“พล.ท.ภราดร” ชี้กลาโหมมีกำลังพลส่วนเกินสูง เหตุนำภารกิจที่ไม่ใช่งานของกองทัพเป็นตัวตั้งในการจัดอัตรากำลังพล เพื่อสนองงานฝ่ายการเมือง แนะก่อนปรับลดคน ต้องปรับโครงสร้างการทำงาน เน้นภารกิจหลักคือการป้องกันประเทศ ลดงานด้านความมั่นคงภายใน การพัฒนาประเทศ การบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งไม่ใช่ภารกิจของกองทัพ โยกคนไปสังกัดหน่วยงานอื่น ระบุการตั้งอัตรากำลังแบบ Safety Factor เปิดช่องทำ “บัญชีผี” โกงเบี้ยเลี้ยง ค่าเสี่ยงภัย
ข้อมูลจาก globalfirepower.com พบว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีกำลังพลและบุคลากรทางทหารรวมแล้วถึง 456,000 คน ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบกับภารกิจทางการทหาร จึงก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงอัตรากำลังพลที่มีมากเกินไป และเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมจึงวางแผนลดกำลังพลมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดกระทรวงกลาโหมได้ประกาศว่ามีแผนจะปรับลดกำลังพลให้ได้ 5% และปรับลดทหารชั้นนายพล ตั้งแต่พลตรีถึงพลเอก ให้ได้ 50% ภายในปี 2570 โดยให้ "เกษียณตามชั้นยศ" ไม่ต้องรอให้อายุครบ 60 ปี และคัดกรองด้วยการประเมินประสิทธิภาพในการทำงาน
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่าแนวทางการเกษียณในลักษณะดังกล่าวอาจจะไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริงของกองทัพ เพราะการจะปรับลดกำลังพลอย่างมีประสิทธิภาพต้องย้อนกลับไปดูต้นเหตุที่ทำให้กองทัพมีกำลังพลส่วนเกินจำนวนมาก เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มองว่า แนวทางการปรับลดกำลังพลของกระทรวงกลาโหมนั้นถอดแบบมาจากกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่กองทัพต้องกลับมาดูโครงสร้างของตัวเองที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่ากำลังพลของกองทัพเยอะเกินไป เพราะทหารเอาภารกิจหลายอย่างไม่ใช่งานของกองทัพโดยตรงมาเป็นตัวตั้งในการจัดอัตรากำลังพล ขณะที่ภารกิจหลักของกองทัพคือการป้องกันประเทศ เป็นทหารอาชีพ ซึ่งโดยหลักสากลทั่วไปคือ การเตรียมความพร้อมของกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ในยามปกติ และสู้รบในยามเกิดภัยสงคราม มีอริราชศัตรูมารุกรานประเทศ แต่ทหารของกองทัพไทยถูกนำไปใช้ในภารกิจอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องความมั่นคงภายใน การปราบปรามยาเสพติด การค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อน งานด้านการพัฒนาประเทศ งานด้านการบรรเทาสาธารณภัย
ซึ่งในต่างประเทศนั้นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความมั่นคงภายในคือ ตำรวจ หรือพลเรือน โดยมีทหารเป็นฝ่ายสนับสนุน แต่ของไทยนั้น พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน กำหนดให้ทหารเป็นหน่วยงานหลัก โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) เป็นเลขาธิการ กอ.รมน. นอกจากนั้น ทหารยังเข้าไปช่วยงานด้านการบรรเทาสาธารณภัยและการพัฒนาประเทศ มีการนำเรื่องการพัฒนาประเทศมาใส่ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ทำให้ภารกิจของทหารงอกขึ้นมา และกองทัพเอาภารกิจเหล่านี้มาเป็นตัวตั้งในการจัดกำลังพลจึงทำให้กองทัพมีจำนวนกำลังพลมากมาย มากกว่าเนื้องานด้านการทหารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
