคถูกยุบ แต่อาจจะไม่ได้ย้ายเข้าไปทั้งหมด บางคนอาจเปลี่ยนใจไปอยู่พรรคอื่น ขณะที่กรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองซึ่งทำให้พรรคสูญเสียบุคลากรที่มีฝีมือไป
“ถ้าตัดสินยุบพรรคก่อนการเปิดสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่มีปัญหา ผู้ที่จะลงสมัครสามารถหาพรรคใหม่ได้ ไม่มีใครได้รับความเสียหาย แต่ถ้าไปยุบพรรคหลังเปิดสมัครรับเลือกตั้งแล้วจะมีปัญหาเหมือนที่เกิดกับพรรคไทยรักษาชาติ อีกสัปดาห์หนึ่งจะเลือกตั้งแล้วก็ไปยุบเขา ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่สามารถย้ายพรรคได้ทัน ทำให้เสียสิทธิในการแข่งขัน ส่วนถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคหลังการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคที่ถูกยุบสามารถเข้าสังกัดพรรคใหม่ได้ภายใน 60 วัน แต่เกิดภาพการซื้อตัว ส.ส.กันวุ่นวาย” อดีต กกต.ระบุ