พล.ท.ภารดร กล่าวต่อว่า หากจะให้การปรับลดกำลังพลให้มีประสิทธิภาพ กองทัพต้องมีความชัดเจนว่าทหารจะปฏิบัติงานด้านการป้องกันประเทศเป็นภารกิจหลัก ซึ่งกำลังพลที่ปฏิบัติงานจะไม่เยอะ ส่วนงานด้านความมั่นคงภายใน งานด้านการพัฒนาประเทศ และงานด้านการบรรเทาสาธารณภัย จะลดน้อยถอยลง เป็นแค่ฝ่ายสนับสนุน ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนว่ากำลังพลที่จำเป็นจริงๆ จะเหลือเท่าไหร่ กำลังพลที่ช่วยสนับสนุนภารกิจอื่นซึ่งไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพมีจำนวนเท่าไหร่ กำลังพลที่กินเงินเดือนแต่ไม่ได้ทำงานมีเท่าไหร่
สำหรับวิธีปรับลดกำลังพลนั้นหากเป็นนายทหารที่มีตำแหน่งสูงแต่ไม่มีงานทำ ให้เออร์ลี่ รีไทร์ โดยมีข้อเสนอที่จูงใจ ส่วนกำลังพลที่รับผิดชอบงานงานซึ่งไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ เมื่อกองทัพลดภารกิจเหล่านี้แล้วต้องถามความสมัครใจว่าอยากจะโยกไปสังกัดหน่วยงานอื่นหรือไม่ หากไม่อยากโยกย้ายต้องมีการประเมินผลงาน และถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ก็ต้องเออร์ลี่ รีไทร์ เพื่อลดกำลังพลส่วนเกิน ส่วนหน่วยงานที่จะโยกไปนั้นต้องมีลักษณะงานที่สอดคล้องกับทักษะของทหารรายนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กรมบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยนำชั้นยศไปเทียบกับระดับซีเพื่อกำหนดอัตราเงินเดือน ซึ่งทางด้านรัฐบาลอาจจะออกระเบียบหรือกฎหมายเพื่อเอื้อให้การโอนย้ายข้ามหน่วยงานเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันส่วนงานของกองทัพที่มีภารกิจหนักก็หนักจริงๆ แต่ส่วนงานที่มีภารกิจน้อยก็น้อยจริงๆ หรือแทบไม่มีงานเลย เช่น นายพลที่เป็นตำแหน่งหลัก ผู้บัญชาการกองพล หรือเป็น ผบ.หน่วยต่างๆ งานล้นมาก ขณะที่นายพล หรือระดับพลเอก ซึ่งเป็นที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นฝ่ายเสนาธิการ มีแต่โต๊ะ ไม่มีลูกน้อง เดินไปเดินมา กินเงินเดือนสูง พวกนี้เป็นไขมันส่วนเกิน ก็ต้องเออร์ลี่ รีไทร์ ซึ่งวิธีที่กองทัพจะลดกำลังพลโดยการประเมินประสิทธิภาพในการทำงานนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นต้องถามว่าคนที่ประเมินมีมาตรฐานที่คนส่วนใหญ่ยอมรับหรือไม่ และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ลำเอียงเพราะเป็นพวกพ้องหรือรักใคร่ชอบพอกัน” พล.ท.ภราดร กล่าว
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าประเทศไทยมีทหารระดับ “นายพล” มากเกินไปนั้น อดีตเลขาฯ สมช.ระบุว่า ตนก็คิดเช่นนั้น จะเห็นได้ว่ากองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก ส่งทหารไปรบในหลายประเทศ เขามีทหารระดับนายพลไม่ถึง 1,000 คน แต่กองทัพของไทยมีทหารระดับนายพลถึง 1,500-1,600 คน จริงๆ แล้วกองทัพไทยนั้นระดับนายพลควรจะเหลือแค่ 400-600 คนเท่านั้น ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไทยมีนายพลเยอะมาก คือ 1.ระบบอุปถัมภ์ และ 2.ทหารมีอำนาจมากเกินไป
ประเทศไทยเมื่อทหารขึ้นมามีอำนาจก็แต่งตั้งทหารขึ้นมากำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ อย่างงานด้านความมั่นคงภายในจริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของตำรวจกับมหาดไทย โดยมีทหารเป็นพี่เลี้ยง แต่ กอ.รมน.ของไทย ทหารเข้าไปเป็นหัวหน้าเสียเอง จากเมื่อก่อนทหารที่เข้าไปช่วยงาน กอ.รมน.เป็นตำแหน่งชั่วคราว แต่พอทหารเข้ากำกับดูแล กอ.รมน.ก็กลายเป็นตำแหน่งประจำ และให้อำนาจ กอ.รมน.กำหนดโครงสร้างอัตรากำลัง รวมถึงแต่งตั้งบุคลากรใน กอ.รมน.ด้วย ซึ่งจริงๆสามารถดึงบุคลากรจากตำรวจหรือมหาดไทยมาทำงานใน กอ.รมน.ได้ แต่กลายเป็นว่าบุคลากรใน กอ.รมน.เป็นนายทหารถึง 80-90% ซึ่งมีทั้ง กอ.รมน.ส่วนกลาง กอ.รมน.ภาค กอ.รมน.จังหวัด
สมัยก่อนทหารที่ทำงานใน กอ.รมน.จะควบ 2 ตำแหน่งทั้งงานในกองทัพและงานใน กอ.รมน. แต่ปัจจุบันหลายตำแหน่ง ทหารที่ทำงานใน กอ.รมน.ก็คนหนึ่ง ทหารที่ทำงานใน กอ.รมน.ก็อีกคนหนึ่ง โดยเอาทหารปฏิบัติการ ทหารผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่ตำแหน่งหลักใน รมน. ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดไขมันส่วนเกิน พอตำแหน่งเหล่านี้มีเป็น 100 กว่าอัตรา ก็เกิดนายพลเพิ่มขึ้นอีก 100 กว่าอัตรา แล้วต้องมีเงินประจำตำแหน่ง รถประจำตำแหน่ง เพิ่มขึ้นมา จากเดิมที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒินั่งอยู่เฉยๆ ก็ได้เงินตอบแทนน้อย พอมาเป็นผู้อำนวยการสำนักนโยบาย สำนักศูนย์ปฏิบัติการข่าว นอกจากจะได้เงินเดือนจากกองทัพแล้ว จะเงินประจำตำแหน่ง รถประจำตำแหน่ง จาก กอ.รมน.เพิ่มขึ้นมา และหากมีตำแหน่งใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้เงินค่าเสี่ยงภัยและได้เงินทวีคูณ คือ ถ้าเกษียณจะนำวันทวีคูณมาคำนวณเป็นจำนวนวันที่รับราชการ ทำให้ได้เงินเกษียณเยอะมาก
พล.ท.ภราดร กล่าวต่อว่า ระบบ Safety Factor หรือการตั้งอัตรากำลังเผื่อไว้ในกรณีที่มีภารกิจฉุกเฉินจะได้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองทัพมีกำลังส่วนเกินเยอะมาก เช่น แต่งตั้งให้ทหารเข้ามามีตำแหน่งใน กอ.รมน.ระดับภาค กอ.รมน.ระดับจังหวัด เพื่อให้ได้เงินพิเศษเพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นตำแหน่งที่ไม่มีความจำเป็น และบางครั้งเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต เช่น ทำบัญชีผี คือมีชื่อมีตำแหน่งใน กอ.รมน. แต่ไม่ได้ลงไปทำงานในพื้นที่จริง
"เวลาที่กองทัพตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาก็จะต้องเอากำลังพลเข้าไปใส่ แต่การประมาณการอัตรากำลังพลมีปัญหา คือ ปกติจะเผื่อ Safety Factor 10-20% เผื่อมีภารกิจฉุกเฉิน แต่เผื่อ Safety Factor เกินความจำเป็น เช่น หน่วยงานนี้มีกำลังพล 80 คน ก็ทำงานได้มีประสิทธิภาพแล้ว อาจจะเผื่อ Safety Factor อีก 10% แต่ผู้บังคับหน่วยบางคนกลับบรรจุกำลังพล 100 คนเลย อ้างว่าเผื่อ Safety Factor 20% แต่อีก 20% เป็นบัญชีผีเพื่อเอาพรรคพวกเพื่อนพ้องน้องพี่ฝากฝังมาเข้ามากินตำแหน่ง เพื่อเอาเงินเบี้ยเลี้ยง เอาค่าเสี่ยงภัย เอาวันทวีคูณตอนเกษียณ ผู้บังคับหน่วยบางคนก็เก็บเบี้ยเลี้ยงไว้เอง ลูกน้องไม่กล้าโวยวายเพราะไม่ได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่จริง แค่เอาชื่อมาใส่เพื่อให้ได้วันทวีคูณ" อดีตเลขาฯ สมช. กล่าว
พล.ท.ภราดร ระบุว่า หากกองทัพดำเนินการอย่างจริงจังเชื่อว่าจะสามารถลดกำลังพลลง 5% และลดจำนวนนายพลได้ 50% ตามเป้าหมายได้ภายในเวลา 3 ปี ไม่ต้องรอถึง 2570 ตามที่กองทัพกำหนด ซึ่งปัญหาหนึ่งของกองทัพคือทหารถูกนำมาใช้เพื่อภารกิจและเป้าหมายทางการเมือง ทำให้ทหารกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ทั้งที่ภารกิจหลักคือการป้องกันประเทศ เช่น ทหารมีภารกิจด้านการข่าวโดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศ แต่จริงๆ เป็นการข่าวที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐบาลซึ่งคือนักการเมือง ยิ่งทหารมาเป็นนักการเมืองเสียเองก็อาศัยคอนเนกชันระหว่างนายทหารระดับสูง อาศัยความเป็นพี่เป็นน้องสั่งการให้ทหารปฏิบัติภารกิจที่ไม่ใช่งานของทหาร ขณะที่ทหารเองก็มุ่งรักษาอำนาจของตนเช่นกัน
“การที่กองทัพจะปฏิรูปโดยลดอัตรากำลังพลให้กะทัดรัดจะไม่มีทางสัมฤทธิผล กองทัพทุกประเทศในโลกไม่เคยปฏิรูปตัวเองสำเร็จ ประเทศที่ปฏิรูปกองทัพสำเร็จเกิดมาจากฝ่ายการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยทั้งนั้น ประชาธิปไตยภาคประชาชนแข็งแรงแล้วจึงมาปฏิรูปกองทัพ หรือทหารระดับสูงมายืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นก็ทำไม่ได้เพราะติดระบบพวกพ้องน้องพี่” พล.ท.ภราดร กล่าว